ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 20 - 26 ธันวาคม 2567 |
---|---|
คอลัมน์ | อะไร(แม่ง)ก็เป็นศิลปะ |
ผู้เขียน | ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์ |
เผยแพร่ |
สีทันดรสันดาป
ศิลปะแห่งการปะติดปะต่อประวัติศาสตร์และมิติเวลาเข้าไว้ด้วยกัน
ของ นักรบ มูลมานัส ในเทศกาลศิลปะ บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2024
ในตอนนี้เราขอนำเสนอเรื่องราวของศิลปินอีกคนที่ร่วมแสดงงานในเทศกาลศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2024 ศิลปินผู้นี้มีชื่อว่า นักรบ มูลมานัส ศิลปินร่วมสมัยชาวไทย ผู้ใช้วิธีการคอลลาจ (Collage) หรือการตัดปะ ในการสร้างผลงานศิลปะจากการตัดปะเรื่องเล่าของอดีตและความทรงจำขึ้นมาจากชิ้นส่วนทางประวัติศาสตร์ วรรณกรรม ตำนานความเชื่อ และวัฒนธรรมหลากแขนง
ในเทศกาลศิลปะ บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ ครั้งนี้ นอกจากผลงานที่สร้างสรรค์ร่วมกับ จิตติ เกษมกิจวัฒนา อย่าง Our Place in Their World (2023-2024) ที่เคยจัดแสดงในนิทรรศการ The Spirits of Maritime Crossing ในมหกรรมศิลปะนานาชาติ เวนิส เบียนนาเล่ ครั้งที่ 60 ที่เมืองเวนิส ประเทศอิตาลี ซึ่งถูกนำกลับมาแสดงในเทศกาลศิลปะ บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ ครั้งนี้แล้ว
นักรบยังนำเสนอผลงานอีกสองชุดในสองสถานที่แสดงงานอีกด้วย
เริ่มต้นจากผลงานที่จัดแสดงในพระที่นั่งศิวโมกขพิมาน พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ในพื้นที่เดียวกันกับผลงาน Our Place in Their World อย่าง สีทันดรสันดาป (Fish, fire, fallout) (2024) ที่ปะติดปะต่อประวัติศาสตร์ของพิพิธภัณฑ์ เข้ากับความเชื่อเรื่องวันสิ้นโลกในคติไตรภูมิ และวิกฤตการณ์สิ่งแวดล้อมในยุคแอนโทรโพซีน (Anthropocene) เข้าไว้ด้วยกัน ผ่านผลงานประติมากรรมกลไก สื่อผสม วิดีโอจัดวาง ที่น่าสนใจก็คือ นี่ถือเป็นครั้งแรกที่ทางพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เปิดโอกาสให้ใช้พื้นที่แสดงงาน และให้หยิบยืมศิลปวัตถุและโบราณวัตถุในคลังสะสมของพิพิธภัณฑ์มาจัดแสดงร่วมกับงานศิลปะร่วมสมัยในนิทรรศการ (รวมถึงในงานชุดนี้) อีกด้วย โดยนักรบกล่าวถึงที่มาที่ไปและแนวคิดเบื้องหลังผลงานชุดนี้ของเขาว่า
“ทางอาจารย์อภินันท์ โปษยานนท์ ประธานอำนวยการและผู้อำนวยการศิลป์ บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ อยากให้ผมพูดถึงประวัติศาสตร์ของพื้นที่แสดงงานแห่งนี้ ผมจึงพยายามสำรวจเรื่องราวของพระที่นั่งศิวโมกขพิมาน ซึ่งเป็นพระที่นั่งเดิมภายในพระราชวังบวรสถานมงคล ที่เคยเป็นที่ประทับของสมเด็จพระมหาอุปราช หรือวังหน้า โดยเชื่อมโยงไปถึงเรื่องของธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม อันเป็นธีมหลักของเทศกาลศิลปะ บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ ครั้งนี้
ผมจึงหยิบยืมเรื่องราวของปลา ที่เกี่ยวข้องกับพื้นที่แห่งนี้มานำเสนอ ซึ่งได้แรงบันดาลใจมาจากข้อเขียนของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ในหนังสือพระราชพิจารณ์ ที่พูดถึงเรื่องราวของพระราชวังบวรสถานมงคล ในสมัยรัชกาลที่ 5 ที่เขียนเอาไว้ว่า สิ่งที่น่าดูของพระราชวังแห่งนี้อย่างหนึ่ง คือสระน้ำที่มีปลาตัวใหญ่มากๆ ว่ายอยู่ ถ้าใครมาที่นี่ ก็ต้องมาดูสระนี้ ผมจึงเชื่อมโยงเรื่องราวของปลาเหล่านี้เข้ากับจิตรกรรมบนบานประตูกลางของพระที่นั่งอิศราวินิจฉัย ที่อยู่ตรงกันข้ามกับบัลลังก์ของพระราชวังบวรสถานมงคล จิตรกรรมบานประตูคู่นี้เป็นเรื่องราวปลาหลีฮื้อ (ปลาไน หรือปลาคาร์ป) ที่กระโดดข้ามประตูมังกร ซึ่งมีที่มาจากตำนานเทพปกรณัมจีน โดยด้านล่างของประตูเป็นภาพฝูงปลาที่พากันแหวกว่ายทวนกระแสน้ำไปยังประตูมังกร โดยเชื่อว่าปลาที่กระโดดผ่านประตูนี้จะกลายมาเป็นปลามังกร เมื่อปลามังกรว่ายทวนน้ำขึ้นไปอีกจะได้เป็นมังกรน้อย เมื่อว่ายไปสุดปลายทางก็จะได้เป็นมังกร 5 เล็บ อันเป็นสัญลักษณ์แห่งจักพรรดิ บานประตูนี้ทำขึ้นในสมัยสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพย์ วังหน้าในรัชกาลที่ 3 ผมตีความว่าบานประตูนี้สะท้อนถึงความปรารถนาลึกๆ ของวังหน้า หรือความปรารถนาของปลาหลีฮื้อที่รอวันเป็นมังกร
เมื่อกลับไปดูประวัติศาตร์ที่ผ่านมา ในบรรดาวังหน้า 6 พระองค์ ก็มีเพียงแค่รัชกาลที่ 2 พระองค์เดียว ที่ได้เถลิงถวัลย์เป็นพระมหากษัตริย์อย่างเต็มรูปแบบ ในขณะที่พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ ถือเป็นกษัตริย์พระองค์ที่ 2 รองจากรัชกาลที่ 4 เมื่อกลับไปดูเรื่องราวต่างๆ ของวังหน้า ก็ล้วนแล้วแต่เกี่ยวกับความถูกกดทับ ถูกกีดกันไม่ให้ทัดเทียมวังหลวงในหลากหลายมิติ ผมจึงจำลองปลาหลีฮื้อเหล่านั้นมาติดตั้งเอาไว้ในพระที่นั่งศิวโมกขพิมาน โดยทำเป็นประติมากรรมปลาหลีฮื้อ ติดกลไกขยับเขยื้อนปากและครีบของปลาช้าๆ ให้ดูคล้ายกับเป็นปลาที่กำลังหายใจรวยริน ราวกับเป็นปลาที่กระโดดไม่ผ่านประตูมังกร
ปลาเหล่านี้มิได้สื่อความหมายถึงผู้ครองตำแหน่งวังหน้าเท่านั้น แต่หมายจะให้เป็นตัวแทนของผู้พ่ายแพ้และถูกกดทับในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาอีกด้วย”
“ปลาเหล่านี้มีทั้งสิ้น 7 ตัว (ปลาในตู้แสดงงานใหญ่ 4 ตัว และปลาครึ่งตัว ในตู้แสดงงานเล็ก 3 ตัว) ซึ่งเชื่อมโยงไปถึงเรื่องราวของปลาใหญ่ ที่อาศัยอยู่ในมหาสมุทรที่รายรอบทวีปทั้ง 4 ในคติไตรภูมิ (ซึ่งเชื่อมโยงกับสมุดภาพไตรภูมิพระร่วงฉบับจำลองที่จัดแสดงอยู่กลางพระที่นั่งศิวโมกขพิมาน) ที่เล่าเรื่องราวของจักรวาลที่ดำเนินไปเรื่อยๆ เมื่อผู้คนเริ่มเสื่อมศีลธรรม จักรวาลเริ่มเสื่อมสมดุล พระอาทิตย์ค่อยๆ ขึ้นเรื่อยๆ จาก 1 ดวง เป็น 2 ดวง (ซึ่งเชื่อมโยงกับผลงาน Our Place in Their World ของนักรับและจิตติที่จัดแสดงอยู่ในพื้นที่เดียวกัน) จนสุดท้ายพระอาทิตย์ขึ้นเป็น 7 ดวง แผดเผาให้สิ่งมีชีวิตทั้งหมดล้มตาย มหาสมุทรเหือดแห้ง ปลาใหญ่ 7 ตัวล้วนมอดไหม้ ขับไขมันในร่างกายออกมาท่วมโลก จนกลายเป็นเชื้อเพลิงให้เกิดการลุกไหม้ เผาผลาญทุกสิ่ง แม้กระทั่งเขาพระสุเมรุ ตลอดจนทั้งจักรวาลให้สูญสิ้นลง และเวียนว่ายตายเกิดขึ้นใหม่ด้วยวิธีเดิมอย่างไม่รู้จบ
ผมยังเชื่อมโยงเรื่องราวนี้เข้ากับวิดิโอของ เชฟป้อม (ม.ล.ขวัญทิพย์ เทวกุล) ที่กำลังสาธิตการทอดปลาหมอคางดำ ซึ่งเป็นวิกฤตการณ์สิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นในประเทศไทยยุคปัจจุบัน ตัดสลับกับภาพจากสมุดภาพไตรภูมิพระร่วง และภาพบานประตูของพระที่นั่งอิศราวินิจฉัย ที่เป็นรูปปลาหลีฮื้อ การที่เชฟป้อม ผู้มาจากสายตระกูลวังหลวง มาทอดปลาในพระราชวังของวังหน้า ก็เป็นการทิ้งเชื้อให้เกิดการตีความในแง่มุมต่างๆ ได้อย่างน่าสนใจ
ตรงกันข้ามยังมีตู้แสดงงานเล็ก ที่จัดแสดงภาพถ่ายเก่าของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ในครั้งที่ถูกเปลี่ยนให้เป็นพิพิธภัณฑ์หลวง และจัดแสดงสิ่งของต่างๆ รวมถึงเหล่าบรรดาสัตว์สตัฟฟ์ จนดูคล้ายกับเป็นพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา ซึ่งเชื่อมโยงกับประติมากรรมรูปปลากลไกที่ผมนำมาจัดแสดงอยู่ในตู้ตรงกันข้าม ส่วนอีกภาพเป็นภาพถ่ายพระที่นั่งศิวโมกขพิมานหลังเกิดเหตุเพลิงไหม้ ซึ่งเชื่อมโยงไปกับตำนานไฟไหม้จักรวาลในคติไตรภูมิอีกด้วย”
“ในผลงานยังมีวิดีโอจัดวางที่ถ่ายภาพการฉีดยาฆ่าแมลงก่อนการจัดเทศกาลศิลปะ บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ ครั้งนี้ ผมคิดว่าห้วงขณะที่พระที่นั่งศิวโมกขพิมานอยู่ในสภาวะโล่ง ไร้ผู้คนนั้นเป็นอะไรที่ขลังดี ซึ่งเป็นสภาวะที่ใกล้กับในยุคอดีต ที่สถานที่แห่งนี้เคยเป็นท้องพระโรงมากที่สุด
บนกระจกของตู้แสดงงานยังมีข้อความที่ผมหยิบมาจากวรรณคดีเรื่อง นิพพานวังหน้า (หรือนิพพานวังน่า) ที่แต่งโดย พระเจ้าราชวงศ์เธอ พระองค์เจ้ากัมพุชฉัตร พระธิดาของสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท วังหน้าในรัชกาลที่ 1 ที่รำพึงรำพันถึงความโศกเศร้าเมื่อพระบิดาสวรรคต (พระที่นั่งศิวโมกขพิมานยังเป็นที่ตั้งพระบรมโกศของวังหน้าพระองค์นี้อีกด้วย) ซึ่งวรรณคดีเรื่องนี้เคยถูกมองข้ามโดยวังหลวง ผมจึงอยากหยิบเอาเสียงของผู้หญิงในวังหน้ามานำเสนอในผลงานชุดนี้
บนกระจกยังมีข้อความอื่นๆ ที่ปะติดปะต่อจากข้อความในวรรณคดีที่เกี่ยวข้องกับประวัติวังหน้า ตำนานของปลาหลีฮื้อในไตรภูมิ ความขัดแย้งระหว่างวังหน้ากับวังหลวง และข่าวเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมในอินเตอร์เน็ตเข้าไว้ด้วยกัน ผมยังแอบใส่ข้อความจากกวีนิพนธ์ในเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 และ 6 ตุลาคม 2519 ลงไปด้วย เพราะพื้นที่เกิดเหตุการณ์ในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เองแต่เดิมก็เคยเป็นเขตพระราชฐานวังหน้า หรือพระราชวังบวรสถานมงคล มาตั้งแต่ต้นกรุงรัตนโกสินทร์”
การปะติดปะต่อประวัติศาสตร์ การเมือง คติความเชื่อ ตำนาน เรื่องเล่า และความทรงจำที่ รายล้อมอยู่ในพื้นที่แสดงงาน ในผลงานของนักรบชุดนี้ ดูๆ ไปก็ไม่ต่างอะไรกับการคอลลาจ อันเป็นทักษะเฉพาะตัวของเขา แต่เป็นการคอลลาจที่ไม่ได้ทำเพียงแค่บนพื้นที่ 2 มิติ หรือแม้แต่วัตถุ 3 มิติ หากแต่รวมเอามิติที่ 4 หรือ มิติของพื้นที่และเวลา ทั้งอดีตและปัจจุบัน มาปะติดปะต่อร้อยเรียงเข้าไว้ด้วยกันอย่างกลมกลืน แนบเนียนเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันอย่างยิ่ง
ผลงาน สีทันดรสันดาป (Fish, fire, fallout) โดย นักรบ มูลมานัส จัดแสดงในเทศกาลศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2024 ตั้งแต่วันที่ 24 ตุลาคม 2567-5 กุมภาพันธ์ 2568 ณ พระที่นั่งศิวโมกขพิมาน พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร เปิดทำการ วันพุธ-วันอาทิตย์ เวลา 09.00-16.00 น. (ยกเว้นเทศกาลปีใหม่และสงกรานต์) ค่าเข้าชม คนไทย 30 บาท ชาวต่างประเทศ 200 บาท เด็ก, นักเรียน, นักศึกษา, ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป และพระสงฆ์ เข้าชมฟรี ตรวจสอบรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://www.bkkartbiennale.com/
ขอบคุณภาพจากศิลปิน นักรบ มูลมานัส •
อะไร(แม่ง)ก็เป็นศิลปะ | ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022