วางบิล/สู่ร่มกาสาวพัสตร์ อดีตแห่งความทรงจำผุดพราย

เรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์

สู่ร่มกาสาวพัสตร์

อดีตแห่งความทรงจำผุดพราย

บ้านเมืองยามมีเหตุการณ์ทางการเมืองรุนแรง ปานเคยผ่านมาแล้วสองสามครั้ง
ครั้งแรกๆ เมื่อคราวจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ปฏิวัติ เนื่องมาจากการเลือกตั้งสกปรก 26 กุมภาพันธ์ 2500 เป็นเหตุให้นิสิตนักศึกษาจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ออกมาเดินขบวนเรียกร้องให้เลือกตั้งใหม่
ปานโตพอจำเหตุการณ์ได้ว่า การเลือกตั้งครั้งนั้น แม้เขายังไม่มีสิทธิ์ออกเสียงเลือกตั้ง แต่มีความสนใจทางการเมืองบ้าง จากการอ่านข่าวหนังสือพิมพ์และติดตามข่าวสารทางการเมือง
ซึ่งก่อนหน้านั้น จอมพล ป. พิบูลสงคราม เพิ่งกลับจากดูงานประชาธิปไตยในหลายประเทศทั่วโลก กลับมาถึงเมืองไทยใกล้กำหนดรัฐบาลจากการเลือกตั้งซึ่งคณะรัฐประหาร 9 พฤศจิกายน 2490 ยึดอำนาจหมดวาระต้องให้มีการเลือกตั้งใหม่
แม้หลังจากนั้นมีการก่อกบฏเพื่อยึดอำนาจ แต่ไม่สำเร็จ ในที่สุด จอมพล ป. พิบูลสงคราม กลับมาครองอำนาจอีกครั้ง

เหตุการณ์ทางการเมืองในห้วงนั้น ปานไม่ค่อยสนใจสักเท่าใด กระทั่งการเลือกตั้งปี 2500 มีเหตุโกงเลือกตั้งอย่างมากในจังหวัดพระนคร โดยเฉพาะในเขตอำเภอดุสิตซึ่งเป็นเขตทหาร มีข่าวทหารตบเท้าเข้าคูหา มีกรณีพลร่ม ไพ่ไฟ ซึ่งเขาไม่ค่อยเข้าใจนัก
เพียงแต่รู้ว่าพรรคประชาธิปัตย์ถูกโกงเลือกตั้งจากพรรคเสรีมนังคศิลา ที่มีจอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นหัวหน้าพรรค หวังคะแนนเสียงและสมาชิกในจังหวัดพระนครและธนบุรีทั้งหมด แต่พรรคประชาธิปัตย์ที่มีนายควง อภัยวงค์ เป็นหัวหน้าพรรค ได้สมาชิกไปเกือบหมด เหลือให้จอมพล ป. พิบูลสงคราม ครองตำแหน่ง ส.ส.พระนครเพียงคนเดียว
เมื่อปรากฏเป็นข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์ มีการเรียกร้องให้จัดการเลือกตั้งใหม่ดังกล่าว หลังการเดินขบวนของนิสิตนักศึกษาและประชาชนไปยังทำเนียบรัฐบาล จอมพลสฤษดิ์ออกมาทำหน้าที่รักษาความสงบ บอกกับนิสิตนักศึกษาว่าอย่าก่อเหตุรุนแรงขึ้น เมื่อขบวนเดินมาถึงสะพานมัฆวาน มีร้อยเอกอาทิตย์ กำลังเอก รักษาความสงบ สั่งให้ทหารกลับปากกระบอกปืนลงพื้น ปล่อยให้ขบวนเดินไปถึงทำเนียบรัฐบาล แม้จะเกิดการพังประตูทำเนียบ แต่ไม่ปรากฏว่าเกิดเหตุการณ์รุนแรง
จอมพลสฤษดิ์รักษาความสงบไว้ได้ ทำให้ชื่อเสียงของจอมพลสฤษดิ์เป็นที่รู้จักขึ้นมา ด้วยการสลายชุมนุมผู้เดินขบวน หลังจากนั้นจอมพลสฤษดิ์ประกาศว่า “พบกันใหม่เมื่อชาติต้องการ” พร้อมเกิดวีรบุรุษคนใหม่ได้ชื่อว่า “วีรบุรุษสะพานมัฆวาน” คือ ร้อยเอกอาทิตย์ กำลังเอก
จากนั้นไม่นาน เมื่อจอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้งหนึ่ง เหตุการณ์ทางการเมืองและเหตุการณ์บ้านเมืองไม่สงบเท่าที่ควร ในที่สุดจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ปฏิวัติยึดอำนาจจากจอมพล ป. พิบูลสงคราม และพลตำรวจเอกเผ่า ศรียานนท์ เลขาธิการพรรค ผู้กุมอำนาจรัฐอีกคนหนึ่ง เมื่อวันที่ 16 กันยายน 2500 จอมพล ป. พิบูลสงคราม หนีออกนอกประเทศ พลตำรวจเอกเผ่าต้องออกไปอยู่ต่างประเทศเช่นกัน จอมพลสฤษดิ์แต่งตั้งนายพจน์ สารสิน เป็นนายกรัฐมนตรีชั่วคราว

จากนั้น จอมพลสฤษดิ์จึงออกไปรักษาร่างกายที่ประเทศสหรัฐอเมริกา แล้วแต่งตั้งให้จอมพลถนอม กิตติขจร เป็นนายกรัฐมนตรี
เมื่อกลับมาในปี 2501 เดือนตุลาคมปีนั้น จอมพลสฤษดิ์ปฏิวัติอีกครั้ง คราวนี้ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีเสียเอง พร้อมเป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุดและอธิบดีตำรวจ แต่งตั้งให้ผู้ร่วมปฏิวัติ เช่น จอมพลถนอม กิตติขจร จอมพลประภาส จารุเสถียร เป็นต้น เป็นรัฐมนตรีร่วมคณะ พร้อมกับผู้ที่เรียกขานตัวเองว่า “เทคโนแครต” หนุ่มนักเรียนนอกที่เพิ่งเดินทางกลับจากต่างประเทศอีกหลายคน
วัตถุประสงค์ของจอมพลสฤษดิ์ ต้องการพัฒนาประเทศให้ก้าวหน้า จึงจัดตั้งกระทรวงพัฒนาการขึ้นเพื่อพัฒนาประเทศทั้งการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมพร้อมกันไป
จอมพลสฤษดิ์ใช้อำนาจตามมาตรา 17 แห่งธรรมนูญการปกครองประเทศเป็นสำคัญ มีการปราบปรามอันธพาลที่ก่อนหน้านี้ในสมัยพลตำรวจเอกเผ่า ศรียานนท์ เรียกว่าผู้กว้างขวาง ป้องปรามวัยรุ่นให้อยู่ในระเบียบ จับกุมผู้มีพฤติกรรมเป็นอันธพาล หรือผู้ที่ไม่มีงานการทำเป็นหลักแหล่งมาคุมตัวไว้ 30 วัน ก่อนปล่อยหรือนำตัวส่งศาลทหาร ส่งตัวเข้าเรือนจำลาดยาวไม่มีกำหนด

ปานและเพื่อนรุ่นราวคราวเดียวกันเติบโตมาในยุคของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ที่ประกาศว่า “เด็กในยุคปฏิวัติของข้าพเจ้า…” ขณะอยู่ในวัยเรียน จึงไม่ค่อยสนใจการบ้านการเมืองกับเขาเท่าใดนัก จนแม้จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ถึงแก่อสัญกรรม เมื่อต้นเดือนธันวาคม 2506 จอมพลถนอม กิตติขจร ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ครองอำนาจทางการเมือง เป็นยุคของ “ถนอม-ประภาส” มีลูกชาย พันเอกณรงค์ กิตติขจร แม้ไม่มีตำแหน่งสำคัญ แต่สถานภาพกว้างขวางใหญ่โต
ห้วงนั้น นิสิตนักศึกษาเริ่มเคลื่อนไหวทางเศรษฐกิจและสังคมมากขึ้น มีการประท้วงหลายเรื่อง ตั้งแต่คัดค้านการใช้สินค้าญี่ปุ่นที่เรียกว่า “ภัยเหลือง” ประท้วงการขึ้นราคาค่ารถเมล์ และอีกหลายเรื่องในที่สุด เรียกร้องให้มีรัฐธรรมนูญและมีการเลือกตั้ง
เมื่อมีเสียงเรียกร้องให้มีรัฐธรรมนูญและการเลือกตั้งหนาหูมากขึ้นทุกที ทั้งจากนักการเมือง นิสิตนักศึกษา และประชาชนทั่วไป จอมพลถนอมจึงผ่อนคลายด้วยการประกาศรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ.2512 และจัดให้มีการเลือกตั้งต่อจากนั้น
ปานมีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งเมื่ออายุเกิน 20 ปีไปแล้ว ขณะไปเป็นทหารเกณฑ์ นับเป็นการเลือกตั้งที่เขาต้องเลือกข้างรัฐบาลเดิม เหมือนกับถูกบังคับ แต่เขาไม่รู้สึกเท่าใดนัก เพราะถึงอย่างไร การเลือกตั้งครั้งนั้นผู้จะเข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรีคือจอมพลถนอม กิตติขจร และพรรคสหประชาไทยที่จอมพลถนอมเป็นหัวหน้าพรรคต้องเป็นแกนนำรัฐบาลอยู่เอง
เพราะการเลือกตั้งครั้งนั้น ไม่มีพรรคการเมืองเสียงข้างมากเป็นผู้จัดตั้งรัฐบาล เนื่องจากผู้สมัครรับเลือกตั้งไม่จำเป็นต้องสังกัดพรรคการเมือง เป็นเหตุให้การเมืองในสภาผู้แทนราษฎรระส่ำระสาย บรรดาสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่ชื่อว่า “ฝักถั่ว” เรียกร้องผลประโยชน์ทุกครั้งที่มีร่างพระราชบัญญัติเข้าสภา
จอมพลถนอม กิตติขจร จึงปฏิวัติตัวเอง เป็นหัวหน้าคณะปฏิวัติ “ฉีกรัฐธรรมนูญ” ล้มเลิกสภาผู้แทนราษฎรเมื่อปี 2514 เป็นเหตุให้เกิดปัญหาทางการเมืองกระทั่งมีการเรียกร้องรัฐธรรมนูญและการเลือกตั้งอีกครั้ง มีการชุมนุมใหญ่ของนิสิตนักศึกษาจากการนำของศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย
แล้วเหตุการณ์ 14 ตุลา 16 ซึ่งเป็นการปฏิวัติของนิสิตนักศึกษาประชาชนจึงเกิดขึ้น