Free Play เล่นอย่างอิสระ-ไม่ใช่เรื่องเล่นๆ

ดร.บัญชา ธนบุญสมบัติhttps://www.facebook.com/buncha2509

Multiverse | บัญชา ธนบุญสมบัติ

www.facebook.com/buncha2509

 

Free Play เล่นอย่างอิสระ-ไม่ใช่เรื่องเล่นๆ

 

ยุคนี้ปัญญาประดิษฐ์ หรือเอไอ กำลังมีบทบาทต่อมนุษย์เพิ่มขึ้นในทุกๆ ด้าน แต่เรื่องหนึ่งที่ไม่น่าจะสำคัญน้อยลงไปคือ การเล่น เรื่องเล่นที่จะชวนคุยในบทความนี้เป็นการเล่นอย่างอิสระและใช้จินตนาการ (free, imaginative play) เรียกสั้นๆ ว่า การเล่นอย่างอิสระ หรือ free play

งานวิจัยระบุว่าการเล่นอย่างอิสระสำคัญอย่างยิ่ง และไม่ใช่เฉพาะต่อเด็กเท่านั้น ผู้ใหญ่ก็จำเป็นด้วย

ลองอ่านตัวอย่างดูว่าข้อสรุปและข้อสังเกตจากงานวิจัยฟังดูเข้าทีหรือไม่ และประเด็นไหนอาจปรับใช้ได้บ้าง – ดีไหมครับ?

เด็กๆ เล่นอย่างอิสระ
ที่มา : https://undefiningmotherhood.com/what-is-free-play/

นักจิตวิทยาการศึกษา ชื่อ แอนโทนี ดี เพลเลกรินี (Anthony D. Pellegrini) แห่งมหาวิทยาลัยมินนิโซตา บอกว่าเกมที่มีกฎกติกาชัดเจน อย่างเช่น ฟุตบอล หรือสแครบเบิล นั้นน่าสนุก และช่วยเสริมสร้างประสบการการเรียนรู้ได้ กล่าวคือ เกมเหล่านี้ช่วยสร้างทักษะทางสังคมและการอยู่ร่วมกันกับผู้อื่น

แต่เขาก็อธิบายว่า “เกมมีกฎกติกาที่ถูกกำหนดมาก่อนแล้วซึ่งทุกคนต้องทำตาม ในขณะที่การเล่นไม่มีกฎเกณฑ์ที่กำหนดมาก่อนเช่นนั้น ดังนั้น การเล่นอย่างอิสระจึงเปิดโอกาสให้ใช้ความคิดสร้างสรรค์มากกว่า” ยกตัวอย่างเช่น เด็กๆ ที่เล่นสมมุติเรื่องราวหรือสิ่งต่างๆ ขึ้นมานั้น “ต้องสื่อสารกันโดยกล่าวถึงอะไรบางอย่างที่ไม่ได้มีอยู่จริง ดังนั้น เด็กๆ จึงต้องใช้ภาษาที่ซับซ้อนเพื่อให้เพื่อนๆ ที่เล่นด้วยกันเข้าใจว่ากำลังพูดถึงอะไร”

การเล่นยังช่วยพัฒนาทักษะทางสังคมอีกด้วย เพลเลกรินีบอกว่าคุณไม่ได้มีความสามารถด้านสังคมจากการที่ครูสอน แต่คุณเรียนรู้ทักษะเหล่านั้นโดยการโต้ตอบกับเพื่อนๆ เรียนรู้สิ่งที่ยอมรับได้และไม่ได้ เด็กๆ เรียนรู้ว่าการกระทำแบบไหนยุติธรรม และแบบไหนไม่ยุติธรรม เพราะแต่ละคนไม่อาจเรียกร้องว่าตนเองจะเป็นราชินีผีเสื้อได้ตลอดเวลา ไม่อย่างนั้นก็จะไม่มีใครเล่นด้วย

เขาอธิบายต่อว่า “พวกเขาต้องการให้กิจกรรมนี้ดำเนินต่อไป จึงยินดีที่จะทำในสิ่งที่ไม่ได้ถูกกำหนดมาก่อน” เพื่อให้เพื่อนๆ พึงพอใจ เพราะว่าเด็กๆ สนุกกับกิจกรรม พวกเขาจึงไม่ยอมเลิกราง่ายๆ เมื่อเผชิญกับความขัดข้องใจ เรื่องนี้จะช่วยพัฒนาความอดทนและความสามารถในการต่อรอง

 

นักชีววิทยาด้านวิวัฒนาการชื่อ มาร์ก เบคอฟฟ์ (Marc Bekoff) แห่งมหาวิทยาลัยโคโลราโดที่โบลเดอร์ กล่าวว่า “การเล่นนั้นก็คล้ายกับคาไลโดสโกป” ในแง่ที่ว่าการเล่นมีลักษณะสร้างสรรค์และมีรูปแบบสุ่มๆ เขาบอกว่าการเล่นช่วยเสริมสร้างความยืดหยุ่นและความคิดสร้างสรรค์ ซึ่งอาจเป็นประโยชน์ในสถานการณ์ที่คาดไม่ถึง หรือสภาพแวดล้อมใหม่ๆ ในอนาคต

น่ารู้ด้วยว่างานวิจัยเกี่ยวกับพฤติกรรมสัตว์ยืนยันประโยชน์ของการเล่นและทำให้เห็นถึงความสำคัญของการเล่นในเชิงวิวัฒนาการ ถึงที่สุดแล้วการเล่นอาจทำให้สัตว์ (รวมถึงมนุษย์) มีทักษะในการอยู่รอดและดำรงเผ่าพันธุ์

กอร์ดอน เอ็ม เบอร์ฮาร์ดต์ (Gordon M. Burghardt) ผู้เขียนหนังสือ The Genesis of Animal Play ได้ใช้เวลา 18 ปีในการสังเกตสัตว์เพื่อเรียนรู้วิธีการกำหนดการเล่น กล่าวคือ การเล่นต้องเกิดขึ้นซ้ำๆ นั่นคือสัตว์ที่แตะวัตถุชิ้นใหม่เพียงแค่ครั้งเดียวไม่ถือว่าได้เล่นกับวัตถุนั้น การเล่นต้องเป็นการกระทำโดยสมัครใจ และเริ่มต้นในสภาพแวดล้อมที่ผ่อนคลาย สัตว์และเด็กจะไม่เล่นเมื่อพวกเขาขาดสารอาหารหรือรู้สึกเครียด สิ่งสำคัญที่สุดคือ กิจกรรมไม่ควรมีหน้าที่ชัดเจน ซึ่งหมายความว่าโดยพื้นฐานแล้วการเล่นไม่มีเป้าหมายที่ชัดเจน

งานวิจัยเกี่ยวกับสัตว์สนับสนุนแนวคิดที่ว่าการขาดการเล่นนำไปสู่ทักษะทางสังคมที่ไม่ดี จากการศึกษาที่ตีพิมพ์ในวารสาร Behavioural Brain Research ปี ค.ศ.1999 หนูที่ถูกแยกตัวให้โดดเดี่ยวในช่วงสองสัปดาห์ของการพัฒนาที่พวกมันเล่นบ่อยที่สุด (คือ สัปดาห์ที่สี่และห้าหลังคลอด)

เมื่อเทียบกับหนูที่ไม่ได้ถูกแยกตัวให้โดดเดี่ยวในช่วงสองสัปดาห์เดียวกันพบว่าหนูที่ถูกแยกตัวให้โดดเดี่ยวมีกิจกรรมทางสังคมน้อยกว่ามาก

 

การเล่นยังมีความสำคัญยิ่งยวดต่อสุขภาวะทางอารมณ์ ซึ่งอาจเป็นเพราะว่าการเล่นช่วยให้เด็กรับมือกับความวิตกกังวลและความเครียดได้ ประเด็นนี้มีการศึกษาบางชิ้นสนับสนุน เช่น ในปี ค.ศ.1984 มีบทความตีพิมพ์ใน Journal of Child’s Psychology and Psychiatry กล่าวถึงงานวิจัยซึ่งศึกษาเด็กที่เพิ่งเข้าโรงเรียน (อายุ 3 ถึง 4 ขวบ) จำนวน 74 คน ในวันแรกของการเรียน นักวิจัยได้ประเมินระดับความวิตกกังวลของเด็กๆ เหล่านี้จากพฤติกรรมการกรีดร้อง การพูดร้องขอให้พ่อแม่อยู่ต่อ รวมทั้งปริมาณเหงื่อที่ฝ่ามือ โดยระบุเด็กแต่ละคนว่าวิตกกังวลหรือไม่

จากนั้นได้แบ่งเด็กออกเป็น 4 กลุ่ม โดยที่พาเด็กครึ่งหนึ่งไปยังห้องที่เต็มไปด้วยของเล่น และปล่อยให้เล่นอยู่นาน 15 นาที โดยในส่วนนี้แบ่งเป็นเด็กที่เล่นคนเดียวและเด็กที่เล่นกับเพื่อน ส่วนเด็กอีกครึ่งหนึ่งให้นั่งลงรอบๆ โต๊ะ แล้วให้ครูเล่านิทานให้ฟังนาน 15 นาที ในส่วนนี้แบ่งเป็นเด็กที่นั่งคนเดียวและเด็กที่นั่งกับเพื่อน

หลังจากนั้นก็ประเมินระดับความวิตกกังวลอีกครั้ง และพบว่าเด็กที่ได้เล่นของเล่นมีความวิตกกังวลลดลงถึง 2 เท่า เมื่อเทียบกับเด็กที่นั่งฟังนิทาน แต่ที่น่าสนใจก็คือ เด็กที่นั่งเล่นคนเดียวจะสงบลงได้มากกว่าเด็กที่เล่นกับเพื่อน

ในกรณีที่เด็กที่นั่งเล่นคนเดียวสงบลงได้มากกว่าเด็กคนอื่นๆ นี้ นักวิจัยคาดว่าการเล่นโดยใช้จินตนาการซึ่งเด็กทำได้ง่ายด้วยตนเองนั้น ช่วยให้เด็กสร้างโลกสมมุติขึ้นมาจัดการกับสถานการณ์วุ่นๆ ได้นั่นเอง

 

งานวิจัยเกี่ยวกับสัตว์ยังสนับสนุนแนวคิดที่ว่าการเล่นช่วยบรรเทาความเครียด ซึ่งเป็นแนวคิดในทางประสาทวิทยาศาสตร์ที่เรียกว่า การบรรเทาความเครียดทางสังคม (social buffering) ในการศึกษาที่ตีพิมพ์ในปี 2008 สตีเฟน ซีวีย์ (Stephen Siviy) นักประสาทวิทยาจากเก็ตทิสเบิร์กคอลเลจ ได้นำหนูไปไว้ในห้องโดยลำพังและพบกับปลอกคอที่แมวเคยสวมใส่ ซึ่งทำให้พวกมันรู้สึกวิตกกังวลอย่างเห็นได้ชัด

ต่อมาห้องถูกทำความสะอาดจนหมดกลิ่นแมว หนูถูกนำกลับเข้าไปโดยไม่มีปลอกคอแมว และหนูก็รู้สึกเครียดอีกครั้งทันที ซึ่งอาจเป็นเพราะพวกมันเชื่อมโยงพื้นที่ในห้องกับแมว

แต่ถ้าซีวีย์กับเพื่อนร่วมงานนำหนูอีกตัวหนึ่งเข้าไปในห้องดังกล่าว โดยหนูตัวนี้ไม่เคยพบกับปลอกคอแมวมาก่อนและไม่รู้สึกกลัว หนูทั้งสองตัวจะเริ่มเล่นไล่ล่ากัน พลิกตัว และเล่นต่อสู้กัน และไม่นานหลังจากนั้น หนูตัวแรกจะรู้สึกผ่อนคลายและสงบลง แสดงให้เห็นว่าการเล่นช่วยให้หนูคลายความวิตกกังวลลงไปได้

 

จิตแพทย์ชื่อ สจ๊วต บราวน์ (Stuart Brown) แห่งวิทยาลัยการแพทย์เบยเลอร์ กล่าวว่าตลอดช่วงเวลา 47 ปี ที่เขาได้สัมภาษณ์คนกว่า 6,000 คน เกี่ยวกับวัยเด็กของคนเหล่านั้น เขาพบว่าข้อมูลที่ได้บ่งชี้ว่า การที่เด็กขาดโอกาสในการเล่นแบบที่ใช้จินตนาการโดยไม่มีกฎเกณฑ์ใดๆ มาตีกรอบ ได้มีส่วนทำให้เด็กคนนั้นเติบโตขึ้นเป็นคนที่ไม่มีความสุขและปรับตัวได้ไม่ดีนัก ในจำนวนนี้ บราวน์ได้คุยกับฆาตกร (ที่ศาลตัดสินแล้ว) ในรัฐเทกซัสจำนวน 26 คน และค้นพบว่าฆาตกรส่วนใหญ่มีปัจจัย 2 อย่างเหมือนๆ กัน นั่นคือ คนพวกนี้มาจากครอบครัวที่ใช้ความรุนแรง และพวกเขาไม่เคยเล่นแบบเด็กๆ

การบรรเทาความเครียดและสร้างทักษะทางสังคมอาจดูเหมือนเป็นประโยชน์ที่ชัดเจนของการเล่น แต่งานวิจัยยังชี้ให้เห็นถึงอิทธิพลอีกอย่างที่ไม่คาดคิด นั่นคือ ดูเหมือนว่าการเล่นจะทำให้เด็กฉลาดขึ้น ในการศึกษาคลาสสิคที่ตีพิมพ์ในวารสาร Developmental Psychology ในปี ค.ศ.1973 นักวิจัยแบ่งเด็กก่อนวัยเรียนจำนวน 90 คนออกเป็นสามกลุ่ม

เด็กกลุ่มแรกปล่อยให้เล่นอย่างอิสระกับวัตถุสี่ชนิด โดยในตัวเลือกมีกองผ้าเช็ดมือ ไขควง แผ่นไม้ และกองคลิปหนีบกระดาษ เด็กกลุ่มที่สองถูกขอให้เลียนแบบผู้ทดลองโดยใช้วัตถุทั้งสี่ชนิดดังกล่าวในแบบปกติทั่วไป และเด็กกลุ่มสุดท้ายให้นั่งที่โต๊ะและวาดภาพอะไรก็ได้ตามใจชอบ โดยไม่เคยเห็นวัตถุทั้งสี่ชนิดที่ว่ามา

แต่ละสถานการณ์ใช้เวลา 10 นาที และหลังจากนั้นทันที นักวิจัยได้ขอให้เด็กๆ คิดวิธีการใช้วัตถุอย่างใดอย่างหนึ่ง ปรากฏว่าเด็กที่เล่นกับวัตถุดังกล่าวสามารถระบุวิธีการใช้งานวัตถุในแบบสร้างสรรค์และไม่ปกติได้เฉลี่ยถึงสามเท่าของเด็กในอีกสองกลุ่ม นี่แสดงให้เห็นว่าการเล่นส่งเสริมการคิดสร้างสรรค์ได้

บทความวิชาการตีพิมพ์ใน Archives of Pediatrics & Adolescent Medicine ปี ค.ศ.2005 ระบุว่า ในช่วงปี ค.ศ.1981-1997 นั้น เวลาในการเล่นอย่างอิสระของเด็กๆ ลดลงไปราวหนึ่งในสี่ ทั้งนี้เนื่องจากผู้ปกครองให้ความสำคัญกับเรื่องที่ว่าลูกของตนจะได้เข้าเรียนในมหาวิทยาลัยที่ต้องการ ทำให้พวกเขาลดเวลาที่ลูกใช้เล่นลงไป และเพิ่มเวลาให้กับกิจกรรมที่มีกฎเกณฑ์หรือระบบระเบียบมากขึ้น เด็กเล็กๆ ตั้งแต่วัยก่อนเข้าเรียนตามระบบ ได้ใช้เวลาไปกับการเรียนดนตรีหรือการเล่นกีฬา

นั่นคือ เวลาที่ใช้ในการกระโดดโลดเต้น หรือเล่นอึกทึกครึกโครม ซึ่งเปี่ยมไปด้วยจินตนาการได้ลดน้อยลงไป

 

ผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนาการเด็ก ชื่อ เดวิด เอลไคนด์ (David Elkind) แห่งมหาวิทยาลัยทุฟตส์ บอกว่าผู้ปกครองควรปล่อยให้เด็กเป็นเด็ก ไม่ใช่แค่เพียงเพราะว่าเป็นเด็กแล้วสนุก แต่เพราะว่าการปฏิเสธความสนุกที่ไม่ได้ถูกจำกัดด้วยกฏกติกาในแบบของเด็กๆ นั้น จะทำให้เด็กไม่กลายเป็นคนช่างสงสัยและมีความคิดสร้างสรรค์

เอลไคนด์ยังบอกด้วยว่า “การเล่นต้องถูกมองในมุมใหม่ คือไม่ใช่ตรงข้ามกับการทำงาน แต่เป็นสิ่งที่มาเสริมการทำงาน” และ “ความอยากรู้อยากเห็น จินตนาการ และความคิดสร้างสรรค์ ก็เป็นเหมือนกล้ามเนื้อ นั่นคือ ถ้าคุณไม่ใช้ คุณก็จะสูญเสียมันไป”

ถึงตรงนี้แล้ว คุณผู้อ่านที่เป็นผู้ใหญ่อาจจะคิดว่าความรู้ในบทความนี้คงจะใช้ได้กับลูกๆ หลานๆ เท่านั้น เพราะตัวเองพ้นวัยเด็กมาพักใหญ่แล้ว แต่ มาร์ก เบคอฟฟ์ บอกว่าการเล่นอย่างอิสระก็สำคัญสำหรับผู้ใหญ่เช่นกัน

ผู้ใหญ่ที่ไม่เล่นอาจจะรู้สึกเหนื่อยล้ากับกิจการงานด่วนทั้งหลาย ทำให้ไม่มีความสุขและหมดเรี่ยวหมดแรงโดยไม่เข้าใจจริงๆ ว่าทำไมถึงได้รู้สึกอย่างนั้น

 

จิตแพทย์สจ๊วต บราวน์ ซึ่งเป็นผู้ก่อตั้ง National Institute for Play ในรัฐแคลิฟอร์เนีย ได้ให้คำแนะนำเกี่ยวกับการเล่นของผู้ใหญ่ไว้ 3 วิธี ได้แก่

Body Play – เข้าร่วมในกิจกรรมที่ต้องเคลื่อนไหวร่างกาย แต่กิจกรรมที่ว่านี้ต้องไม่มีข้อกำหนดเรื่องระยะเวลา หรือผลที่คาดหวังจากการเล่น

Object Play – ใช้มือในการสร้างอะไรสักอย่างที่คุณสนุกกับมัน อะไรก็ได้ ไม่จำเป็นต้องมีเป้าหมายที่ชัดเจน

Social Play – เข้าร่วมกับคนอื่นๆ ในกิจกรรมทางสังคมที่ดูเหมือนจะไม่มีจุดหมายที่แน่นอน ตั้งแต่ “คุยเรื่องสัพเพเหระไปจนถึงการถกประเด็นอะไรสักอย่างกับใครสักคน”

ถ้ายังนึกไม่ออกว่าจะทำอะไรดี ก็ลองนึกถึงตอนเด็กๆ ว่าชอบทำอะไร ถ้ายังนึกไม่ออกอีก ก็ลองไปเล่นกับเด็กๆ ดู บางทีอาจได้ไอเดีย โดยสรุป สิ่งสำคัญไม่ใช่ว่าคุณเล่นอย่างไร แต่อยู่ที่ว่าคุณได้เล่นต่างหาก

ข้อมูลส่วนใหญ่ที่ผมนำเสนอนี้มาจากบทความชื่อ The Serious Need for Play เขียนโดย Melinda Wenner Moyer ตีพิมพ์ในนิตยสาร Scientific American MIND: The Mad Science of Creativity Volume 23, Number 1, Winter 2014 หน้า 78-85 หรืออ่านได้ที่ https://www.scientificamerican.com/article/the-serious-need-for-play/

เรื่องเล่นนี้ถ้าวันใดวันหนึ่งเกิดเป็นกระแสขึ้นมา คงมีคำทักทายกันว่า

“วันนี้คุณได้เล่น (อย่างอิสระ) แล้วหรือยัง?”