โอสถขวัญวันปีใหม่ จากทหารเอกพระนารายณ์

ในทางการแพทย์แผนไทยยอมรับนับถือกันว่าตำรายาแผนไทยที่เก่าแก่ที่สุด คือ ตำราพระโอสถพระนารายณ์สมัยกรุงศรีอยุธยา แต่ยังมีตำรับยาหนึ่งซึ่งน่าจะเก่าแก่ไม่แพ้กัน กล่าวกันว่าเป็นยาพิเศษที่บอกเล่าเป็นคำกลอนสืบต่อกันมา จนถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ พระยาประเสริฐศาสตร์ดำรง (หนู วรกิจพิศาล) แพทย์หลวงได้บันทึกตำรับยาดีนี้ไว้ในท้ายคัมภีร์เวชศาสตร์วรรณนา ในชื่อ “ตำรายาพิเศษคำกลอน” ซึ่งกล่าวถึงพระยาสีหราชเดโชชัย (ทิป) สถิตถิ่นฐานบ้านบางกระทิง กรุงอโยธยา ทหารเอกสมเด็จพระนารายณ์

เรื่องมีอยู่ว่า เมื่อคราวเสร็จศึกเสียมราฐปราบกัมพุช ท่านได้แวะวัดช้างเนียม เมืองโพธิสัตว์ และสั่งให้ “ขุดที่ซุ้มมุมประตูเปิดดูพลัน เห็นสุวรรณแผ่นจำหลักอักขรา เป็นตัวยาสำหรับได้ดับโรค” ซึ่งบันทึกเป็นภาษา “สันสกฤตปฤษณายาวิเศษ” โดยท่านผู้ค้นพบยืนยันการันตีว่า “จารึกแผ่นทองคำเป็นตำราสรรพยาเจ็ดสิ่งอย่ากริ่งใจ” สรรพยา 7 สิ่ง ประกอบด้วยเครื่องยาไทยที่หาได้ง่าย ได้แก่ (1) สมอเขียวหรือสมอไทย 5 ผล (2) สลอด 7 เมล็ด (3) หัวแห้วหมู 3 หัว (4) หัวข้าวค่า 4 หัว (5) เถาบอระเพ็ด 3 ท่อน ท่อนละหนึ่งข้อนิ้วมือ (6) ใบคนทีสอ 32 ใบ (7) ยาดำ 15 กรัม

 

ขอวิสัชนาเฉพาะสรรพคุณเด่นของสมุนไพรทั้ง 7 โดยย่อ กล่าวคือ

(1) ผลสมอเขียวหรือสมอไทย (Terminalia chebula Retz.) ซึ่งชาวทิเบตให้ฉายาว่า “ราชาแห่งยา” เพราะมีสรรพคุณคุมธาตุร่างกายครบบริบูรณ์ตามรสยาทั้ง 6 ของอายุรเวท คือ รสเปรี้ยว ฝาด หวาน ขม เผ็ด และเค็ม

(2) เมล็ดสลอด (Croton tiglium L.) มีรสร้อน เผ็ด มัน ถ่ายน้ำเหลืองเสีย ถ่ายพิษเสมหะและโลหิต

(3) หัวแห้วหมู (Cyperus rotundus L.) รสร้อนหอม ช่วยบำรุงกำลัง ให้ร่างกายแข็งแรงกระชุ่มกระชวย ไม่มีโรคภัยมาเบียดเบียน หูตาสว่างไสว และบำรุงหัวใจ มีอายุวัฒนะ

(4) หัวเข้าค่า (Euphorbia sessiliflora Roxb.) เป็นหัวว่านยารสร้อน สรรพคุณ แก้ฟกบวม แก้คุดทะราด

(5) เถาบอระเพ็ด (Tinospora crispa L.) รสขมจัด รสเย็น ระงับความร้อน ถอนพิษไข้ได้ทุกชนิด ทำให้เนื้อเย็นลดการอักเสบทั่วร่างกาย แก้โลหิตพิการ และเป็นยาบำรุงกำลัง ซึ่งมักไม่พบในสรรพคุณยารสขมจัดชนิดอื่น

(6) ใบคนทีสอ (Vitex trifolia L.) รสร้อนสุขุมมีกลิ่นหอม ช่วยบำรุงธาตุในร่างกาย แก้หอบหืด ขับเสมหะ แก้เสมหะจุกคอ บำรุงน้ำดี แก้อาการวิงเวียนปวดศีรษะ แก้อาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ขับลมในลำไส้

(7) ยาดำได้จากการเคี่ยวยางสีเหลืองของใบพืชสกุลอะโล (Aloe) แต่ส่วนใหญ่ได้มาจากยางของว่านหางจระเข้ชนิดอะโลเวรา (Aloe vera (L.) Burm. F.) สรรพคุณช่วยถ่ายลมเบื้องสูงลงสู่เบื้องต่ำ ช่วยระบาย แก้ท้องผูก กัดฟอกเสมหะ และโลหิต ถ่ายพิษไข้

วิธีปรุงยา เนื่องจากเครื่องยาทั้ง 7 สิ่ง ล้วนมีพิษข้างเคียงอยู่บ้าง จึงต้องผ่านกรรมวิธีฆ่าพิษด้วยการนำเครื่องยาแต่ละตัวดองน้ำผึ้งแยกกันคนละภาชนะเป็นเวลา 7 วัน โดยถือเคล็ดดองน้ำผึ้งในวันเสาร์ ดังคำกลอนกำกับไว้ว่า “ยาสิ่งหนึ่งพึงใส่ถ้วยใบหนึ่ง แช่น้ำผึ้งไว้เสร็จทั้ง 7 สถาน ฤกษ์วันเสาร์เคารพสัตวาร” จากนั้นจึงแยกสมุนไพร 6 สิ่งออกจากน้ำผึ้ง และเทน้ำผึ้งที่ใช้ดองทิ้งทั้งหมด ห้ามนำมาใช้โดยเด็ดขาดเพราะมีพิษจากสมุนไพรทั้ง 6 สิ่งเจืออยู่ ยกเว้นน้ำผึ้งที่ดองใบคนทีสอให้เก็บไว้เป็นน้ำกระสายปั้นเม็ดยา หลังจากนำเอาเครื่องยาทั้ง 7 สิ่งมาบดรวมกันจนละเอียด จากนั้นจึงปั้นยาด้วยน้ำผึ้งที่ดองใบคนทีสอให้ได้เม็ดขนาดเท่าเมล็ดพุทธรักษา หรือราว 100-150 มิลลิกรัม

ในประวัติกล่าวว่าท่านพระยาสีหราชเดโชชัยได้ปรุงยาตำรับนี้ด้วยตัวท่านเองเพื่อรักษาโรคให้แก่บ่าวไพร่ของท่าน มีบันทึกผลการรักษาเป็นรายๆ แบบ case study เหมือนงานวิจัยไว้ดังนี้

“ความนิยมสมเป็นท่านเดโช ประกอบโอสถทำเหมือนตำรา ให้ตาแก้วบริโภคเป็นโรคเรื้อน ไม่ถึงเดือนหายสนิทเหมือนปฤษณา นายเย็นเป็นมะเร็งคลานนมนานมา ให้กินยาโรคหายสบายใจ นายสงริดสีดวงงอกออกเป็นดาก คลานลำบากลำบนพ้นวิสัย ให้กินยาหายหมดหดเข้าไป หายขาดไม่กลับเป็นเหมือนเช่นเคย นางคงง่อยหงอยหงึดเป็นหืดหอบ ลงนอนหมอบหม่อยอิงพิงเขนย กินยาหายวายเว้นไม่เป็นเลย ความสะเบยเบิกบานสำราญใจ”

 

สรุปตำรับนี้ใช้รักษา 4 โรคหลัก คือโรคเรื้อน มะเร็ง (ในทางแพทย์แผนไทยหมายถึง “แผลเน่าเปื่อยบริเวณผิวหนัง ที่รักษายาก”) ริดสีดวงทวาร หืดหอบ โดยให้เริ่มรับประทานครั้งละ 1 เม็ด 2 เวลาก่อนอาหารเช้า-เย็นเป็นเวลา 2 วันก่อนเพื่อทดสอบพิษข้างเคียงของยาว่ายังหลงเหลืออยู่หรือไม่ จากนั้นจึงรับประทานยาครั้งละ 1 เม็ด 3 เวลาก่อนอาหาร เป็นเวลา 5 วัน ท่านว่า “กินสามมื้อ สามเม็ดจะเด็ดโรค…กำหนดว่าห้าวันโรคพลันหาย”

นอกจากบำบัดโรคดังกล่าวแล้ว ยังมีสรรพคุณทำให้หุ่นดี กระปรี้กระเปร่าแคล่วคล่องว่องไว และความจำดี ตามพรรณนาโวหารในคำกลอนว่า “ถ้ากินได้ไม่เคลื่อนครบเดือนตรง ทั้งรูปทรงโสภางามกว่าคน…กินสองเดือนถ้วนหมดพจน์นิพนธ์ ว่าตัวตนเบาลิ่วลอยปลิวไป ถ้ากินได้ไตรมาสฉลาดล้ำ ปัญญาจำธรรมศาสตร์นิบาตไข”

ขอบอกว่ายาไทยโบราณไม่ใช่มีดีที่สรรพคุณ แต่มีดีที่พุทธคุณด้วย เพราะตัวเลขบอกปริมาณยาแต่ละสิ่งล้วนมีความหมายในทางธรรมให้บริกรรม กล่าวคือ สมอไทย 5 ผล หมายถึงพระพุทธเจ้า 5 พระองค์, สลอด 7 เมล็ด หมายถึง หัวใจพระอภิธรรม 7 คัมภีร์, หัวแห้วหมู 3 หัว คือแก้ว 3 ดวง, หัวเข้าค่า 4 หัว คืออริยสัจ 4, เถาบอระเพ็ด 3 ท่อน คือ พระพุทธคุณ พระธรรมคุณและพระสังฆคุณ, ใบคนทีสอ 32 คือ อาการครบ 32 ไปจนถึงยาดำต้องกำกับด้วยบทสวดธัมมะสังคิณีมาติกา ด้วยสรรพคุณและพุทธคุณของยาดังกล่าว ท่านผู้ค้นพบตำรับยาจึงเชื่อมั่นในคุณยาถึงกล้าสาบานว่า “โดยคุณยาสามารถบำบัดแก้ วิเศษแท้เที่ยงตรงไม่สงสัย รักษาหายวายโศกสิ้นโรคภัย จึงกล่าวไว้หวังจตร์คิดเป็นทาน ข้าพเจ้าเดโชถ้าโกหก ให้ตกนรกอเวจีอัคคีผลาญ” และถ้าสูตรยาที่ท่านยกให้เป็นทานแก่เพื่อนเกิด แก่ เจ็บ ตายใช้ได้ผล ท่านขอเพียงอย่างเดียวคือ “หวังประโยชน์โพธิญาณสารสุนทร ลุนครเขตร์นิพพานสำราญเอย”

เราต้องยอมรับตำรายาพิเศษนี้พบคราวเสร็จศึกในเสียมราฐปัจจุบันดินแดนเขมร ถ้าเขาจะเคลมเอาคืน (แต่คงไม่ใช่เกาะกูดนะ-ฮา) ไทยคงไม่ว่ากระไร แต่โดยที่การปรุงยาต้องกำกับด้วยคุณพระรัตนตรัยอันเป็นดั่งโอสถอันอุดมประเสริฐ (โอสะถัง อุตตะมัง วะรัง) จึงทำให้ตำรายานี้กลายทานเภสัชเพื่อสุขภาพของมวลมนุษย์ทุกชาติทุกภาษาไปโดยปริยาย จะเอาไปซื้อขายจดสิทธิบัตรไม่ได้ นับเป็นเรื่องแปลกที่ยอดขุนศึกที่ถนัดแต่การรบราฆ่าฟันหันมาบอกยาดีเป็นทาน จึงขอให้ตำรายาจารึกบนแผ่นทองคำของพระยาสีหราชเดโชชัย

เป็นนิมิตหมายแห่งโชคชัยในสุขภาพของทุกชีวิต ทุกชาติ ทุกภาษาในปีใหม่ 2568 นี้ด้วยเทอญ •

 

สมุนไพรเพื่อสุขภาพ | โครงการสมุนไพรเพื่อการพึ่งพาตนเอง

มูลนิธิสุขภาพไทย www.thaihof.org