ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 20 - 26 ธันวาคม 2567 |
---|---|
คอลัมน์ | วิรัตน์ แสงทองคำ |
ผู้เขียน | วิรัตน์ แสงทองคำ |
เผยแพร่ |
ระบบโลจิสติกส์ซึ่งเป็นตำนานเอสซีจีกว่าครึ่งศตวรรษ เหมือนถูกหลงลืมที่กล่าวถึงในวงกว้างมาสักพักใหญ่
เอสซีจี (หรือ เครือซิเมนต์ไทย ที่มี บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) หรือชื่อย่อ SCC อยู่ในตลาดหุ้น) กับงาน “นำเสนอข้อมูล” (presentation) ต่อนักลงทุนหลายครั้ง เมื่อเร็วๆ นี้ (ในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2567) ได้มีข้อมูลหน้าหนึ่งที่น่าสนใจ ถือว่าปรากฏขึ้นครั้งแรก ในยุคผู้นำคนใหม่ (ธรรมศักดิ์ เศรษฐอุดม) ก็ว่าได้ เรียกว่า- SCG’s Snapshot เป็นไทม์ไลน์ให้ภาพธุรกิจกว่าศตวรรษ ในนั้นระบุธุรกิจหนึ่งไว้อย่างตั้งใจ 1998 -Distribution (ดูภาพประกอบ) *
ว่าไปแล้ว ว่าด้วยระบบค้าและจัดจำหน่าย ได้ก่อตัวมาก่อนหน้านั้นนานพอควร โดยพัฒนาไปตามสภาพสังคมธุรกิจที่เปลี่ยนแปลง ทั้งนี้ โฟกัสธุรกิจดั้งเดิม จากปูนซีเมนต์ สู่วัสดุก่อสร้าง จากยุคผูกขาด สู่ยุคที่มีแข่งขันมากขึ้นตลอดช่วงกว่า 5 ทศวรรษ
ยุคเริ่มต้นการแข่งขัน
“สมัยก่อน ปูนซิเมนต์ไทยไม่สนใจเรื่องการขาย สนใจแต่เรื่องการผลิตอย่างเดียว ซึ่งก็เป็นเรื่องธรรมดา เพราะแต่ก่อนปูนซิเมนต์ไทยมีรายเดียว ผลิตออกมาได้เท่าไหร่ก็ขายหมด ไม่ต้องทำอะไร เพียงแต่คาดคะเนให้ถูกว่า ฤดูแล้งกับฤดูฝนควรผลิตอย่างไร” อมเรศ ศิลาอ่อน อดีตผู้บริหารคนสำคัญเอสซีจี ผู้มีบทบาทในการสร้างและพัฒนาระบบการจัดจำหน่าย กล่าวไว้ในหนังสือของเขา (“อมเรศ ศิลาอ่อน ทำดีแล้วอย่าหวั่นไหว” แพรวสำนักพิมพ์ กรกฎาคม 2556)
ข้างต้นเป็นชิ้นส่วนของภาพใหญ่ ช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญทางประวัติศาสตร์เอสซีจี มืออาชีพไทย เข้ามาเป็นขบวนครั้งใหญ่ ในปลายยุคผู้บริหารชาวเดนมาร์ก
มี อายุส อิศรเสนา ณ อยุธยา เป็นหัวขบวน (ปี 2509) โดยได้นำพาบุคคลสำคัญควรกล่าวถึง เข้ามาด้วย 2 คน- จรัส ชูโต จากเอสโซ่ (ปี 2509) เข้ามารับผิดชอบด้าน Logistics (ขณะนั้นเรียกว่า ฝ่ายปฏิบัติการ) และ อมเรศ ศิลาอ่อน จากเชลล์ (ปี 2510) ดูแลงานการสร้างเครือข่ายการตลาดและโฆษณา ประชาสัมพันธ์
“ผมเข้ามาก็ได้รับมอบหมายให้เป็นผู้ก่อตั้งหน่วยงานด้านปฏิบัติการขึ้น…ตอนที่ผมเข้ามาทำงานเครือซิเมนต์ไทย ยังมีโรงงานไม่มากนัก …ก็ได้รับโอนงานด้านการจัดส่งสินค้าจากบริษัทผู้ผลิตมาดำเนินการทั้งหมด” จรัส ชูโต กล่าวถึงเรื่อง Logistics ไว้โดยเฉพาะ (อ้างจากเรื่อง “พนักงานคือทรัพยากรอันล้ำค่า” ในหนังสือ ปูนซิเมนต์ไทย 2456-2526)
เอสซีจีก่อตั้งบริษัทค้าวัตถุก่อสร้างขึ้นในปี 2505 เพื่อเป็นบริษัทการตลาดให้กับ 3 บริษัท คือ ปูนซิเมนต์ไทย กระเบื้องกระดาษไทย และ ผลิตภัณฑ์และวัตถุก่อสร้าง
การสร้างระบบการค้าและจัดจำหน่ายครั้งนั้น เพื่อเตรียมตัวเข้าสู่ยุคการแข่งขันที่มีมากขึ้น
ขณะเอสซีจีเองมีการผลิตสินค้าหลากหลายขึ้น จังหวะมืออาชีพจากภายนอกเข้ามาอย่างครึกโครม
ประจวบเหมาะกับสถานการณ์และโอกาสใหม่ๆ ที่เปิดกว้างทางธุรกิจ
ในเวลาต่อจากนั้นเอสซีจีจึงได้เข้าสู่ยุคก้าวกระโดด อย่างตื่นเต้น
ยุคที่สอง การปรับปรุงระบบ
รายงานประจำปี 2523 ของบริษัท ปูนซิเมนต์ไทย ได้กล่าวถึงระบบคอมพิวเตอร์ออนไลน์ครั้งแรกๆ “เครือฯ ได้เริ่มนำระบบ online มาช่วยในการปฏิบัติงาน โดยศูนย์กลางของระบบตั้งอยู่ที่บางซื่อและสามารถติดต่อกับศูนย์ผลิตที่สำคัญ 2 แห่ง คือ ท่าหลวงและบางซ่อน รวมทั้งที่สำนักงานขายที่พหลโยธิน” ทั้งๆ ที่เอสซีจีใช้คอมพิวเตอร์มาบ้างแล้วก่อนหน้านั้นกว่าทศวรรษ ในฐานะเป็นลูกค้ารายแรกๆ ของ IBM
จากนั้นไม่นาน ระบบจัดจำหน่ายอย่างเป็นจริงเป็นจังเป็นทางการได้สถาปนาขึ้น เป็นระบบ “ผู้แทนจำหน่าย” ที่เข้มแข็ง เป็นเครือข่ายและพลังสำคัญให้เอสซีจีเป็นผู้นำตลาดอย่างแท้จริง ด้วยมีสินค้าวัสดุก่อสร้างหลากหลายกว่าที่เคยมี มีผู้แทนจัดจำหน่ายถึง 600-700 ราย อยู่ในยุคจรัส ชูโต เป็นผู้จัดการใหญ่เอสซีจี (2523-2527) ในฐานะนักบริหารมืออาชีพ ผู้ได้รับการยอมรับ โดยมี อมเรศ ศิลาอ่อน ผู้บริหารระดับสูงเอสซีจีอีกคน ได้ชื่อเป็นต้นแบบนักการตลาด
ในขั้นนี้ ว่ากันว่าเอสซีจีเดินหน้าสร้างระบบเฉพาะตนเองขึ้นมาได้ ด้วยการศึกษาอ้างอิงบางระดับ จากเอกสารต่างประเทศไม่กี่แผ่น (Harvard Case study– American Hospital Supplies)
![](https://www.matichonweekly.com/wp-content/uploads/2024/12/วิรัตน์-2314.jpg)
ยุคที่สาม รื้อระบบครั้งใหญ่
ตามไทม์ไลน์ ข้อมูลนำเสนอล่าสุดที่ว่า เชื่อว่าปักหมุดไว้ในยุคนี้ ท่ามกลางกระบวนการปรับโครงสร้างเอสซีจีครั้งใหญ่ ตามพิมพ์เขียวปี 2542 มีความชัดเจนในเรื่องยุทธศาสตร์ธุรกิจหลักที่คงไว้ และธุรกิจที่จำเป็นต้องลดบทบาท โดยธุรกิจจัดจำหน่าย ซึ่งแยกออกมาต่างหาก อยู่ในกระบวนการคิดกันใหม่
ตามมาด้วยการปรับตัวทางธุรกิจอย่างเข้มข้น โดย ดุสิต นนทะนาคร อดีตผู้บริหารระดับเอสซีจีผู้ล่วงลับ ขณะนั้นเขาดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ค้าวัสดุ ซิเมนต์ไทย (ต่อมาคือ เอสซีจี ดีสทริบิวชั่น) “เราไม่เคยจ้างที่ปรึกษามาก่อน เพราะคิดว่าธุรกิจที่เราทำมานานในประเทศไทย ไม่มีใครรู้ดีกว่าเรา วิกฤตการณ์ครั้งนี้ เราเริ่มไม่มั่นใจหลายเรื่อง ทำให้ต้องจ้างที่ปรึกษาฝรั่งครั้งแรก” เขากล่าวไว้
การรื้อระบบครั้งใหญ่ มีสองเรื่องสำคัญ
หนึ่ง- ยุบคลังสินค้าทั่วประเทศประมาณ 60 แห่ง เป็นการตัดขั้นตอนในการสต๊อกสินค้าและการขนส่งซ้ำซ้อน (Double Handling) แต่เดิมผู้แทนจำหน่ายติดต่อ รับสินค้าจากคลังสินค้า เป็นเครือข่ายที่เทอะทะและขยายตัวมาตลอด 30 ปี พร้อมกันนั้นต้องปรับลดพนักงานครั้งใหญ่
สอง- ปรับเปลี่ยนระบบที่สร้างขึ้นมาเองไปสู่ระบบเปิด ด้วยเทคโนโลยีพื้นฐาน โดยเฉพาะที่เรียกว่า ERP (Enterprise Resource Planning)
รวมทั้งรื้อระบบโลจิสติกส์ ตามแนวคิดการบริหารสมัยใหม่– Supply Chain Management และสร้าง Call Center ขึ้นมา
ยุคที่สี่ Modern trade
หลังจากปี 2540 ไม่นาน สถานการณ์สำคัญๆ เปลี่ยนแปลงไป รวมทั้งการเข้ามาของ Modern trade ลามจากสินค้าคอนซูเมอร์ สู่สินค้าวัสดุก่อสร้าง
เอสซีจีได้ติดตามความเป็นไปของระบบการค้าสมัยใหม่อย่างใกล้ชิด ปรากฏการณ์เครือข่ายร้านค้าวัสดุก่อสร้าง เกิดขึ้นตั้งแต่ Home Pro (กิจการในเครือ แลนด์แอนด์เฮ้าส์) ในปี 2539 ตามด้วย Global house โดยนักธุรกิจโนเนมในต่างจังหวัด เปิดสาขาแรกที่อีสาน ในปี 2540
ในปี 2541 เอสซีจีตัดสินใจเข้าสู่ Modern trade ด้วยการสร้างแบรนด์ Homemart เป็นความพยายามสร้างจากเครือข่ายผู้แทนจัดจำหน่ายเดิม
ในเวลาต่อมาได้สรุปบทเรียนว่า ยากกว่าที่คิดไว้ เผชิญแรงเสียดทานมากกว่าการสร้างเครือข่ายขึ้นมาใหม่
ขณะเดียวกัน อยู่ท่ามกลางสถานการณ์มีคู่แข่งรายใหม่ๆ เกิดขึ้นไม่ขาดสาย โดยเฉพาะ กลุ่มเซ็นทรัล ในฐานะผู้นำค้าปลีกของไทย กระโจนเข้าสู่ธุรกิจนี้ ด้วยการเปิดเครือข่าย Home Work (ปี 2544) เข้ายึดพื้นที่กรุงเทพฯ และหัวเมืองท่องเที่ยว และเปิด- ไทวัสดุ (ปี 2553) ยึดพื้นที่หัวเมืองในจังหวัดใหญ่ๆ
ในช่วงเวลานั้น (ปี 2555) เครือข่าย Modern trade สินค้าวัสดุก่อสร้าง (ไม่นับรวมเครือข่าย Home mart ของเอสซีจี) มีมากถึงเกือบ 100 แห่งแล้ว นับเป็นแรงกดดันสำคัญให้เอสซีจีต้องตัดสินใจใหม่ครั้งใหญ่ ในยุค กานต์ ตระกูลฮุน นั่นคือเข้าซื้อหุ้น หนึ่งในสาม บริษัท โกลบอลเฮาส์ (เจ้าของเครือข่ายค้าวัสดุก่อสร้าง- Global house มีสาขาเวลานั้นประมาณ 20 แห่ง) ด้วยเงินลงทุนประมาณหนึ่งหมื่นล้านบาท (26 สิงหาคม 2555)
นั่น… อาจเป็นเพียงครั้งก่อนหน้า กล่าวถึงธุรกิจนี้อย่างจริงจังตั้งใจ •
วิรัตน์ แสงทองคำ | www.viratts.com
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022