ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 27 ธันวาคม 2567 - 2 มกราคม 2568 |
---|---|
เผยแพร่ |
บทความพิเศษ | ธเนศวร์ เจริญเมือง
การเลือกตั้งและงาน
ของนายก อบจ. และ ส.จ.
ความสำคัญและอนาคต
ของการปกครองท้องถิ่น
การที่คนจำนวนไม่น้อยไม่รู้ว่า อบจ.มีบทบาทอะไร สำคัญอย่างไรในระดับจังหวัด เมื่อพวกเขาเห็นข่าวคุณทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ คนสำคัญของประเทศและพ่อของนายกฯ คนปัจจุบัน กระโดดลงไปหาเสียงสนับสนุนผู้สมัครในการเลือกตั้งนายก อบจ.ที่อุดรธานีเมื่อหลายวันก่อน และตกเป็นข่าวใหญ่ทั่วประเทศ
ต่อเรื่องนี้ คิดอย่างเร็วๆ ก็ว่าเป็นเรื่องปกติคนไทยที่ไม่รู้มีอยู่จริงๆ
แต่เรื่องแบบนี้ คิดเร็วๆ แบบนั้นไม่ได้ครับ เพราะทุกจังหวัดในประเทศไทย (ยกเว้นกรุงเทพฯ) มีนายก อบจ. และมี ส.จ. (สมาชิกสภาจังหวัด) ทำงานบริหารจังหวัดมาหลายสิบปีแล้ว
การไม่รู้จัก อบจ.ของคนไทยจึงไม่ใช่เรื่องเล็กน้อย เพราะมีคนจำนวนมากทั้งในเมืองหลวงและต่างจังหวัดที่ไม่รู้
สาเหตุสำคัญก็คือ รัฐไทยตั้งแต่ พ.ศ.2490 เป็นต้นมาเป็นรัฐที่เพิ่งยึดอำนาจคืนมาจากการปฏิวัติ พ.ศ.2475 ได้ จึงมีลักษณะอำนาจนิยมและอนุรักษนิยมสูง ตลอดจนรวมศูนย์อำนาจมาก
ลักษณะทั้ง 3 อย่างทำให้รัฐบาลตั้งแต่นั้นมีนโยบาย
1. ควบคุมสถาบันการศึกษาให้เน้นความรู้ 2 ด้าน คือ ส่งเสริมวิชาชีพ เช่น แพทยศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ บัญชี สถาปัตย์ วรรณคดี ดนตรี ช่างกล ฯลฯ แต่ไม่ส่งเสริมการเรียนรู้ด้านการเมือง และความสัมพันธ์ระหว่างเศรษฐกิจกับการเมือง (เรียกว่าวิชาเศรษฐศาสตร์การเมือง)
ทั้งหมดนี้เรียกโดยรวมว่าสอนให้เป็นเทคโนแครต หรือช่างเทคนิค ไม่สอนให้จบออกมาเป็นบัณฑิตที่รู้จักคิด วิเคราะห์ปัญหาการเมืองกับสังคมรอบๆ ตัว
2. ไม่สอนวิชาการบริหารท้องถิ่นและประเทศ ตลอดจนประวัติศาสตร์ความเป็นมาของการบริหารบ้านเมือง ไม่เคยได้เรียนรู้จุดแข็งจุดอ่อนและบทเรียนต่างๆ ของประเทศ
คนจบด้านช่างเทคนิคที่กล่าวมา จะไม่มีโอกาสได้เรียนเกี่ยวกับบทบาทของรัฐธรรมนูญ รัฐสภา ส.ส. รัฐบาล อบต. เทศบาล อบจ. ทั้งๆ ที่พวกเขาเฉลียวฉลาด
คนอยากรู้ก็ต้องไปสนใจหาอ่าน ศึกษาค้นคว้าด้วยตนเองซึ่งมีน้อย เพราะแต่ละวันมีงานมากมาย
และ 3. เน้นสอนเรื่องจริยธรรม การเป็นคนดี ไม่คดโกง ซื่อสัตย์ สุจริต รักชาติ ปฏิบัติตามนโยบายของรัฐ และเชื่อฟังผู้นำแต่ละรุ่น ฯลฯ เน้นการพูดจา
แต่การปฏิบัติ มีใครที่สนใจไปตรวจสอบจริงจังบ้าง
ในต่างประเทศที่เป็นประชาธิปไตย มีวิชาบังคับ 2 ตัวในระดับประถมและมัธยม คือ
1. วิชาบทบาทของพลเมืองและการบริหารประเทศ-ท้องถิ่น มีทั้งการอ่าน การฟังคำบรรยาย การถกเถียงอภิปรายกันในห้อง และการไปดูงานตามหน่วยงานต่างๆ เช่น องค์การบริหารท้องถิ่น และหน่วยราชการระดับชาติ
และ 2. วิชาประวัติศาสตร์ชาติและประวัติศาสตร์ท้องถิ่น มีทั้งการฟังคำบรรยาย การอ่านเอกสาร การออกไปฟังคำบอกเล่าและพิพิธภัณฑ์ และการถกเถียงอภิปรายอย่างคึกคักในห้องเรียน
ทั้งสองวิชานี้ค่อยๆ เพิ่มความเข้มข้นขึ้นเป็นลำดับในแต่ละชั้น ความคาดหวังและความจริงที่ปรากฏก็คือ เมื่อนักเรียนรู้จักประเทศและท้องถิ่นของเขาดี ก็ย่อมมีความรัก ผูกพันและภาคภูมิใจในประเทศชาติและท้องถิ่นของตนเอง มีทัศนคติที่เปิดกว้าง มองเห็นระบบการบริหารหลายๆ แบบ
เป็นพลเมืองที่เสียภาษีอากรและมีบทบาทเลือกหรือออกความเห็นอย่างเต็มที่ในการบริหารท้องถิ่นและระดับชาติ สามารถถกกับพ่อแม่และเพื่อนๆ ได้
และออกไปมีบทบาททางการเมืองทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับชาติ แม้ว่าอายุอาจยังไม่ถึงขั้น แต่มีการเรียนรู้และประสบการณ์หลายแบบก็คือการเตรียมความพร้อมที่จะลงมือปฏิบัติการจริงได้ในอนาคต
แต่รัฐไทยตั้งแต่ พ.ศ.2490 เป็นต้นมา มิได้เป็นเช่นนั้น วิชาประวัติศาสตร์มีแต่ท่องจำ แทบไม่เคยได้ยินการถกเถียงหรือตั้งคำถามใดๆ ต่อเหตุการณ์ต่างๆ วิชาประวัติศาสตร์ท้องถิ่นไม่เคยมี ท้องถิ่นตัวเองไม่เคยได้เรียนรู้ที่โรงเรียน ยิ่งคนเรียนสายวิทยาศาสตร์ไม่อาจได้เรียนรู้วิชาเกี่ยวกับการเมือง รัฐสภา เทศบาล อบต. อบจ. ได้เลย ยกเว้นคนมีพ่อแม่หรือญาติเป็นนักการเมืองท้องถิ่น ซึ่งก็หาได้น้อยมาก
เมื่อสถาบันการศึกษาไม่สอน ไม่เคยมีการพูดถึง แล้วจะคาดหวังอะไรให้คนไทยจำนวนมากได้รับรู้เรื่องการเมือง การบริหาร และประวัติศาสตร์ของชาติและท้องถิ่นได้เล่า??
ว่าด้วยลักษณะและภารกิจของ อบจ.
อบจ. มีชื่อเต็มว่า “องค์การบริหารส่วนจังหวัด” เกิดขึ้นครั้งแรกในประเทศไทยในปี พ.ศ.2498 หลังจากที่จอมพล ป.พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีเดินทางไปดูงานที่สหรัฐ จึงได้พบว่า ที่นั่นมีการปกครองท้องถิ่นแบ่งออกเป็น 2 ระดับ ระดับล่างสุดมีองค์กรปกครองท้องถิ่น 2 แบบ คือ เทศบาลและ อบต. (องค์การบริหารส่วนตำบล)
อนึ่ง มีคนเสนอว่า อบต.ควรเปลี่ยนชื่อเป็นเทศบาลตำบลให้หมดในอนาคต และเทศบาลก็มี 3 แบบเช่นเดิม คือ เทศบาลตำบล เทศบาลเมือง และเทศบาลนคร ส่วนระดับบน ก็คือ อบจ. ซึ่งครอบคลุมพื้นที่การบริหารทั่วทั้งจังหวัด ขณะที่เทศบาลกับ อบต. นั้นแบ่งพื้นที่การทำงานเป็นคนละส่วนอย่างชัดเจน
สภาพดังกล่าวทำให้มีคนสงสัยว่า อบต. เทศบาล และ อบจ. มีพื้นที่ทับซ้อนกัน คำตอบคือ เทศบาลกับ อบต. ไม่ทับซ้อนกัน แต่ อบจ.กับเทศบาลและ อบต. มีพื้นที่ทับซ้อนกันเป็นเรื่องจริง แต่ทางแก้ก็คือ เทศบาลและ อบต. ดูแลงานต่างๆ ในเขตพื้นที่ของตน
แต่กิจการบางอย่างที่มีขนาดใหญ่ และรับใช้ผู้คนทั้งจังหวัด นั่นแหละคืองานของ อบจ. เช่น มหาวิทยาลัย โรงพยาบาลจังหวัด โรงงานไฟฟ้าที่ผลิตไฟฟ้าป้อนคนทั้งจังหวัด พิพิธภัณฑ์ และหอสมุด หรือสถาบันดนตรี โรงงานเก็บขยะของจังหวัด สถานฝึกอบรมบางอย่างของจังหวัด กระทั่งแม่น้ำสายใหญ่ที่ไหลผ่านหลายพื้นที่-อำเภอ ก็อาจยกให้ อบจ.ดูแลแม่น้ำทั้งสาย หรืออาจจัดตั้งคณะกรรมการพิเศษเพื่อดูแลรักษาและพัฒนาแม่น้ำตลอดสายและริมฝั่งเฉพาะในเขตจังหวัดนั้นเป็นการเฉพาะ ฯลฯ
จากนี้ เราก็จะพบว่า อบจ.มีพื้นที่ทับซ้อนกับพื้นที่ของ อบต.และเทศบาลจริง แต่ภารกิจและความรับผิดชอบแบ่งแยกกันออกไปอย่างชัดเจน อนึ่ง ยังอาจมีกิจการบางอย่างที่เกี่ยวพันกับหลายส่วน องค์กรปกครองท้องถิ่นที่กล่าวมาสามารถนำงานนั้นมาทำด้วยกัน รับผิดชอบร่วมกันโดยทั้ง อบต. เทศบาล และ อบจ.
ความเป็นมาของ อบจ.ในประเทศไทย
ก่อนที่จะมีการสถาปนา อบจ. ในปี พ.ศ.2498 รัฐบาลคณะราษฎรมีความคิดบางอย่าง เช่น ให้มีสภาจังหวัดเริ่มในปี พ.ศ.2478 มาจากการแต่งตั้งคนท้องถิ่นจำนวนหนึ่ง เพื่อให้คำปรึกษาและแนะนำผู้บริหารจังหวัดซึ่งมาจากการแต่งตั้งโดยกระทรวงมหาดไทยที่กรุงเทพฯ
ต่อมาในปี 2481 จึงมี พ.ร.บ.สภาจังหวัด คราวนี้ให้ประชาชนในจังหวัดนั้นเลือกตั้งสมาชิกสภาจังหวัด (ส.จ.) แต่ก็ทำหน้าที่เพียงให้คำปรึกษาแก่ผู้ว่าฯ แต่งตั้ง
อบจ.ที่สถาปนาโดยจอมพล ป. เป็นองค์การของท้องถิ่นที่ควรมีบทบาทในการบริหารจังหวัดที่ชัดเจน แถมมีสภาจังหวัดทำหน้าที่ออกกฎหมายและตรวจสอบควบคุมการบริหารของนายก อบจ.ขณะนั้น จำนวน ส.จ.ในแต่ละจังหวัดมี 18-36 คน ตามจำนวนประชากรในจังหวัดนั้นๆ
กล่าวคือ จังหวัดที่มีประชากรไม่เกิน 2 แสนคน ให้มี ส.จ. 18 คน มีประชากรเกิน 2 แสนแต่ไม่เกิน 5 แสนคนมี ส.จ.ได้ 24 คน เกิน 5 แสนคนแต่ไม่ถึง 1 ล้านคน มี ส.จ. 30 คน และเกิน 1 ล้านขึ้นไป ให้มี ส.จ. 36 คน
หน้าที่สำคัญของ ส.จ. ในสภาจังหวัด คือ 1.ออกข้อบัญญัติที่มีผลใช้ในจังหวัดนั้น 2.ตรวจสอบ ควบคุม เสนอความเห็นและทำงานร่วมกับฝ่ายบริหาร 3.พิจารณาและอนุมัติงบประมาณและโครงการต่างๆ ของฝ่ายบริหาร และ 4.จัดตั้งคณะกรรมการสภา เพื่อตรวจสอบและดูงานด้านต่างๆ ของจังหวัด
เมื่อแรกตั้ง อบจ.ในปี 2498 เห็นได้ชัดว่านี่คือรูปแบบการปกครองท้องถิ่นในระดับจังหวัดที่เหมาะสม
แต่น่าเสียดายอย่างยิ่ง เมื่อนำเข้าไปอยู่ในรัฐอำนาจนิยม ผลก็คือ แทนที่จะทำอย่างใดอย่างหนึ่งคือ เลือกนายก อบจ. และ ส.จ.ทั้งหมด แล้วค่อยๆ ลดหน่วยราชการส่วนภูมิภาคลงเพื่อให้ อปท.ได้ทำงานในท้องถิ่นได้อย่างเต็มที่
กลับกลายเป็นว่า ให้ผู้ว่าฯ จากการแต่งตั้งโดยกระทรวงมหาดไทย ดำรง 2 ตำแหน่งพร้อมกันคือ เป็นทั้งผู้ว่าฯ และเป็นนายก อบจ. ส่วน ส.จ. เลือกตั้งก็ทำหน้าที่เพียงให้คำปรึกษาฝ่ายบริหารของ อบจ. และจังหวัด
ที่แย่ยิ่งกว่านั้นก็คือ ในช่วงทศวรรษต่อๆ มา ที่ระบอบเผด็จการทหารของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ และจอมพลถนอม กิตติขจร ครองอำนาจ ผู้ว่าฯ แต่งตั้งที่ครอง 2 ตำแหน่งควบคุม อบจ.ได้ทั้งหมด เพราะคณะรัฐประหารได้ยกเลิก ส.จ.เลือกตั้งโดยประชาชน และให้กระทรวงมหาดไทยแต่งตั้ง ส.จ.ทุกจังหวัดทั่วประเทศ และยิ่งไปกว่านั้นก็คือ ให้ข้าราชการที่ศาลากลางจังหวัดทำงาน 2 ตำแหน่งคือรับงานเดียวกันที่ อบจ.ด้วย
นั่นคือ ข้าราชการส่วนภูมิภาคได้ควบคุมงานของทั้งจากส่วนภูมิภาคและส่วนท้องถิ่น ได้ใช้งบประมาณของทั้งสองหน่วยงาน และกินเงินเดือนและค่าตอบแทนต่างๆ จาก 2 แหล่งด้วย
พัฒนาการลุ่มๆ ดอนๆ ของ อบจ.
ในห้วง 4 ทศวรรษ (2500-2540)
ทุกคนทราบดีว่าตั้งแต่เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 การเมืองก็เปลี่ยนไปหลายๆ ครั้ง
แต่สาระก็คือสลับไปมาระหว่างรัฐบาลเลือกตั้งกับรัฐบาลแต่งตั้ง
ที่ยาวนานก็คือ รัฐบาลอำนาจนิยมของ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ นานถึง 8 ปี จนกระทั่งได้เกิดเหตุการณ์สำคัญคือ รัฐธรรมนูญฉบับประชาชนในปี 2540
เราจะพบว่า นายก อบจ. กับผู้ว่าฯ แต่งตั้งเป็นคนเดียวกันตลอด 40 ปี 2500-2540
อบจ.เป็นองค์กรปกครองท้องถิ่นเพียงในนาม ส.จ. มาจากการเลือกตั้งโดยประชาชนเพียงไม่กี่ครั้ง ส่วนใหญ่มาจากการแต่งตั้ง
อนึ่ง น่าสนใจยิ่งที่ในปี 2538 ส.จ.ในหลายๆ จังหวัดที่ประชาชนเลือกมาได้รวมตัวกันจัดสมาพันธ์ ส.จ. แห่งประเทศไทย (สจท.) โดยมีจุดหมายสำคัญคือผลักดันให้ออก พ.ร.บ.อบจ.ฉบับใหม่ ให้ตัวแทนของประชาชนได้เป็นนายก อบจ.
ไม่ใช่เป็นคนเดียวกันกับผู้ว่าฯ แต่งตั้ง ซึ่งไม่มีที่ใดในโลก
ทั้งให้นายก อบจ.มีบทบาทมากขึ้นกว่าเดิม เพื่อการดูแลและพัฒนาจังหวัดของตนเอง
รัฐธรรมนูญ ฉบับประชาชน พ.ศ.2540
กับก้าวใหม่ของ อบจ.
และแล้วก้าวใหม่ของ อบจ. ก็เกิดขึ้นเมื่อสภานิติบัญญัติออก พ.ร.บ.อบจ. ฉบับใหม่ให้ ส.จ.ของแต่ละจังหวัดเป็นผู้เลือกตั้งนายก อบจ.สิ้นสุดกันที ผู้ว่าฯ แต่งตั้งควบตำแหน่งนายก อบจ.
ไม่เพียงเท่านั้น พลังของกระแสประชาธิปไตยยังแรงต่อไป ประชาชนไทยตื่นตัวทางการเมืองมากขึ้นๆ นอกจากรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน 2540 จะกำหนดแผนการและขั้นตอนการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นที่ชัดเจนตั้งแต่ปี พ.ศ.2542 ยังเกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในระดับท้องถิ่นก้าวใหญ่อีกครั้ง นั่นคือ…
– พฤษภาคม 2543 ประชาชนท้องถิ่นสามารถเลือกตั้งนายกเทศมนตรีของเทศบาลนคร และเทศบาลเมืองโดยตรงได้เป็นครั้งแรก
– ธันวาคม 2546 มีการแก้ไข พ.ร.บ. เทศบาลตำบลและ อบต. กำหนดให้ทั้งนายกเทศมนตรีเทศบาลตำบล และนายก อบต.มาจากการเลือกตั้งโดยตรงจากประชาชนท้องถิ่นเป็นครั้งแรก
– 14 มีนาคม 2547 ประชาชนในทุกๆ จังหวัดได้เลือกตั้งนายก อบจ.โดยตรงนับเป็นครั้งแรก
ตั้งแต่นั้นมาจนถึงบัดนี้ พ.ศ.2567 เป็นเวลา 20 ปีพอดีที่ อบจ.เริ่มมีบทบาทมากขึ้นเป็นลำดับ อย่างไรก็ตาม แม้ว่าประชาชนทุกๆ จังหวัดได้เลือกตั้งนายก อบจ. และ ส.จ. แต่ปัญหาสำคัญหลายอย่างก็ยังดำรงอยู่
ข้อแรก การบริหารท้องถิ่นในระดับจังหวัดควรปล่อยให้ อบจ.เป็นผู้ดำเนินการ โดยให้สภาจังหวัดเป็นฝ่ายนิติบัญญัติ และฝ่ายบริหารคือ ทีมงานของนายก อบจ. แต่ตลอด 69 ปีที่ผ่านมานับแต่ก่อตั้ง อบจ. (2498-2567) อำนาจกลับตกอยู่ในมือของหน่วยราชการระดับภูมิภาคแทบทั้งหมด
ข้อที่สอง ระบบการศึกษาปิดโอกาสให้นักเรียนนักศึกษาได้เรียนรู้อำนาจและบทบาทของ อบจ. ดังที่ได้กล่าวในตอนต้น เมื่อบวกกับอำนาจที่จำกัดของ อบจ. จึงไม่น่าแปลกใจที่หลายคนไม่รู้ว่า อบจ.มีไว้ทำไม
ข้อที่สาม เทคโนโลยีสมัยใหม่พัฒนาไปไกลมาก แต่รัฐกลับไม่ยอมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น เก่งแต่สกัดกั้นการเติบโตของ อบจ. เช่น ไม่ยอมให้คนที่ไปทำงานต่างจังหวัดลงคะแนนทางระบบออนไลน์หรือทางไปรษณีย์ หรือจัดการเลือกตั้งในวันเสาร์แทนที่จะเป็นวันอาทิตย์เพื่อให้คนจำนวนหนึ่งไม่สะดวกในการเดินทางไปลงคะแนน
ตลอดจนการปล่อยให้นายกที่อยู่ในตำแหน่งลาออกก่อนหมดวาระไม่นาน เพื่อช่วงชิงความได้เปรียบเหนือคู่แข่งคนอื่น ทำให้สิ้นเปลืองงบประมาณอย่างมาก แทนที่จะจัดการเลือกตั้งนายก อบจ. และ ส.จ.ที่ควรจะหมดวาระพร้อมๆ กัน ฯลฯ
แนวทางแก้ไข
- รัฐควรยกเลิกมาตรการกีดกันต่างในข้อ 3 ที่กล่าวมาให้หมดไปเสีย และนายก อบจ. ที่ลาออกก่อนหมดวาระโดยเสนอเหตุผลที่ไม่น่ารับฟัง ก็ไม่ควรได้สิทธิกลับมาสมัครรับเลือกตั้งอีก
2. ระบบการศึกษาที่ดีควรสร้างสติปัญญาความรู้รอบด้านให้แก่คนในชาติ โดยเฉพาะความรู้สำคัญแต่ละด้านของท้องถิ่นและประเทศในภาพรวม นโยบายที่ผ่านมาที่ปิดกั้นความรู้เรื่องการบริหารจัดการท้องถิ่นและการมองประวัติความเป็นมาของประเทศอย่างใช้สมอง และหาบทเรียน มิใช่สอนให้จดจำรายละเอียดของเหตุการณ์ จึงเป็นความผิดพลาดที่ใหญ่หลวงของประเทศ
3. หน่วยบริหารราชการส่วนภูมิภาคควรมีขนาดเล็กลง และทำหน้าที่ตรวจสอบการทำงานของ อบจ. เทศบาล และ อบต. พร้อมกับให้ข้อเสนอแนะ ไม่ใช่ทำงานทุกอย่างแทน อปท. และสั่งการแทบทุกอย่าง อย่างที่ได้ทำมา
4. การเลือกตั้งผู้ว่าฯ โดยประชาชนในแต่ละจังหวัด โดยมีสภาจังหวัดทำหน้าที่ตรวจสอบการทำงานแทนประชาชน และมีภาคประชาสังคมคอยติดตามตรวจสอบอีกชั้นหนึ่งร่วมกับสื่อมวลชนจึงเป็นทิศทางที่ถูกต้องในอนาคตอันใกล้นี้ แน่นอน อาจเกิดขึ้นครั้งละ 3-5 จังหวัด มีการสรุปบทเรียนเป็นขั้นๆ หรือจะดำเนินการพร้อมๆ กันทุกจังหวัด ก็เป็นผลของการปรึกษากันระหว่างภาคการเมืองและประชาชนส่วนใหญ่ที่มีสิทธิเลือกตั้ง ทิศทางการทำงานของ อบจ.จึงมีมากขึ้น มีงบประมาณมากขึ้น มีบุคลากรมากขึ้น และถือเป็นอนาคตของท้องถิ่นในทศวรรษต่อไป
ข้าราชการส่วนภูมิภาคย้ายไปทำงานกับ อบจ. ซึ่งเป็นความสมัครใจ เพราะคนที่ไม่ต้องการก็ย้ายกลับไปสังกัดหน่วยราชการส่วนกลางต่อไป อบจ.ในต่างประเทศ แข็งแกร่งและมีคุณภาพถึงระดับบริหารสถาบันอุดมศึกษาและโรงพยาบาลชั้นนำ ตลอดจนการวิจัยความรู้ท้องถิ่นที่เป็นประโยชน์ต่อระดับจังหวัดและขึ้นสู่ระดับประเทศ นั่นเป็นเพราะผลของการส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นมายาวนานหลายร้อยปีที่ผ่านมา
การออกมามีบทบาทสนับสนุนการเลือกตั้งนายก อบจ.ของอดีตนายกรัฐมนตรีจึงเป็นสิ่งที่ควรจะได้รับความชื่นชมและเสียงปรบมือจากทุกฝ่าย เพราะไม่มีประเทศไหนในปัจจุบันที่เจริญก้าวหน้า โดยทอดทิ้งให้ท้องถิ่นล้าหลัง ความเจริญแทบทุกด้านกระจุกตัวอยู่ในเมืองหลวง ผู้คนต้องจากบ้านเกิดเข้าไปทำงานในเมืองใหญ่ ทิ้งชนบทและท้องถิ่นให้ขัดสนต้องพึ่งพาความเจริญจากในเมือง นี่คือความอับจนที่ได้เกิดขึ้นในประเทศนี้ตลอดมานับตั้งแต่ พ.ศ.2490
สังคมไทยไม่ควรแปลกใจเลยที่เหตุใด พัฒนาประเทศมา 7 ทศวรรษภายใต้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติมาตั้งแต่ พ.ศ.2504 เพลงลูกทุ่งกับเพลงลูกกรุงก็ยังคงมีอัตลักษณ์ที่แตกต่างกันอย่างเด่นชัดจนถึงทุกวันนี้ ไม่ยอมเปลี่ยนแปลง ก็เพราะการรวมศูนย์อำนาจไว้ที่ส่วนกลางมากเกินไป กลายเป็นการกระจุกทั้งอำนาจ ทรัพย์สินต่างๆ ความเจริญก้าวหน้าทุกๆ ด้าน สติปัญญา-องค์ความรู้ทั้งมวล กระทั่งแรงงานมากมายจากชนบทถูกดึงไปขายแรงงานที่เมืองหลวง
สิ้นสุดกันที รัฐรวมศูนย์อำนาจ ที่รวมแทบทุกสิ่งทุกอย่างไว้ที่กรุงเทพฯ การกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นเท่านั้นที่เป็นทางออกของประเทศนี้
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022