สุวรรณภูมิ-ทวารวดี [7] ผู้คนและชนชั้น

สังคมอุษาคเนย์หลัง พ.ศ.1000 (วัฒนธรรมทวารวดี) เป็นสังคมประกอบด้วยชนหลายชาติพันธุ์ เพราะอยู่บนเส้นทางการค้าระยะไกลทางทะเลและการติดต่อกับภูมิภาคส่วนใน

พื้นฐานทางเศรษฐกิจ คือ การค้า และเกษตรกรรมปลูกข้าวในที่ลุ่มน้ำลำคลอง ใช้แรงควายทำนาในที่ลุ่ม

เริ่มเปลี่ยนมาใช้พันธุ์ข้าวเมล็ดเรียว (ข้าวเจ้า) ซึ่งนิยมบริโภคกันจนปัจจุบัน แม้ว่าพันธุ์ข้าวเมล็ดป้อม (ข้าวเหนียว) จะแพร่หลายอย่างมากก็ตาม

ประชาชนลูกผสมจากคนหลายชาติพันธุ์ ประกอบด้วย มอญ, เขมร, มลายู, ไท-ไต, ฯลฯ

มีคนจากที่ห่างไกลทางทะเลปะปนอยู่ด้วย เช่น จีน, อินเดีย, สิงหล (ลังกา), อาหรับ, เปอร์เซีย (อิหร่าน) ฯลฯ

ภาษา มีทั้งภาษามอญ-เขมร, บาลี-สันสกฤต, มลายู, เปอร์เซีย (อิหร่าน) ฯลฯ

อักษร มาจากอักษรปัลลวะ หรืออักษรคฤนถ์ จากอินเดียใต้ เป็นต้นแบบของอักษรอื่นๆ ในสุวรรณภูมิ เช่น อักษรมอญ, อักษรเขมร, อักษรกวิ (ทางคาบสมุทรมลายู)

คนพื้นเมืองไว้ผมใช้หวีแสกกลาง / คนพื้นเมืองไว้ผมมุ่นสูง / ผู้หญิงพื้นเมืองเปลือยอกปล่อยนมยาน / นกพันธุ์พื้นเมือง / หัวปลาช่อน / ช้าง / ช้าง (ฝาโถ) / เต่า (ฝาโถ) / วัว [รูปจากบทความเรื่อง “ประติมากรรมพื้นบ้านของอู่ทอง” โดย เขียน ยิ้มศิริ (อดีตคณบดีคณะจิตรกรรมฯ มหาวิทยาลัยศิลปากร) ในหนังสือ โบราณวิทยาเรื่องเมืองอู่ทอง กรมศิลปากรรวบรวม จัดพิมพ์เนื่องในงานเสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี วันที่ 13 พฤษภาคม พ.ศ.2509 หน้า 61-70]
ชนชั้นทางสังคม มีชนชั้นนำ กับ ชนชั้นชาวบ้าน

ชนชั้นนำ ประกอบด้วย พระราชา, เจ้านาย, ขุนนาง ฯลฯ สมัยเริ่มแรกมีชนชั้นนำต้นตอความเหลื่อมล้ำ ราว 3,000 ปีมาแล้ว พบหลักฐานจากพิธีกรรมหลังความตายเนื่องในศาสนาผี เรียกพิธีฝังศพครั้งที่ 2 มีพิธีกรรมซับซ้อนหลายวันหลายคืน และมีของมีค่าฝังรวมกับศพ รูปขวัญทำจากแผ่นหินมีขอบเป็นหยักๆ (คล้ายลวดลายบนหน้ากลองสำริด) รวมทั้งลูกปัดจำนวนมากที่บางหลุมศพพบมากนับแสนชิ้น ในขณะที่ศพชาวบ้านทั่วไปไม่ฝัง แต่โยนให้แร้งกิน

ชนชั้นชาวบ้าน ประกอบด้วย ชาวไร่ชาวนา, ชาวเมือง, ช่างฝีมือ, พ่อค้าย่อยและพ่อค้าทางไกล, ไพร่ราบ, ข้าทาส และนาค

ชาวชมพูทวีป (อินเดีย) เรียกคนพื้นเมืองในสุวรรณภูมิว่านาค เพราะไม่นุ่งห่มเสื้อผ้าเหมือนตน แต่นุ่งเตี่ยว, ใบไม้ ห่อหุ้มอวัยวะเพศเฉพาะท่อนล่าง ส่วนท่อนบนเปลือยเปล่า (นาค หมายถึง คนพื้นเมือง ล้วนเป็นชนชั้นชาวบ้านระดับล่างๆ โดยรูปศัพท์ นาค แปลว่า เปลือย คล้ายงู ซึ่งไม่มีขน เท่ากับเปลือย)

ลูกปัด มีความหมายหลายอย่าง เช่น เป็นเครื่องรางของขลัง เพราะมีเสียงกระทบกัน ป้องกันผีร้าย หรืออำนาจเหนือธรรมชาติ, เป็นเครื่องหมายของอำนาจ ใครมีลูกปัดมาก มีอำนาจมาก, เป็นของมีค่าใช้แลกเปลี่ยนเสมือนเงินตรา, เป็นเครื่องประดับแสดงฐานะทางสังคม

เลี้ยงผีแก้บน เป็นพิธีปกติในวิถีประจำวัน เมื่อเกิดเหตุไม่ดีต้องทำกระบานผี (คือภาชนะทำด้วยกาบกล้วยเย็บด้วยไม้กลัดเป็นรูปสี่เหลี่ยมปูด้วยใบตอง) ใส่เครื่องเซ่นสังเวยผี มีข้าวปลาอาหารหวานคาวอย่างละน้อย และดินเหนียวปั้นเป็นตัวแทนรูปคนและสัตว์ในครอบครัว แล้วเอาไปวางไว้ที่สาธารณะ (เช่น ลานกลางบ้าน) ปัจจุบันเรียกสะเดาะเคราะห์

รูปคนและสัตว์ปั้นด้วยดินเหนียว ต่อมาเรียก “ตุ๊กตาเสียกระบาน” หมายถึงรูปปั้นขนาดเล็กที่ใส่กระบานผีในพิธีสะเดาะเคราะห์ คำว่า “เสียกระบาน” หมายถึง ทิ้งกระบาน คือเอากระบานไปวางทิ้งบริเวณสาธารณะ (เสีย แปลว่าทิ้ง) ดังเครื่องปั้นดินรูปคน, สัตว์ พบที่เมืองอู่ทอง (อ.อู่ทอง จ.สุพรรณบุรี) เนื่องในพิธีเลี้ยงผีแก้บนเมื่อพันๆ ปีที่แล้ว •

 

| สุจิตต์ วงษ์เทศ