จิตร ภูมิศักดิ์ เป็น dogmatic Marxist จริงหรือ? (5) จาก โฉมหน้าศักดินาไทยในปัจจุบัน ถึง ‘วิถีการผลิตแบบเอเชีย’ (Asiatic Mode of Production) | ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ

ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ

ตุลวิภาคพจนกิจ | ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ

 

จิตร ภูมิศักดิ์

เป็น dogmatic Marxist จริงหรือ? (5)

จาก โฉมหน้าศักดินาไทยในปัจจุบัน

ถึง ‘วิถีการผลิตแบบเอเชีย’ (Asiatic Mode of Production)

 

เมื่อจิตรเสนอว่าสังคมทาสไทยก็ “มิได้เป็นระบบสังคมทาษโดยเนื้อหาทางการผลิต หากเป็นสังคมที่มีลักษณะบางอย่างของระบบเจ้าทาษเข้ามาครอบงำจากภายนอก”

หมายความว่าเขากลายเป็นนักลัทธิมาร์กซ์นอกคอกไหม

ถ้าตอบแบบพรรคปฏิวัติก็ต้องถือว่าแหกคอก อันเป็นลักษณะของชนชั้นนายทุนน้อยที่ไม่ค่อยยอมก้มหัวให้แก่สัจธรรมอย่างง่ายๆ

แต่หลังจากผมได้อ่านข้อเขียนของมาร์กซ์เรื่อง “การก่อรูปของเศรษฐกิจก่อนระบบทุนนิยม ” (Pre-capitalist economic formations) ทำให้ผมได้ข้อคิดในการวิพากษ์ความคิดและวิธีวิทยาของจิตรอย่างน่าตื่นเต้น

ข้อเขียนชิ้นนี้ของมาร์กซ์เป็นบทหนึ่งในบันทึกขนาดยาวเรียกว่า Grundrisse der Kritik der Politischen Okonomie หรือ วิพากษ์เศรษฐศาสตร์การเมือง ที่เขาบันทึกไว้ระหว่างปี 1857-1858 บทสั้นที่มีการตีพิมพ์แยกออกมาเป็นเล่มในภาษาอังกฤษราวปี ค.ศ.1965 แสดงถึงความเห็นของเขาที่มีต่อวิถีการผลิตทั้งหลายก่อนระบบทุนนิยมจะเกิดที่ละเอียดและสุกงอมที่สุดของเขา

มาร์กซ์ไม่ได้เอ่ยถึงมโนทัศน์ “วิถีการผลิตแบบเอเชีย” (Asiatic Mode of Production, AMP) ในข้อเขียนนี้เลย หากแต่มาจากวิวาทะและการนำเสนอโดยฝ่ายนำของพรรคบอลเชวิกตั้งแต่สมัยเลนินมา มีการอภิปรายถึงความหมายและนัยต่อการปฏิวัติของมโนทัศน์นี้

ซึ่งโดยสรุปคือนักทฤษฎีโซเวียตไม่เห็นด้วยกับมโนทัศน์วิถีการผลิตเอเชีย กล่าวได้ว่าความลำบากในการเข้าใจมโนทัศน์เอเชียติกนี้เพราะมันเป็นปัญหาวิวาทะทางการเมืองและยุทธศาสตร์ในการปฏิวัติของแต่ละประเทศในโลกที่สาม (Sawer 1977; Bailey and Llobera, 1981) มากกว่าเป็นปัญหาทางวิชาการของลัทธิมาร์กซ์

 

ในงานบันทึกชิ้นนี้มาร์กซ์เรียกหัวข้อย่อยตอนนี้ว่า “การก่อรูปของเศรษฐกิจก่อนระบบทุนนิยม ” (Pre-capitalist economic formations) มาจากการมองกลับไปจากจุดยืนของเขาในสังคมทุนนิยมที่การดำรงชีวิตของทุกคนล้วนต้องอาศัยทรัพย์สินด้วยกันทั้งนั้น และยุคนี้เท่านั้นที่ทรัพย์สินซึ่งมีฐานะนำและทรงพลังที่สุดคือกรรมสิทธิ์ส่วนตัว

เขาจึงค้นคว้าว่าในสังคมก่อนระบบทุนนิยมนั้นมีลักษณะของพัฒนาการในการแบ่งงานคือรูปแบบมากหลายของกรรมสิทธิ์อย่างไร

มาร์กซ์สังเคราะห์ความสัมพันธ์ทางการผลิตในสังคมออกมาที่มโนทัศน์ว่าด้วยกรรมสิทธิ์หรือทรัพย์สิน ซึ่งแสดงออกในระบบกฎหมาย ปรัชญาและระบบการเมืองการปกครองด้วย

มาร์กซ์จึงติดใจวิธีการทางประวัติศาสตร์ (เช่นเดียวกับจิตรด้วยเช่นกัน) ที่ทำให้เขาสามารถพบว่าจริงๆ แล้วทรัพย์สินส่วนตัวอย่างเด็ดขาดนั้นเพิ่งเป็นรูปเป็นร่างอย่างจริงจังก็ในยุคระบบฟิวดัลของยุโรปเท่านั้น ก่อนหน้านั้นอันยาวนานมนุษย์ในสังคมการผลิตโบราณทั้งหลายมีระบบกรรมสิทธิ์ที่เป็นแบบรวมหมู่มากกว่า

นี่คือแรงบันดาลใจให้เขากลับไปค้นคว้าว่าอะไรที่สังคมโบราณมีแล้วสังคมสมัยใหม่ไม่มีบ้าง

กล่าวโดยสรุปมาร์กซ์พบว่ามีกรรมสิทธิ์และรูปแบบชุมชนสามแบบในอดีตก่อนระบบทุนนิยมจะเกิด โดยผ่านการเปลี่ยนแปลงในรูปแบบกรรมสิทธิ์ ชุมชนแรกคือสังคมบุพกาล นี่คือยุคสังคมบุพกาลอันเป็นระยะแรกของมนุษย์ การรวมกลุ่มของมนุษย์กระทำไปภายใต้กลุ่มชาติกุลหรือเผ่าพันธุ์ การแบ่งแยกงานในสังคมยังเป็นแบบง่ายๆ ไม่ซับซ้อนเพราะระดับของปัจจัยและเครื่องมือในการผลิตก็ยังเป็นแบบหยาบและธรรมดาใกล้กับสภาพทางธรรมชาติมาก

น่าสนใจว่ามาร์กซ์สังเกตว่าในช่วงปลายของยุคนี้เริ่มมีการใช้ทาสมาเป็นแรงงานในครอบครัวด้วย

ดังนั้น ระบบกรรมสิทธิ์ก็ย่อมเป็นของชุมชนร่วมกัน การมีกรรมสิทธิ์ส่วนตัวจึงยังไม่มีเพราะไม่มีกลไกอะไรในสังคมรองรับมัน ยุคบุพกาลจึงกล่าวได้ว่าเป็นสังคมที่มีอยู่ทั่วไปมากที่สุดเพราะไม่มีลักษณะอะไรที่เป็นของเฉพาะที่เฉพาะกลุ่มได้เนื่องจากระดับและการผลิตยังอยู่ในระดับต่ำที่สุด

ดังนั้น รูปแบบการถือครองแรกคือ กรรมสิทธิ์ชาติกุล (tribal ownership) ซึ่งสอดคล้องกับขั้นการผลิตที่ยังไม่พัฒนา ผู้คนอาศัยการล่าสัตว์และหาปลา เลี้ยงสัตว์หรือในขั้นสูงคือเกษตรกรรม

การแบ่งงานกันทำในขั้นนี้ยังเป็นแบบปฐมมากๆ ทรัพย์สินจึงมาจากการแบ่งปันกันระหว่างสมาชิกภายในชุมชนเอง

 

รูปแบบที่สองคือกรรมสิทธิ์คอมมูนโบราณและรัฐ (ancient communal and state ownership) ซึ่งเกิดจากการรวมกันของชนเผ่าหลายๆ เผ่าเข้าด้วยกันในเมืองโดยการทำข้อตกลงอย่างสันติหรือด้วยการพิชิตด้วยกำลัง ซึ่งรูปแบบนี้ก็ยังมีทาสควบคู่ด้วย

นอกจากกรรมสิทธิ์รวมหมู่ของชุมชน ยังค่อยๆ เกิดกรรมสิทธิ์ในสังหาริมทรัพย์ และต่อมาคืออสังหาริมทรัพย์อันเป็นทรัพย์สินส่วนตัว แต่ยังเป็นรูปแบบที่ไม่ปกติอันขึ้นต่อกรรมสิทธิ์ของชุมชน ความเป็นชุมชนจึงยังมีความสำคัญต่อการอำนวยให้ปัจเจกชนเข้าไปมีกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินหรือที่ดินส่วนตัวหรือครอบครัวได้

สังเกตว่าเขาให้น้ำหนักความสำคัญแก่การดำรงอยู่ของชุมชนอย่างมาก ว่ามันเป็นเงื่อนไขบังคับก่อนของการเกิดและพัฒนาระบบกรรมสิทธิ์ที่จะเป็นแบบส่วนตัวมากขึ้น

จุดหนักที่มาร์กซ์วิเคราะห์อย่างละเอียดได้แก่สังคมระยะต่อมาที่มีการพัฒนาและเติบใหญ่หลากหลายมากขึ้น

แบบแรก ได้แก่กรรมสิทธิ์แบบเอเชีย

แบบที่สอง คือชุมชนกรีกโรมัน

และแบบที่สาม คือชุมชนเยอรมัน ยุคนี้ความสัมพันธ์ทางการผลิตซับซ้อนและแสดงออกในหลายรูปแบบตามการขยายตัวของชุม ซึ่งในทางประวัติศาสตร์ครอบคลุมสังคมฟิวดิลและศักดินา มาร์กซ์อธิบายลักษณะของทรัพย์สินที่เริ่มเปลี่ยนไปโดยกล่าวว่า มนุษย์มีความสัมพันธ์กับที่ดินแบบง่ายๆ พวกเขาถือว่าที่ดินทั้งหมดเป็นทรัพย์สินของประชาคมหรือของชุมชน ซึ่งทำการผลิตและผลิตซ้ำในพื้นที่ดังกล่าวโดยอาศัยแรงงานมนุษย์ที่เป็นสมาชิกของชุมชน

ปัจเจกชนหรือสมาชิกแต่ละคนของชุมชนจึงเป็นเพียงตัวเชื่อมระหว่างชุมชนกับทรัพย์สินที่ดินใน 2 รูปหรือฐานะ คือ (1) แบบเป็นเจ้าของ กับ (2) เป็นผู้ถือครอง ในทรัพย์สินที่ดินของชุมชน

การแบ่งปันปัจจัยการผลิตและผลผลิตจากการใช้แรงงานเกิดขึ้นภายใต้เงื่อนไขเหล่านี้ (มาร์กซ์ 2561)

 

ผมนำข้อเขียนเรื่อง “การก่อรูปของเศรษฐกิจก่อนระบบทุนนิยม” ของมาร์กซ์มาอภิปรายในที่นี้เพื่อนำไปสู่การประเมินความคิดและวิธีการของจิตรในการวิเคราะห์สังคมไทยว่าเป็นแบบกลไกหรือคัมภีร์หรือไม่

ประเด็นสำคัญหนึ่งของมาร์กซ์ในงานชิ้นนี้คือเขาไม่ได้มองวิวัฒนาการของสังคมอย่างเป็นเส้นตรงและก้าวไปตามลำดับขั้นตายตัวอย่างที่นักศึกษาลัทธิมาร์กซ์จำนวนมากเชื่อกัน

ในงานนี้เขาเริ่มที่ชุมชนบุพกาลซึ่งรวมกลุ่มเป็นชาติกุลหรือเผ่าพันธุ์ ปัจจัยการผลิตยังเป็นกรรมสิทธิ์ของส่วนรวม

จากนั้นชุมชนโบราณจึงพัฒนาเข้าสู่สังคมชนชั้นต่างๆ กัน เขาเสนอว่ามีสามรูปแบบของกรรมสิทธิ์

แบบเอเชียยังเป็นของชุมชนส่วนรวมมาก กรรมสิทธิ์ส่วนตัวน้อยหรือไม่มี

กรรมสิทธิ์แบบโรมันและเยอรมันมีวิวัฒนาการของกรรมสิทธิ์ไปเป็นของปัจเจกบุคคลมากขึ้นจนเป็นกรรมสิทธิ์ส่วนตัวที่มีกฎหมายรองรับ สองรูปแบบหลังนี้ที่จะสามารถพัฒนาเข้าสู่ระบบทุนนิยมสมัยใหม่ต่อไป

ส่วนรูปแบบเอเชียนั้นมาร์กซ์พูดทำนองว่าไม่เห็นเงื่อนไขและความสามารถภายในสังคมเองที่จะดำเนินเข้าสู่ระบบทุนนิยมได้

แต่เขาไม่ได้วิจารณ์ว่าเป็นจุดอ่อนหรือปัญหาของระบบเอเชีย หากแต่ประเด็นหลังนี้กลายเป็นแนวคิดและทฤษฎีที่นักวิชาการทั้งลัทธิมาร์กซ์และไม่มาร์กซ์นำมาใช้โจมตีหรือสนับสนุนปัญหาการเปลี่ยนผ่านจากระบบศักดินาสู่ทุนนิยม ว่าทำไมถึงเปลี่ยนผ่านได้สำเร็จ หรือทำไมถึงเปลี่ยนผ่านแล้วไม่สำเร็จ

ดังเช่นการเกิดทฤษฎีสังคมกึ่งเมืองขึ้น-กึ่งศักดินาที่นำเสนอโดยเหมาเจ๋อตุงแห่งพรรคคอมมิวนิวต์จีนและรับต่อมาโดยพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.)

 

เมื่อการศึกษาปัญหาระยะเปลี่ยนผ่านจากสังคมศักดินาไทยสู่ทุนนิยมยกระดับมากขึ้นในทศวรรษปี พ.ศ.2510 เป็นต้นมา วิวาทะระหว่างนักวิชาการไทยในคำถามว่าหลังจากสนธิสัญญาเบาว์ริ่งเป็นต้นมา ตามมาด้วยการปฏิรูปสยามสมัยรัชกาลที่ 5 ต่อมา ระบบเศรษฐกิจการเมืองสยามได้เปลี่ยนไปเป็นระบบอะไร ยังเป็นระบบศักดินาหรือเป็นทุนนิยม หรือเป็นกึ่งศักดินากึ่งทุนนิยม

สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล เสนอว่าคนที่นำแนวคิดทฤษฎีว่าด้วยวิถีการผลิตแบบเอเชียมาใช้คนแรกคือ ฉัตรทิพย์ นาถสุภา แห่งกลุ่มเศรษฐศาสตร์การเมือง (จุฬาฯ) ทั้งนี้ เพี่อเลี่ยงการวิเคราะห์สังคมอย่างเป็นเส้นตรงดังที่ฝ่ายลัทธิมาร์กซ์ของ พคท. ได้ใช้กันอยู่

เช่น สังคมเอเชียไม่เคยผ่านยุคทาสมาก่อน แล้วเข้าสู่สังคมศักดินาแบบเอเชียได้เลย

ส่วนแนวคิดวิถีการผลิตแบบเอเชียนั้นสรุปดังนี้ คือ “การไม่มีกรรมสิทธิ์เอกชนในปัจจัยการผลิต เศรษฐกิจแบบพอยังชีพ รวมศูนย์อำนาจที่กษัตริย์ ชุมชนหมู่บ้านพอเพียงในตัวมันเอง โดยที่หัตถกรรมกับเกษตรกรรมไม่แยกจากกัน” (สมศักดิ์ 2525)

แต่สิ่งที่นักวิชาการไทยขาดไปได้แก่ แก่นอันเป็นหัวใจของวิธีวิทยาลัทธิมาร์กซ์ในเรื่องนี้อยู่ที่การค้นหาว่าในแต่ละยุคนั้นระดับของพลังการผลิตและการแบ่งงานในสังคมเป็นอย่างไร อันนำไปสู่การแสดงออกของรูปแบบของกรรมสิทธิ์ซึ่งเป็นตัวบอกชื่อแห่งยุคและวิถีการผลิต

ผมคิดว่าโดยตั้งใจหรือไม่ก็ตาม จิตรได้ลงมือศึกษาและวิเคราะห์ลักษณะของพลังการผลิตและความหมายในการปฏิบัติของชนชั้นศักดินาที่เริ่มก่อรูปขึ้นในช่วงปลายชุมชนกสิกรรมต่อระบบศักดินาในแถบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา การอ่านและตีความประวัติศาสตร์ไทยยุคต้นถึงกรุงศรีอยุธยานั้น เขาเน้นไปที่การค้นหาความเป็นมาและความต่อเนื่องและไม่ต่อเนื่องกับชุมชนไทยกสิกรรมก่อนหน้านี้ หากมีการพัฒนาขึ้นใหม่ด้วยตามพลังการผลิต

เช่น เรื่องการยึดโคตรในชมรมกสิกรรมบุพกาล เหมาะกับชุมชนที่ยังเล็กและผู้มีอายุสูงสุดเป็นคนมีอำนาจดูแลได้ เมื่อสังคมก้าวจากชมรมกสิกรรมมาสู่ระบบผลิตแบบศักดินา ที่มีพื้นที่และคนมากขึ้น รูปการจัดตั้งของสังคมได้เปลี่ยนจากหน่วยโคตรมาเป็นหน่วยบ้านหรือเมือง

หมายความว่า “อำนาจปกครองเปลี่ยนจากการกำหนดด้วยโคตรวงศ์หรือสายโลหิตทางญาติ มาเป็นกำหนดด้วยอาณาเขตที่ดินบริเวณที่แน่นอนขนาดหนึ่ง” กว่าที่เจ้าเมืองผู้ทรงอำนาจสูงสุดใหม่ (ทางขอบเขตดินแดน) จะได้อำนาจและการยอมรับก็ต้องขับเคี่ยวต่อสู้กับเจ้าโคตรมานานหลายชั่วคน

แต่แม้จะเปลี่ยนรูปแบบจัดตั้งและเนื้อหาความสัมพันธ์ทางสังคมใหม่แล้ว ซากของประเพณีโคตรวงศ์ก็ยังคงดำรงอยู่ในระบบอำนาจเจ้าเมืองต่อไป

และนี่คือผลงานที่เป็นอัจฉริยะ (originality) ของจิตรในการวิเคราะห์ถึงการก่อรูปของเศรษฐกิจการเมืองก่อนระบบทุนนิยม อันเป็นแก่นของ “วิถีการผลิตแบบเอเชีย” ของมาร์กซ์ที่แท้มากกว่าการหาคำตอบที่เป็นสูตรตายตัวว่าสังคมไทยเป็นทุนนิยมหรือยัง

บรรณานุกรม

คาร์ล มาร์กซ์. 2561. ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ แปล. การก่อรูปของเศรษฐกิจก่อนระบบทุนนิยม กรุงเทพฯ สมมติ.

สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล. 2525. “สังคมไทยจากศักดินาสู่ทุนนิยม” ใน วารสารธรรมศาสตร์ ปีที่ 11 ฉบับที่ 2 (มิถุนายน),หน้า 128-164.

Anne M. Bailey and Joseph R. Llobera. 1981. The Asiatic Mode of Production: Science and Politics. London: Routledge and Kegan Paul.

Marion Sawer. 1977. Marxism and the Question of the Asiatic Mode of Production. The Hague: Martinus Nijhoff.