ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 20 - 26 ธันวาคม 2567 |
---|---|
คอลัมน์ | ของดีมีอยู่ |
เผยแพร่ |
เมื่อวันที่ 16 ธันวาคมที่ผ่านมา ได้มีการจัดงานเสวนาหัวข้อ “‘ถ้าใครพูด จะจับขังให้หมด’ เสวนาจากห้องพิจารณาคดีลับ และความเป็นกลางของผู้พิพากษา” ขึ้นที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์
หนึ่งในคนที่ขึ้นเวทีเสวนาวันนั้นด้วย ก็คือ “ศ.ดร.ธงชัย วินิจจะกูล” นักวิชาการอาวุโสด้านประวัติศาสตร์ และผู้เคยผ่านประสบการณ์บาดแผล “6 ตุลาคม 2519” ซึ่งเคลื่อนไหวเรื่องความยุติธรรมและสิทธิมนุษยชนในสังคมการเมืองไทยมาอย่างต่อเนื่อง
ในวงสนทนาดังกล่าว อาจารย์ธงชัยได้หยิบยก “นิทานเปรียบเทียบ” เรื่องหนึ่งขึ้นมาบอกเล่าและตั้งคำถามกับบรรดาคนฟังอย่างคมคาย
ผ่านการเทียบเคียงสถานการณ์ของสังคมไทยร่วมสมัยเข้ากับเนื้อหาของหนังสือนิยายเรื่อง “1984” (หนึ่ง-เก้า-แปด-สี่) โดย “จอร์จ ออร์เวลล์”
ดังมีรายละเอียดต่อไปนี้
“ผมนึกถึง ‘1984’ หลายคนคงเคยอ่าน จำได้ไหมครับว่า สาระอันหนึ่งของ 1984 ก็คือว่า ‘พี่เบิ้ม-Big Brother’ บอกกับพวกเราว่า 2+2 = 5
“ตัวเอกของเรื่อง ‘วินสตัน สมิธ’ บอก ‘ไม่’ 2+2 มันเท่ากับ 4…
“ผมอยากให้ลองคิดดูว่า ถ้านี่เป็นห้องพิจารณาคดี แล้วถ้าผมเป็นศาล สมมุตินะครับ
“ผมบอกพวกคุณว่า 2+2 = 5 ฟังดีๆ นะครับ 2+2 = 5 ผมถามอีกครั้งหนึ่ง 2+2 เท่ากับเท่าไหร่?
“(‘4’ เสียงตอบของคนฟัง) อย่างนั้นวันนี้เราไม่ต้องกลับบ้าน อ้าว! คุณอย่าพูดเล่น ผมพูดจริง ผมจะเรียกเจ้าหน้าที่มาล็อกประตูให้หมด ปิดแอร์ ปิดไฟ ไม่ให้ไปไหนทั้งสิ้น 2+2 เท่ากับเท่าไหร่ครับ?
“(‘4’ เสียงตอบของคนฟัง) แน่ใจเหรอ? 5! เดี๋ยวผมเรียกตำรวจเดี๋ยวนี้แล้ว จนกว่าคุณจะยอมรับว่า 2+2 มันเท่ากับ 5
“แล้วเมื่อคุณไม่ยอมรับ ห้องนี้จึงต้องปิดการพิจารณาไม่ให้คนข้างนอกรู้ เพราะคนข้างนอกเขาจำเป็นจะต้องเชื่อว่า 2+2 = 5
“ไม่เช่นนั้น ‘รัฐ 1984’ ล่ม…
“คุณแน่ใจเหรอว่า แค่ในห้องพิจารณาคดีนี้เท่านั้นที่พยายามบอกเราว่า 2+2 = 5
“หรือเราทุกคนในสังคมไทยกำลังถูกบอกว่า 2+2 = 5 แล้วถ้าพวกคุณยืนยันว่าเท่ากับ 4 ชะตากรรมคุณก็ไม่ถึงกับโดนจับเข้าไปในห้องขังใต้ศาล แต่ก็ในทำนองเดียวกัน คือว่าคุณห้ามพูดนะ จนกว่าคุณจะยอมรับว่า 2+2 = 5 คุณถึงจะได้อิสระ เดินเหินปกติ
“เหมือนอย่าง ‘วินสตัน สมิธ’ ได้รับอนุญาตปล่อยตัวมา เมื่อเขายอมรับกับ ‘พี่เบิ้ม’ ว่า 2+2 =5”
เมื่อได้อ่าน/ฟัง “นิทานเปรียบเทียบ” ชวนฉุกคิดของอาจารย์ธงชัยจบลงแล้ว
ก็อยากจะขออนุญาตถามผู้อ่านทุกท่านผ่านพื้นที่คอลัมน์นี้บ้างว่า
2+2 เท่ากับเท่าไหร่?
ถ้าท่านตอบว่า “4” ทำไมจึงเลือกตอบเช่นนั้น?
และหากท่านตอบว่า “5” อะไรคือเหตุผลที่ท่านใช้อธิบายกับตัวเองและต่อสังคม? •
ของดีมีอยู่ | ปราปต์ บุนปาน
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022