ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 20 - 26 ธันวาคม 2567 |
---|---|
คอลัมน์ | ก่อสร้างและที่ดิน |
เผยแพร่ |
ปีเก่า 2567 กำลังจะผ่านพ้นไปในอีกไม่กี่วันข้างหน้า
สำหรับคนประกอบธุรกิจขนาดใหญ่ ขนาดกลางและเล็ก พูดเป็นเสียงเดียวกันว่า เป็นปีที่ยากที่สุดตั้งแต่ทำธุรกิจมา
แต่น่าแปลกที่คนส่วนใหญ่ไม่เรียกปีที่ยอมรับว่าทำธุรกิจยากที่สุดนี้ว่า เป็นปีที่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจของประเทศ มีหลายคนเรียกมันว่าเป็นวิกฤต “ต้มกบ” เพราะเป็นวิกฤตที่ค่อยๆ เกิดสะสมคล้ายอุณหภูมิความร้อนการต้มน้ำ แต่ชื่อนี้ก็ยังไม่ฮิตติดปากอยู่ดี
ซึ่งก็อาจเป็นเพราะไม่ค่อยๆ เกิดแบบไม่รู้เนื้อรู้ตัวนี่แหละ เพราะจนกระทั่งวันนี้คนจำนวนไม่น้อยยังไม่รู้ว่า มันเกิดอะไรขึ้น
รู้แต่ว่าการค้าสินค้าแทบทุกระดับราคาแทบทุกประเภท ขายได้น้อยลง ยอดขายตกต่ำ จนผู้ค้าร้านค้าจำนวนหนึ่งอยู่ไม่ได้ต้องเลิกกิจการ ตลาดนัด ตลาดถาวร ทั่วประเทศเงียบเหงา
แม้แต่ตลาดนัดจตุจักร ที่เป็นตลาดนัดที่ใหญ่สุดของกรุงเทพฯ ในอดีตเสาร์อาทิตย์ผู้คนพลุกพล่านจอแจ แต่ทุกวันนี้เงียบเหงา บางโซนร้านค้าปิดร้าง
ย้อนกลับไปทบทวนวิกฤตใหญ่ของเศรษฐกิจประเทศไทย ที่ยังอยู่ในความทรงจำ ได้แก่ วิกฤต “ต้มยำกุ้ง” 2540 วิกฤตโรคระบาด “โควิด-19” 2563-2564 และวิกฤต “ต้มกบ” 2567
วิกฤตต้มยำกุ้ง 2540 เกิดขึ้นหลังจากประเทศไทยมีอัตราเติบโตทางเศรษฐกิจ หรือ GDP สูงต่อเนื่องกันนานหลายปี รัฐบาลเปิดเสรีทางการเงินให้เงินตราต่างประเทศไหลเข้าออกได้โดยเสรี แต่อัตราแลกเปลี่ยนเงินตรายังคงที่ ความที่อัตราดอกเบี้ยในประเทศสูงมาก ขณะที่อัตราดอกเบี้ยต่างประเทศต่ำมาก ธุรกิจในประเทศจึงไปกู้เงินตราต่างประเทศเข้ามาจำนวนมหาศาลและส่วนใหญ่เป็นเงินกู้ระยะสั้น
เมื่อถูกกองทุน “เฮดฟันด์” โจมตีค่าเงิน เพราะมองเห็นความไม่สมดุลความไม่ปกติ ธนาคารแห่งประเทศไทยใช้นโยบายผิดพลาด นำเงินสำรองประเทศที่มีอยู่น้อยนิดไปต่อสู้กับ “เฮดฟันด์” ที่มีเงินทุนมหาศาล เมื่อสู้ไม่ได้ก็พ่ายแพ้
ค่าเงินบาทจากเดิมมีอัตราแลกเปลี่ยน 1 ดอลลาร์สหรัฐต่อ 25 บาท ก็อ่อนค่าไหลร่วงลงไปเรื่อยๆ เป็นเท่าตัว
ธุรกิจที่กู้เงินต่างประเทศมา รวมทั้งสถาบันการเงิน หนี้สินเพิ่มขึ้นเท่าตัวในพริบตา กลายเป็นบริษัทที่มีหนี้สินท่วม ต้องล้มกันระเนระนาด และเข้าสู่การปรับโครงสร้างหนี้ สู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการ
แต่นอกจากธุรกิจล้มและพนักงานถูกเลิกจ้างจำนวนมากแล้ว ก็ยังมีอีกมุมหนึ่งที่กิจการเติบโตจากวิกฤตลดค่าเงิน ได้แก่ ธุรกิจส่งออกอาหารทะเล ธุรกิจส่งออกสินค้าเกษตร และธุรกิจส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมอื่นๆ ที่ส่งออกได้มากขึ้น ร่ำรวยมหาศาล
ข้อเรียนรู้คือ ก่อนลดค่าเงินบาท 2 กรกฎาคม 2540 เพียง 1-2 เดือน นักธุรกิจใหญ่และนายธนาคารใหญ่ก็ยังเชื่อมั่นว่า ประเทศไทยจะไม่มีการลดค่าเงินบาท ตามที่มีบางเสียงวิจารณ์หรือมีข่าวลือ และถัดจากนั้นอีก 2-3 ปี เศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวแล้ว แต่ข้อมูลข่าวสารตามหน้าสื่อยังเป็นเรื่องราวที่เป็นผลจากวิกฤต ส่วนใหญ่ยังไม่รู้ตัวว่าฟื้น
วิกฤตโรคระบาดโควิด-19 ปี 2563-2564 มาแบบรวดเร็วไม่รู้เนื้อรู้ตัว ระบาดกันทั่วโลก จึงเต็มไปด้วยความวิตกหวาดกลัว ยังไม่มีวัคซีนป้องกันรักษา จึงคาดเวลาสิ้นสุดการระบาดไม่ได้ ธุรกิจการค้าชะงักงัน การขนส่งวัตถุดิบและสินค้าติดขัด ผู้บริโภคเดินทางไปจับจ่ายไม่สะดวกหรือถูก “ล็อกดาวน์” ห้ามออกจากที่พักอาศัย
ธุรกิจใหญ่น้อยต่างประสบปัญหายอดขาย รายได้ แต่ทุกคนต่างพยายามปรับตัว เมื่อค้นพบวัคซีนและสามารถควบคุมการแพร่ระบาดได้ปลายปี 2564 กลับพบว่าระหว่างการแพร่ระบาดเกือบ 2 ปีที่ผ่านมานั้น แม้จะมีคนไม่น้อยรายได้หดหายไป แต่คนอีกจำนวนหนึ่งกลับเป็นการ “อั้น” กำลังซื้อไว้ รอการจับจ่าย
ดังจะพบว่า สินค้าหลายประเภทโดยเฉพาะอสังหาริมทรัพย์ที่อยู่อาศัยระดับราคา 10 ล้านบาทขึ้นไป ขายดีเติบโตพรวดพลาดหลังโควิดยุติปี 2565-2566 ยอดขายกำไรบริษัทอสังหาฯ ทำลายสถิติกันถ้วนหน้า
วิกฤต “ต้มกบ” ที่มาล่าสุด ปี 2567 มาแบบไม่มีเมฆไม่มีลม ไม่มีพายุตั้งเค้าใดๆ ไม่รู้เนื้อรู้ตัว ช่วงไตรมาสแรกต้นปียอดขายไม่เป็นตามคาด ก็ยังเชื่อว่าซีซั่นฤดูกาลขายอาจเขยื้อนเลื่อนเวลาบ้าง หรืองบประมาณประจำปีรัฐบาลยังค้าง ถ้าออกมาไหลเข้าระบบเศรษฐกิจเมื่อไหร่ก็จะปกติ
จนกลางปีจึงตระหนักรู้ว่า สาเหตุที่แท้เป็นผลจากเศรษฐกิจประเทศ 10 กว่าปีมานี้แทบไม่เติบโตอย่างต่อเนื่อง รายได้คนส่วนใหญ่ในระบบไม่เพียงพอกับค่าใช้จ่ายในการซื้อสินค้าดำรงชีพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสินค้าราคาสูง อาทิ บ้าน รถยนต์ ทำให้เกิดการกู้เงินเพื่อนำมาจับจ่ายดังกล่าว ส่งผลให้อัตราหนี้ครัวเรือนสูงเป็นประวัติการณ์ 91% ของจีดีพี
เมื่อสถาบันการเงินปฏิเสธการปล่อยกู้ในสัดส่วนที่สูงเกินกว่าครึ่งของจำนวนผู้ยื่นกู้ กำลังซื้อจึงหายไป สินค้าจึงขายไม่ได้ ความโหวงเหวงวังเวงจึงเกิดขึ้นทุกตลาด
แนวโน้มปีถัดจากนี้ไปจะยังไงต่อ
หากพิจารณาจากปัญหาพื้นฐานรายได้ประเทศ ที่เกิดจากโครงสร้างการผลิตสินค้าและบริการต่างๆ ล้าหลัง ขีดความสามารถการแข่งขันต่ำ กำลังซื้อจากประเทศต่างๆ ก็ยังต่ำ กำลังซื้อในประเทศก็ถูกกดทับด้วยปัญหาหนี้สินครัวเรือน การแก้ไขปัญหาโครงสร้างเหล่านี้ ก็คงต้องใช้เวลาพอสมควร
แต่ก็ไม่แน่เสมอไปนัก เพราะปัจจัยเศรษฐกิจในโลกนี้หลายอย่างที่อยู่นอกเหนือการควบคุม ซึ่งมีผลทั้งทางบวก หรือทางลบต่อเศรษฐกิจไทยได้ อย่างสงครามการค้าจีน-สหรัฐที่ดุเดือดมากขึ้นเรื่อยๆ อาจส่งผลให้การลงทุนทางตรงจากต่างประเทศ (FDI) ไหลเข้ามา ช่วยปรับเปลี่ยนโครงสร้างการผลิตภาคอุตสาหกรรมได้เร็วกว่าที่คิดก็เป็นได้
วิกฤตเวลาจะมาบางทีก็ไม่รู้ตัว เวลาเดียวกันเวลาเศรษฐกิจจะฟื้นบางทีก็ไม่รู้เหมือนกัน •
ก่อสร้างและที่ดิน | นาย ต.
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022