ฐานคติสองใบอนุญาต : 3) พยาธิสภาพ

เกษียร เตชะพีระ

การเมืองวัฒนธรรม | เกษียร เตชะพีระ

 

ฐานคติสองใบอนุญาต

: 3) พยาธิสภาพ

 

จากการเมืองโบราณ–>การเมืองสมัยใหม่

แนวคิดการเมืองตามประเพณีโบราณยุคคลาสสิคของตะวันตกซึ่งเป็นฐานคิดเบื้องลึกเบื้องล่างฉันทามติ 112 ของแกนนำอำนาจรัฐไทยปัจจุบันมีแนวโน้มทางการเมืองโดยตรรกะไปสู่วงจรวัฏจักรของการปะทะและเปลี่ยนแปลงระบอบ มีการปฏิวัติและความไม่มั่นคงอยู่เสมอ

อันเป็นสถานการณ์แบบที่รัฐอังกฤษเผชิญสมัยการปฏิวัติอังกฤษระหว่างปี 1640-60 ถึงแก่มีการสำเร็จโทษพระเจ้าชาร์ลส์ที่หนึ่งโดยฝ่ายรัฐสภาของพวกอภิชนขุนนางเจ้าที่ดินเมื่อปี 1649 แล้วปกครองในระบอบมหาชนรัฐเผด็จอำนาจในทางปฏิบัติของโอลิเวอร์ ครอมเวลล์ อยู่ร่วมทศวรรษ (1649-60) ก่อนจะรื้อฟื้นระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์คืนมาในสมัยพระเจ้าชาร์ลส์ที่สอง

งานเรื่อง Leviathan (1651) ของโธมัส ฮอบส์ นักปรัชญาการเมืองชาวอังกฤษ (1588-1679) เขียนออกมาเพื่อตอบสนองต่อปัญหาความไม่มั่นคงเรื้อรังของการเมืองโบราณดังกล่าวข้างต้นและนำเสนอทางออกไปสู่การเมืองสมัยใหม่

โดยรื้อการเมืองโบราณเรื่องความสัมพันธ์-ขัดแย้ง-สลับแทนที่-หรือผสมกันระหว่างระบอบต่างๆ ทิ้ง แล้วแทนที่มันด้วยแนวคิดและสถาบันใหม่อันได้แก่อำนาจอธิปไตยกับการแทนตน (sovereignty & representation) กล่าวคือ :

ให้องค์อธิปัตย์ผู้กุมอำนาจอธิปไตยเป็นคำตอบสุดท้ายต่อคำถามขัดแย้งเรื้อรังไม่มีข้อยุติที่ผ่านมาว่า : ใครมีสิทธิอำนาจจะตัดสินว่าใครควรได้อะไร, เมื่อไหร่และอย่างไร? หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งใครเป็นผู้มีอำนาจสถาปนารัฐขึ้นมา (le pouvoir constituant)? นั่นเอง

หลักประกันที่องค์อธิปัตย์จะใช้อำนาจนั้นได้อยู่ตรงองค์อธิปัตย์จักต้องผูกขาดความรุนแรงภายในรัฐอย่างได้ผลโดยชอบธรรม

ภาพสร้างโดย ChatGPT ตามกระทู้แนวคิดการเมืองโบราณ, 25 พฤศจิกายน 2567

ความชอบธรรมที่องค์อธิปัตย์ได้รับนั้นมีที่มาจากประชาชนผู้ถูกปลดเปลื้องจาก/กดทับไว้ให้ต่ำต้อยด้อยกว่า ซึ่งชุมชนสังกัดระหว่างกลางและพันธกรณีย่อยทั้งหมดทั้งปวง (ชุมชนหมู่บ้าน, สมาคมอาชีพ, ศาสนจักร ฯลฯ) กลายเป็นปัจเจกบุคคลเสรีที่เข้าสัมพันธ์/สังกัด/มีพันธกรณีกับองค์อธิปัตย์โดยตรง

ความสัมพันธ์นั้นเป็นไปในลักษณะที่องค์อธิปัตย์แทนตนประชาชน ปัจเจกบุคคลจึงกลายสถานภาพเป็นประชาชนผ่านองค์อธิปัตย์และขึ้นต่ออำนาจอธิปไตยขององค์อธิปัตย์ (ดูภาพปกเลอเวียธันซึ่งประชาชนกลายเป็นหน่วยปัจเจกบุคคลเล็กๆ ยิบย่อยบรรจุรวมกันอัดแน่นอยู่ภายในร่างขององค์อธิปัตย์)

ด้วยแนวคิดฐานคติและแบบปฏิบัติทางการเมืองที่เดินควบเนื่องกันมาเช่นนี้ ก็จะหยุดวงจรวัฏจักรปฏิวัติได้ การเมืองอาจจะไม่นิ่ง แต่ก็มั่นคงและคาดการณ์ได้

(ข้อถกเถียงเชิงแนวคิดทฤษฎีข้างบนนี้ประมวลเรียบเรียงจาก David Runciman, Confronting Leviathan : A History of Ideas (2021) & Patrick J. Deneen, Why Liberalism Failed (2018)

ภาพปกหนังสือเลอเวียธันของโธมัส ฮอบส์

หากนำแนวคิดหลักของการเมืองสมัยใหม่ข้างต้นมาประยุกต์วิเคราะห์วิจารณ์ก็จะพบว่าการเมืองไทยในระบอบสองใบอนุญาตบนฐานฉันทามติ 112 ปัจจุบันนำไปสู่พยาธิสภาพทางการเมือง (political pathologies) ใน ประการต่างๆ ได้แก่ :

– เกิดอำนาจอธิปไตยพันลึกคู่ (Deep Dual Sovereignty) ที่อำนาจการตัดสินใจอันติมะทางการเมืองไม่ได้อยู่ที่ผู้รับผิดชอบทางกฎหมายตามตำแหน่งทางการ หากไพล่ไปอยู่ที่อื่นคนอื่นซึ่งไม่มีความรับผิดชอบตามกฎหมาย และไม่มีตำแหน่งอย่างเป็นทางการ

– มีการแทนตนแบบไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง & ไม่มีอำนาจนำ (Unelected Non-Hegemonic Representation) ผู้กุมอำนาจอธิปไตยพันลึกคู่ไม่ได้มีที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน อีกทั้งไม่ได้กุมอำนาจนำเหนือความคิดจิตใจประชาชน ดุจมันสมองและหัวใจรวมหมู่ของประชาชน เป็นแบบอย่างที่ประชาชนยินดีและกระตือรือร้นเร่าร้อนที่จะเดินตามอย่างเหนียวแน่นภักดี เหมือนดังที่มหาตมะ คานธี มีอำนาจนำเหนือประชาชนชาวอินเดีย เมื่อครั้งกู้อิสรภาพจากจักรวรรดิอังกฤษ (ดู Runciman, “6. Gandhi on Self-Rule : Hind Swaraj (1909)”, Confronting Leviathan, pp. 127-8)

– พื้นที่นโยบายที่ทำได้จากการรอมชอมมีลักษณะทับซ้อนจำกัด (Limited & Coinciding, Compromised & Feasible Policy Area) วงกลมแนวนโยบายที่พึงปรารถนาของผู้กุมใบอนุญาตแต่ละใบไม่ได้ทาบทับกลมกลืนกัน แต่เหลื่อมซ้อนกันแค่บางส่วน ทำให้การดำเนินแนวนโยบายภายนอกส่วนเหลื่อมซ้อนโดยไม่ได้รับฉันทามติของอีกฝ่ายทำได้ยาก ขณะที่พื้นที่เหลื่อมซ้อนของการรอมชอมค่อนข้างจำกัดวงเฉพาะเรื่องแบบแผนพิธีการและงานประจำ และกีดกันงานปรับเปลี่ยนปฏิรูปพื้นที่วงกลมทั้งสองออกไปโดยปริยาย

กล่าวได้ว่าฉันทามติ 112 ปักหมุดโดดเด่นเป็นเสาหลักของพื้นที่เหลื่อมซ้อนรอมชอมที่ว่านั้น

 

สรุป

การเมืองในระบอบสองใบอนุญาตจึงเป็นการเมืองที่ลับๆ ล่อๆ ลักปิดลักเปิด ไม่มั่นคง ไม่เอื้อเฟื้อต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ สิทธิเสรีภาพของประชาชน เพราะคาดเดายาก คาดการณ์ไม่ค่อยได้ ไม่อยู่ในวิสัยที่จะริเริ่มโครงการ ใหญ่ในการปฏิรูปการเมืองหรือเศรษฐกิจสังคมได้ ยักตื้นติดกึก ยักลึกติดกัก

เนื่องจากการเมืองในระบอบสองใบอนุญาตกล่าวให้ถึงที่สุดไม่ได้ไขปมปัญหา 2 ชั้นของการเมืองสมัยใหม่ลงไป กล่าวคือ :

1) อำนาจอธิปไตยกล่าวให้ถึงที่สุดสถิตอยู่ที่ใด? กับใคร? (หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งอำนาจในการออกใบอนุญาต ท้ายที่สุดอยู่กับใคร?)

2) อะไรคือการแทนตนประชาชนในระบอบนี้? การแทนตนดังกล่าวสัมพันธ์กับประชาชนและสัมพันธ์กับองค์อธิปัตย์อย่างไรกันแน่? (หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งความสัมพันธ์ระหว่างผู้มีอำนาจออกใบอนุญาต กับผู้ได้รับใบอนุญาตให้ใช้อำนาจ เป็นเช่นใด?)

ตราบที่ไม่แก้สองปัญหานี้ให้ลุล่วงไป การเมืองในระบอบสองใบอนุญาตย่อมไม่ปฏิรูป มีลักษณะชั่วคราว และไม่มั่นคงในระยะยาวเพราะมีปัญหาความชอบธรรมยืดเยื้อเรื้อรังอยู่เสมอ