เล่าเรื่องพิธีขึ้นบ้านใหม่ 40 ปี ‘อาศรมวงศ์สนิท’

คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง

ผมและวิจักขณ์ พานิช ได้รับการเชิญชวนจากพี่อ้อย วราภรณ์ หลวงมณี ผู้ดูแลอาศรมวงศ์สนิท ว่า อยากให้ไปประกอบพิธีในลักษณะของการทำบุญบ้านใหม่แก่อาศรม เพื่อฉลองในวาระอาศรมวงศ์สนิทมีอายุครบ 40 ปี และถือเป็นพิธีแรกของงานเทศกาล “วงศาพาสนิท” เทศกาลฉลองทางจิตวิญญาณของอาศรม เมื่อวันที่ 13 ธันวาคมที่ผ่านมา

ผมเคยไปพักอยู่ที่อาศรมวงศ์สนิทครั้งหนึ่ง ครานั้นไปเข้าร่วมฝึกอบรมในคอร์สเตรียมตัวตายของคุณครูวิคตอเรีย สุบีรานะ จำได้ว่าช่วงนั้นอากาศหนาวมาก และอาศรมก็รกครึ้ม บรรยากาศทึมๆ แถมผมยังไปตกโป๊ะที่ใช้ชักลากข้ามคลองของอาศรมเข้าอีก จะว่าตลกก็ตลก จะว่าหวาดเสียวก็หวาดเสียวครับ เพราะคลองเล็กๆ ที่กั้นระหว่างอาศรมกับถนนนั้นลึกจนยืนไม่ถึงทีเดียว

ไปเรียนคอร์สเตรียมตัวตาย เกือบได้เตรียมตัวจริงๆ เสียแล้ว (ฮา)

ผมผู้มิใช่ชาวอาศรมและอยู่ห่างไกลจากอะไรก็ตามที่เรียกว่าใกล้เคียงหรือคุ้นเคยกับอาศรม แต่ก็อยากเล่าถึงพิธีกรรมที่ไปทำในวันนั้น เผื่อว่าจะเป็นประโยชน์ครับ

 

อาศรมวงศ์สนิทเริ่มต้นขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2527 ม.ร.ว.สายสวัสดี สวัสดิวัตน์ ผู้เป็นทายาทของ ม.จ.ศุภสวัสดิ์ วงศ์สนิท และหม่อมเสมอ สวัสดิวัตน์ ได้มอบที่ดินจำนวน 34 ไร่ 2 งาน บริเวณคลอง 15 อ.องครักษ์ จ.นครนายก ให้กับมูลนิธิเสฐียรโกเศศ-นาคะประทีป มูลนิธิได้สร้างอนุสรณ์สถานแด่พระยาอนุมานราชธนในปี พ.ศ.2531 จากนั้นอาคารต่างๆ ทั้งสถานที่จัดประชุม จัดกิจกรรม และเรือนพักทยอยถูกสร้างขึ้นจนกลายเป็นชุมชนขึ้นมา

เหตุที่ใช้ชื่อว่า อาศรม ก็เพราะใช้แนวคิดตามแบบอาศรมหรือที่พักของผู้แสวงหาที่เรียบง่าย ใกล้ชิดกับธรรมชาติ และวงศ์สนิทก็มาจากสกุลวงศ์สนิทของท่านผู้บริจาค

การใช้ชีวิตในอาศรม มีทั้งผู้ที่แวะเวียนไปอบรมหรือเข้าร่วมกิจกรรมเป็นระยะเวลาสั้นๆ และผู้ที่ใช้ชีวิตในอาศรมเป็นปกติระยะยาวถือเป็นชาวอาศรมที่ปรารถนาจะใช้ชีวิตในชุมชนนี้อย่างแท้จริง ดังนั้น ที่พักในอาศรมจะเรียบง่าย มีโรงอาหารที่ใช้เนื้อสัตว์น้อยที่สุดและเน้นพืชผักตามธรรมชาติที่ปลูกเองหรือได้จากในชุมชนละแวกนั้น

ต้องบอกว่าอาหารของอาศรมอร่อยเชียวครับ

 

อาศรมวงศ์สนิทรับใช้สังคมไทยมายาวนาน เป็นพื้นที่เรียนรู้สำหรับคนรุ่นใหม่ที่สนใจจะพัฒนาสังคมไปพร้อมๆ กับการพัฒนาจิตใจอย่างลึกซึ้ง เป็นพื้นที่ทดลองสำหรับผู้แสวงหาวิถีชีวิตที่ต่างไปจากกระแสหลัก ทั้งยังเป็นที่พักใจของนักกิจกรรมผู้ต้องการความสงบเพื่อฟื้นฟูพลังก่อนจะออกไปทำงานเพื่อสังคมต่อ

แน่นอนว่า ชุมชนใดก็ตามที่มนุษย์อยู่ด้วยกันก็ย่อมมีทั้งความสุข ความรัก และย่อมต้องมีอีกด้านคือความขัดแย้ง ความหม่นเศร้า ความไม่ลงรอยกัน ยิ่งผ่านวันเวลายาวนาน บางครั้งสิ่งเหล่านี้ก็กลายเป็นรอยประทับ รอยแผล มีความตายและความเศร้าโศกที่ทิ้งผลของมันไว้ เป็นมวลพลังงานจางๆ อยู่ในบรรยากาศ

มวลพลังงานเหล่านี้หากใครมีสัมผัสไวหน่อย ก็อาจสัมผัสได้ทันที บางคนก็เรียกมวลลึกลับดำมืดเหล่านี้ว่า “ผี” จะผีเดียวกับในนิยามทั่วไปของเรารึป่าวผมก็ไม่ทราบ เอาเป็นว่าพลังงานด้านลบที่อยู่ในบรรยากาศในสถานที่เหล่านี้คือสิ่งที่เราควรจะชำระล้าง คนที่อาศัยจะได้ร่มเย็นเป็นสุขต่อไป

ผมได้รับโจทย์มาว่า เนื่องด้วยอาศรมมีการปรับปรุงครั้งใหญ่ในด้านกายภาพ อีกทั้งหลายต่อหลายคนรู้สึกว่ามันมีมวลของพลังงานเหล่านี้อยู่ด้วย อยากให้ชำระล้างและไปสู่ก้าวต่อไปที่สดใสมีพลัง

ครั้นได้ฟังว่ามีพลังลบหรือมีผีอันนี้ยากเลยครับ นอกจากตัวเองจะกลัวผีเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว อาจารย์ของผมท่านเคยสอนว่า ในทางไสยเวท จะไปทำอะไรเกี่ยวกับผีสางนางไม้ก็ควรจะรู้ว่าสิ่งที่เราจะไปจัดการนั้นคืออะไรกันแน่ ผีจริงหรือไม่จริง และถ้าจริงคือประเภทไหน เพราะการจัดการต่างกันไป ตัวผมเองไม่มีญาณหยั่งรู้ เรื่องนี้จึงจนใจ

ตรองไปมาและปรึกษากับคุณวิจักขณ์ คิดว่าคงใช้พุทธวิถีที่พอรู้บ้าง เพราะทางไสยะตัวเองยังไม่แก่กล้าพอ อีกทั้งพุทธวิถีก็น่าจะกว้างขวางและรวมใจผู้คนได้ดีกว่า

 

ผมออกแบบพิธีกรรมออกเป็นสามส่วน ส่วนแรกเป็นการเจริญพุทธมนต์เพื่อขอพุทธานุภาพและเจตจำนงที่ดีของทุกคนในการชำระปัดเป่า

ส่วนที่สองเป็นพิธีถวายควันหอม (ลาซัง) เพื่อชำระล้างและถวายบูชาธรรมบาลตามประเพณีทิเบต

ส่วนที่สามเป็นพิธีสุขาวดีอุทิศกุศลแก่ชาวอาศรมที่จากไปและบรรดาวิญญาณทั้งหลาย

โทนของพิธีออกไปในทางมหายาน (จีน)-วัชรยาน (ทิเบต) พอสมควร แต่ใช้ภาษาไทยเป็นหลัก

ในวันพิธี นอกจากมีผมซึ่งสมมุติเป็นตัวแทนฝ่ายมหายาน คุณวิจักขณ์เป็นฝ่ายวัชรยาน และมีพี่อัญชลี คุรุธัช จากเครือข่ายพุทธศาสนิกเพื่อสังคมนานาชาติ (INEB) ซึ่งพวกเรายกบทบาทให้เป็นแม่ชีเถรวาท ทั้งที่พี่อัญชลีนั้นดูเป็นมหายานมากกว่าผมเสียอีก แต่ในเมื่อทำงานกับพระเถรวาทบ่อยก็ให้เป็นตัวแทนฝ่ายนี้ละกัน

น่าสนใจว่าช่วงนี้อาศรมก็มีพระจริงๆ มาร่วมกิจกรรมหลายรูป แต่ท่านเหล่านี้มาเพื่อเป็นสตาฟฟ์และร่วมกิจกรรม ส่วนพระปลอมอย่างพวกเราสามคนกลับได้รับมอบหมายให้ทำพิธี (ฮา)

ผมจึงขอพระคุณเจ้าเหล่านั้นว่า ในช่วงท้ายพิธี ผมนิมนต์ให้เจริญชัยมงคลคาถาซะหน่อย กลัวพระท่านเหงาและถือว่าได้ให้เกียรติพระภิกษุสักนิด

 

วันนั้น เราจัดตั้งมณฑลพิธีอย่างง่ายๆ มีตั่งตั้งพระพุทธรูป รูปพระอวโลกิเตศวรและรูปพระมหากาลโดยถือเป็นตัวแทนของธรรมบาลทั้งปวง เหตุที่ควรบูชาธรรมบาลเพราะธรรมบาลนั้นเป็นผู้พิทักษ์ปกป้องธรรมและขจัดอุปสรรครวมทั้งสิ่งนอกแถว นอกลู่นอกทางให้หมดไป นอกนั้นก็เป็นเครื่องสักการะ เช่น ดอกไม้ธูปเทียน และของที่ชาวอาศรมนำมา ทั้งอาหาร ขนม ผลไม้

เราเริ่มด้วยการจุดธูปเทียน กล่าวบทถวายสุคนธบูชาซึ่งแปลมาจากภาษาจีน จากนั้นขานพุทธนามพระอวโลกิเตศวร แล้วสวดมหากรุณาธารณีสูตร

จากนั้นทุกคนภาวนามนต์มณี (โอม มณีปัทเม หูม) อาศัยพลังเจตจำนงร่วมนี่แหละช่วยชำระปัดเป่า

ตอนนั้นผมก็ทำน้ำพุทธมนต์ไปตามเรื่องตามราว ต่อด้วยการสวดปรัชญาปารมิตาหฤทัยสูตรด้วยกัน แล้วเข้าสู่พิธีส่วนที่สอง

พิธีส่วนที่สองหรือพิธีลาซัง เราเริ่มด้วยการจุดควันไม้หอม ผงไม้หอมนี้เป็นสมุนไพรปรุงจากทิเบต หลักๆ ก็มีพวกสนหอมและยาต่างๆ เมื่อจุดแล้วก็กล่าวคำถวายลาซังซึ่งแปลเป็นภาษาไทย

การถวายควันหอมเพื่อชำระปัดเป่านี้ เป็นประเพณีพื้นเมืองของผู้คนในแถบหิมาลัยมาก่อนพุทธศาสนา มักจุดตามภูเขาสูงหรือตามสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ ถวายทวยเทพและเจ้าที่เจ้าทางหรือมิ่งขวัญในธรรมชาติ เมื่อพุทธศาสนาเข้ามาสู่ทิเบตแล้ว ประเพณีนี้ก็สนิทสนมกันดีกับคติพุทธโดยเพิ่มพุทธานุภาพลงไป

เราขอให้พี่อัญชลีแกว่งตะเกียงไม้ควันหอมนี้ไปรอบๆ บริเวณพิธี

อันที่จริงการถวายควันหอมเพื่อปัดเป่านี้ คล้ายคลึงกับประเพณีจีนในการเส้เจ่งหรือการจุดไม้หอมใน “เจ่งหล่อ” (กระถางชำระล้าง) ก่อนจะเริ่มพิธีการต่างๆ

เมื่อถวายควันหอมแล้ว ก็อัญเชิญคุรุปัทมสมภพมาเพื่อทรงคุ้มครองและปัดเป่าอีกครั้ง แล้วจึงเป็นการถวายอาหารและชาแด่พระธรรมบาล

 

จากนั้นจึงเป็นพิธีสุดท้าย รายชื่อของผู้ที่เคยอยู่ในอาศรมและเสียชีวิตไปแล้ว รวมทั้งผู้เกี่ยวข้องได้ถูกอ่านในระหว่างการประกอบพิธีสุขาวดีอุทิศกุศล เราภาวนาถึงพระอมิตาภพุทธะ และสุขาวดีพุทธเกษตรของพระองค์ และด้วยพุทธานุภาพเราจึงอธิษฐานให้ท่านเหล่านั้นได้ไปบังเกิดในสุขาวดีพุทธเกษตร

จากนั้นผมได้เลือกบทอำนวยพรของท่านจัมยัง เคียนเซ ริมโปเช จากตำราสาธนาตาราของท่าน มาให้ผู้ร่วมพิธีได้อวยพรแก่อาศรมร่วมกัน เราสวดไปโปรยข้าวสารไป ดุจโปรยปรายปวงบุปผามาลัยด้วยความปีติยินดี

พิธีจบลงด้วยการอุทิศกุศลแก่ดวงวิญญาณทั้งหมดในอาศรมตลอดจนสรรพสัตว์ทั้งหลาย

 

ที่เล่าสู่กันฟังกับท่านผู้อ่าน เพราะ

ประการแรก อยากให้ท่านได้ทราบเรื่องราวหรือข่าวคราวของอาศรมวงศ์สนิท เผื่อท่านที่เพิ่งเคยรู้จักจะได้ไปเยี่ยมเยือนหรือไปใช้พื้นที่จัดกิจกรรม ตอนนี้อาศรมปรับปรุงใหม่สวยสดงดงามน่าใช้มาก

ประการที่สอง ผมก็อยากลองแบ่งปันว่า ปกติแล้วเวลาผมไปทำพิธีต่างๆ นั้นหากผู้เข้าร่วมโดยมากเป็นนักกิจกรรมหรือคนรุ่นใหม่ โดยมากผมก็มักปรับปรุงหรือปรับเปลี่ยนจากที่เคยมีมาแล้วให้สมสมัย ให้เรียบง่าย ใช้ภาษาที่เข้าใจไม่ยากแต่ก็พยายามรักษาทั้งความหมายและความงาม ด้วยความเชื่อมั่นว่าทุกคนสามารถจะทำพิธีได้จากความศักดิ์สิทธิ์ที่มีอยู่แล้วในตน

ท้ายนี้ ขอโอกาสอวยพรให้อาศรมวงศ์สนิท อยู่คู่สังคมไทยไปตราบนานเท่านาน •

 

ผี พราหมณ์ พุทธ | คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง