นงนุช สิงหเดชะ/ยกระดับเป็นนาฬิกา “พิฆาต”

บทความพิเศษ/นงนุช สิงหเดชะ

ยกระดับเป็นนาฬิกา “พิฆาต”

นอกจากกระแสไม่ลดความร้อนแรงแล้ว ยังทำท่าว่าจะเพิ่มองศาจนไปถึงจุดเดือด สำหรับปมนาฬิกาหรูแพงระยับของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ที่ทำท่าจะกลายเป็น “นาฬิกาพิฆาตรัฐบาล” ไปแล้ว ซึ่งจนถึงขณะนี้เรื่องยังอึมครึม ส่วนเจ้าตัวก็ยังไม่แสดงสปิริตลาออกเพื่อคลายปมรัดคอรัฐบาลแต่ประการใด อ้างแต่ว่ารอผลสอบจาก ป.ป.ช.

สงสัยอยากจะไป “สุดซอย” แบบรัฐบาล ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่ดึงดันจะผลักดันกฎหมายนิรโทษกรรมเหมาเข่งให้ผ่านสภาให้ได้

ตั้งแต่ยึดอำนาจมา กล่าวได้ว่ายังไม่มีประเด็นไหนที่รัดคอรัฐบาลได้นานขนาดนี้เท่าเรื่องนาฬิกา

เพราะเป็นเรื่องที่ถูกทั้งสื่อมวลชนเขียนวิพากษ์วิจารณ์ยาวนานที่สุด โลกโซเชียล เกาะติดมากที่สุด

และที่น่าห่วงอย่างยิ่งก็คือกลายเป็นประเด็นที่ทำให้ฝ่ายตรงข้ามรัฐบาลมีความชอบธรรมและได้โอกาสงามในการออกมาเคลื่อนไหวบนท้องถนน

เรียกได้ว่าจุดกระแสบน “ออนไลน์” ได้ติดลมบน จนส่งไม้ต่อให้เกิดม็อบ “ออฟไลน์” บนท้องถนน ซึ่งตอนนี้กำลังชิมลางหยั่งเชิงอำนาจรัฐ ด้วยการนัดประท้วงกันทุกสัปดาห์แล้ว

ที่ช่วยกระหน่ำซ้ำให้เกิดความคลางแคลงและ (อาจ) เสื่อมศรัทธาในความโปร่งใสของรัฐบาล ก็คือกรณีอธิการบดีสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ หรือนิด้า สั่งระงับการเผยแพร่โพลเรื่องนาฬิกาของ พล.อ.ประวิตร ที่จัดทำโดยศูนย์โพลนิด้า กระทั่งทำให้ผู้อำนวยการศูนย์โพลประกาศจะลาออกเพราะถือว่าถูกแทรกแซงเสรีภาพทางวิชาการ

ฝ่ายอธิการบดียืนยันว่าไม่ได้รับใบสั่งจากรัฐบาลหรือ คสช. แต่ที่สั่งระงับเพราะเห็นว่าชี้นำ เนื่องจาก ป.ป.ช. ซึ่งมีหน้าที่ชี้มูลเรื่องนี้ยังไม่ได้ข้อยุติ ทำให้มีผู้โต้แย้งกลับไปว่า หลายโพลเกี่ยวกับนักการเมืองที่จัดทำมา ก็สามารถทำได้โดยที่คดียังไม่ยุติเช่นกัน เช่น คดีจำนำข้าวของคุณยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

การสั่งระงับดังกล่าว ดูเหมือนเป็นความปรารถนาดีอยากช่วยรัฐบาล แต่อย่าลืมว่าในสถานการณ์ “ขาลง” ของรัฐบาลเช่นนี้ ความปรารถนาดังกล่าวให้ผลตรงกันข้าม

เข้าทำนอง “ใช้ไม้หน้าสามตียุงให้นาย” ทำให้สถานการณ์ของรัฐบาลแย่ลงไปอีก เพราะจะไปตอกย้ำความเชื่อของสังคมว่า รัฐบาลอาจแทรกแซงก็เป็นได้

กล่าวสำหรับการทำงานของ ป.ป.ช. นั้นก็น่าลุ้นเป็นอย่างยิ่งว่าจะออกมารูปไหน เพราะหากผลสอบออกมาว่า ทั้ง 25 เรือน ราคาหลายสิบล้านบาทนี่เป็นการยืมเพื่อนมาทั้งหมด เจ้าตัวจึงไม่มีความผิดนั้น หลายคนรับประกันล่วงหน้าว่าคงจะเกิดวิกฤตศรัทธาใหญ่ต่อ ป.ป.ช. แน่นอน

หาก ป.ป.ช. วางมาตรฐานไว้เช่นนั้นแล้ว จะทำให้ระบบการปราบโกงของไทยล่มสลายทันที เพราะจากนี้ไปแทบจะเอาผิดนักการเมืองคนไหนไม่ได้เลย หากมีทรัพย์สินงอกหรือโผล่ออกมาโดยไม่ได้แจ้งบัญชีไว้กับ ป.ป.ช. เนื่องจากก็จะอ้างแบบเดียวกับ พล.อ.ประวิตร ว่าทุกอย่างยืมเพื่อนมา

มีคนประชดว่า ต่อไปคงมีนักการเมืองอ้างว่าบ้านราคา 50 ล้านบาทนี่ก็ยืมเพื่อนมา รถยนต์ราคา 10 ล้านบาทนี่ก็ยืมเพื่อนมา แม้กระทั่งเงินฝากในบัญชีธนาคารก็ “ยืมเพื่อนมา”

พล.อ.ประวิตรนี่ก็แปลก ดูจากทรัพย์สินที่แจ้งไว้ก็จัดว่ามีฐานะพอสมควร แล้วไม่มีเงินซื้อนาฬิกาเป็นของตัวเองเลยหรืออย่างไร ถึงได้ยืมคนอื่นใส่ตลอด (ไม่มีกำหนดคืน)

ป่านนี้ พล.อ.ประวิตร เห็นหรือยังว่าแค่เรื่องนาฬิกาของตัวเองนั้น ได้ส่งผลลบระดับสั่นสะเทือนต่อรัฐบาลทั้งคณะอย่างไรบ้าง เท่านั้นยังไม่พอ ยังลามไปกระทบสถาบันการศึกษา-วิชาการอย่างนิด้าด้วย โดนสะเก็ดระเบิด บาดเจ็บ เดือดร้อนกันทั่วทุกหัวระแหง

ถ้ายังใจเย็นอยู่ได้ ไม่อินังขังขอบ ไม่รู้ร้อนรู้หนาว ไม่แสดงสปิริตอะไรสักอย่าง ก็คงเป็นเวลานับถอยหลังของรัฐบาลของจริง หากแก้เกมไม่ทัน รัฐบาลนี้ก็จะได้ชื่อว่าถูก “นาฬิกาพิฆาต”

พอมีเรื่องร้อนๆ แบบนี้โผล่ขึ้นมาเขย่ารัฐบาล ก็ย่อมเป็นธรรมดาที่ฝ่ายตรงข้ามจะมีอาการดี๊ด๊า พร้อมกับฉวยโอกาสผสมโรงตอกย้ำว่ารัฐบาลที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งนั้นตรวจสอบไม่ได้ ยังไงรัฐบาลเลือกตั้งก็ดีกว่า เพื่อจะสร้างเครดิตให้กับตัวเองในฐานะผู้ที่มโนว่าตัวเองรักประชาธิปไตย และหาข้ออ้างที่จะให้มีการเลือกตั้งโดยเร็ว

คนหน้าเดิมๆ พวกนี้ออกมาวิพากษ์วิจารณ์สั่งสอนรัฐบาลปัจจุบันหน้าตาเฉยในสิ่งที่พวกตัวเองก็ทำมาแล้วทั้งนั้น และตอนที่ตัวเองบริหารประเทศก็ทำได้ไม่ดีไปกว่านี้ มันเลยกลายเป็นเรื่อง “พวกอิเหนาสอนอิเหนา”

ที่ผ่านมาในแง่ฝีมือการบริหารประเทศแทบไม่มีสิ่งใดแตกต่างระหว่างรัฐบาลเลือกตั้งกับรัฐบาลทหารหรือที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง รัฐบาลที่ไม่ผ่านการเลือกตั้งดูจะทำได้ดีกว่าเสียอีกในแง่ความเร็วของการผลักดันโครงการพัฒนาต่างๆ เช่น ยุคนายอานันท์ ปันยารชุน ได้เปลี่ยนโฉมการโทรคมนาคมของไทยไปอย่างก้าวกระโดด ใครต้องการติดตั้งโทรศัพท์บ้านก็ไม่ต้องรอไปหนึ่งชาติ แค่ไม่กี่วันก็ได้แล้ว

พอมารัฐบาลนี้หลายอย่างก็ถือว่าทำได้เร็วจากการใช้อำนาจพิเศษในการผลักดันโครงการใหญ่ (แต่ก็อาจมาสะดุดนาฬิกานี่ล่ะ น่าเสียดาย)

ข้อเสียเปรียบของรัฐบาลที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งก็คือถูกถ่วงรั้งโดยประชาคมนานาชาติ อาจจะทำให้มีข้อจำกัดบางอย่างในการมีปฏิสัมพันธ์กับต่างประเทศ

ส่วนรัฐบาลเลือกตั้งนั้น เรื่องนอกประเทศไม่มีปัญหาเพราะได้รับการยอมรับตามกติกาสากล แต่มักจะตกม้าตายจากปัญหาในประเทศที่ตัวเองก่อขึ้น เช่น ทุจริตฉ้อราษฎร์บังหลวง ผลประโยชน์ทับซ้อน ทำให้ประชาชนลุกขึ้นต่อต้าน เกิดม็อบ เกิดความไม่สงบ ถ้ารุนแรงมากเข้า นักท่องเที่ยวต่างชาติก็ไม่เข้ามา นักลงทุนต่างประเทศก็ไม่กล้าลงทุนโครงการใหม่ๆ เพราะไม่มั่นใจเสถียรภาพการเมือง

ดังนั้น ที่นักการเมืองบางคนชอบอ้างว่าถ้าเลือกตั้งแล้วเศรษฐกิจจะดี ทุกอย่างจะดีกว่า ก็คงไม่จริงเสมอไป

ในยุคนี้ไม่มีอะไรรับประกันว่าการเลือกตั้ง คือทางออกที่ดีกว่า ดูจากสหรัฐอเมริกา ที่การเลือกตั้งนำไปสู่การได้ผู้นำประเทศที่แย่และน่าขายหน้าที่สุดในประวัติศาสตร์ สังคมไม่มีความสุข เกิดความตึงเครียดเพราะมีการประท้วงผู้นำประเทศแทบจะตลอดเวลา

เมื่อถูกนักข่าวซักถามว่าตอนนี้รัฐบาลถูกมองว่าอยู่ในช่วงขาลง (เนื่องจากถูกรุมเร้าด้วยบางเรื่องรวมทั้งเรื่องนาฬิกา) และควรใช้เวลาที่มีอยู่คืนความสุขให้ประชาชนตามสัญญา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ตอบในทำนองว่าขอให้มองบ้างว่าที่ผ่านมารัฐบาลนี้ทำอะไรบ้างในสิ่งที่รัฐบาลอื่นไม่ได้ทำ เศรษฐกิจที่ดีขึ้น หลายๆ อย่างดีขึ้น ใครเป็นคนทำ

แน่นอนน้ำเสียงของ พล.อ.ประยุทธ์มีนัยถึงการตัดพ้อและน้อยใจ

หากดูตามเนื้อผ้า ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่ารัฐบาลนี้มีผลงานหลายอย่าง ไม่ได้ขี้เหร่นัก บางเรื่องก็ทำได้เร็วกว่ารัฐบาลเลือกตั้ง เพียงแต่สิ่งที่กองหนุน กองเชียร์ เขาเป็นห่วงขณะนี้คือ อยากให้การทำงานที่เหลืออีก 1 ปีของรัฐบาลราบรื่น เพื่อคืนความสุขให้ประชาชนมากที่สุด

โดยไม่มีตัวถ่วงอย่างเรื่องนาฬิกา มาทำให้รัฐบาลต้องรูดม่านเร็วกว่าที่ควรจะเป็น แล้วใครควรเป็นผู้เสียสละให้รัฐนาวาแล่นต่อไปได้