ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 13 - 19 ธันวาคม 2567 |
---|---|
คอลัมน์ | รายงานพิเศษ |
เผยแพร่ |
แม้ พรรคเพื่อไทย จะถอย ด้วยการถอนร่าง พ.ร.บ.จัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม ออกจากสภาไปก่อน หลังเจอขั้วอนุรักษนิยม ทั้งพรรคภูมิใจไทย พรรครวมไทยสร้างชาติ พรรคพลังประชารัฐ แม้แต่ นายวิษณุ เครืองาม อดีตรองนายกฯ ยุครัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ดาหน้าออกมาคัดค้าน
โดยที่ฝ่ายทหาร กองทัพ โดย ผบ.เหล่าทัพ ไม่ต้องออกแรงใดๆ เพราะมีพรรคการเมือง และมวลชนฝ่ายอนุรักษนิยม ออกมาปกป้อง อีกทั้งช่วงนี้เป็นห้วงขาขึ้นของทหาร ที่เพิ่งเรียกคะแนนนิยม จากการช่วยเหลือน้ำท่วม โคลนถล่ม ที่แม่สาย เชียงราย และน้ำท่วม ชายแดนใต้ และเพิ่งผ่านพ้นพิธีสวนสนามและถวายสัตย์ปฏิญาณตนของทหารรักษาพระองค์ ที่ได้รับเสียงชื่นชมในความพร้อมเพรียงสง่างามของแถวทหาร
บิ๊กอ้วน นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคงและ รมว.กลาโหม กลายเป็นแกนนำพรรคเพื่อไทยคนแรกที่ออกมาส่งสัญญาณถอย ด้วยการบอกว่า เป็นข้อเสนอของ ส.ส. พรรคเพื่อไทยส่วนบุคคล ไม่ใช่จุดยืนของพรรค
ก่อนที่ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ จะยืนยันว่า ไม่รู้เรื่อง ยังตกใจที่เห็นร่างกฎหมายฉบับนี้ เพราะไม่ใช่จุดยืนของพรรค และยังไม่ผ่านการพิจารณาของพรรค จึงแนะแค่แก้ระเบียบก็พอ
“มันมีอะไรอีกเยอะ รับรองรัฐประหารไม่มีแล้ว เพราะมีวิธีการเปลี่ยนรัฐบาลหลายรูปแบบ ไม่จำเป็นต้องเป็นรัฐประหาร รัฐประหารแล้วมันช้ำ 9-10 ปีที่ผ่านมา ช้ำมาก ช้ำหนักมาก ประเทศช้ำ และทำให้การแก้ปัญหาต่างๆ มันยากขึ้น” นายทักษิณกล่าวอย่างมั่นใจ หลังโดนถามว่า นายกฯ อิ๊งค์ จะเป็นนายกฯ ชินวัตรคนแรกที่ไม่โดนรัฐประหาร
ทั้งนี้ เป็นที่รู้กันดีว่า หาก “ดีล” รัฐบาลผสมข้ามขั้วระหว่างพรรคเพื่อไทยกับขั้วอนุรักษนิยมยังอยู่ พรรคเพื่อไทยก็จะไม่ล้ำเส้นกองทัพ แต่คาดการณ์ว่าพรรคเพื่อไทยก็ต้องเสนอร่างกฎหมายนี้แค่เพื่อให้เห็นว่าได้มีแอ๊กชั่นตามที่ได้เคยหาเสียงเรื่องการปฏิรูปกองทัพ และการถอดสลักรัฐประหารไว้ เพื่อเอาใจฝ่ายประชาธิปไตยโดยเฉพาะกลุ่มคนเสื้อแดงที่มีบาดแผลในความทรงจำกับทหาร แต่ไม่ได้ต้องการผลักดันให้สุดซอย ต่อให้นายประยุทธ์ ศิริพานิชย์ จะยืนยันว่านำกลับไปแก้ไขและจะเสนอกลับเข้ามาอีกครั้งแน่นอนก็ตาม
เพราะเวลานี้ข้อตกลงตาม “ดีล” ยังคงเหลือการกลับประเทศของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี นายทักษิณย่อมจะไม่ทำอะไรที่ทำให้เกิดแรงกระเพื่อมในกองทัพ หรือกระทบความสัมพันธ์กับกองทัพและขั้วอนุรักษนิยม เพราะมีสัญญาณว่าให้ต้องจับมือกันต่อไป เพื่อสู้กับพรรคประชาชน
ที่สำคัญนายทักษิณย่อมรู้ดีว่าไม่อาจผลักดันกฎหมายฉบับนี้จนผ่านสภาได้ เพราะนอกจากพรรคคู่อนุรักษนิยมคัดค้านแล้ว ต่อให้พรรคประชาชนช่วยโหวตในสภาแต่ก็ต้องไปติดที่วุฒิสภา ซึ่งส่วนใหญ่ก็เป็น ส.ว.สายสีน้ำเงินทั้งสิ้น
ก่อนหน้านี้นายสุทิน คลังแสง เมื่อครั้งเป็น รมว.กลาโหม เคยระบุว่าได้รับสัญญาณจากผู้ใหญ่ในพรรคเพื่อไทยและบ้านจันทร์ส่องหล้า ให้ร่างแก้กฎหมายกลาโหมแบบซอฟต์ พบกันครึ่งทาง ระหว่างทหารกับการเมือง จึงได้ฉบับที่ไม่แตะอำนาจบอร์ด 7 เสือกลาโหม ในการแต่งตั้งโยกย้ายนายทหารระดับผู้บัญชาการเหล่าทัพและนายพล เพราะรู้ว่าเป็นเรื่องละเอียดอ่อน
แต่แค่เสนอเปลี่ยนสัดส่วนของฝ่ายพลเรือนใน “สภากลาโหม” ให้มากขึ้นและลดฝ่ายทหารข้าราชการประจำลง โดยที่สภากลาโหมไม่ได้มีอำนาจหน้าที่ในการแต่งตั้งโยกย้ายชั้นนายพลเป็นแค่การออกกฎระเบียบ งานทางธุรการเท่านั้น
รวมทั้งเสนอให้มีการกำหนดคุณสมบัติของคนที่จะเป็นนายพลที่ต้องไม่เกี่ยวข้องกับสิ่งผิดกฎหมาย ผู้มีอิทธิพล มีคดีติดตัว หรือทำการค้ากับกองทัพส่วนราชการเท่านั้น
แม้ร่างแก้กฎหมายกลาโหมฉบับของนายสุทินจะถูกมองว่าเบามาก แต่ก็มีปฏิกิริยาจากกองทัพในเวลานั้นที่ผู้บัญชาการเหล่าทัพไม่ร่วมประชุมในวาระที่มีเรื่องนี้เข้าประชุมเลยสักครั้งเดียว ส่งแต่ตัวแทนเท่านั้น
แต่ท้ายที่สุด นายสุทินก็เร่งนำเข้าที่ประชุมสภากลาโหมอนุมัติก่อนที่ตนเองจะพ้นเก้าอี้ รมว.กลาโหมแค่ไม่กี่วัน
ถือว่าได้ทำมิชชั่นให้พรรคสำเร็จไปก้าวหนึ่งแล้ว ในการระบุให้อำนาจนายกฯ นำเข้าคณะรัฐมนตรีในการสั่งพักราชการนายทหาร ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการเตรียมรัฐประหาร หรือก่อกบฏ
โดยไม่ปลดย้ายเพราะถือเรื่องยศตำแหน่งทางทหารระดับนายพล ต้องเป็นพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ เท่านั้น
แต่ผลพวงของร่าง พ.ร.บ.กลาโหม ของนายประยุทธ์ก็ทำให้กองทัพถูกจับจ้อง ในเรื่องการสืบทอดอำนาจในกองทัพ เนื่องจากผู้บัญชาการเหล่าทัพมักจะแต่งตั้งนายทหารที่เป็นคนของตนเองอยู่ในขั้วอำนาจตนเองจนทำให้นายทหารที่มีความสามารถคนอื่นสูญเสียโอกาสในการรับราชการในตำแหน่งสำคัญ
เพราะหากย้อนดู กองทัพในห้วง 10 ปีมานี้ อำนาจในกองทัพอยู่ในมือของพี่น้อง 3 ป. “ป้อม-ป๊อก-ประยุทธ์” และ บิ๊กแดง พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ อดีต ผบ.ทบ. น้องรักบิ๊กตู่ ที่ได้ชื่อว่าเป็นผู้ให้กำเนิดทหารคอแดงในส่วนของกองทัพบกเพราะมีส่วนสำคัญในการจัดตั้ง “หน่วยเฉพาะกิจทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ 904” (ฉก.ทม.รอ.904) และกำเนิดธรรมเนียม ผบ.ทบ.ต้องเป็นทหารคอแดง
และจะเลือกมาจากนายพล ที่เลือกไปรับการฝึกหลักสูตรทหารคอแดง 3 เดือน ที่กำหนดขึ้นในยุคบิ๊กแดงเท่านั้น
ตําแหน่งที่ว่ากันว่ามีการสืบทอดอย่างปลัดกลาโหม ตั้งแต่ยุค คสช. หลังรัฐประหาร ปี 2557 มีการเด้ง บิ๊กแป๊ะ พล.อ.นิพัทธ์ ทองเล็ก ที่นั่งปลัดกลาโหมมาแค่ 6 เดือน เข้ากรุทำเนียบฯ
จากนั้นตั้ง บิ๊กเต่า พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ เพื่อนร่วมรุ่นเตรียมทหาร 12 ของ พล.อ.ประยุทธ์ มาเป็นปลัดกลาโหมแทน ต่อด้วย นายทหารในสายบูรพาพยัคฆ์ เช่น บิ๊กบี้ พล.อ.ศิริชัย ดิษฐกุล น้องรักบิ๊กป้อม พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ พี่ใหญ่ แล้วต่อด้วย บิ๊กติ๊ก พล.อ.ปรีชา จันทร์โอชา น้องชาย พล.อ.ประยุทธ์
และตามด้วยบิ๊กเข้ พล.อ.เทพพงศ์ ทิพยจันทร์ และ พล.อ.ณัฐ อินทรเจริญ แกนนำ ตท.20 ลูกเลิฟบิ๊กป้อม นั่งยาว 3 ปี ต่อด้วย บิ๊กหน่อย พล.อ.วรเกียรติ รัตนานนท์ และ บิ๊กหนุ่ม พล.อ.สนิธชนก สังขจันทร์ สายตรงบ้านป่ารอยต่อฯ ที่นั่งยาว 3 ปี จะเกษียณตุลาคม 2568 นี้
และวางตัว บิ๊กหนุ่ย พล.อ.ธราพงษ์ มะละคำ สายตรงบ้านป่ารอยต่อฯ อีกคน มาเป็นรองปลัดกลาโหม จ่อไว้แล้ว
ส่วนตำแหน่งผู้บัญชาการทหารสูงสุดนั้น เริ่มจากยุค บิ๊กเจี๊ยบ พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร (ตท.12) เป็น ผบ.ทหารสูงสุด ก่อนรัฐประหาร 2557 ต่อด้วย พล.อ.วรพงษ์ สง่าเนตร เพื่อน ตท.12 ของ พล.อ.ประยุทธ์ อีกคน และต่อด้วย บิ๊กเต้ พล.อ.สมหมาย เหาฏีนะ บิ๊กปุย พล.อ.สุรพงษ์ สุวรรณอัตถ์ บิ๊กต๊อก พล.อ.ธารไชยยันต์ ศรีสุวรรณ และ บิ๊กกบ พล.อ.พรพิพัฒน์ เบญญศรี ที่มีการวางตัวกันตามปกติ ไม่มีพลิก
จนมาเมื่อมีทหารคอแดง พล.อ.อภิรัชต์ ส่งบิ๊กแก้ว พล.อ.เฉลิมพล ศรีสวัสดิ์ มาเป็น ผบ.ทหารสูงสุด ที่เป็นทหารคอแดงคนแรก นั่งยาว 3 ปี
และต่อด้วย บิ๊กอ๊อบ พล.อ.ทรงวิทย์ หนุนภักดี ข้ามจาก ทบ. มาเป็นรอง ผบ.ทหารสูงสุดก่อน 1 ปี และขึ้นผู้บัญชาการทหารสูงสุดคอแดงคนที่ 2 ก่อนเกิดการเปลี่ยนแปลงใน ฉก.ทม.รอ.904 จึงถอดคอแดง กลับมาเป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุดคอเขียวตามเดิม
และมี บิ๊กหยอย พล.อ.อุกฤษฏ์ บุญตานนท์ ที่ข้ามจาก ผช.ผบ.ทบ. มาเป็น รอง ผบ.ทหารสูงสุด เพื่อจ่อขึ้นเป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุด ในตุลาคม 2568 นี้
ในส่วนกองทัพบก จาก บิ๊กป๊อก พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา เป็น ผบ.ทบ. หลังรัฐประหารล้มนายทักษิณ ที่แม้จะเป็นเพื่อนร่วมรุ่น ตท.10 ด้วยกัน แต่นายทักษิณก็ส่อเค้าไม่เลือก พล.อ.อนุพงษ์เป็น ผบ.ทบ. เพราะวางตัว บิ๊กตู่ พล.อ.พรชัย กรานเลิศ เพื่อนร่วมรุ่น ตท.10 อีกคนไว้
เมื่อบิ๊กบัง พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ผบ.ทบ. นำรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 พล.อ.อนุพงษ์ที่เป็นคีย์แมนร่วมรัฐประหารด้วย ก็ได้เป็น ผบ.ทบ.ต่อ 2 ปี แล้วก็ดัน พล.อ.ประยุทธ์ ที่นั่งเป็น ผบ.ทบ.ยาว 4 ปีต่อ โดยรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 ครองอำนาจต่ออีกยาว 9 ปี
ตั้ง ผบ.ทบ. ในสาย 3 ป. สลับกันระหว่างน้องรักของ พล.อ.ประยุทธ์และ พล.อ.ประวิตร และมีสายรบพิเศษขั้วบ้านสี่เสาเทเวศร์ สลับกันด้วย เช่น บิ๊กโด่ง พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร เป็น ผบ.ทบ. ต่อด้วย บิ๊กหมู พล.อ.ธีรชัย นาควานิช ต่อด้วย บิ๊กเจี๊ยบ พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิศาสตร์
และมา บิ๊กแดง พล.อ.อภิรัชต์ ที่เป็นยุคต้นของทหารคอแดงโดยถือเป็น ผบ.ทบ.คอแดงคนแรกและ ผบ.ฉก.ทม.รอ.904 นั่ง 2 ปี และต่อด้วย บิ๊กบี้ พล.อ.ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ นั่ง ผบ.ทบ. 3 ปี และต่อด้วย บิ๊กต่อ พล.อ.เจริญชัย หินเธาว์
แล้วมาเป็น บิ๊กปู พล.อ.พนา แคล้วปลอดทุกข์ ที่มีกำหนดนั่งยาว 3 ปี เกษียณตุลาคม 2570 ที่ถือว่าเป็นสายตรงของ พล.อ.อภิรัชต์ ในสายวงศ์เทวัญ และเกิดการเปลี่ยนแปลงปรับโครงสร้าง ฉก.ทม.รอ.904 ใหม่ เป็นครั้งแรกในรอบ 6 ปีที่ ผบ.ทบ.ไม่ต้องเป็นคอแดง และไม่ต้องควบ ผบ.ฉก.ทม.รอ.904 โดยต้องมีการถอดคอแดงและกลับมาเป็นทหารคอเขียวตามเดิม และให้แม่ทัพภาค 1 ผบ.ฉก.ทม.รอ.904 แทน
กำลังเป็นที่จับตามองว่าในห้วง 3 ปีนี้ พล.อ.พนาจะวางใครเป็นทายาทคนนั่ง ผบ.ทบ.ต่อ ที่กำลังชิงกันระหว่างเตรียมทหารรุ่น 27 คือบิ๊กใหญ่ พล.ท.อมฤต บุญสุยา แม่ทัพภาค 1 ทหารคอแดง ลูกรัก พล.อ.ประยุทธ์กับ ตท. รุ่น 28 ระหว่างบิ๊กไก่ พล.ท.วรยส เหลืองสุวรรณ แม่ทัพน้อยเหน่ง หรือรองกอล์ฟ พล.ต.สราวุธ ไชยสิทธิ์ รองแม่ทัพภาค 1
และกำลังถูกจับตามองว่ามีการวางตัว ผบ.ทบ. ยาวต่อเนื่อง ทั้ง ตท.30-ตท.31-ตท.32 เช่น รองลาภ พล.ต.สิทธิพร จุลปานะ รองแม่ทัพน้อย 1 ผบ.ด้วย พล.ต.ยอดอาวุธ พึ่งพักตร์ ผบ.มทบ.11 ผบ.เอิร์ธ พล.ต.อินทนนท์ รัตนกาฬ ผบ.พล.รบพิเศษ 1 และ พล.ต.เบญจพล เดชาติวงศ์ ณ อยุธยา ผบ.พล.ร.2 รอ. ที่จะเติบโตตามขึ้นมารับไม้ดูแลกองทัพ และปกป้องสถาบันต่อไป
ขณะที่การสืบทอดอำนาจในส่วนกองทัพเรือ กำลังจับตามองว่า บิ๊กดุง พล.ร.อ.อะดุง พันธุ์เอี่ยม ผบ.ทร.คนก่อน ได้วางใครไว้เป็นทายาท หลังจากที่ดัน บิ๊กแมว พล.ร.อ.จิรพล ว่องวิทย์ ฝ่าม่านประเพณีขึ้นมาเป็น ผบ.ทร.ได้สำเร็จ
เพราะใน 5 ฉลามทัพเรือ ได้วางตัวไว้ถึง 3 คน คือ เสธ.เฟื่อง พล.ร.อ.ไพโรจน์ เฟื่องจันทร์ เสธ.ทร. (ตท.24) บิ๊กจิต พล.ร.อ.พิจิตต ศรีรุ่งเรือง ผช.ผบ.ทร. (ตท.25) ที่เป็นเครือญาติของ บิ๊กดุง และ บิ๊กเดี่ยว พล.ร.อ.ณัฏฐพล เดี่ยววานิช ผบ.กองเรือยุทธการ (ตท.25) ที่คาดว่าจะเป็น ผบ.ทร.คนต่อไป
อาจกล่าวได้ว่า เป็นทายาทเจนฯ ที่ 5 ของ ทร. นับตั้งแต่ บิ๊กเฒ่า พล.ร.อ.สมประสงค์ นิลสมัย ได้พลังบ้านป่ารอยต่อฯ จาก บิ๊กณัฐ พล.อ.ณัฐ อินทรเจริญ ปลัดกลาโหม ในเวลานั้น เพื่อน ตท.20 ลูกรัก บิ๊กป้อม พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ พี่ใหญ่ 3 ป. ช่วยดันข้ามจากรองปลัดกลาโหม กลับไปเป็น ผบ.ทร. เอาชนะ บิ๊กโต้ง พล.ร.อ.ธีรกุล กาญจนะ รอง ผบ.ทร. สายตรง บิ๊กลือ พล.ร.อ.ลือชัย รุดดิษฐ์ ผบ.ทร. คนก่อนนั้น ที่แม้ได้รับการเสนอชื่อเป็น ผบ.ทร. แต่ บิ๊กอุ้ย พล.ร.อ.ชาติชาย ศรีวรขาน ผบ.ทร.ในเวลานั้น ยอมแก้โผชื่อ ผบ.ทร. มาเป็น พล.ร.อ.สมประสงค์ เพราะต่างก็เป็นเพื่อน ตท.20 กับ พล.ร.อ.สมประสงค์ และ พล.อ.ณัฐ
ถือเป็นการเปลี่ยนขั้วอำนาจใน ทร.ครั้งสำคัญ จากที่ พล.ร.อ.ลือชัย เป็น ผบ.ทร.มา 2 ปี แต่วางทายาทสืบต่อไม่สำเร็จ
ดังนั้น เมื่อ พล.ร.อ.สมประสงค์ ข้ามกลับมาเป็น ผบ.ทร. ก็ดึง บิ๊กจ๊อด พล.ร.อ.เชิงชาย ชมเชิงแพทย์ กลับจากรอง เสธ.ทหาร บก.ทัพไทย ย้ายมาเป็น ผช.ผบ.ทร. ในโผเมษายนกลางปี เพื่อมาจ่อขึ้น ผบ.ทร.
โดยที่ฮือฮาคือ ย้ายสลับกับ บิ๊กปู พล.ร.อ.สุทธินันท์ สมานรักษ์ ผช.ผบ.ทร. น้องรักบิ๊กลือ ที่ถือว่าไม่เคยมีมาก่อน และย้ายตำแหน่งที่ต่ำกว่า และเป็นการล้างบางบิ๊กลือ เพราะได้วางตัว พล.ร.อ.สุทธินันท์ให้เป็นแคนดิเดต ผบ.ทร.อีกคนหนึ่งด้วย จนถึงขั้นมีข่าวลือสะพัดตอนนั้นว่า จะฟ้องศาลปกครอง จนต้องเจรจากันเลยทีเดียว
เมื่อ พล.ร.อ.เชิงชาย (ตท.22) ขึ้นมาเป็น ผบ.ทร. 1 ปี ก็ส่งไม้ต่อให้ พล.ร.อ.อะดุง (ตท.23) ขั้วเดียวกัน เป็น ผบ.ทร.ต่อ และ พล.ร.อ.อะดุง ก็ส่งต่อให้ พล.ร.อ.จิรพล เพื่อน ตท.23
แม้ว่าในการโยกย้ายมา 2 ครั้ง ในยุคบิ๊กตู่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และ รมว.กลาโหม จะเจรจาให้ ผบ.ทร.พิจารณา บิ๊กวิน พล.ร.อ.สุวิน แจ้งยอดสุข (ตท.25) ที่เป็นมาตั้งแต่ ผบ.กองเรือยุทธการ และ ผช.ผบ.ทร. ที่มีความเหมาะสมทั้งเส้นทางรับราชการและอาวุโส
แต่ก็ไม่สามารถทำให้ ผบ.ทร.ในเวลานั้นๆ ยอมเปลี่ยนโผ เพราะมองว่า พล.ร.อ.สุวิน เป็นคนละขั้ว
จนมารัฐบาลพรรคเพื่อไทย ที่เป็นดีลผสมข้ามขั้ว ในยุคนายเศรษฐา ทวีสิน เป็นนายกฯ และนายสุทิน คลังแสง เป็น รมว.กลาโหม แต่ก็ไม่อาจผลักดันให้ พล.ร.อ.อะดุง เสนอชื่อ พล.ร.อ.สุวินได้ ยังคงยืนกรานชื่อ พล.ร.อ.จิรพล เป็น ผบ.ทร.แทน แม้จะไม่ได้จบ รร.นายเรือ แต่จบนายเรือเยอรมัน และผ่านตำแหน่ง ผบ.หน่วยมาน้อยมากก็ตาม
เพราะ ผบ.เหล่าทัพมีอำนาจตามบอร์ด 7 เสือกลาโหม ตาม พ.ร.บ.จัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม ปี 2551 โดยที่ฝ่ายการเมืองไม่อาจแทรกแซงได้ แม้เปิดช่องให้โหวตได้ แต่ ผบ.เหล่าทัพ อื่นก็ไม่โหวต เพราะเป็นมารยาทที่จะไม่ก้าวก่าย ผบ.เหล่าทัพ แม้อาจจะไม่เห็นด้วย
โดยมีรายงานว่า ผบ.เหล่าทัพขอให้ พล.ร.อ.อะดุงพิจารณาแคนดิเดตจากใน 5 ฉลาม ทร. ที่มีถึง 3 คน แต่ พล.ร.อ.อะดุงก็ยืนยันชื่อ พล.ร.อ.จิรพล ที่เป็นที่ปรึกษาพิเศษ ทร.
สะท้อนว่า บอร์ด 7 เสือกลาโหม ตาม พ.ร.บ.กลาโหม ปี 2551 เป็นเกราะป้องกันการล้วงลูกจากการเมืองได้เป็นอย่างดี
เช่นเดียวกับใน ทอ. ที่กล่าวกันว่า ตั้งแต่รัฐประหาร ปี 2549 เรื่อยมา ผบ.ทอ.ส่วนใหญ่เป็นขั้วสายอำนาจเดียวกัน คือ ขั้วกริพเพน ที่สลับกับขั้วเอฟ 16
ตั้งแต่ บิ๊กต๋อย พล.อ.อ.ชลิต พุกผาสุข ผบ.ทอ. ตอนรัฐประหาร ต่อด้วย บิ๊กเฟื่อง พล.อ.อ.อิทธพร ศุภวงศ์ บิ๊กจิน พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง บิ๊กตู่ พล.อ.อ.ตรีทศ สนแจ้ง บิ๊กจอม พล.อ.อ.จอม รุ่งสว่าง
ต่อด้วย บิ๊กต่าย พล.อ.อ.ชัยพฤกษ์ ดิษยศรินทร์ สายเอฟ 16 และมาสายกริพเพน พล.อ.อ.มานัต วงษ์วาทย์
จนมาเกิดปัญหา เมื่อ พล.อ.อ.มานัตเลือก บิ๊กแอร์ พล.อ.อ.แอร์บูล สุทธิวรรณ ผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษ ทอ. ขึ้นเป็น ผบ.ทอ. และถูกคัดค้านเพราะมีแคนดิเดตที่อยู่ในตำแหน่งหลัก 5 ฉลามอากาศอยู่แล้ว
แม้ในขณะนั้นจะมีรายงานว่า พล.อ.ประยุทธ์ ซึ่งเป็นนายกรัฐมนตรีได้ท้วงติงแล้วก็ตาม แต่ พล.อ.อ.มานัตก็ยืนกรานข้อเสนอเดิม ซึ่งเป็นอำนาจของ ผบ.เหล่าทัพในบอร์ด 7 เสือกลาโหมนั่นเอง จนนำมาซึ่งปัญหาความขัดแย้งแตกแยกในกองทัพอากาศอย่างรุนแรงยุคหนึ่งเลยทีเดียว
ก่อนที่ บิ๊กป้อง พล.อ.อ.นภาเดช ธูปะเตมีย์ สายเอฟ 16 ขึ้นมาเป็น ผบ.ทอ.แล้ว ส่งไม้ต่อให้ บิ๊กตุ๊ด พล.อ.อ.อลงกรณ์ วัณณรถ เป็น ผบ.ทอ. ท่ามกลางความฮือฮา เพราะโปรไฟล์ไม่สตรองเท่าแคนดิเดตคนอื่น ที่เป็นนักบินขับไล่ และผู้ช่วยทูตทหารในต่างประเทศ แต่ก็ไม่มีใครคัดค้าน พล.อ.อ.นภาเดชได้
แม้ พล.อ.อ.นภาเดชจะวางตัว บิ๊กณะ พล.อ.อ.ณรงค์ อินทชาติ รอง ผบ.ทอ. ตอนนั้น เป็น ผบ.ทอ.คนต่อไป แต่ พล.อ.อ.อลงกรณ์ไม่เอาด้วย แม้จะมีบุญคุณ แต่ก็เลือก บิ๊กไก่ พล.อ.อ.พันธุ์ภักดี พัฒนกุล มาเป็น ผบ.ทอ. นั่ง 2 ปี ที่จะเกษียณตุลาคม 2568 กำลังเป็นที่จับจ้องว่าจะมีการวางใครเป็นทายาทระหว่างบิ๊กคิม พล.อ.อ.เสกสรร คันธา ผู้ช่วย ผบ.ทอ .และ เสธ.แอน พล.อ.อ.วชิระพล เมืองน้อย เสธ.ทอ. และมีการดันนายทหารคนเก่ง ขึ้นมาจ่อรอเติบโตในอนาคตอีกหลายคน
ดังนั้น จึงเป็นการยากที่การเมืองจะยึดอำนาจการแต่งตั้งโยกย้ายนายพล ด้วยการให้นำโผที่ผ่านบอร์ด 7 เสือกลาโหมแล้ว เข้า ครม.อีกที เพราะทหารไม่เคยยอม เนื่องจากยศตำแหน่งนายพล ต้องผ่านการโปรดเกล้าฯ
ที่ผ่านมา ฝ่ายการเมือง ที่พยายามจะแทรกแซงกองทัพ เพื่อหวังถอดสลักรัฐประหาร แต่กลับเป็นการจุดชนวนรัฐประหารเสียมากกว่า
โชคดีที่ยุคนี้ แผ่นดินนี้ การปฏิวัติรัฐประหารไม่สามารถเกิดขึ้นได้ง่ายๆ อีกต่อไปแล้ว แต่การแสดงเจตนารมณ์ที่จะเข้ามาแชร์อำนาจ ตั้ง ผบ.เหล่าทัพ และนายพล ของฝ่ายการเมือง เป็นเรื่องละเอียดอ่อนยิ่ง
จึงไม่แปลก ที่บิ๊กเพื่อไทย ต้องสั่งถอยก่อน!!
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022