เทศมองไทย : พัฒนาการในอาเซียน ไทยอยู่ตรงไหน?

โทมัส เบรนต์ แห่งเซาธ์อีสต์เอเชีย โกลบ แม็กกาซีนมีระดับที่สำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ในพนมเปญ ประเทศกัมพูชา

คงใช้ความพยายามไม่น้อยในการไล่เรียงลำดับของบรรดาประเทศในอาเซียน 8 ประเทศ ที่ปรากฏอยู่ในดัชนีพัฒนาการองค์รวม (อินคลูซีฟ ดีเวลลอปเมนต์ อินเด็กซ์-ไอดีไอ) ที่ทีมนักวิชาการของเวิร์ลด์ อีโคโนมิก ฟอรั่ม (ดับเบิลยูอีเอฟ) จัดทำขึ้น

แต่ผลของความพยายามก็ได้ข้อเขียนน่าสนใจมานำเสนอไว้เมื่อ 2 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ไม่นานหลังจากการประชุมประจำปีของเวิล์ด อีโคโนมิค ฟอรั่ม (ดับเบิลยูอีเอฟ)ที่ดาวอส สวิตเซอร์แลนด์ สิ้นสุดลง

ความน่าสนใจนั้นอยู่ทั้งในตัว “ไอดีไอ” เองและลำดับที่สะท้อนสถานะของประเทศไทยว่า พัฒนาการที่ผ่านมาของเราอยู่ตรงไหนเมื่อมีการจัดทำดัชนีแบบใหม่นี้ขึ้นมา

 

“ไอดีไอ” เป็นความพยายามของดับเบิลยูอีเอฟ ในอันที่จะแสดงให้เห็นว่า พัฒนาการและการเติบโตของประเทศหนึ่งๆ นั้น ไม่ได้มีเพียงแค่จีดีพี หรือผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศเป็นเครื่องชี้วัดเพียงอย่างเดียว

วิธีการชี้วัดพัฒนาการของประเทศหนึ่งๆ สามารถนำปัจจัยอีกหลายอย่างเข้ามาพิเคราะห์ประกอบด้วย เพื่อให้ผลการวัดในแต่ละครั้งครอบคลุมกว้างขวางขึ้น และลุ่มลึกมากขึ้นพร้อมกันไปในคราวเดียวกัน

นั่นคือที่มาของระบบชี้วัดพัฒนาการใหม่ ซึ่งปรากฏอยู่ในรายงานชื่ออินคลูซีฟ โกรว์ธ แอนด์ ดีเวลลอปเมนต์ เขาใช้องค์ประกอบต่างๆ รวม 15 ตัวเป็นเครื่องมือหรือเป็นมาตรวัดครั้ง แบ่งออกเป็น 3 กลุ่มหลักๆ

กลุ่มหนึ่ง เป็นมาตรวัดในแง่ของการเติบโตและการพัฒนา (มีตั้งแต่จีดีพี, อัตราการจ้างงาน, ผลิตภาพของแรงงาน และช่วงอายุขัยที่มีสุขภาพสมบูรณ์)

กลุ่มที่สอง เป็นมาตรวัดในแง่ของการผนวกรวม (เช่น ค่ามัธยฐานของรายได้ครัวเรือน, อัตราความยากจน, ค่าสัมประสิทธิ์จีนีของรายได้, ค่าสัมประสิทธิ์จีนีของความมั่งคั่ง)

กลุ่มสุดท้าย เป็นมาตรวัดความยั่งยืนที่สำคัญคือ ความยุติธรรมระหว่างชน 2 รุ่น (ศัพท์ทางเศรษฐศาสตร์ใช้ว่าอินเตอร์เจเนอเรชั่นแนล อีควิตี มีตั้งแต่ การออมสุทธิ, หนี้ภาครัฐต่อจีดีพี, อัตราส่วนการพึ่งพิง และความเข้มข้นคาร์บอนของจีดีพี)

ผลที่วัดออกมาเป็นคะแนนจาก 1 (แย่ที่สุด) ถึง 7 (ดีที่สุด) จึงเป็นการสะท้อนภาพที่ค่อนข้างเป็นองค์รวมของแต่ละประเทศเลยทีเดียว

 

ไอดีไอ แยกกลุ่ม 130 ประเทศที่จัดอันดับเป็น 2 กลุ่ม

กลุ่มหนึ่ง เป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว

อีกกลุ่ม เป็นประเทศกำลังพัฒนา ที่ในรายงานเรียกว่า “อีเมิร์จจิง อีโคโนมี่”

ในกลุ่มอาเซียน มีเพียงสิงคโปร์ประเทศเดียวที่ถูกจัดไว้ในกลุ่มแรก

แต่น่าเสียดายที่ไม่สามารถจัดอันดับได้ เพราะข้อมูลสำหรับนำมาจัดทำไม่ครบถ้วน เช่นเดียวกับกัมพูชา ที่ไม่มีข้อมูลครบองค์ประกอบเช่นกัน

ในกลุ่มที่จัดว่าเป็นเขตเศรษฐกิจเกิดใหม่ 74 ประเทศนั้น ดัชนีไอดีไอจัดให้ลิธัวเนียเป็นอันดับ 1 คะแนนอยู่ที่ 4.86 (สูงสุดคือ 7)

ในส่วนของอาเซียนนั้น มาเลเซียมีอันดับสูงสุด อยู่ที่อันดับ 13 คะแนนรวม 4.30 ตามด้วยไทยซึ่งอยู่ในอันดับ 17 คะแนนรวม 4.24 แล้วจึงเป็นเวียดนาม อันดับ 33, อินโดนีเซีย อันดับ 36, ฟิลิปปินส์ อันดับ 38, ปิดท้ายด้วยลาวที่อยู่ในอันดับที่ 58 มีคะแนนการพัฒนาองค์รวมอยู่ที่ 3.22

ประเด็นที่น่าสนใจในดัชนีนี้ที่ตัวเลขคะแนนหรืออันดับไม่ได้บอกไว้ก็คือระดับความเร็วของการพัฒนามาเลเซีย, ฟิลิปปินส์และอินโดนีเซียถูกจัดอยู่ในกลุ่มที่พัฒนารุดหน้าไปอย่างช้าๆ ในขณะที่เวียดนามถูกจัดให้เป็นชาติที่พัฒนารุดหน้าเร็วที่สุด

ส่วนไทยนั้นถือเป็นกลุ่มประเทศที่พัฒนาการตามมาตรวัดไอดีไอ หยุดนิ่งอยู่กับที่ครับ

 

ในรายงานที่เป็นการวิเคราะห์ข้อมูลที่ได้จากการสำรวจเพื่อจัดทำดัชนีครั้งนี้ มีตารางเทียบเคียงอันดับในดัชนีไอดีไอกับอันดับที่ได้จากการวัดด้วยจีดีพีเพียงอย่างเดียว ผลการเปรียบเทียบอันดับออกมาชวนคิดมากครับ ตัวอย่างเช่น ถ้าวัดด้วยดัชนีไอดีไอ มาเลเซียที่ถูกจัดเป็นอันดับ 13 ในกลุ่มอีเมิร์จจิง อีโคโนมี่ จะถูกจัดอยู่สูงถึงอันดับ 10

ในขณะที่ไทยเรานั้น ถ้าวัดเฉพาะจากจีดีพีในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาด้วยกัน เราอยู่ถึงอันดับที่ 25 แต่ถ้าใช้มาตรวัดที่ครอบคลุมและลงลึกมากกว่า ไทยจะขยับขึ้นมาอยู่เป็นลำดับที่ 17 และเป็นที่ 2 ของอาเซียนรองจากมาเลเซียดังกล่าว

นักวิชาการของดับเบิลยูอีเอฟสรุปความเป็นข้อสังเกตไว้ตอนหนึ่งว่า “ผลการวิเคราะห์ครั้งนี้แสดงให้เห็นว่า อัตราการขยายตัวของจีดีพี แม้จะเป็นสิ่งจำเป็น แต่ยังไม่สามารถเป็นเงื่อนไขที่เพียงพอต่อการบรรลุการปรับปรุงมาตรฐานการดำรงชีพให้ก้าวรุดหน้าอย่างกว้างขวางในทุกๆ ด้าน ซึ่งถึงที่สุดแล้วคือเครื่องวัดความสำเร็จเชิงนโยบายของประเทศหนึ่งๆ”

พูดง่ายๆ ได้อีกทางหนึ่งว่า การกำหนดนโยบายที่คำนึงถึงตัวเลขทางเศรษฐกิจสูงๆ เพียงอย่างเดียว โดยไม่คำนึงถึงความเป็นธรรมในการกระจายรายได้ สุขอนามัยและความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชน รวมถึงความยั่งยืนของการพัฒนานั้น

ไม่มีวันประสบความสำเร็จในองค์รวม รังแต่จะก่อให้เกิดปัญหามากขึ้นตามมาเท่านั้น