ปรีดี แปลก อดุล : คุณธรรมน้ำมิตร (45)

พล.อ.บัญชร ชวาลศิลป์

บทความพิเศษ | พล.อ.บัญชร ชวาลศิลป์

 

ปรีดี แปลก อดุล

: คุณธรรมน้ำมิตร (45)

 

“กบฏวังหลวง”

เมื่อเตรียมการพร้อมแล้ว นายปรีดี พนมยงค์ จึงได้เดินทางจากสิงคโปร์ไปกวางตุ้ง และกลับออกมาพร้อมด้วยอาวุธจำนวนมาก มาถึงประเทศไทยประมาณวันที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2492 โดยจอดเรือที่บริเวณเกาะเสม็ด จากนั้นก็เดินทางไปยังศรีราชาเพื่อติดต่อประสานงานกับอดีตเสรีไทย และยังได้ส่ง เรือเอกชลิต ชัยสิทธิเวช ไปขอความคุ้มครองจาก พล.ร.ต.ทหาร ขำหิรัญ ที่มีกำลังหน่วยนาวิกโยธิน สัตหีบ ในบังคับบัญชา และชักชวนให้เข้าร่วมการยึดอำนาจพร้อมกับ พล.ร.ต.สังวร สุวรรณชีพ (หลวงสังวรยุทธกิจ) นายทหารเรือนอกราชการแต่ยังคงได้รับความเชื่อถือเป็นอย่างยิ่งจากอดีตเสรีไทย

นายทหารเรือทั้งสองก็ตกลงเข้าร่วม รวมทั้งต่อมากองสัญญาณทหารเรือที่มี น.อ.ชลี สินธุโสภณ เป็นผู้บังคับการก็ตกลงจะเข้าร่วมด้วย กองสัญญาณทหารเรือมีความพร้อมด้านกำลังพลและยุทโธปกรณ์ที่สามารถปฏิบัติการรบได้แบบทหารราบเช่นเดียวกับกรมนาวิกโยธิน และยังมีที่ตั้งอยู่บริเวณถนนพระราม 4 ในพระนคร ใกล้สถานที่สำคัญต่างๆ ในพระนครอีกด้วย

เป้าหมายของการก่อการครั้งนี้ นายปรีดี พนมยงค์ อธิบายว่าต้องการเคลื่อนกำลังที่เหนือกว่าเข้าควบคุมสถานการณ์แล้วเปิดการเจรจาให้ จอมพล ป.พิบูลสงคราม กับฝ่ายคณะรัฐประหารยอมรับเงื่อนไขโดยสันติวิธี

 

แผนการจะใช้กำลังการจู่โจมแบบ “สายฟ้าแลบ” เข้ายึดสถานที่สำคัญของรัฐบาลและจับกุมบุคคลสำคัญในทางราชการ ปิดล้อมหน่วยทหารบกที่สำคัญแล้วปลดอาวุธ ล้มรัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม แล้วตั้งรัฐบาลใหม่ ยกเลิกรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ.2492 ที่ใช้อยู่และนำรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ.2475 มาใช้แทน

การปฏิบัติจะเริ่มด้วยกรมนาวิกโยธินที่เคลื่อนกำลังจากสัตหีบมาถึงพระนครก่อน 24.00 น. แล้วสนธิกำลังร่วมกับกองสัญญาณทหารเรือเป็นกำลังรบหลักร่วมกับทหารบก และอดีตเสรีไทย นักศึกษามหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง ผู้รักประชาธิปไตยและทหารตำรวจผู้รักชาติ เข้าควบคุมสถานที่และบุคคลสำคัญของรัฐบาลให้ได้โดยเด็ดขาด ก่อนนำไปสู่การเจรจา

ไม่เพียงแต่กำลังจากนาวิกโยธินและกองสัญญาณทหารเรือเท่านั้น นายปรีดี พนมยงค์ ยังเชื่อมั่นอีกด้วยว่าจะได้รับความร่วมมือและสนับสนุนอย่างเต็มที่จากหลวงสินธุสงครามชัย ผู้บัญชาการทหารเรือซึ่งมีกำลังสำคัญจากกองเรือรบที่มีอำนาจการยิงเหนือกว่าฝ่ายทหารบกอย่างเทียบไม่ได้ จึงมั่นใจอย่างเต็มที่ว่าจะได้รับชัยชนะโดยไม่ยากจากแสนยานุภาพที่เหนือกว่าคณะรัฐประหาร

นอกจากนั้น ยังจะได้รับความร่วมมือจากทหารบกที่เคยเข้าร่วมกับฝ่ายกบฏเสนาธิการเมื่อปลายปี พ.ศ.2491 โดยการประสานงานของ พล.ต.เนตร เขมะโยธิน อีกด้วย

 

มีบันทึกอีกด้วยว่า พล.ต.สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 1 ตกลงจะให้การสนับสนุนการก่อการครั้งนี้ เพราะไม่พอใจบทบาทของ พล.ต.ต.เผ่า ศรียานนท์ รองอธิบดีกรมตำรวจ ที่กำลังเสริมสร้างบารมีแข่งกับตน และยังเป็นที่ทราบกันดีว่า พล.ต.สฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นเพื่อนสนิทกับ พล.ต.เนตร เขมะโยธิน อดีตผู้นำกบฏเสนาธิการที่ตกลงจะเข้าร่วมก่อการในครั้งนี้ด้วย ยิ่งทำให้ผู้ร่วมก่อการมั่นใจในความเข้มแข็งของกำลังฝ่ายตนมากยิ่งขึ้น

คณะผู้ก่อการตกลงกำหนดวันลงมือในวันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2492

แต่ปรากฏว่า รัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม ทราบข่าวการเคลื่อนไหวเสียก่อน จึงได้ออกอากาศบทความที่มีลักษณะ “ป้องปราม” ชื่อว่า “ประเทศไทยจะมีจลาจลหรือไม่” ทางสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย ในวันที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2492 และติดตามอีกในวันที่ 16 กุมภาพันธ์ ด้วยบทความที่ชื่อว่า “สถานการณ์ของโลกเกี่ยวกับการจลาจลในประเทศเป็นอย่างไร” โดยการยกตัวอย่างเพื่อนบ้านเปรียบเทียบ เป็นการเตือนฝ่ายตรงข้าม

จากนั้นในวันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2492 รัฐบาลก็ประกาศภาวะฉุกเฉินเพื่อเตรียมรับสถานการณ์

 

วันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2492 เวลา 20.00 น. นายปรีดี พนมยงค์ และผู้ร่วมก่อการได้ลำเลียงอาวุธมายังมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมืองเพื่อแจกจ่ายผู้ร่วมปฏิบัติการ

จากนั้นเวลา 21.05 น. กำลังส่วนหนึ่งก็เข้ายึดสถานีวิทยุกรมประชาสัมพันธ์ พญาไท และเริ่มประกาศแต่งตั้งรัฐบาลใหม่โดยมี นายดิเรก ชัยนาม เป็นนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง พล.ร.ต.ทหาร ขำหิรัญ ผู้บัญชาการกองพลนาวิกโยธิน เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และนายทวี บุณยเกตุ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย

ส่วนกระทรวงอื่นๆ ที่ไม่ได้ประกาศ ให้ปลัดกระทรวงรักษาการแทน และได้แต่งตั้งกองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อย ประกอบด้วย พล.ร.ท.สินธุ์ กมลนาวิน (หลวงสินธุ์สงครามชัย) ผู้บัญชาการทหารเรือเป็นแม่ทัพใหญ่ พล.ต.สมบูรณ์ ศรานุชิต เป็นรองแม่ทัพใหญ่ พล.ต.เนตร เขมะโยธิน เป็นผู้บัญชาการทหารบก พล.ร.ต.สังวร สุวรรณชีพ (หลวงสังวรยุทธกิจ) เป็นผู้รักษาความสงบทั่วไปและอธิบดีกรมตำรวจ และ พ.ต.อ.บรรจงศักดิ์ ชีพเป็นสุข เป็นผู้บังคับการตำรวจสันติบาล

พร้อมกันนั้นได้ออกคำสั่งปลดข้าราชการ 5 คน คือ พล.ท.ผิน ชุณหะวัณ ผู้บัญชาการทหารบก พล.ท.กาจ กาจสงคราม (หลวงกาจสงคราม) รองผู้บัญชาการทหารบก พ.ต.ท.ละม้าย อุทยานนท์ ผู้บังคับการตำรวจสันติบาล พล.ต.ท.หลวงชาติตระการโกศล อธิบดีกรมตำรวจ และ พล.ต.ต.เผ่า ศรียานนท์ รองอธิบดีกรมตำรวจ และให้ย้ายหลวงอุตรดิษถาภิบาลจากข้าหลวงจังหวัดชลบุรีมาประจำกระทรวง

และให้ น.ท.ประดิษฐ์ พูนเกษ ผู้บังคับการกองพันนาวิกโยธิน สัตหีบ เป็นข้าหลวงประจำจังหวัดแทน ทั้งยังสั่งห้ามเคลื่อนย้ายกำลังพลไม่ว่าในกรณีใดๆ นอกจากจะได้รับคำสั่งโดยตรงจากแม่ทัพใหญ่

 

ในเวลาเดียวกันนั้น หน่วยอื่นๆ ก็ลงมือปฏิบัติการในสถานที่สำคัญต่างๆ ตามแผนที่วางไว้ เช่น ในพระบรมมหาราชวัง ร.อ.วัชรชัย ชัยสิทธิเวช ได้นำทหารเรือและอดีตเสรีไทยส่วนหนึ่งเข้ายึดได้เมื่อเวลา 21.00 น. จากนั้น นายปรีดี พนมยงค์ นายทวี ตะเวทิกุล พล.ต.สมบูรณ์ ศรานุชิต และกำลังส่วนอื่นๆ ก็ได้เคลื่อนย้ายจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมืองเข้าใช้เป็นศูนย์บัญชาการ โดยเชื่อมั่นว่าฝ่ายรัฐบาลจะไม่กล้าใช้อาวุธต่อสถานที่สำคัญและศักดิ์สิทธิ์ของชาติแห่งนี้

ครึ่งวันแรกมีแนวโน้มที่ขบวนการ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2492 จะได้รับชัยชนะ เพราะฝ่ายคณะรัฐประหารและฝ่ายรัฐบาลยังติดต่อกันไม่ได้จึงรวมตัวกันไม่ติด แต่แล้วกลับปรากฏเหตุการณ์ที่คาดไม่ถึง เมื่อกำลังกรมนาวิกโยธินจากสัตหีบที่นำโดย พล.ร.ต.ทหาร ขำหิรัญ ซึ่งจะต้องเป็นกำลังหลักร่วมกับกองสัญญาณทหารเรือเข้ายึดและควบคุมสถานที่สำคัญให้ได้ตั้งแต่ครึ่งคืนแรก กลับมาไม่ทันตามกำหนดทั้งๆ ที่เคลื่อนย้ายออกจากสัตหีบมาแล้ว แต่ต้องมาชะงักลงที่ท่าข้ามแม่น้ำบางปะกง เนื่องจากน้ำลงจนแพขนานยนต์ไม่สามารถลำเลียงกำลังข้ามได้ ต้องรอเวลาน้ำขึ้น

เหตุการณ์นี้จะถูกตั้งข้อสงสัยในเวลาต่อมาว่า นาวิกโยธินซึ่งเชี่ยวชาญสภาพลมฟ้าอากาศและท้องน้ำเช่นเดียวกับทหารเรือทั่วไปจะผิดพลาดได้อย่างไรกับข้อมูลน้ำขึ้นน้ำลงที่ท่าข้ามบางปะกงครั้งนี้

กำลังที่หายไปของนาวิกโยธินทำให้การควบคุมพื้นที่สำคัญในพระนครของฝ่ายปฏิวัติเกิดช่องว่าง ขณะที่ฝ่ายรัฐบาลเริ่มติดต่อประสานงานกันได้และรับทราบข้อมูลข่าวสารที่จำเป็นตั้งแต่เวลา 23.00 น. ของวันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2492 จนตั้งหลักได้จึงได้ออกประกาศยืนยันว่า รัฐบาลเดิมยังคงบริหารประเทศอยู่เมื่อประมาณเวลา 02.00 น.ของวันใหม่ และเป็นฝ่ายเริ่มยื่นข้อเสนอขอเจรจากับฝ่ายผู้ก่อการ

 

พล.ต.สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ที่ฝ่ายปฏิวัติเชื่อว่าจะเข้าร่วมกลับได้รับการแต่งตั้งจากรัฐบาลให้เป็นผู้อำนวยการในการปราบปราม ส่งกำลังเข้าล้อมพระบรมมหาราชวังที่ฝ่ายปฏิวัติยึดไว้เป็นกองบัญชาการทันที ขณะที่ฝ่ายปฏิวัติก็ยังคงเชื่อมั่นว่าฝ่ายรัฐบาลจะไม่กล้าใช้ความรุนแรงต่อสถานที่สำคัญแห่งนี้ แต่ผิดความคาดหมายเมื่อฝ่ายรัฐบาลเริ่มโจมตีอย่างหนักในเวลารุ่งสว่าง การสู้รบดำเนินอยู่ราว 2 ชั่วโมง ในที่สุดฝ่ายนายปรีดี พนมยงค์ ก็ต้องถอนกำลังออกจากพระบรมมหาราชวังในเวลาประมาณ 08.00 น.ของวันที่ 27 กุมภาพันธ์

กำลังนาวิกโยธินจากสัตหีบของฝ่ายผู้ก่อการได้เดินทางมาถึงพระนครเมื่อเวลาประมาณ 08.00 น.ของวันที่ 27 กุมภาพันธ์ เข้าสมทบกองสัญญาณทหารเรือที่ถนนพระราม 4 กลายเป็นกองกำลังขนาดใหญ่ ซึ่งเป็นเวลาเดียวกับที่ฝ่ายรัฐบาลตั้งตัวได้แล้วและกำลังครองความได้เปรียบที่พระบรมมหาราชวัง

ในที่สุด ฝ่ายปฏิวัติก็จำเป็นต้องยอมเสียที่มั่นพระบรมมหาราชวัง อำนาจบัญชาการรบย้ายจากนายปรีดี พนมยงค์ ที่อยู่ระหว่างการหลบหนีจากพระบรมมหาราชวังมาอยู่ที่ผู้บัญชาการกรมนาวิกโยธิน พล.ร.ต.ทหาร ขำหิรัญ ที่กองสัญญาณทหารเรือ

ผู้บัญชาการกรมนาวิกโยธินตัดสินใจเปิดแนวรบใหม่เพื่อลดความกดดันที่พระบรมมหาราชวัง และเปิดโอกาสให้ใช้กำลังที่เหนือกว่าให้ได้เปรียบ