ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 27 ธันวาคม 2567 - 2 มกราคม 2568 |
---|---|
คอลัมน์ | My Country Thailand |
ผู้เขียน | ณัฐพล ใจจริง |
เผยแพร่ |
My Country Thailand | ณัฐพล ใจจริง
ระบำแคนแคนฉบับนายหรั่ง
: ความบันเทิงของหนุ่มๆ ในช่วงสงคราม (จบ)
ความหวาบหวิวของระบำ
จุรี โอศิริ เล่าว่า เธอเคยไปชมการแสดงระบำนายหรั่ง เมื่อใกล้เวลาแสดงแต่ละรอบนั้น นายหรั่งจะใส่ชุดสวมหมวกอุศเรนถือโทรโข่งป่าวประกาศเรียกคนเข้าชม (จุรี โอศิริ, 2542, 109-110) จากนั้น จะมีตัวแสดง “หน้าตาจุ๋มจิ๋มเปิดพุงขาวจั๊วะ นุ่งน้อยห่มน้อย ออกมาเต้นส่ายไปส่ายมาให้ดูหน้าโรงเป็นแซมเปิล ทีนี้ละประตูโรงแทบพัง ผู้คนหลั่งไหลเข้าไปดูจนแน่น เสริมทุกรอบ” (จุรี โอศิริ, 2542, 109-110)
เช่นเดียวกับความทรงจำของอาจินต์ ปัญจพรรค์ เล่าเสริมอีกว่า ในราวปลายทศวรรษ 2470 เขาเคยเข้าชมระบำมหาเสน่ห์ที่หน้าเวทีเป็นครั้งแรก เมื่ออายุราว 7-8 ขวบ ที่งานพระปฐมเจดีย์ เขายังจำได้ถึงนายหรั่งทำหน้าที่เป็นคอนดักเตอร์ผู้มีผมสีน้ำตาลทรายแดง (อาจินต์, 2519, 116) “ตัวแกแต่งเครื่องแบบประหลาด สีแดงเหมือนนักเรียนนายร้อยเวสปอยต์ปนกับเครื่องแบบนโปเลียน ใส่หมวกอุศเรนสีดำขลิบดิ้นทอง มีบ่าห้อยดิ้นทองระย้า นักดนตรีทุกคนใส่เสื้อนอกแดง กระดุมทอง สวมหมวกแก๊ปอย่างกองทัพ” (อาจินต์, 2519, 115)
กลวิธีการชักชวนหนุ่มน้อยหนุ่มใหญ่กลัดมันให้ซื้อตั๋วเข้าไปชมนั้น อาจินต์เล่าว่า “เมื่อนางระบำมหาเสน่ห์ตัวอย่างออกมาเต้นบนเวทีหน้าโรงเพื่อยั่วให้คนซื้อตั๋วเข้าไปดูอย่างจั๋งหนับ วงดนตรีก็บรรเลง นางก็ยกแข้งยกขาไป คอนดักเตอร์มักจะชี้บาตองไปที่จุดสำคัญบนร่างหญิง คล้ายรัสปูตินกำลังสะกดจิตสาวงาม เราเด็กๆ ใจวาบหวิวเสียนี่กระไร” (อาจินต์, 2519, 116)
วิกสุดท้ายของระบำนายหรั่ง
แม้ความโด่งดังของระบำนายหรั่งจะดังเหมือนพลุแตกมาอย่างยาวนาน แต่ในปลายสงครามโลกครั้งที่ 2 ด้วยสภาพเศรษฐกิจย่ำแย่ลง ข้าวยากหมากแพง คนไทยมีความเครียดจากการพ่ายแพ้ย่อยยับของญี่ปุ่น และสถานการณ์ของสงครามใกล้จบสิ้นแล้ว การโจมตีทางอากาศในสถานที่สำคัญในพระนครหนักมืออย่างมาก คณะระบำนายหรั่งจึงย้ายลงโรงจากตึกเก้าชั้นย่านเยาวราชที่เป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญไปเปิดการแสดงยังสถานที่ที่ห่างออกไป คือ ตลาดบำเพ็ญบุญ ตรงข้ามโรงภาพยนตร์ศาลาเฉลิมกรุง โดยระบำนายหรั่งเปิดแสดงที่บริเวณชั้นลอยตรงกลางตลาด และเปลี่ยนชื่อคณะเป็น “คณะละครสารพัดศิลป” (silpa-mag.com/history/article65004)
สำหรับประวัติของตลาดบำเพ็ญบุญนั้น ตลาดแห่งนี้ก่อสร้างขึ้นภายหลังรื้อวังสะพานถ่านลงในราวต้นทศวรรษ 2470 จากนั้นสร้างเป็นตลาดสด ตลาดขายอาหาร และสถานบันเทิง ชื่อ “บำเพ็ญบุญนาฏสถาน” อาคารมี 2 ชั้น ชั้นล่างเป็นตลาดขายสารพัดชนิด ชั้นบนเป็นโรงภาพยนตร์ เป็นร้านอาหาร เป็นโรงยาฝิ่นและสถานแสดงมหรสพของคณะระบำนายหรั่ง เรืองนาม ที่ย้ายมาจากตึก 9 ชั้น ย่านเยาวราชมาเปิดการแสดงเมื่อหลัง ส่วนด้านตลาดเป็นแหล่งมหรสพเริงรมย์ของผู้ชายตั้งแต่หัวค่ำถึงยามดึก
ประวัติคณะระบำจากปากคำของนายหรั่ง
ตามประวัติแล้ว ระบำนายหรั่งเริ่มเปิดแสดงตามงานวัดต่างๆ และถูกวิจารณ์จนถูกตำรวจจับ หลังจากนั้นก็ย้ายไปแสดงที่ชั้นบนของตลาดบำเพ็ญบุญ และย้ายมาแสดงที่สถานหย่อนใจ รวมถึงตึก 7 ชั้น และตึก 9 ชั้น ซึ่งว่ากันว่า คำกล่าวติดปากว่า “สวรรค์ชั้น 7” มีที่มาจากการแสดงระบำวาบหวิว (พิศาลศรี กระต่ายทอง, 2557, 116-117)
จากความทรงจำของนายหรั่งเล่าว่า เริ่มธุรกิจระบำตั้งแต่เขามีอายุ 27 ปี ราว 2460 คณะระบำของเขาเปิดการแสดงครั้งแรกที่ตลาดบำเพ็ญบุญ ต่อมาย้ายมาแสดงที่ถนนเยาวราช และเคยแสดงที่ตึก 9 ชั้นด้วย บางครั้งมีการแสดงเร่ไปทั่วประเทศ ช่วงที่คณะของเขารุ่งเรืองที่สุดนั้น คณะเคยมีนางระบำถึง 10 กว่าคน โดยนางระบำมาจากมาสมัคร ในชั้นแรก เขาฝึกหัดการเต้นให้เอง ต่อมาได้รับการฝึกหัดจาก ครูหญิงชื่อตลับผู้เป็นนางละครเก่า นางระบำแต่ละคนได้ค่าตัว 3-5 บาทต่อการแสดง โดยนางระบำทั้งหลายอยู่กินกับคณะละครเลย (อาจินต์, 2519, 127)
ในสมัยสงครามนั้น มีคณะรำโป๊ที่จัดแสดงเหมือนนายหรั่งเช่นกันแต่โป๊กว่า เพราะเจ้าของคณะเอาผู้หญิงโสเภณีมาเป็นนักแสดง นางจึงย่อมกล้ามากกว่านางระบำของคณะนายหรั่ง นางพวกนี้ใจถึงอยู่แล้วไม่ต้องแสดงแบบปิดป้องเหนียมอายจึงเรียกระบำโป๊แบบนี้ว่า “ระบำจ้ำบ๊ะ” (วราห์ โรจนวิภาต, culture.bsru.ac.th/wp-content)
นายหรั่งเล่าต่ออีกว่า ภายหลังสงคราม ราว 2490 คณะของเขาแสดงเร่ไปตามจังหวัดต่างๆ แต่จังหวัดที่คณะไปแสดงแล้วคนดูมากที่สุดคือที่โคราช ส่วนจังหวัดที่ไปแสดงบ่อยและมีแฟนคณะระบำให้การต้อนรับดีที่สุดคือ เพชรบุรี (อาจินต์, 2519, 124)
ในที่สุดคณะก็ต้องลาโรงอย่างถาวร คณะเปิดแสดงเป็นครั้งสุดท้ายที่สระบุรีในราวปี 2500 เขาเล่าว่า การแสดงครั้งสุดท้ายที่สระบุรีนั้นมีคนจ้างไปเล่นแค่เพียง 5 คืนเท่านั้น แต่ชาวสระบุรีแห่กันมาชมระบำของเขามาก เขาจึงต้องขยายการเล่นอำลาเป็น 8 คืน กล่าวโดยสรุปแล้ว เขาอยู่ในธุรกิจระบำนี้ ราวครึ่งศตวรรษ (อาจินต์, 2519, 128)
อาจินต์ ปัญจพรรค์ เล่าสรุปความเป็นมาระบำคณะนายหรั่งไว้ว่า “หรั่ง เรืองนาม ผู้ริเริ่มระบำมหาเสน่ห์ คนแรกในเมืองไทยและพัฒนาต่อมาเป็นนาฏดนตรีเปลือยบนวิกตลาดบำเพ็ญบุญ” (อาจินต์, 2519, 115)
ความโด่งดังของระบำนายหรั่งนั้น เขาเคยเล่าเองอย่างภาคภูมิใจในการให้สัมภาษณ์ว่า ในช่วง 2490 เคยมีนายทหารใหญ่นาม สฤษดิ์ ธนะรัชต์ เรียกคณะระบำของเขาไปจัดแสดงให้จอมพลผ้าขาวม้าแดงชมด้วย (อาจินต์, 2519, 126)
ภายหลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2 ยุติลง ทหารหนุ่มๆ ของสัมพันธมิตรได้ยกพลเข้ามาไทยเพื่อปลดอาวุธกองทหารญี่ปุ่น ปรากฏว่า คณะระบำของนายหรั่งมีชื่อเสียงโด่งดังไปเข้าหูทหารสัมพันธมิตร คณะจึงถูกร้องขอจากทหารฝ่ายสัมพันธมิตรให้เปิดการแสดงเป็นพิเศษให้กับทหารสัมพันธมิตรที่เข้ามาปลดอาวุธทหารญี่ปุ่นชมกันอย่างเต็มตา (พีรพล แสงสว่าง และอาชญาสิทธิ์ ศรีสุวรรณ, 2559, 102)
ระบำนายหรั่งในพลนิกรกิมหงวน
ความขึ้นชื่อลือชาของระบำนายหรั่งมีมากขนาดไหนนั้น เราพบหลักฐานได้จาก ป.อินทรปาลิต บันทึกไว้ในพลนิกรกิมหงวน ตอน “ระบำหยาดฟ้า” (2495) ดูเหมือนว่า พลนิกรกิมหงวนตอนระบำหยาดฟ้า ระบำหยาดฟ้าเป็นคณะของนายรอด ข้าเก่าเต่าเลี้ยงของบ้านพัชราภรณ์มานาน ต่อมานายรอดลาออกไปผจญโลก ในช่วงสงคราม ในหลายอาชีพ ตั้งแต่ทำงานอู่ต่อเรือญี่ปุ่น นายหน้าค้าขายกับทหารญี่ปุ่น สุดท้ายคือเจ้าของโรงระบำ นายรอดเล่าว่า เขาเดินทางขึ้นเหนือไปหาซื้อลูกสาวชาวบ้านมาหัด โดยจ้างครูมาหัดเต้นระบำ
นายรอดเล่าว่า ระบำหยาดฟ้าของเขาเป็นที่นิยมของบรรดาชาวจีนอย่างมาก ทำรายได้ให้มาก ทำให้เขาหยุดการแสดงตามวัด และหันมาปรับปรุงการแสดงใหม่ ไม่แสดงตามเวทีเหมือนระบำนายหรั่งที่เปิดแสดงที่ตลาดบำเพ็ญบุญ แต่การแสดงของเขาเป็นเวทีเถื่อนที่เผยร่างกันอย่างโจ๋งครึ่มที่บ้านของตนเองแถวถนนสี่พระยา ซอยทรัพย์ ตรงข้ามโรงเรียนศิริศาสตร์ ซึ่งสมัยนั้น บริเวณซอยทรัพย์ถือได้ว่าเป็นแหล่งของผู้หญิงบริการในช่วงสงคราม
สำหรับชุดระบำหยาดฟ้าคณะนายรอดนั้น มีชุดระบำหอยแครง ระบำหมู่นางเงือก แสดงรีวิวกับเพลงวอลซ์บลูดานูบ นางระบำหอยแครงร่ายรำ พร้อมนางเงือกที่แก้ผ้าล่อนจ้อน นี่คือภาพของระบำนายรอดในระบำหยาดฟ้าของ ป.อินทรปาลิต
กล่าวได้ว่า ระบำโป๊ของนายหรั่งที่มีชื่อเสียงโด่งดังจับจิตจับใจหนุ่มน้อยหนุ่มใหญ่ในครั้งนั้น เริ่มต้นแสดงที่ตลาดบำเพ็ญบุญ ต่อมาขยับขยายมาแสดงที่ตึก 7 ชั้น และรับงานแสดงตามต่างจังหวัด ต่อมาย้ายมาตึก 9 ชั้น ย่านเยาวราชในช่วงก่อนสงคราม และภายหลังสงคราม เขาย้ายมาเปิดวิกที่ตลาดบำเพ็ญบุญ ตรงข้ามศาลาเฉลิมกรุงเป็นครั้งสุดท้ายก่อนปิดฉากคณะลงในที่สุด
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022