ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 20 - 26 ธันวาคม 2567 |
---|---|
คอลัมน์ | ภาพยนตร์ |
ผู้เขียน | นพมาส แววหงส์ |
เผยแพร่ |
หนึ่งในประวัติศาสตร์ที่ถูกลืม หรือไม่มีคนอยากพูดถึง คือเรื่องราวที่เกิดขึ้นจริงในอิตาลี ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2
มหาสงครามที่แผ่วงกว้างไปทั้งยุโรปและเอเชีย ส่งผลเสียหายต่อเศรษฐกิจและปากท้องของชาวบ้านทั่วไป การทำมาหากินที่ฝืดเคืองอยู่แล้วก็ยิ่งฝืดเคืองขึ้นไปอีก ทุพภิกขภัยทำให้เด็กจำนวนมากเป็นโรคขาดอาหารและเจ็บป่วยล้มตายไป
โดยเฉพาะดินแดนตอนใต้ของอิตาลีซึ่งเป็นฝ่ายแพ้สงคราม ยังถูกฝ่ายสัมพันธมิตรครอบครองต่อมาอีกหลายปี หลังจากได้รับการ “ปลดปล่อยให้เป็นอิสระ” จากอิทธิพลและเผด็จการฝ่ายอักษะ
พรรคคอมมิวนิสต์ของอิตาลี ด้วยการสนับสนุนของศาสนจักร ริเริ่มโครงการช่วยเหลือครอบครัวยากจนในอิตาลีภาคใต้ ด้วยการสนับสนุนให้ครอบครัวที่มีฐานะดีกว่าในอิตาลีภาคเหนือรับเด็กยากจนจากภาคใต้ไปดูแลในช่วงฤดูหนาวที่อดอยากยากแค้น จวบจนถึงฤดูกาลเก็บเกี่ยวจึงส่งตัวกลับคืนพ่อแม่
เป็นโครงการช่วยผ่อนภาระให้แก่สังคม โดยการขอความร่วมมือจากครอบครัวทางภาคเหนือที่ไม่ได้ร่ำรวยแต่ก็ยังพอมีกินมีใช้อยู่บ้าง เริ่มจากเมืองใหญ่คือโรมและมิลานและชานเมืองโดยรอบ และต่อมาก็ขยายไปสู่เมืองทางภาคใต้ เช่นเนเปิลส์ คาสสิโน และซิซีลี
โดยมีครอบครัวอุปถัมภ์ทางภาคเหนือในปาร์มา ปิอาเซนซา โมเดนา โบโลญนา เป็นต้น
ว่ากันว่า โครงการรถไฟแห่งความสุขนี้ดำเนินอยู่ในช่วง ค.ศ.1945 จนถึง 1952 และจำนวนเด็กที่ได้รับการอุปถัมภ์มีราว 70,000 คน
วิโอลา อาร์โดเน รวบรวมข้อมูลจากการสัมภาษณ์คนที่ยังมีชีวิตและผ่านเหตุการณ์ครั้งนั้นมา เอามาเขียนเป็นนวนิยายชื่อ The Children’s Train เล่าเรื่องราวของเด็กจำนวนหนึ่งซึ่งถูกพ่อแม่ส่งตัวไปจากเนเปิลส์ สู่เมืองโมเดนาทางภาคเหนือ บน “ขบวนรถไฟแห่งความสุข” ซึ่งโลกแทบจะลืมเลือนไปหมดแล้ว
แม้จะวางท้องเรื่องอยู่บนฉากหลังของเรื่องจริง แต่นิยายเรื่องนี้เป็นเรื่องแต่งขึ้น โดยเล่าจากมุมมองในชีวิตของตัวละครชื่ออเมริโก (คริสเตียน แซร์โวนา ในวัยเด็ก และสเตฟาโน อัคคอร์ซี ในวัยผู้ใหญ่)
และกลายเป็นหนังอันน่าประทับใจที่เพิ่งออกฉายทางเน็ตฟลิกซ์อยู่ขณะนี้
หนังเริ่มเรื่องใน ค.ศ.1994 เมื่ออเมริโกก้าวถึงจุดสูงสุดในอาชีพนักไวโอลินผู้มีชื่อเสียง เขากำลังเตรียมตัวและเตรียมพร้อมอยู่ในห้องแต่งตัว ก่อนที่จะก้าวขึ้นเวทีท่ามกลางวงออร์เคสตราในฐานะวาทยกรและนักไวโอลินนำ
เขาคุยโทรศัพท์กับคนที่เขาเรียกว่าแม่ ดูเหมือนจะมีเรื่องไม่สู้ดีเกิดขึ้น เมื่อวางสาย เขาบอกผู้ช่วยว่าได้เพิ่งได้ข่าวว่าแม่เขาเพิ่งจากไป แม้ว่าผู้ช่วยจะแสดงความเห็นอกเห็นใจและเสนอให้เลื่อนการแสดงออกไปก่อนก็ได้เนื่องจากเป็นเรื่องอันน่ากระทบกระเทือนใจสำหรับการแสดงที่ต้องใช้สมาธิอย่างสูง แต่เขาก็บอกว่าไม่เป็นไร เขาออกแสดงได้
ภาพหลอนที่เขาเห็นหลังเวทีก่อนก้าวพ้นม่านออกไปสู่เสียงปรบมือต้อนรับอย่างกระตือรือร้นของคนดู คือ เด็กชายร่างผอมแต่งเนื้อแต่งตัวมอมแมมไม่ได้สวมรองเท้า
เมื่ออเมริโกวางไวโอลินหนีบไว้ใต้คาง จรดคันชักลงบนสายและบรรเลงออกมาเป็นเพลงไพเราะ ก็มีเสียงผู้หญิงร้องเพลงกล่อมเด็กซ้อนเข้ามา
จากนั้นหนังก็เล่าเรื่องราวของอเมริโกในวัยเด็กแสนซนที่อาศัยอยู่บ้านเล็กๆ ซอมซ่อกับ อันโตนิเอตต้า (เซเรนา รอสซี) แม่ที่อยู่ในวัยสาวสวย ท่ามกลางระเบิดจากสงครามที่กำลังจะสิ้นสุดลง
อเมริโกไม่เคยเห็นหน้าพ่อ ได้แต่รู้จากแม่ว่าพ่อจากไปอยู่อเมริกาแล้ว…เลยเดาเอาเองว่านี่คงเป็นสาเหตุที่แม่ตั้งชื่อให้เขาว่า อเมริโก ละมัง
อเมริโกไม่สวมรองเท้า แต่งกายโกโรโกโส วันๆ ก็วิ่งโทงๆ อยู่ตามท้องถนนกับเพื่อน ลักขโมยของกินยามพ่อค้าแม่ค้าเผลอ หาของไปย้อมแมวหลอกขายให้ลูกค้า ใช้ชีวิตอยู่ไปวันๆ ในภาวะลำบากยากจน แทบไม่มีอาหารพอประทังชีวิต
เมื่อได้ข่าวเรื่อง “ขบวนรถไฟเด็ก” แม่ก็จูงเขาไปสมัคร แต่แล้วก็ลังเลและโลเลอยู่นั่นแล้ว ตัดสินใจไม่ได้เสียที เนื่องจากข่าวลือที่แพร่สะพัดไปว่าพวกคอมมิวนิสต์จับเด็กไปกิน หรือขนไปใช้แรงงานในค่ายกักกันที่ไซบีเรีย หรือเรื่องน่ากลัวร้ายกาจต่างๆ นานาสารพัดสารพัน
ทว่า ฤดูหนาวกำลังจะมาถึง ความอดอยากหิวโหยและอากาศหนาวเย็นในภาวะที่ขาดเสื้อผ้าและรองเท้าให้ความอบอุ่น เร่งให้แม่ตัดสินใจส่งเขาไปกับเด็กๆ นับร้อยนับพันที่ร่วมชะตากรรมกันไปบนขบวนรถไฟขึ้นเหนือ
เกิดปัญหากับครอบครัวที่รับอุปการะอเมริโก ทำให้เขาตกค้างอยู่เป็นคนสุดท้าย และในที่สุดเดอร์นา (บาร์บารา รอนชี) สาวโสดที่ทำงานอยู่ในพรรคคอมมิวนิสต์ จำใจต้องรับตัวเขาไปอยู่ด้วยทั้งๆ ที่ไม่เต็มใจและไม่พร้อมจะรับเด็กไปดูแล
ชีวิตใหม่กับครอบครัวใหม่ในภาคเหนือเป็นเรื่องที่เด็กๆ ต้องปรับตัวปรับใจ ทั้งจากความคิดถึงบ้าน การปรับเปลี่ยนกิจวัตร การไปโรงเรียน การสื่อสารด้วยภาษาถิ่นที่แตกต่างกัน ความทระนงตนที่ไม่อยากรับการสงเคราะห์จากใคร ความกลัวที่ฝังลึกจนไม่ไว้ใจในครอบครัวใหม่ ฯลฯ ฯลฯ
เดอร์นาบอกอเมริโกว่าเขาจะได้กลับไปหาแม่อีกยามเมื่อข้าวสาลีเหลืองอร่ามไปทั้งทุ่ง ซึ่งเป็นเวลาเก็บเกี่ยว
ซึ่งเมื่อถึงเวลานั้น อเมริโกก็คุ้นเคยกับชีวิตใหม่ที่สุขสบายกว่าเดิมและได้รู้จักกับเครื่องดนตรีที่เขาดูจะมีพรสวรรค์ในการเล่นโดยธรรมชาติ นั่นคือไวโอลิน
เขายังได้รับไวโอลินสลักชื่อของเขาเป็นของขวัญวันเกิดอีกต่างหาก
เมื่อถึงเวลากลับคืนไปสู่พ่อแม่ ขบวนรถไฟแห่งความสุขก็ดูจะนองไปด้วยน้ำตาแห่งความอาลัยอาวรณ์ และการตัดใจจากพราก
อเมริโกกลับคืนสู่อ้อมอกแม่ด้วยความภาคภูมิใจกับไวโอลินของเขา และอยากจะอวดฝีมือเล่นให้แม่ฟัง แต่แม่ก็ตัดบทว่าดนตรีไม่ใช่ส่วนหนึ่งของชีวิตเขาอีกต่อไปแล้ว เขาต้องกลับมาใช้ชีวิตอยู่ในโลกจริงอันยากแค้น ปากกัดตีนถีบหาเลี้ยงชีพ
มีหุบเหวขวางกั้นระหว่างเขากับแม่ซึ่งดูเหมือนจะใจร้าย และบงการชีวิตอย่างที่เขาไม่ต้องการ
เมื่ออเมริโกตัดสินใจหนีออกจากบ้านและเลือกทางเดินในชีวิตของตัวเอง ก็ดูเหมือนว่าแม่ตัดขาดจากเขาไปตลอดชีวิต
แต่หนังมีตอนจบที่น่าซาบซึ้งตรึงใจอย่างที่สุด โดยเฉพาะเมื่ออเมริโกในวัยผู้ใหญ่กลับไปบ้านในเนเปิลส์อีกครั้ง เมื่อเวลาผ่านไป 50 ปี และได้ตระหนักในความรักของแม่
The Children’s Train เป็นหนังแบบที่เรียกว่า coming-of-age movie ชวนให้นึกถึงหนังอิตาลีหลายเรื่องที่ชวนซาบซึ้ง ไม่ถึงขนาดน้ำตาท่วมจอ แต่ก็ต้องซับน้ำตาอยู่ดี อย่างเช่น Cinema Paradiso
ถ่ายทำในชนบทแสนสวยของอิตาลี ณ กาลเวลาที่เป็นอดีตอันใช่ว่าไกลโพ้นเกินความจำของคนร่วมรุ่น แต่เมื่อมองย้อนกลับไป ณ บัดนี้ ก็เหมือนกับว่าเป็นโลกคนละใบกันเลย
ผู้คนในชนบทยังมีน้ำจิตน้ำใจเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ให้กัน และพร้อมจะเกื้อกูลคนที่ต้องการความช่วยเหลือ
แต่ที่เป็นหมัดเด็ดโดนใจที่สุด คือข้อความขมวดเรื่องที่ว่า…
…”คนที่ปล่อยให้เราไปน่ะ รักเรามากกว่าคนที่เก็บเราไว้อีก”…
สำหรับแฟนหนังพันธุ์แท้ ขอแนะนำให้ดูนะคะ รับรองว่าไม่เสียเวลาเปล่า •
THE CHILDREN’S TRAIN
กำกับการแสดง
Christina Comencini
นำแสดง
Christian Cervone
Serena Rossi
Barbara Ronchi
Stefano Accorsi
ภาพยนตร์ | นพมาส แววหงส์
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022