จัตวา กลิ่นสุนทร : อีกบางสิ่งบางอย่าง กับท่าน(พี่)ชวน หลีกภัย (อดีต)นายกรัฐมนตรี

ขออนุญาตย้อนไปเรียงร้อยเรื่องราวของท่าน(พี่)ชวน หลีกภัย (อดีต)นายกรัฐมนตรี (คนที่ 20) ซึ่งท่านเป็นนายกรัฐมนตรีถึง 2 สมัย คือปี พ.ศ.2535 กับ 2540 โดยจะเก็บเอาจากความทรงจำมากกว่าเที่ยวไปค้นหาจากที่อื่น

แต่จะดำเนินไปแบบสบายๆ ไม่เคร่งครัดกับเรื่องระยะเวลา เอาเฉพาะที่ได้พบเจอสัมผัสผูกพันกันเรื่องงานแต่หนหลัง และอะไรต่อมิอะไรอีกไม่น้อยบ้าง แต่มิได้หมายความว่าจะเป็นแต่เรื่อง “การเมือง” เท่านั้น

เนื่องจากท่าน(พี่)ชวน แม้จะเป็นผู้แทนราษฎรของคนเมืองตรังถึง 12 สมัย เป็นรัฐมนตรีมาแล้วถึง 5-6 กระทรวง ตั้งแต่กระทรวงเล็กถึงกระทรวงใหญ่เกรดเอ และ ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี

เป็นหัวหน้าพรรค “ประชาธิปัตย์” ติดต่อมาถึง 3 สมัย (12 ปี) เป็น “ผู้นำฝ่ายค้าน” เป็น “ประธานสภาผู้แทนราษฎร” และอีกมากตำแหน่ง จนถึง “นายกรัฐมนตรี” ซึ่งมาจากประชาชน มาจากการ “เลือกตั้ง” เป็นนักการเมืองในระบอบ “ประชาธิปไตย”

เมื่อแพ้การเลือกตั้งไม่ได้จัดตั้งรัฐบาลก็เป็น “ผู้นำฝ่ายค้าน” ในสภา ทำหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริตและอดทน ทำทุกสิ่งทุกอย่างตามระบอบการปกครองที่คนส่วนใหญ่ของโลกนิยม และคิดว่าเป็นระบอบการปกครองที่เลวน้อยที่สุด

 

ท่าน(พี่)ชวน สละเวลาเดินทางมาเป็นเกียรติ เพื่อเป็นประธานในพิธีมงคลสมรสของสาวน้อยที่บ้าน และกล่าวอวยพรให้กับบ่าวสาว ตามคำเรียนเชิญอย่างเรียบง่ายไม่ค่อยจะถือเนื้อถือตัว ทั้งๆ ที่เป็นงานเล็กๆ เจ้าภาพก็ไม่ค่อยจะเชี่ยวชาญชำนาญงานพิธีรีตองมากนัก

ได้กราบขอบพระคุณท่าน(พี่)ไปเป็นที่เรียบร้อย และก็ต้องขอบพระคุณอีกครั้งหนึ่งในข้อเขียนนี้ ซึ่งทำให้นึกถึงเรืองราวอีกหลายสิ่งหลายอย่าง แม้จะเป็นเรื่องปลีกย่อย แต่ก็สามารถนำมาบอกกล่าวเล่าขานได้แบบสบายๆ

ในวันงาน เพื่อนสนิทมิตรสหายที่รักใคร่ชอบพอก็เดินทางมาร่วมงานพอสมควร

ท่านที่ร่วมโต๊ะอาหารกลางวันและสนทนาอยู่กับท่าน(พี่)ชวนด้วย เป็นพิธีกรโทรทัศน์คนดัง อดีต “คอลัมนิสต์” หนังสือพิมพ์รายวัน รวมทั้งเป็นนักกลอนระดับมือรางวัลสดๆ ร้อนๆ คือท่าน “สุภาพ คลี่ขจาย” และท่าน “ไพวงษ์ เตชะณรงค์” เจ้าของผู้ก่อตั้งโครงการ “โบนันซ่า” ปากช่องเขาใหญ่ นครราชสีมา และเจ้าของหนังสือพิมพ์ “บางกอกทูเดย์” ซึ่งเมื่อได้แนะนำขึ้นมาใครต่อใครนอกวงการมักทำหน้าตางงๆ เล็กน้อย

แต่เมื่อแนะนำท่านไพวงษ์ ว่าเป็นคุณพ่อของ “สงกรานต์ เตชะณรงค์” คนรุ่นใหม่ๆ กลับร้องอ๋อขึ้นมาทันที ได้กระซิบกับไพวงษ์ว่า “รุ่นเรามันสูงวัยไปเสียแล้วละ…”

เคยกราบเรียนท่าน(พี่)ชวน ว่าอายุของพวกเราขณะนี้เดินทางขึ้นสะพานพระราม 7 มากันแล้ว ท่านอดีตนายกรัฐมนตรี (คนที่ 20) 2 สมัย บอกแบบนิ่มๆ ตามสไตล์ ว่า

“ตามพี่ไม่ทันหรอก…”

 

ความจริงมีผู้ร่วมโต๊ะคนอื่นอยู่ด้วย แต่ 2 ท่านที่ได้นำมากล่าวถึงนั้นเป็นผู้ที่คุ้นเคยกับท่าน(พี่)ชวน เพราะฉะนั้นจึงพูดคุยกันได้หลายเรื่องราวอย่างเป็นกันเอง เพราะได้เคยพบปะทำงานร่วมกันมานาน

ต้องกล่าวว่ารู้จักกันมาหลายสิบปี และสำหรับกับท่าน(พี่)ย่อมไม่เป็นที่แปลกใจแต่อย่างใดเพราะเป็นคนของประชาชน เป็นนักการเมืองมาตลอดทั้งชีวิต เพียงแต่ช่วงแรกๆ หลังจบการศึกษาได้ประกอบอาชีพทนายความมาก่อน ก่อนเข้าสู่การเมือง

เพราะความที่เป็น “นักการเมือง” ในระบอบประชาธิปไตย ซึ่งสามารถเรียกได้เต็มปากเต็มคำอย่างมั่นใจว่ามือสะอาด มีอุดมการณ์ทางการเมือง มุ่งมั่นรับใช้ประชาชนตลอดมา ไม่ว่าจะอยู่ในตำแหน่งไหนก็ไม่เคยห่างไกลจากประชาชน

โดยเฉพาะคนเมืองตรังซึ่งได้ผูกขาดเป็นผู้แทนของพวกเขาต่อเนื่องมาไม่เคยสอบตก

 

จําได้ว่าอาจารย์หม่อมราชวงศ์ คึกฤทธิ์ ปราโมช ได้รวบรวมบรรดาหัวกะทิทั้งหลายทั้งปวงทางด้านการเมือง เศรษฐกิจ ก่อตั้งพรรค “กิจสังคม” ขึ้นในปี พ.ศ.2517 เพื่อดำเนินงานการเมืองอย่างเป็นระบบอย่างถูกต้องตามระบอบประชาธิปไตย เปิดตัวลงสู่สนามเลือกตั้ง ส่งสมาชิกของพรรคลงสมัครรับเลือกตั้งให้ประชาชนเป็นผู้พิจารณาตัดสินใจ พร้อมนโยบายต่างๆ ภายใต้สโลแกนว่า “เราทำได้”

มีการเลือกตั้งทั่วไปในปี พ.ศ.2518 พรรค “กิจสังคม” ส่งผู้สมัครลงชิงเก้าอี้ทั่วประเทศซึ่งผลก็ทราบกันดีอยู่แล้วสำหรับผู้ที่สนใจติดตามการเมืองว่าพรรค “กิจสังคม” ได้รับเลือกตั้งเข้ามาเพียง 18 ที่นั่ง แต่อาจารย์คึกฤทธิ์ ได้เป็น “นายกรัฐมนตรี” (คนที่ 13)

ได้ติดตามอาจารย์คึกฤทธิ์ ไปหาเสียงมากมายหลายจังหวัดเกือบทั่วประเทศ ตามแต่เวลางานจะเอื้ออำนวย เมื่อมีช่องว่างจะเข้าร่วมขบวนทันที ได้พบปะรู้จักพูดคุยกับผู้สมัครของพรรคกิจสังคม และพรรคอื่นๆ ในยุคนั้นจำนวนมากทีเดียว

ครั้งหนึ่งเดินทางไปยังหลายจังหวัดภาคใต้รวมทั้งจังหวัดตรัง พื้นที่ของผู้แทนชื่อท่าน(พี่)ชวน หลีกภัย ก็มีหัวคะแนนรวมทั้งผู้สมัครของพรรคกิจสังคมรายงานว่าเป็นเรื่องยากยิ่งที่จะเจาะเอาคะแนนในพื้นที่ในเขตของท่าน

แต่ก็ยังมีนักประจบสอพลอบางคนบอกว่าเสียงไม่แน่นหนาเท่าไร บางพื้นที่ท่านชวนเข้าไปหาเสียงก็ยังถูกชาวบ้านไล่ออกมา

 

ทราบจากการเล่าขานมาว่าท่าน(พี่)ชวนมีรถจิ๊ปวิลลี่คันโปรดขับตระเวนไปตามหมู่บ้านเพื่อพบปะกับประชาชน หรือออกไปหาเสียงนั่นแหละ บางทีในระยะไม่ไกลมากนักก็จะขี่จักรยาน “เสือหมอบ” ตระเวนไปด้วยความขยันเป็นอย่างยิ่ง ได้นำเรื่องเล่าเหล่านี้กลับมาเขียนใน “สยามรัฐ สัปดาหวิจารณ์” ขณะนั้น

เมื่อออกวางแผงได้ไม่นานท่าน(พี่)ก็มาขอแก้ข่าวว่าเป็นเรื่องไม่จริงที่บอกว่า “ชาวบ้านไม่ให้เข้าหมู่บ้าน หรือไล่ออกมา”? แต่ท่าน(พี่)ไม่ได้โกรธเคืองอะไรอธิบายนิ่มๆ ทั้งๆ ที่ควรจะต้องโกรธด้วยซ้ำ

เพราะความเอนเอียงไปทางพรรคกิจสังคม จึงไปเชื่อหัวคะแนนของพรรคแล้วดันเก็บเอาเรื่องไม่จริงมาเขียน ซึ่งต่อมาพอเข้าใจแล้วว่าการเลือกตั้งต้องพยายามที่จะเบียดแย่งคะแนน และโจมตีคู่แข่งคนเล่าข่าวเป็นหัวคะแนนของ “กิจสังคม” จึงโจมตีท่าน

ความรู้สึกชอบพอนักการเมืองซึ่งมีพื้นฐานทางด้านจิตรกรรม เนื่องจากได้เคยศึกษาในโรงเรียนศิลปศึกษา หรือโรงเรียนเตรียมศิลปากร มาก่อน เกิดขึ้นตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมา ลองนับเวลาไม่น่าเชื่อว่านานกว่า 40 ปี

 

เมื่อ “นายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็น “ทหาร” มาจากการ “ยึดอำนาจ” โดยใช้กำลังคนและอาวุธจาก “กองทัพ” เพิ่งประกาศตัวว่าเป็น “นักการเมือง” ที่เคยเป็นทหาร และตำหนิติเตียนนักการเมือง หรือพูดตามประสาชาวบ้านว่า “ด่านักการเมือง” ว่าไม่ดี เลว สร้างความวุ่นวายแตกแยกในบ้านเมือง เป็นด่ากราดเหมารวมยกเข่ง

นักการเมืองอาชีพอย่างท่าน(พี่)ชวน หลีกภัย จึงไม่ทน พร้อมสวนกลับไปว่า “ไม่ปฏิเสธว่าในกลุ่มอาชีพนักการเมืองย่อมมีคนเลว ขณะเดียวกันในกลุ่มทหาร ใน “กองทัพก็ย่อมต้องมีทั้งคนดี เลว ปะปนกัน…”

ในรัฐบาลซึ่งมาจากการ “ยึดอำนาจ” อย่างเช่นปัจจุบันนี้ ถ้าบังเอิญมี “ฝ่ายค้าน” เปิดให้มีการตรวจสอบ คาดว่าคงไม่สามารถยืนหยัดอยู่มาได้ถึง 3 ปีเศษ จะต้องพบเรื่องไม่ชอบมาพากลซึ่งปฏิเสธไม่ได้ ให้ได้รู้เห็นกันตามการคาดหมายแน่ๆ

ขอให้สูงวัยทั้งหลายพยายามรักษาสุขภาพรักษาเนื้อรักษาตัวเอาไว้เพื่อรอดูวันที่รัฐบาลซึ่งไม่ได้มาจากประชาชน ได้เวลาต้องลงจากอำนาจ ว่าจะเป็นไปในสภาพไหน อยากให้ย้อนกลับไปดูประวัติศาสตร์ของประเทศ เราจะเห็นว่า “รัฐบาลทหาร” ซึ่งมาจากการ “ยึดอำนาจ” และอยากอยู่ในอำนาจต่อไป เมื่อถึงเวลาดังกล่าวนั้นจะเป็นอย่างไร ?

รัฐบาลที่ใช้อำนาจบาตรใหญ่อ้างแต่ว่าทำตามกฎหมาย หลังจากที่ฉีกกฎหมายใหญ่มาแล้ว สุดท้ายก็จะต้องตกอยู่ในสภาพที่ไม่แตกต่างไปจากประวัติศาสตร์ สภาพเหตุการณ์ที่เริ่มก่อเกิดทุกวันนี้ โดยเริ่มต้นจากจุดเล็กๆ เป็นภาพที่ดูคุ้นๆ กับสิ่งเคยเกิดขึ้นในวันเวลาที่ผ่านมา ก่อนที่รัฐบาลจะมีอันเป็นไป

 

มีการพูดคุยกันว่าท่าน(พี่)ชวน หลีกภัย น่าจะกลับมาเป็น “นายกรัฐมนตรี” อีกสักครั้งหนึ่ง

พิจารณาด้วยเหตุผลดูแล้วค่อนข้างจะเป็นเรื่องยาก

แม้ท่านจะยังมีสุขภาพดี แต่วัยก็เริ่มต้นเลข 8 แล้ว ไม่ได้เป็นหัวหน้าพรรค “ประชาธิปัตย์” ขณะเดียวกันก็ไม่รู้ว่าพรรคเก่าแก่นี้จะได้รับเลือกตั้งเป็นเสียงข้างมาก หรือมีจำนวนเสียงได้เป็นแกนจัดตั้งรัฐบาลหรือไม่?

ต้องขอเรียนว่าเป็นเรื่องไม่ง่ายเลย

แต่ในความคิดย่อมเป็นเรื่องไม่ยากอะไร?