ว่าด้วย ‘ที่ปรึกษาส่วนตัว’ ของประธานอาเซียน

ปีหน้าถึงคิวมาเลเซีย ของนายกรัฐมนตรี อันวาร์ อิบราฮิม รับหน้าเสื่อเป็น “ประธานอาเซียน” และเนื่องในวาระนี้นี่เอง ที่ทำให้นายกรัฐมนตรีมาเลเซียประกาศแต่งตั้ง ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีของไทย ให้ดำรงตำแหน่ง “ที่ปรึกษาส่วนตัว” ของตนในฐานะประธานอาเซียน นับตั้งแต่เข้ารับตำแหน่งในปีหน้าเป็นต้นไป

รายงานของรอยเตอร์ เมื่อ 16 ธันวาคม ระบุว่า อันวาร์ยืนยันว่า บทบาทของทักษิณในระหว่างที่นายกรัฐมนตรีมาเลเซียดำรงตำแหน่งประธานสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) นั้น จะดำเนินไปแบบ “ไม่เป็นทางการ” เช่นเดียวกับบรรดา “ที่ปรึกษาส่วนตัว” อีกหลายคนซึ่งทาบทามมาจากบรรดาชาติสมาชิกของอาเซียนทั้ง 10 ประเทศ

อันวาร์ยังแสดงให้เห็นชัดว่า ทักษิณเองตอบรับการทาบทามให้ทำหน้าที่ดังกล่าวเรียบร้อยแล้ว โดยกล่าวระหว่างการแถลงข่าว แสดงความขอบคุณอดีตนายกรัฐมนตรีไทย ที่ “เห็นพ้องกับการนี้” เพราะ “เราจำเป็นต้องอาศัยประโยชน์จากประสบการณ์” ที่อดีตนายกรัฐมนตรีไทยมีอยู่กับตัว

รอยเตอร์ระบุว่า ทักษิณที่อายุ 75 ปีเข้าไปแล้ว ถือเป็นบุคคลเด่นดังในแวดวงการเมืองไทยตลอด 2 ทศวรรษที่ผ่านมา เป็นผู้ที่มีอิทธิพลในการจัดตั้งรัฐบาลบริหารประเทศในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา รวมทั้งรัฐบาลชุดปัจจุบันของไทยในเวลานี้ แม้ว่า “ทักษิณจะถูกห้ามยุ่งเกี่ยวทางการเมือง หลังจากที่ถูกตัดสินว่ามีความผิดจริง ฐานใช้อำนาจอย่างบิดเบือน และมีผลประโยชน์ทับซ้อน” อยู่ก็ตามที

ทำให้ไม่แปลกที่รอยเตอร์สรุปปิดท้ายย่อหน้านี้ไว้ว่า “และยังคงเป็นผู้เล่นสำคัญในใจกลางความปั่นป่วนเป็นระยะๆ” ในเมืองไทยอยู่ต่อไป

 

รอยเตอร์ตั้งข้อสังเกตเอาไว้ด้วยว่า ทักษิณกลับไทยอย่าง “ดราม่า” ในเดือนสิงหาคมปี 2023 และ “ถูกจำคุกเป็นเวลา 8 ปี” ซึ่งในอีกไม่กี่วันต่อมา ได้รับพระมหากรุณาธิคุณให้ลดโทษลงมาเหลือ 1 ปี เพียงแต่ว่า “ทักษิณใช้เวลาเพียงไม่กี่ชั่วโมงเท่านั้นในเรือนจำ” ก่อนที่จะถูกนำตัวไปยังโรงพยาบาลโดยใช้ข้ออ้างเรื่องสุขภาพ อยู่ที่นั่นนานถึง 6 เดือนจนได้รับอภัยโทษเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา

ผู้เขียนไม่แน่ใจนักว่า สิ่งที่รอยเตอร์ร่ายยาวมาเหล่านี้ เกี่ยวข้องอย่างไรกับการทำหน้าที่เป็น “ที่ปรึกษา” ส่วนตัวของประธานอาเซียน แม้ว่า แอชลีย์ ถัง กับ พาณุ วงศ์ชะอุ่ม ที่เขียนเรื่องดังกล่าวให้กับรอยเตอร์ จะให้น้ำหนักเรื่องราวเหล่านี้มากเป็นพิเศษกว่าเรื่องอื่นๆ ก็ตาม

ไม่แน่ใจเหมือนกันว่า ผู้ที่ทำหน้าที่ประธานอาเซียน ต้องการให้ทักษิณนำ “ลูกเล่น” ที่เป็นประสบการณ์ส่วนตัวเหล่านี้ไปบรรยาย เป็นตัวอย่างให้ใครที่ไหนได้รับรู้ และทำความเข้าใจหรือเปล่า

อย่างไรก็ตาม รอยเตอร์ย้ำว่า ตัวทักษิณเองยืนกรานว่า ตนเองเกษียณอายุทางการเมืองแล้ว แม้ว่าอีกหลายต่อหลายฝ่ายซึ่งเคยยืนอยู่ตรงกันข้ามกันพากันเหลือบมองมาอย่างเคลือบแคลง ข้องอกข้องใจ เพราะเชื่อว่า ทักษิณคือ “นายกรัฐมนตรีตัวจริง” ของรัฐบาลชุดนี้ก็ตามที โดยอาศัยวิธีการ “ตั้งข้อสังเกต” เกี่ยวกับนโยบายรัฐบาลออกมาดังๆ ในที่สาธารณะนั่นเอง

รายงานของรอยเตอร์ชิ้นนี้ เอ่ยถึงเรื่องที่อาจเกี่ยวข้องกับการทำหน้าที่เป็น “ที่ปรึกษาประธานอาเซียน” อยู่เล็กน้อย โดยการระบุว่า ทักษิณเคยพบกับ ฮุน เซน อดีตนายกรัฐมนตรีผู้ทรงอิทธิพลของกัมพูชา ที่มีลูกดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีที่พนมเปญอยู่ในเวลานี้

และเคยพบกับ พราโบโว สุเบียนโต้ ประธานาธิบดีอินโดนีเซียคนปัจจุบันเช่นกัน

รอยเตอร์อ้างสื่อไทยแสดงความคิดเห็นเอาไว้ว่า อดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณพยายามใช้ตำแหน่งที่ปรึกษาเพื่อให้สามารถแสดงบทบาทเป็น “ตัวกลางผู้ไกล่เกลี่ย” ความขัดแย้งภายในเมียนมา ที่รัฐบาลพลเรือนถูกกองทัพยึดอำนาจจนกลายเป็นรัฐบาลทหารอยู่ในเวลานี้

แถมเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา รัฐมนตรีต่างประเทศของไทยก็เคยออกมายืนยันว่า อดีตนายกฯ ทักษิณเคยดำเนินการ “เป็นการส่วนตัว” เข้าพบกับผู้นำของกลุ่มก้อนในความขัดแย้งที่เมียนมา เพื่อทำหน้าที่เป็นคนกลาง ให้เกิดการเจรจาความกันขึ้น

ปัญหาก็คือ จากวันนั้นจนถึงวันนี้ ยังไม่มีอะไรบรรลุเป็นมรรคเป็นผล ออกมาให้เห็นแม้แต่น้อย

ผู้เขียนเองไม่แน่ใจว่า อดีตนายกรัฐมนตรีไทยอยากทำหน้าที่แก้ปัญหาความขัดแย้งในเมียนมาตามที่มีการตั้งข้อสังเกตหรือเปล่า เพราะใครๆ ก็รู้กันดีว่า ปัญหาที่ว่านี้ ยุ่งยาก ท้าทายไม่ใช่เล่น

ที่สำคัญก็คือ หลายคนเห็นตรงกันว่า กรณีเมียนมานี้ ทำดีก็ได้แค่เสมอตัว แต่ถ้าเกิดผลตรงกันข้ามขึ้นมา อาจพาไทยทั้งประเทศเข้ารกเข้าพงไปด้วยนี่สิ ไม่ดีแน่ครับ