ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 20 - 26 ธันวาคม 2567 |
---|---|
ผู้เขียน | สุภา ปัทมานันท์ |
เผยแพร่ |
ล่วงเข้าเดือนธันวาคม เดือนสุดท้ายของปี เป็นช่วงเวลาที่ยุ่งมากสำหรับคนญี่ปุ่น
นอกจากเตรียมเก็บกวาดทำความสะอาดบ้านช่อง กำจัดของเก่าผุพังที่ใช้มาตลอดปี จับจ่ายซื้อของ เตรียมอาหารปีใหม่สำหรับครอบครัว เคลียร์งานให้เสร็จก่อนเดินทางกลับไปพบหน้าครอบครัวที่บ้านต่างจังหวัดเพื่อร่วมฉลองวันส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่
แต่ยังมีอีกหนึ่งภารกิจที่มีธรรมเนียมปฏิบัติมาอย่างยาวนาน คือ การเขียน ส.ค.ส. อวยพรปีใหม่ (年賀状) ถึงญาติพี่น้อง ผู้ใหญ่ เพื่อนๆ คนรู้จักที่ไม่ได้พบหน้ากัน เป็นต้น
การไปรษณีย์ญี่ปุ่นพิมพ์ไปรษณียบัตรปีใหม่วางจำหน่าย เพื่อให้ผู้ซื้อนำไปออกแบบเพิ่มเติม พิมพ์รูปถ่ายครอบครัว รูปถ่ายตัวเอง หรือวาดลวดลายนักษัตรประจำปีใหม่ เป็นต้น แล้วเขียนถ้อยคำอวยพรให้มีความสุขในปีใหม่ ขอบคุณที่ได้รับความเมตตาและเอื้อเฟื้อตลอดปีที่ผ่านมา
ส่วนบริษัท ห้างร้านก็ถือเป็นธรรมเนียมที่ต้องส่ง ส.ค.ส.ถึงลูกค้าผู้มีพระคุณเสมอมา ด้วยหวังว่าลูกค้าจะยังใช้บริการต่อไปอีกนานๆ
ส.ค.ส.เหล่านี้ต้องเขียนให้เสร็จแล้วนำไปส่งไปรษณีย์ให้ทันวันที่กำหนด ในปีนี้กำหนดให้ส่งได้ตั้งแต่วันที่ 15-25 ธันวาคม เพื่อจะนำไปคัดแยกตามจังหวัดต่างๆ และนำส่งถึงผู้รับพร้อมกันในวันที่ 1 มกราคมแน่นอน
ถ้าส่งก่อนจะนำส่งตามปกติ ถือเป็นไปรษณียบัตรทั่วไป
ถ้าส่งหลังจากกำหนดจะถึงมือผู้รับหลังวันที่ 1 มกราคม
แค่วันที่ถึงมือผู้รับต่างกันก็มีความหมายมาก เขาไม่คิดถึงหรือลืมเรา ก็เลยส่ง ส.ค.ส.ช้า… น่าน้อยใจนัก!
ในทางกลับกัน เช้าวันปีใหม่ เปิดตู้จดหมายดู โอ้โฮ! มี ส.ค.ส.ปึกใหญ่วางอยู่ในตู้ ผู้รับจะสุขใจเพียงใด และเป็นความสุขรับเช้าวันแรกของปี
ไม่ใช่เรื่องแปลกที่แต่ละคนจะเขียน ส.ค.ส.ปีใหม่กันคนละหลายสิบใบ หรือเป็นร้อยๆ ใบสำหรับบริษัท ห้างร้าน มีคนไม่น้อยที่คิดว่าเป็นงานหนัก ยุ่งยาก เสียเวลา เปลืองเงิน ขี้เกียจ ฯลฯ แต่ก็จำใจปฏิบัติกันมา
ส่วนคนที่ยินดีเขียน ส.ค.ส. ก็คิดว่าเพียงปีละครั้งเดียว ส่งข่าวคราว ความคิดถึง และความปรารถนาดีให้กัน ก็ไม่เหลือบ่ากว่าแรง เขียนไม่กี่ประโยค แค่กระดาษแผ่นเดียวเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่อยู่ไกลกัน ไม่มีโอกาสพบหน้ากัน
แต่…ในปัจจุบันที่เทคโนโลยีการสื่อสารก้าวหน้าไปอย่างมาก สามารถสื่อสารกันได้อย่างรวดเร็วทันใจ ในพริบตา มีอีเมล ไลน์ เฟซบุ๊ก หรือจะกดโทรศัพท์คุยกัน ยิ่งเป็นคนหนุ่มสาวยุคใหม่ด้วยแล้ว ไม่อยากมานั่งหลังขดหลังแข็งเขียนไปรษณียบัตรอวยพร ในเมื่อสามารถรับรู้ข่าวสารกันได้รวดเร็วเมื่อไรก็ได้อยู่แล้ว
การไปรษณีย์ญี่ปุ่นพิมพ์ไปรษณียบัตรเพื่อเขียน ส.ค.ส. เริ่มมาตั้งแต่ปี 1949 จำนวน 180 ล้านใบ และพิมพ์มากที่สุดสำหรับปีใหม่ของปี 2004 จำนวน 4,450 ล้านใบ หลังจากนั้นก็ค่อยๆ ลดลงทุกปี จนปี 2024 ลดเหลือ 1,440 ล้านใบ
และปีใหม่ 2025 ที่กำลังจะมาถึงนี้ พิมพ์ออกจำหน่ายเพียง 1,070 ล้านใบ ลดลงจากปีที่แล้ว 25.7% และเป็นจำนวนพิมพ์น้อยที่สุด
ย้อนกลับไปในอดีต เฉพาะที่ไปรษณีย์จังหวัดฟุคุโอกะ เกาะคิวชู แห่งเดียว ในช่วงก่อนปีใหม่ต้องจ้างพนักงานพาร์ตไทม์ทำการคัดแยก ส.ค.ส.ปีใหม่ถึง 510 คน มีเครื่องคัดแยกอัตโนมัติ 3 เครื่องคัดแยกได้ 5 หมื่นใบต่อชั่วโมง หรือวันละกว่า 1 ล้านใบทีเดียว
ก่อนหน้านั้นผู้คนต้องต่อคิวยาวเพื่อซื้อไปรษณียบัตร จนต้องเพิ่มช่องทางนำระบบไดรฟ์ทรูมาใช้ด้วย
แต่นั่นเป็นเรื่องของอดีตเสียแล้ว
ในปี 2023 มีการสำรวจความคิดเห็นคนวัยทำงานอายุ 20-60 ปี ว่าจะเขียน ส.ค.ส.ปีใหม่ ปี 2024 หรือไม่?
ผู้ตอบว่า “เขียน” มี 43.8% ตอบว่า “ไม่เขียนแล้ว” 56.2% เกินกว่าครึ่งไม่อยากส่ง ส.ค.ส.กันแล้ว
ผู้สูงวัยส่วนใหญ่ยังคงรักษาธรรมเนียมนี้ไว้ เพราะอยากได้รับข่าวคราวจากคนรู้จักที่นับปีก็ยิ่งมีน้อยลงเพราะล้มหายตายจากกันไป แต่ก็มีบ้างที่สุขภาพและวัยไม่อำนวยก็จำต้องลดจำนวนที่เขียนให้น้อยลง
อีกเหตุผลที่ถือเป็นข้ออ้างในปีนี้ก็คือ การไปรษณีย์ญี่ปุ่นขึ้นราคาค่าส่งไปรษณียบัตรตั้งแต่เดือนตุลาคมที่ผ่านมา จากใบละ 63 เยน เป็น 85 เยน เนื่องจากต้นทุนค่าขนส่งแพงขึ้น คนที่ไม่อยากเขียน ส.ค.ส. ก็เลยถือโอกาสนี้อ้างว่าสิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายสูงขึ้น
บริษัทห้างร้านบางแห่งงดส่ง ส.ค.ส.ปีใหม่ให้ลูกค้าแล้ว เพราะต้องการลดค่าใช้จ่าย และลดภาระงานของพนักงานในการจัดส่ง ส.ค.ส.
แถมยังมีข้ออ้างเรื่องรักษ์โลก จบเทศกาลก็ต้องทำลายกระดาษตั้งมากมายให้เป็นปัญหาสิ่งแวดล้อมอีก
มีคนไม่น้อยที่กังวลใจและลังเลว่าการเลิกส่ง ส.ค.ส.ปีใหม่ให้กันจะเป็นการเสียมารยาท โดยเฉพาะการส่งให้ญาติผู้ใหญ่ ครู อาจารย์ อยากเลิกเขียน แต่ยังไม่รู้จะหาถ้อยคำมาเขียนบอกล่วงหน้าอย่างไร
เรื่องนี้ง่ายนิดเดียว แผนกเครื่องเขียนของห้างสรรพสินค้าที่วางจำหน่าย ส.ค.ส.หลากหลายรูปแบบให้ลูกค้าได้เลือกซื้อในเทศกาล ห้างก็ต้องปรับตัวตามกระแสที่คนไม่เขียน ส.ค.ส. ยอดขายจึงลดลงมาก 2-3 ปีมานี้ ตอนนี้จึงวางขาย ส.ค.ส.แบบปกติทั่วไป และ ส.ค.ส.พร้อมแผ่นสติ๊กเกอร์หลายแบบ พิมพ์ถ้อยคำอย่างเป็นทางการ แจ้งให้ผู้รับทราบว่าจะขอจบการส่ง ส.ค.ส. (年賀状じまい) แต่เพียงปีนี้ ขออภัยที่ปีหน้าจะไม่ส่งแล้ว แต่ยังระลึกถึงเสมอ มีที่ว่างให้เขียนข่องทางการติดต่อ อีเมล ไอดีไลน์ เป็นต้น เพิ่มเติม
ยอดขาย ส.ค.ส.แบบนี้กำลังเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ สวนทางกับ ส.ค.ส.แบบปกติ นอกจากนี้ ปากกาสี ตราประทับแบบมีลวดลายการ์ตูนน่ารัก หมึกสี ฯลฯ ที่เป็นอุปกรณ์การทำ ส.ค.ส.ปีใหม่ ยอดขายก็ลดฮวบลงเช่นกัน
นอกจากมีคนเขียนแจ้งให้ทราบล่วงหน้าว่าจะไม่ส่ง ส.ค.ส.แล้ว มีคนอีกไม่น้อยที่เลือกจะไม่ทำอะไรเลย เงียบหายไปเฉยๆ ในช่วงปีใหม่นี้ แต่ก็มีบางคนบอกว่าจะส่งอีเมลหรือไลน์สวัสดีปีใหม่แทนดีกว่า เพราะคิดว่าการเลิกเขียน ส.ค.ส. ถึงกันช่วยประหยัดทั้งเวลา เงิน และลดความเครียด
ช่วงเวลาที่คนญี่ปุ่นแต่ละคนจะจรดปากกาเขียนถ้อยคำอวยพรและส่งความปรารถนาดีต่อกันต้อนรับปีใหม่ จึงถูกแทนที่ด้วยเทคโนโลยีการสื่อสารที่รวดเร็วในปัจจุบัน และสภาพเศรษฐกิจ
น่าเสียดาย… ส.ค.ส.ญี่ปุ่นขอลาก่อน…
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022