ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 13 - 19 ธันวาคม 2567 |
---|---|
คอลัมน์ | ในประเทศ |
เผยแพร่ |
แม้ว่าการเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด หรือนายก อบจ. จะเป็นแค่เพียงการเลือกตั้งสนามท้องถิ่น แต่ทว่า กลับได้รับความสนใจไม่น้อยไปกว่าสนามเลือกตั้งระดับประเทศ
เห็นได้ชัดจากผลการแข่งขันเลือกตั้งนายก อบจ. ซึ่งจัดเลือกทดแทนคนเก่าที่ลาออกไปก่อนครบวาระ ในแต่ละจังหวัดที่ผ่านมานั้น แต่ละพรรค แต่ละกลุ่มการเมือง โดยเฉพาะพรรคเพื่อไทย (พท.) และพรรคประชาชน (ปชน.) ต่างคัดสรรผู้สมัคร เพื่อลงชิงชัยเก้าอี้นายก อบจ.กันเกือบทุกจังหวัด
โดยเดือนธันวาคม เหลือสนามเลือกตั้งนายก อบจ.ที่ต้องจัดเลือกตั้งกรณีลาออกก่อนครบวาระอีก 4 จังหวัด คือ ตาก เพชรบูรณ์ อุตรดิตถ์ และอุบลราชธานี ส่วนนายก อบจ.ในจังหวัดที่เหลือจะต้องไปเลือกตั้งพร้อมกันกับการเลือกสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด (ส.อบจ.) ทั่วประเทศในวันเสาร์ที่ 1 กุมภาพันธ์ 2568 ซึ่งเป็นกรณีครบวาระการดำรงตำแหน่งวันที่ 19 ธันวาคม 2567
สำหรับ 4 จังหวัดที่ต้องจัดเลือกตั้งนายก อบจ. แน่นอนว่าไฮไลต์ย่อมหนีไม่พ้นจังหวัดพื้นที่ภาคอีสาน ซึ่งถูกจับตามองว่าสมรภูมิการแข่งขันจะเข้มข้น ดุเดือด ไม่แพ้สนามเลือกตั้งใหญ่
นั่นคือ การเลือกตั้งนายก อบจ.อุบลราชธานี ที่จะเปิดให้ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งเข้าคูหาไปลงคะแนนในวันอาทิตย์ที่ 22 ธันวาคม 2567
สนามนี้มีผู้สมัครลงชิงชัยด้วยกันจำนวน 4 คน ประกอบด้วย
หมายเลข 1 นายกานต์ กัลป์ตินันท์ แชมป์เก่า น้องชายของนายเกรียง กัลป์ตินันท์ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ลงสมัครสังกัดพรรคเพื่อไทย (พท.)
หมายเลข 2 นายสิทธิพล เลาหะวนิช อดีตรองนายก อบจ.อุบลราชธานี จากพรรคประชาชน (ปชน.)
ขณะที่หมายเลข 3 นางจิตรวรรณ หวังศุภกิจโกศล หรือมาดามกบ และอดีต ส.ส.นครราชสีมา ผู้สมัครในนามอิสระ
และหมายเลข 4 นายอธิปไตย ศุ้ย ศรีมงคล ผู้สมัครในนามอิสระ
ต้องยอมรับว่า หากไล่เรียงดูประวัติ ประสบการณ์ทำงานของผู้สมัครทั้งหมดแล้ว สปอตไลต์น่าจะพุ่งเป้าโฟกัส 2 ผู้สมัคร คือ นายกานต์ กัลป์ตินันท์ แชมป์เก่าหลายสมัย ที่อาสาลงสมัครเพื่อรักษาเก้าอี้นายก อบจ.อีกครั้ง
และ “มาดามกบ” นางจิตรวรรณ หวังศุภกิจโกศล ภรรยาของนายสมศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล อดีต ส.ว. น้องชาย “กำนันป้อ” นายวีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล แกนนำโคราช พรรคเพื่อไทย
โดยทั้งสองคนถูกจับตาว่าเป็นคู่แข่งขันที่น่าจะขับเคี่ยวต่อสู้กันอย่างสูสี มีโอกาสแพ้ชนะกันมากที่สุด
เป็นศึกบ้านใหญ่ 2 ตระกูล ระหว่างกัลป์ตินันท์ และหวังศุภกิจโกศล ซึ่งต่างถูกมองว่ามีความใกล้ชิดกับพรรคเพื่อไทย และนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี
โดยการเลือกตั้งครั้งนี้ นายกานต์ กัลป์ตินันท์ แชมป์เก่า ชูนโยบาย 4 ปีซ่อม 4 ปีสร้าง และ คนอุบล พัฒนาคนอุบล เพื่อสานต่อนโยบายการบริหารงานสมัยที่ผ่านมา โดยมั่นใจว่าจากประสบการณ์การเป็นนายก อบจ.อุบลราชธานีหลายสมัย รู้ปัญหาประชาชนชาวอุบลราชธานีเป็นอย่างดี ถ้าได้กลับเข้ามา จะประสานงานต่อ ก่องานใหม่ สร้างให้ชาวอุบลราชธานีมีคุณภาพชีวิตที่ดีในทุกๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นโครงสร้างพื้นฐาน ด้านการศึกษา การสาธารณสุข การท่องเที่ยว การค้าการลงทุน
ขณะที่มาดามกบ นางจิตรวรรณ หวังศุภกิจโกศล ขอเป็นทางเลือกใหม่ของชาวอุบลราชธานี ชูนโยบายหาเสียง อุบลเมืองทันสมัย 3 D เศรษฐกิจดี สุขภาพดี การศึกษาดี
ยิ่งเข้าใกล้ช่วงโค้งสุดท้าย บรรยากาศการหาเสียงและการแข่งขันยิ่งเข้มข้นและดุเดือดมากยิ่งขึ้น ทุกพรรค ทุกกลุ่ม ต่างระดมสรรพกำลังเต็มที่เพื่อเรียกคะแนนเสียงและคว้าชัยชนะให้ได้
โดยพรรคประชาชน ที่ส่งนายสิทธิพล เลาหะวนิช ลงสมัครรับเลือกตั้ง แม้การเลือกตั้งครั้งนี้ บรรดากูรูจะฟันธงว่าอาจจะไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะได้รับชัยชนะ
แต่ทว่า พรรคประชาชนก็ไม่ท้อถอย ขนทัพแกนนำพรรค รวมทั้งนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ มาลงพื้นที่ช่วยหาเสียงกันเต็มที่ ปลุกพลังขั้วใหม่ ออกมาใช้สิทธิเพื่อหวังเป็นม้ามืดล้มขั้วบ้านใหญ่ ชูนโยบาย “5 ดี” เปลี่ยน อบจ.อุบลฯ สู่ยุคใหม่ ให้ทำงานดี ฉับไวโปร่งใส รับใช้ประชาชน ประกอบด้วย (1) สุขภาพดี (2) ปากท้องดี (3) โครงสร้างพื้นฐานดี (4) อนาคตดี และ (5) การเมืองดี อบจ.โปร่งใส
ขณะที่มาดามกบ นางจิตรวรรณ หวังศุภกิจโกศล ผู้สมัครในนามอิสระ ลงพื้นที่หาเสียงและเปิดเวทีปราศรัย ชูนโยบายต่างๆ เรียกคะแนนเสียงอย่างเต็มที่ รวมทั้งยังได้รับแรงสนับสนุนจาก ส.ส.ในพื้นที่บางส่วนอีกด้วย
ส่วนพรรคเพื่อไทย เมื่อวันที่ 11 ธันวาคมที่ผ่านมา ปรากฏว่า นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ได้ลงพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานีในรอบ 17 ปี เพื่อช่วยนายกานต์ กัลป์ตินันท์ หาเสียงเลือกตั้ง และพบปะแกนนำ ตามคำเชิญของนายเกรียง กัลป์ตินันท์
เดิมทีไม่มีกำหนดการขึ้นปราศรัยหาเสียง แต่ทว่า เพียงไม่กี่วันก่อนเดินทาง ได้รับการคอนเฟิร์มว่าอดีตนายกฯ ทักษิณจะขึ้นเวทีปราศรัยที่มหาวิทยาลัยอุบลราชธานีด้วย งานนี้จึงมีกลุ่มคนเสื้อแดงแห่ต้อนรับกันอย่างเนืองแน่น
ทั้งนี้ ช่วงหนึ่งของการปราศรัย นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ระบุว่า “ผมรู้สึกว่าหากวันนี้ไม่มาให้กำลังใจนายเกรียง ที่ได้ส่งน้องชายลงนายก อบจ. ก็แสดงว่าผมใช้ไม่ได้ ผมต้องมาให้กำลังใจและหวังว่าพี่น้องชาวอุบลฯ ที่ยังรักและไม่เคยลืมผมจะช่วยกันให้กำลังใจนายเกรียงด้วย ผมมาอุบลฯ เพราะทิ้งนายเกรียงไม่ได้ เพราะเกรียงก็ไม่เคยทิ้งผม จ.อุบลราชธานีเราเคยได้ ส.ส. มาเกือบทั้งหมด มีเพียงไม่กี่เขตจะพลาดไป จึงอยากจะขอพี่น้องชาวอุบลฯ เลือกนายกานต์ มาเป็นนายก อบจ. ขั้นตอนต่อไปก็เอา ส.ส.คืนให้กับพรรค พท. และพรรค พท.จะได้เอานโยบายมาชุบชีวิตชาวอุบลราชธานี”
แน่นอนว่า การที่อดีตนายกฯ ทักษิณประกาศสนับสนุนช่วยนายกานต์ กัลป์ตินันท์ หาเสียงเลือกตั้งนั้น ย่อมช่วยเพิ่มความมั่นใจที่จะคว้าชัยชนะ
เพราะหากย้อนกลับไปเมื่อตอนที่อดีตนายกฯ ทักษิณลงพื้นที่ช่วยหาเสียงเลือกตั้งนายก อบจ.อุดรธานี ซึ่งเปรียบเสมือนเมืองหลวงคนเสื้อแดง และเป็นพื้นที่ฐานคะแนนเสียงสำคัญของพรรคเพื่อไทย ก็ได้รับชัยชนะ
ฉะนั้น จึงต้องรอลุ้นว่า แรงสนับสนุนของอดีตนายกฯ ในการลงพื้นที่ครั้งนี้ จะช่วยผลักดันให้ตระกูลกัลป์ตินันท์ สมหวังคว้าชัยชนะ รักษาเก้าอี้ไว้ได้อีกครั้งหรือไม่
สมรภูมิการเลือกตั้งนายก อบจ.อุบลราชธานีครั้งนี้ เรียกได้ว่า เป็นศึก “ช้างชนช้าง” ต่อสู้วัดขุมพลังของ 2 บ้านใหญ่ ใครจะคว้าชัยชนะได้ หลังปิดหีบเลือกตั้งวันที่ 22 ธันวาคม คงได้รู้กัน
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022