แก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง แบบไม่ตะโกน | คำ ผกา

คำ ผกา

คำ ผกา

 

แก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง

แบบไม่ตะโกน

 

การมองปัญหาของประเทศไทยระหว่างพรรคประชาชน กับพรรคเพื่อไทยมีความต่างกันอย่างถึงรากถึงโคน เพราะมาจากวิธีคิดที่แตกต่างกัน ในแง่นี้ฉันคิดว่ามันดีสำหรับประชาชนที่จะตัดสินใจเลือกว่าตัวเองชอบแนวทางของพรรคไหนในการแก้ปัญหา

พรรคประชาชนมองว่าปัญหาของประเทศไทยเป็นปัญหา “โครงสร้าง” ต้องรีบเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ ต้องออกกฎหมายนิรโทษกรรม ต้องออกกฎหมายกลาโหมใหม่ ให้ฝ่ายการเมืองกำกับกองทัพจะได้ยับยั้งการทำรัฐประหารได้ ต้องกระจายอำนาจให้ท้องถิ่นเก็บภาษีเอง ใช้เอง ต้องปฏิรูประบบราชการ ฯลฯ

แต่การเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ของพรรคประชาชน ไม่ได้บอกว่าควรเป็นการจัดวางความสัมพันธ์ทางอำนาจระหว่างสถาบันทางการเมืองต่างๆ ในรัฐไทยอย่างไร

บอกแต่เพียงว่าต้องการให้เป็นรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนที่ ส.ส.ร.ต้องมาจากการเลือกตั้งทั้งหมด

และฉันก็แอบสงสัยว่า หาก ส.ส.ร.ที่มาจากการเลือกตั้งถูก “จัดตั้ง” แบบ ส.ว.สีน้ำเงินที่ได้กันมา แล้วเข้ามาร่างรัฐธรรมนูญในวิธีคิด กติกา ประหลาดๆ เอาไปทำประชามติจะผ่านไหม แล้วถ้าไม่ผ่าน เราจะร่างกันไปเรื่อยๆ ใช่ไหม?

 

นอกจากต้องรีบมีรัฐธรรมนูญใหม่ ซึ่งฉันก็เห็นด้วย แต่เนื่องจากอำนาจของประชาชนจากการเลือกตั้งปี 2566 ยังไม่สะเด็ดน้ำ

พรรคการเมืองฝั่งอนุรักษนิยมมีจำนวน ส.ส. รวมกันเกือบสองร้อยคนบวก ส.ว.อีกสองร้อยคน จึงค่อนข้างชัดเจนว่าการแก้รัฐธรรมนูญจะไม่ง่ายและไม่เร็ว

วิธีการทำงานของพรรคประชาชนคือ มองว่าปัญหานี้เกิดจาก “รัฐพันลึก” สกัดไม่ให้พลังอำนาจของประชาชนได้ปรากฏตัว

“พวกเขากลัวประชาชน” พวกส้มจะพร่ำบอกกันแบบนี้ซ้ำๆ จากนั้นก็จะตามมาด้วยทฤษฎีที่แพร่หลายที่สุดในหมู่ชาวส้มคือ “ผู้มีอำนาจไม่ยอมให้ประชาชนชนะ”

ซึ่งฉันเองก็อยากรู้มากว่าผู้มีอำนาจในที่นี้คือใคร?

หากไม่สามารถระบุชื่อ นามสกุลได้ ก็ช่วยบอกหน่อยว่าเป็นเครือข่ายของกลุ่มคนจำพวกไหนบ้าง เช่น ข้าราชการ? กองทัพ? เจ้าสัว? หรือใครที่ถูกเรียกรวมๆ กว้างๆ ว่า “ผู้มีอำนาจ”

เนื่องจากในรอบยี่สิบปีที่ผ่านก็มีความเปลี่ยนแปลงในเครือข่ายของชนชั้นนำไทยอย่างมหาศาล

เพราะฉะนั้น หากประชาชนส้มพูดถึงผู้มีอำนาจ ช่วยให้เชิงอรรถสักนิดว่าผู้มีอำนาจในที่นี้เป็นคนเดียวกันหรือกลุ่มเดียวกันกับเมื่อยี่สิบปีที่แล้ว? เมื่อสิบปีที่แล้ว และเครือข่ายของพวกเขาเป็นภาพนิ่ง ไม่ไหวติง ไม่เปลี่ยนแปลงเลยอย่างน้อยในสองทศวรรษนี้?

จากนั้นพรรคประชาชนก็ขยายความเกี่ยวกับปัญหาของประเทศไทยต่อไปว่า สิ่งที่เลวร้ายที่สุดคือ พรรคเพื่อไทยที่เคยเป็นพรรคประชาธิปไตย ได้ไปศิโรราบต่อ “ผู้มีอำนาจ”

พรรคเพื่อไทยไม่ยอมจับมือกับพรรคประชาชนเพื่อเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญ

พรรคเพื่อไทยไม่ยอมสนับสนุนพรรคประชาชนในการออกกฎหมายที่ “ก้าวหน้า”

พรรคเพื่อไทยถอน พ.ร.บ.กลาโหม แสดงให้เห็นว่า ตอนนี้พรรคเพื่อไทยเป็นเนื้อเดียวกันกับฝ่ายที่เคยทำรัฐประหารตนเอง

สรุป ณ วันนี้ในสายตาของพรรคประชาชนและด้อมส้ม ต้นตอของปัญหาทุกอย่างในประเทศไทยเกิดจากการที่พรรคเพื่อไทยไม่ยอมอยู่กับพรรคประชาชน ไม่ยอมเป็นฝ่ายเดียวกับพรรคประชาชน แถมยังขโมยตำแหน่งนายกฯ ไปจากพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ อีก

 

จากเดิมที่พรรคประชาชนมองว่า ปัญหาของประเทศไทยคือ การรัฐประหาร ชนชั้นนำ ทุนผูกขาด กองทัพ ที่กลัวประชาชนจะมีอำนาจ แต่ตอนนี้ตัวการสำคัญคือพรรคเพื่อไทยนี่แหละ ที่ไปสังฆกรรมกับชนชั้นนำ นายทุน กองทัพ และพรรคการเมืองที่เคยสนับสนุนประยุทธ์ จันทร์โอชา พรรคเพื่อไทยจึงเลวร้ายที่สุด แทนที่จะเอาอำนาจรัฐ และอำนาจในฐานะที่ตัวเองเป็นรัฐบาลไปแก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง กลับไปสมสู่กับฝ่ายที่เคยรัฐประหารตัวเอง

เมื่อกรอบการมองและอธิบายถึงที่มาของปัญหาของประเทศชาติของพรรคประชาชนเป็นเช่นนี้ การแก้ปัญหาของพรรคประชาชนจึงมุ่งเน้นไปที่การทำลายความนิยมของพรรคเพื่อไทย มากกว่าการมุ่งทำลายเครือข่ายอำนาจที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประชาธิปไตย

เช่น เราแทบไม่เห็นบทบาทของพรรคประชาชนในการวิจารณ์อำนาจที่เป็นอิสระของธนาคารแห่งประเทศไทย (แปลว่าที่พรรคประชาชนอยากให้การเมืองแทรกแซงกองทัพ ขณะเดียวกันไม่ต้องการให้การเมืองแทรกแซงแบงก์ชาติ)

หรือตอนที่จะมีการตั้ง กิตติรัตน์ ณ ระนอง เป็นบอร์ดแบงก์ค์ชาติ ก็พรรคประชาชนนี่แหละออกมาด่าว่า “การเมืองแทรกแซง” แต่พอเป็นกองทัพ กลับเห็นว่า การเมืองต้องเข้าไปควบคุมสิ อุตส่าห์ชนะเลือกตั้งมาแล้ว (หากเราเชื่อว่าการเมืองที่อิงอยู่กับเสียงของประชาชนต้องมีอำนาจเหนือทุกสถาบัน ก็ต้องแทรกแซงกองทัพได้ แล้วทำไมถึงไม่ยอมให้การเมืองแทรกแซงแบงก์ชาติ งงไหม?)

เราไม่เห็นการออกมายืนยันในหลักการ MOU 44 ว่าไม่ใช่การขายชาติ ดังที่ สนธิ ลิ้มทองกุล และเครือข่ายสลิ่มเฟสหนึ่งกำลังปั่นอยู่

เราไม่เห็นพรรคประชาชนออกมาปกป้องหลักการสากลเกี่ยวกับพื้นที่ทับซ้อนใดๆ ทั้งๆ ที่สิ่งนี้ไม่ใช่เรื่องของการช่วยรัฐบาลหรือพรรคเพื่อไทย แต่เป็นเรื่องการช่วยยืนยันหลักการสากลว่าด้วยอาณาเขตทางทะเล

พรรคการเมืองที่มีความปรารถนาดีต่อสังคมย่อมทนไม่ได้ที่จะเห็นสังคมได้รับความรู้ ข้อมูล หรือถูกชี้นำแบบผิดๆ ใช่หรือไม่?

แม้แต่คุณศุภลักษณ์ กาญจนขุนดี ที่เป็นสมาชิกพรรคประชาชน ยังออกมาให้ข้อมูลที่ถูกต้องในเรื่องนี้ แต่ในระดับพรรค หัวหน้าพรรค แกนนำพรรคกลับทำเป็นหูทวนลมต่อเรื่องนี้อย่างน่าประหลาดใจ

 

เมื่อพรรคประชาชนมีเป้าหมายหลักในการทำงานคือทำลายความนิยมของพรรคเพื่อไทย (ไม่ใช่เพราะความเกลียดชังเป็นส่วนตัว แต่เพราะไปเข้าใจว่าพรรคเพื่อไทยคือต้นธารที่ทำให้ปัญหาเชิงโครงสร้างไม่ได้รับการแก้ไข)

ก็เลยทำให้พรรคประชาชนไม่ได้ทำงานในฐานะฝ่ายค้านที่อิงอยู่ข้อเท็จจริงตามเนื้อผ้าเท่ากับมุ่งใช้ “สถานการณ์” ทำสงครามวาทกรรม ตั้งแต่เรื่องตากใบ เรื่องชั้นสิบสี่ เรื่องแพทองธาร ชินวัตร เป็นนายกฯ สืบสันดาน เป็นนายกฯ ได้เพราะพ่อ เป็นนายกฯ โดยไร้ความสามารถ มาจนถึงการเข้าสู่อำนาจโดยใบอนุญาตสองใบ สามใบ ไม่เห็นหัวประชาชน) เพราะต้องการฉายภาพให้สังคมเห็นว่า พรรคเพื่อไทยได้เข้าไปอยู่ในหมวดหมู่เดียวกันกับเผด็จการเรียบร้อยแล้ว

พรรคเพื่อไทยหมดสภาพการเป็นพรรคประชาธิปไตยแล้ว ดังนั้น ในประเทศไทยตอนนี้ พรรคการเมืองที่ได้ชื่อว่าอยู่เคียงข้างประชาชน และมีจุดยืนประชาธิปไตยมีแค่หนึ่งพรรคเท่านั้นคือ พรรค “ส้ม”

ผิดจาก “ส้ม” ล้วนเป็นพรรคการเมืองที่ไปเป็นข้าช่วงใช้ผู้มีอำนาจเสียแล้ว

 

ตรงนี้เองที่ทำให้พรรคประชาชนสุ่มเสี่ยงที่จะติดกับดักทักษิณโฟเบีย ชินวัตรโฟเบียเหมือนยุคพันธมิตรฯ และ กปปส. โดยเฉพาะอย่างยิ่งในจุดที่บอกว่า ตนเองเป็นประชาธิปไตยแท้เพียงหนึ่งเดียวท่ามกลางประชาธิปไตยปลอม

ฉันได้เขียนและพูดในต่างกรรมต่างวาระว่า หากพรรคส้มยังใช้กรอบคิดว่า ปัญหาของการเมืองไทยคือการสู้กันระหว่างสองฝ่ายคือฝ่ายประชาชน กับ “ผู้มีอำนาจ” (ไม่รู้ว่าใครกันแน่) และประชาชนยังไม่ชนะ ประชาธิปไตยยังไม่ชนะจนกว่าพรรคประชาชนจะได้เป็นรัฐบาล ด้วยกรอบคิดนี้ จะทำให้พรรคประชาชนทำงานยากขึ้นเรื่องๆ

เพราะการใช้วาทกรรมขับเคลื่อนการเมืองมันยืนระยะยาวๆ ไม่ไหว

สมมุติว่ารัฐบาลผสมที่มาจากการเลือกตั้งอยู่ครบเทอมไปเรื่อยๆ สักสองสมัย พรรคฝ่ายค้านอย่างประชาชนที่วางตำแหน่งแห่งที่ของตนเองไว้สูงกว่าพรรคการเมืองอื่นๆ ก็จะค่อยๆ หมดมุขที่จะใช้มาต่อยอดวาทกรรมของตนเอง

และยังถูกซ้ำเติมจากภาวะไม่มีเพื่อนเพราะชอบด่าและดูถูกเหยียดหยามคนอื่นแบบผีไม่เผาเงาไม่เหยียบ

 

เมื่อเดินเกมการเมืองเช่นนี้ พรรคประชาชนและพรรคส้มเหมือนผลักตัวเองไปอยู่ในจุดที่ต้องชนะเลือกตั้งมี ส.ส. 300 คนขึ้นไปเท่านั้นจึงจะสมหวัง

เมื่อสมหวังเป็นรัฐบาลแล้ว ถึงจะได้ขับเคลื่อนประเทศในเชิงโครงสร้างตามที่ฝันเอาไว้

ตรงกันข้ามกับพรรคเพื่อไทย หากยังจำได้ บนเวทีของเนชั่นที่ทักษิณไปพูดครั้งแรกหลังจากกลับมาประเทศไทย ทักษิณพูดว่า “บริหารประเทศวันนี้ยากกว่าสมัยที่ผมทำพรรคไทยรักไทยมาก”

เหตุที่ยากเป็นเหตุเดียวกันกับที่พรรคส้มเรียกว่าปัญหาเชิงโครงสร้างนั่นแหละ

ประสบการณ์ของพรรคเพื่อไทยตั้งแต่สมัยไทยรักไทย บริหารประเทศผ่านทักษิณ สมัคร สุนทรเวช ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เศรษฐา ทวีสิน แพทองธาร เรียกว่าเป็นพรรคการเมืองที่ส่งแคนดิเดตเป็นนายกฯ บริหารประเทศจริงได้มากคนที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองไทยสมัยใหม่ ทำไมเขาจะไม่รู้ว่าอุปสรรคในการทำงานของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งคืออะไร?

ยิ่งเจอรัฐประหารไปสองครั้ง สิบปีภายใต้รัฐบาลประยุทธ์ โครงสร้างระบบราชการ และมหาดไทยแข็งโป๊ก

ถามว่า พรรคเพื่อไทยรู้ไหม? รู้

ถามว่า พรรคเพื่อไทยเหนื่อยไหมที่ทำงานยาก เหนื่อย ไม่ใช่แค่ระบบราชการ ประเทศไทยยังมีกลุ่มเทคโนแครตอย่างแบงก์ชาติ สภาพัฒน์ ที่ยืนยันความเป็นอิสระของตนเอง การเมืองห้ามแทรกแซง

ถามว่า พรรคเพื่อไทยอึดอัดไหม อยากแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างไหม ก็คงอย่ากแก้ แต่ถามว่า แก้อย่างไร?

 

วิธีคิดของเพื่อไทยคือ เมื่อเป็นรัฐบาลแล้วมีเวลาทำงานแค่ 4 ปีเท่านั้น และเป็น 4 ปีที่ต้องใส่หมายเหตุว่า ถ้าโชคดีพอ ไม่มีอุบัติเหตุทางการเมืองที่ไม่คาดฝันเกิดขึ้น และเรื่องนี้ก็อยู่เหนือการควบคุม

ไม่เชื่อลองคิดถึงกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญถอดถอนนายกฯ เศรษฐา ทวีสิน ก็ได้ หมายเหตุที่สองคือมีเวลาทำงาน 4 ปีในฐานะแกนนำรัฐบาลที่มีเสียงในสภาแค่ 141 เสียง

ด้วยข้อจำกัดนี้และด้วยเสียง ส.ส.เท่านี้ ด้วยโควต้ารัฐมนตรีที่มีอยู่ในมือ สมมุติว่าเราเป็นเพื่อไทย เราจะเลือกทำอะไรระหว่าง

ท้าดวลกับกองทัพ?

ท้ารบกับเจ้าสัว?

แตกหักกับพรรคร่วมเพื่อจะแก้รัฐธรรมนูญในแบบที่พรรคเพื่อไทยอยากได้อยากมีเท่านั้น?

ปฏิรูประบบราชการด้วยอำนาจในมือด่วนๆ เอาใจโหวตเตอร์ สร้างคอนเทนต์ปังๆ ว่าเราเฟียส

มีเวลาแค่สีปี ถ้าเราเป็นพรรคเพื่อไทยเราจะเลือกทำอะไร

ระหว่างเที่ยวไปทะเลาะกับคนนั้นคนนี้โชว์พาวให้โหวตเตอร์ตัวดูกับลองมานั่งเอางาน เอางบฯ ทั้งหมดมาดูแล้วพิจารณาว่า มีอะไรที่เราพอจะทำได้บ้าง

ในเงื่อนไขว่า เลือกตั้งครั้งหน้า ก็ยังต้องการชนะการเลือกตั้งได้อยู่

 

สิ่งแรกที่พรรคเพื่อไทยต้องทำคือ รักษาความสัมพันธ์ที่ดีกับทุกฝ่าย นี่ไม่ใช่เวลาที่เราทะเลาะกัน ไม่ใช่เพราะเป็น “คนดี” หรือ “โลกสวย” แต่เพราะไม่มีความฟุ่มเฟือยในชีวิตให้ทำเช่นนั้น เพราะฉะนั้น อะไรที่จะกระทบกระเทือนจิตใจกันก็กดปุ่ม pause ไว้ก่อน

ทีนี้เอางานมากางดู ปัญหาที่ใหญ่ที่สุดของประเทศไทยคืออะไร

เป็นประเทศที่โตต่ำกว่าศักยภาพ

คุณภาพของประชากรเราถดถอย ทั้งในแง่ของสุขภาพ อัตราการเกิด การศึกษา ทักษะที่จำเป็นสำหรับโลกสมัยใหม่

เราเก็บภาษีได้น้อยกว่าที่ควรจะเป็นเมื่อเทียบกับประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจเท่าๆ กัน และมีแนวโน้มจะต่ำลงเรื่อยๆ หากไม่ลงมือแก้ หรือปฏิรูประบบภาษีทั้งประเทศ เพื่อรัฐจัดเก็บภาษีได้อย่างมีประสิทธิภาพ และใช้ภาษีเป็นเครื่องมือในการลดความเหลื่อมล้ำ

เราขาดการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานจากรัฐมายาวนาน ทำให้เราตกขบวนทั้งในเรื่องโลจิสติกส์ และเทคโนโลยี

ปัญหาหนี้ครัวเรือน

ปัญหาโครงสร้างพลังงาน ที่ทางออกที่เป็นไปได้มากที่สุด คือ การเป็นเจ้าของแหล่งพลังงานเอง

 

แทนการไปทะเลาะกับพรรคร่วมเรื่องแก้ไขรัฐธรรมนูญ รัฐบาลพรรคเพื่อไทยให้คุณนิกร จำนง จากพรรคชาติไทยพัฒนา เป็นเจ้าภาพในเรื่องนี้ เพื่อจะได้ไม่ต้องกระทบกระทั่งและเป็นการให้เกียรติพรรคร่วม และเป็นการสื่อสารไปในตัวว่า พรรคเพื่อไทยก็ humble กับเสียง 141 เสียงของตัวเอง

จากนั้น สิ่งที่พรรคเพื่อไทยทำ คือไปทำในเรื่องที่ไม่ต้องทะเลากับใคร แต่หาเงินเข้าประเทศได้ทันที

นั่นคือ ฟื้นฟูการท่องเที่ยวให้กลับมาอยู่ในตัวเลขเดียวกันกับสมัยก่อนโควิด

ไปปรับปรุงสนามบินให้สวย ไปทำให้กระบวนการ ตม.มันรวดเร็ว

ไปฟื้นฟูเทศกาลงานแห่เฟสติวัล ยังเปลี่ยนโครงสร้างอะไรไม่ได้ ก็กวาดบ้านให้มันสะอาดๆ ไว้ก่อน ตรงไหนซ่อมได้ก็ซ่อม

แต่ไม่ได้แปลว่าจะซุกปัญหาไว้ใต้พรม ระหว่างนั้นก็ไปชักชวนนักลงทุนมาลงทุน

ระหว่างนั้นก็ไปรื้อฟื้นเอฟทีเอ พร้อมๆ กับดำเนินการขอเป็นสมาชิก OECD

ระหว่างนั้นก็ไปติดตามว่าที่เรายื่นขอมรดกโลกไว้ มีอะไรบ้าง มันต้องได้แล้วนะ เพื่อเอามาต่อยอดเป็นเงินเป็นทองเป็นเศรษฐกิจต่อ

เหล่านี้ทำได้โดยไม่ต้องทะเลาะกับใคร เป็น low hanging fruits เอื้อมได้ เด็ดได้ หยิบมาก่อน นั่นคือสิ่งที่ทำในปีแรก พอเข้าสู่ปีที่สอง

ในการแถลงผลงาน 90 วันของนายกฯ แพทองธาร เราเริ่มเห็นภาพที่ใหญ่ขึ้น

 

หลายคนงงว่า แพทองธารแถลงผลงานหรือมา “จ่ายงาน” แต่การแถลงผลงาน 90 วันของนายกฯ เป็นการประกาศศักราชใหม่ของการทำงานกึ่งทำสัญญาประชาคมต่อหน้ารองนายกฯ ต่อหน้ารัฐมนตรีในกระทรวงที่รับผิดชอบ ต่อหน้าหัวหน้าส่วนราชการ และต่อหน้าผู้ว่าฯ ทุกจังหวัดว่า อย่างน้อยในอีกหนึ่งปีต่อจากนี้เป็นต้นไป เราจะเห็นภาพอนาคตของประเทศไทยในภาพเดียวกัน

ลักษณะการแถลงที่ใช้รูปแบบของบริษัทเอกชน ลดทอนความขรึมขลัง (กึ่งเชย) ของนาฏรัฐราชการแบบเดิม แถมด้วยการหารือกันเองในกลุ่มย่อยระหว่างนายกฯ กับข้าราชการเพื่อบอกว่า ต่อไปนี้เราทำงานเป็นทีม

จุดแข็งของนายกฯ แพทองธารยังคงเป็นเรื่องของอายุที่น้อย ทำให้ภาพนายกฯ ไม่ต้องน่าเกรงขาม โอ่อ่า แต่ผู้นำทีมที่พร้อมทำงานไปกับทีมอย่างกระฉบับกระเฉง

 

ผลงาน 90 คืออะไร?

คือการมาบอกว่า นายกฯ ทำการบ้านเสร็จแล้วว่าปีหน้าเป็นปีแห่งการเสริมพลังคนไทย หรือ empowering Thais

ไทยตั้งเป้าจะเป็นเอไอฮับ เราจะเดินหน้าไปสู่ Future Economy

เป้าหมายการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของเราคือสร้างหนึ่งอำเภอหนึ่งโรงเรียนในฝัน ทุนODOS ทุนซัมเมอร์แคมป์

ทั้งหมดนี้ร้อยเรียงไปสู่การเปลี่ยนผ่านประเทศไปสู่โลกอนาคตที่เราตกขบวนมาช้านาน และดึงศักยภาพของเด็กๆ ที่ทอดทิ้งกับการศึกษาที่ล้าหลังจนทำให้ขาดโอกาสในการเข้าถึงความรู้ โลกกว้าง กลายเป็น “ต้นทุน” ที่สูงจนมีแค่เด็กลูกคนมีสตังค์เท่านั้นได้ครอบครอง

หนึ่งหมื่นบาทดิจิทัลวอลเล็ตเฟสสาม สำหรับเศรษฐกิจดิจิทัลเฟสหนึ่ง เฟสสอง เพื่อช่วยให้คนกลุ่มเปราะบางที่สุดได้เงินเร็วที่สุด และเอาเงินสดไปซื้อสมาร์ตโฟน เพราะปัจจุบันความรู้และโลกกว้างก็เข้าถึงได้โดยสมาร์ตโฟนและอินเตอร์เน็ต

แม้จะไม่ตรงปกกับดิจิทัลวอลเล็ตที่หาเสียงเอาไว้ แต่กลับตอบโจทย์เรื่องคนจนที่สุดในประเทศจำนวนมากยังไม่มีสมาร์ตโฟน

ถามว่า สิ่งนี้นำไปสู่ทางลัดที่เราไม่ต้องไปวอแวกับกระทรวงศึกษาฯ ใดๆ

สมาร์ตโฟนคือเครื่องมือที่ทำให้เกิด “การบังคับเรียนรู้” ที่จะอยู่ในโลกดิจิทัล โดยที่รัฐบาลไม่ต้องไปรื้อถอนอะไรของใครให้เสียความรู้สึกกันโดยใช่เหตุ

และนี่คือการ empowering คนโดยไม่ต้องทะลุฝ้าเพดานใดๆ ทั้งสิ้น

เมื่อมีสมาร์ตโฟน ก็จะมีแอพพ์ สปสช. มีแอพพ์ กอช. มีแอพพ์ทางรัฐ ที่ล้วนแต่เป็นเครื่องมือช่วยให้คนเข้าถึง “สิทธิประโยชน์” เช่น เช็กสิทธิ์บัตรทอง เข้าโครงการออมเงินผ่านหวยเกษียณ

ในอนาคตเป็นแพลตฟอร์มเข้ากองทุนหมู่บ้าน เข้าแอพพ์ออมสิน แอพพ์ ธ.ก.ส. โดยไม่ต้องพูดว่าปฏิรูประบบราชการ

แต่คนที่เข้าใจก็จะเข้าใจว่า เพียงส่งเงินหมื่นถึงมือคนจนที่สุดให้เข้าถึงสมาร์ตโฟน เข้าถึงบริการภาครัฐราชการโดยไม่ต้องผ่านข้าราชการ มันคือการชอร์ตคัตระบบราชการโดยบัวไม่ช้ำน้ำไม่ขุ่น

 

ยังไม่ต้องพูดถึงโครงการ “คุณสู้เราช่วย”

รถไฟฟ้า 20 บาท และที่น่าตื่นเต้นสุดคือโครงบ้านเพื่อคนไทยที่จะเป็นลิสต์โฮลด์ 90 ปี เป็นบ้านสำหรับคนสร้างตัว คนที่เพิ่งเรียนจบ เริ่มทำงาน เป็นบ้านที่ออกแบบมาให้อยู่แบบมีเกียรติ มีศักดิ์ศรี ไม่ใช่เกิดมาจนแล้วต้องอยู่แบบคนจน

นี่คือ public housing ที่คำนึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของพลเมือง

และคือการนับหนึ่งให้เมืองถูกสร้างอย่างมีวาระให้ต่อยอดเป็นการพัฒนาย่าน หล่อหลอมวัฒนธรรมของ urban citizen อันเป็นหนึ่งในหัวใจของการพัฒนาเมือง พื้นที่สาธารณะ สำนึกของการมีส่วนร่วม เป็นเจ้าของสุดท้ายคือฐานรากของสังคมประชาธิปไตย

นี่คือ approach ในการทำงานแบบพรรคเพื่อไทยแบบไม่ต้องตะโกนคำว่าโครงสร้าง

ในขณะที่พรรคส้มสาละวนอยู่กับวิ่งชนทะเลาะกับทุกคนและชี้นิ้วไปที่ทฤษฎีสมคบคิดไม่รู้จบเรื่องใบอนุญาตที่สองที่สาม หรือการพยายามทลายโครงสร้างของผู้มีอำนาจ

แก้กฎหมายเป็นร้อยๆ ฉบับและกรีดร้องว่าไม่มีใครเข้าใจกระดูกสันหลังแสนตรงของฉันเลย

นี่คือการมองโลก มองปัญหา และมองทางออกของปัญหาที่ต่างกันระหว่างพรรคเพื่อไทยและพรรคประชาชน