‘หนู’ ไม่ร่วม ผูกกระพรวน แมวเขียว

จะมีประเทศไหนพูดคุยกันเรื่องวิกฤตการเมืองเกาหลีใต้เมื่อสัปดาห์ก่อน ต่อเนื่องกว้างขวาง ได้มากเท่าไทย

ด้วยบริบทที่ประเทศเราเพิ่งหลุดออกจากการมีนายกฯ จากรัฐประหารสู่การมีนายกฯ พลเรือนครั้งแรกในรอบเกือบทศวรรษ

แต่กระนั้น ระบอบรัฐประหารได้ทิ้งมรดกสำคัญคือรัฐธรรมนูญไว้ จนเป็นต้นตอแห่งวิกฤตการเมืองจนถึงวันนี้ก็เป็นปีที่ 7 โดยยังไม่มีวี่แวว จะแก้ไขได้

วิกฤตที่เกาหลีใต้จึงชวนให้คิดเปรียบเทียบ สังคมไทยเราจะสร้างกลไกป้องกันการรัฐประหาร ป้องกันทหารฉวยโอกาสชิงอำนาจรัฐบาลพลเรือนได้อย่างไร

 

ระหว่างกำลังถกเถียงกันถึงบทเรียนอัยการศึกเกาหลีใต้ จู่ๆ สำนักเลขาธิการสภาผู้แทนของไทยได้เผยแพร่การรับฟังความเห็นตาม รธน. มาตรา 77 เรื่องร่าง พ.ร.บ.จัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม ที่เสนอโดยนายประยุทธ์ ศิริพานิชย์ ส.ส.พรรคเพื่อไทย

ที่เล่นเอาฮือฮา เพราะร่างกฎหมายนี้มีข้อเสนอสำคัญหลายข้อ ไม่ว่าจะเป็นการแก้ไขให้ โผทหารที่ผ่าน 7 เสือกลาโหมต้องเข้าสู่ ครม., การแก้ไขสัดส่วนบอร์ดกลาโหม ให้นายกฯ เป็นประธาน, การให้อำนาจทหารทุกระดับสามารถปฏิเสธคำสั่งผู้บังคับบัญชาที่สั่งการให้ยึดอำนาจได้โดยไม่มีความผิด, การให้อำนาจรัฐบาลสั่งนายทหารยุติปฏิบัติหน้าที่ไว้รอการสอบสวนได้ หากพบมีการเคลื่อนไหวรัฐประหาร เป็นต้น

อ่านเผินๆ หากมองในกรอบประชาธิปไตย หรือเปรียบเทียบกับโครงสร้างกองทัพในประเทศประชาธิปไตยปกติ ก็ดูไม่มีอะไร ประเทศอื่นเขาก็เป็นแบบนี้ เพื่อป้องกันทหารไม่ให้เข้ามายุ่งเกี่ยวกับ “การบริหารราชการแผ่นดิน”

แต่ที่ไม่ปกติคือ เพราะที่นี่คือประเทศไทย เรามีบริบทการเมืองแบบไทยๆ

 

ระหว่างที่หลายคนกำลังฝันหวาน อยากให้รูปแบบความสัมพันธ์พลเรือน-ทหาร เดินตามเกาหลีใต้ คนกำลังถกเถียงหาเครื่องมือป้องกันทหารไม่ให้เข้ามายุ่งเกี่ยวการเมือง พลันต้องถูกปลุกให้ตื่น

ร่างกฎหมายของนายประยุทธ์ ส.ส.พรรคเพื่อไทย ถูกสกัดทันทีด้วย “แม่ทัพสีน้ำเงิน” อนุทิน ชาญวีรกูล

เสี่ยหนูในฐานะรองนายกฯ และ รมว.มหาดไทย และเป็นแกนนำพรรคร่วมรัฐบาลเบอร์ 2 ส่งเสียงดังๆ ภูมิใจไทยไม่เอาด้วย

ให้เหตุผล ถ้าทหารจะปฏิวัติจริงกฎหมายไหนก็เอาไม่อยู่ จึงต้องแก้ที่ตัวนักการเมือง ต้องไม่โกง ไม่เปิดช่องให้ทหารเข้ามายึดอำนาจ การเดินหน้าแก้ไขกฎหมายทหาร ยิ่งเป็นเสมือนการเมืองเข้าไปแทรกแซงกองทัพ ซึ่งเป็นเรื่องไม่สมควร เพราะกองทัพไทยมีความพิเศษ ต้องมีระบบบริหารจัดการเฉพาะที่การเมืองไม่ควรเข้าไปยุ่ง

ตามมาด้วย “พรรค DNA ลุงตู่” ที่ส่งโฆษกออกมาแถลงในนามมติพรรครวมไทยสร้างชาติ ในฐานะพรรคร่วมรัฐบาลขอยืนยันจุดยืนไม่เอาด้วยกับร่างกฎหมายฉบับนี้ เพราะสะท้อนการเมืองเข้าไปแทรกแซงการทหาร

ปิดท้ายด้วยฝ่ายแค้นอย่าง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ แห่งพลังประชารัฐ ที่ส่งโฆษกออกมาแถลงข่าวดุเดือด ประกาศ “ขอคัดค้านการเคลื่อนไหวนี้อย่างถึงที่สุด” พร้อมชี้ว่ารัฐบาลเพื่อไทยจงใจทำให้กองทัพอ่อนแอ หวังใช้กองทัพเพื่อผลประโยชน์ทางการเมือง

 

กลายเป็นการรวมพลังกันของ พรรคภูมิใจไทย พลังประชารัฐ และรวมไทยสร้างชาติ คัดค้านการเดินเกมของเพื่อไทยในการแก้ไขปัญหาการเมือง

ทำให้ท้ายที่สุดเพื่อไทยต้องส่งสัญญาณ “ถอย” นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯ และ รมว.กลาโหม ออกมาเปิดเผยวันต่อมาว่า ร่าง พ.ร.บ.กลาโหมหวังสกัดปฏิวัติ เป็นแค่ข้อเสนอส่วนบุคคล ไม่ใช่จุดยืนของพรรคเพื่อไทย

ตอกย้ำด้วย น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกฯ ที่ออกมาประกาศจุดยืนของรัฐบาลเพื่อไทย จะไม่แทรกแซงการทำงานกองทัพ เพราะการทำงานกับกองทัพตอนนี้ราบรื่นไปด้วยดี

ปิดท้ายด้วย นายประยุทธ์ ศิริพานิชย์ ผู้ยื่นเสนอ ออกมาประกาศขอถอนร่าง พ.ร.บ.กลาโหมสกัดรัฐประหาร-สืบทอดอำนาจกองทัพออก โดยอ้างว่าไม่ได้กลัวความขัดแย้งกับกองทัพ แต่เพราะสังคมไม่เอาด้วย

แม้ว่าเพื่อไทยจะประกาศถอยแล้ว แต่ก็เกิดควันหลง การวิพากษวิจารณ์จุดยืนของพรรคเพื่อไทย ลุกลามต่อเนื่องจนเป็นวิวาทะตลอดสัปดาห์ในโซเชียลมีเดีย

 

จะเห็นว่ารอบนี้ “จุดเปลี่ยนสำคัญ” เกิดขึ้นจากการออกมาประกาศจุดยืนของ “หนู” อนุทิน

เพราะเสียงของแกนนำเพื่อไทยต่อร่างกฎหมายของนายประยุทธ์นั้น ไม่ปรากฏเสียงค้านนับตั้งแต่มีข่าวเสนอร่างฯ แต่พอนายอนุทินประกาศจุดยืน แกนนำเพื่อไทยจึงขยับ

เป็นการขยับถอยหลังที่สะท้อนว่า “กองทัพเพื่อไทย” มีความระมัดระวังต่อการเคลื่อนของ “ทัพสีน้ำเงิน” ระดับสูง

นัยยะหนึ่งก็สะท้อนว่า “ภูมิใจไทย” ในฐานะพรรคร่วมรัฐบาลมีอำนาจต่อรองสูง ต่อ “พรรคเพื่อไทย”

ไม่ต้องแปลกใจกับโพสต์ที่เป็นไวรัลที่คนแห่แชร์ของนักเขียนดังหนุ่มเมืองจันท์ต่อปรากฏการณ์นี้ที่ว่า

“การเมืองไทยวันนี้ คนที่มีอำนาจสูงสุดชื่ออนุทิน… ถ้า ‘หนู’ ไม่เอา ‘ราชสีห์’ ต้องหยุด”

ด้วยจุดยืนของรัฐบาลเพื่อไทยวันนี้ที่เน้นการไม่แตะ “ของร้อน” โดยเฉพาะประเด็นการเมือง ในแง่หนึ่งจึงกลายเป็นจุดอ่อน ให้ “กองทัพสีน้ำเงิน” เดินเกมรุก

 

ย้อนดู การ “ถอยหลังยินยอม” ของพรรคเพื่อไทยต่อ “กองทัพสีน้ำเงิน” มิใช่เพิ่งเกิดขึ้นครั้งแรก แต่เกิดมาแล้วหลายครั้งนับตั้งแต่ร่วมรัฐบาลกัน

ไม่ว่าจะเป็นการหักจุดยืนทางการเมืองต่อพรรคเพื่อไทย เช่น กรณีกฎหมายประชามติ การเดินหน้าแก้และยกร่างรัฐธรรมนูญประเด็น ส.ส.ร. หรือประเด็นจริยธรรมนักการเมือง การแตะเบรกนโยบายสังคมพรรคเพื่อไทย เช่น นโยบายกัญชา กาสิโน

นี่คือตัวอย่างความ “เขี้ยวลากดิน” ของกองทัพสีน้ำเงินในรอบปี โดยมีกรณีร่างกฎหมายกลาโหม เป็นเรื่องล่าสุด

ในประเด็นเกี่ยวกับกองทัพ เพื่อไทยก็ไม่ได้เพิ่งถอยเป็นครั้งแรก แต่ส่งสัญญาณถอยมาตั้งแต่คราวนายสุทิน คลังแสง เป็นรัฐมนตรีกลาโหม

ถ้ายังจำกันได้กับการประกาศไม่ขอเรียกการปฏิรูปกองทัพ แต่ขอเรียกการพัฒนาร่วมกัน หรือกรณีตอบโต้กับพรรคก้าวไกลในอดีตเรื่องยกเลิกเกณฑ์ทหาร

ไม่นับกรณี “การดอง” ไปจนกระทั่ง “ปัดตก” กฎหมายปฏิรูปกองทัพฉบับพรรคก้าวไกลหรือพรรคประชาชน หลายครั้งในรอบปีที่ผ่านมา

นั่นเป็นหลักการเมืองแห่งการ “ถอย” ด้วยยุทธศาสตร์ “ยังไม่จำเป็นต้องแตะของร้อน” ที่เพื่อไทยยึดถือ

 

เพื่อไทยวันนี้ยังไม่พร้อมเปิดสงครามหลายด้าน เนื่องจากยังมีวาระทางการเมืองสำคัญของตัวเองต้องทำอยู่ ถ้าไม่จำเป็นก็ไม่อยากเฉียดเข้า “เรดโซน”

ต้อง “ถอยในประเด็นการเมือง เพื่อไม่ให้เกิดปัญหา เพื่อรักษาเกมรุกนโยบายทางเศรษฐกิจ” นั่นคือจุดยืนของเพื่อไทย

ขณะที่ภูมิใจไทยได้เปรียบ ไม่จำเป็นต้องมาปะทะทางการเมืองกับ “กองทัพส้ม” ไม่จำเป็นต้องเดินเกมเพื่อรักษา “แนวรุก” แบบเพื่อไทย เป็นการเดิน “เกมรุกทางการเมือง” จากเพื่อไทย เพื่อชิงการเป็น “หัวขบวนฝ่ายอนุรักษนิยมในระบบการเมือง”

ซึ่งสำเร็จแล้วหลายมิติ

 

สถานการณ์การเมืองตอนนี้จึงพาให้นึกถึงนิทานอีสปเรื่อง “แมวผูกกระพรวน”

บรรดาหนูรู้อยู่แล้วว่าต้องผูกกระพรวนแมวสีเขียว เวลาแมวมาใกล้ๆ จะได้ยินเสียง แต่ปัญหาคือใครจะไปผูกที่คอแมว

วันนี้ “เสี่ยหนู” เป็นหัวขบวนออกมาบอก ขออยู่นิ่งๆ อย่าเพิ่งเอากระพรวนไปผูกคอแมวเลย

พูดอย่างตรงไปตรงมา ก็น่าเสียดาย ที่ต้องถอยร่างกฎหมายกลาโหมฉบับเพื่อไทย

เพราะหากไปอ่านให้ละเอียด มีหลายเรื่องน่าเอามาพูดคุยถกเถียง กระทั่งนำมาเป็นกฎหมายจริงๆ

ไม่ว่าจะเป็นเรื่องโผทหารผ่านโผ ครม. / เรื่องการให้อำนาจทหารทุกระดับปฏิเสธคำสั่งยึดอำนาจรัฐบาล / การให้นายกฯ เป็นประธานบอร์ดกลาโหมเพิ่มการถ่วงดุล เหล่านี้ล้วนเป็นเรื่องที่ดี และเป็นปกติมากในกฎหมายของประเทศประชาธิปไตย เป็นเรื่องดีต่อกองทัพด้วยซ้ำ เพราะเป็นการขีดเส้นความสัมพันธ์ของทหารกับรัฐบาลพลเรือนให้ชัด

แต่ก็นั่นแหละ คำถามคือ ใครจะเป็นคนเอากระพรวนไปผูกคอแมว?

วันนี้หันไปทางไหน ก็ไม่เห็นใครอาสาเป็น “หนู” แล้ว