มุมมองที่หลาย ‘มุม’ จากคนเพื่อไทย-นักวิชาการ หลัง ‘สนธิ’ ยื่นยกเลิก MOU 44

สร้างแรงกดดันให้กับรัฐบาลได้ไม่มากก็น้อย กับกรณีนายสนธิ ลิ้มทองกุล และนายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ อดีตแกนนำม็อบพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) นำมวลชนเข้ายื่นหนังสือถึงนายกฯ อิ๊งค์ แพทองธาร ชินวัตร ที่ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2567

ทั้งนี้ เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลยกเลิกบันทึกความเข้าใจว่าด้วยพื้นที่ที่ไทยและกัมพูชาอ้างสิทธิเส้นไหล่ทวีปราชอาณาจักรไทยกับกัมพูชา หรือเอ็มโอยู 2544 ซึ่งนายสนธิเรียกเอกสารนี้ว่า “เอ็มโอยูขายชาติ”

รวมทั้งให้ยกเลิกแถลงการณ์ร่วมระหว่างอดีตนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร กับ ฮุน เซน นายกฯ กัมพูชา หรือ เจซี 2544 เพราะมิชอบด้วยรัฐธรรมนูญ

โดยมีนายสมคิด เชื้อคง รองเลขาธิการนายกฯ ฝ่ายการเมือง เป็นตัวแทนรับหนังสือ

 

สําหรับ 6 ข้อเรียกร้องที่นายสนธิยื่นคำขาดให้นายกฯ อิ๊งค์ ปฏิบัติตามข้อเสนอภายใน 30 วันนับตั้งแต่ที่ได้รับหนังสือ มีดังนี้

1. ขอให้นายกฯ และคณะรัฐมนตรีรักษาไว้ซึ่งเอกราชและอธิปไตยของไทย และแสวงหาทรัพยากรธรรมชาติในทะเลด้านอ่าวไทย เขตต่อเนื่องรอบเกาะกูด รวมทั้งเขตไหล่ทวีป ซึ่งเป็นหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญของรัฐบาล

2. ขอให้นายกฯ เสนอเรื่องต่อคณะรัฐมนตรีพิจารณามีมติให้ส่งเอ็มโอยู 2544 และเจซี 2544 ต่อศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อวินิจฉัยว่าขัดหรือแย้งต่อบทบัญญัติมาตราหนึ่งและมาตรา 224 ของรัฐธรรมนูญไทยหรือไม่

3. หากศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยว่าเอ็มโอยู 2544 และเจซี 2544 ขัดหรือแย้งต่อบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญให้ยกเลิกการเจรจาตามเอ็มโอยู 2544 และเจซี 2544 เพื่อปฏิเสธเส้นเขตไหล่ทวีปของกัมพูชาทันที

4. แต่หากศาลวินิจฉัยแล้วว่าไม่ขัดหรือแย้งต่อบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ ขอให้ ครม.จัดให้มีการเจรจากับกัมพูชา เพื่อยกเลิกเอ็มโอยู 2544 และเจซี 2544 ทันที โดยให้เจรจากันใหม่ภายใต้การกำหนดขอบเขตเฉพาะพื้นที่พัฒนาร่วมบนพื้นฐานโดยใช้หลักการของเส้นมัธยะ

5. ระงับการแต่งตั้งคณะกรรมการร่วมทางเทคนิค หรือเจทีซี ไว้ก่อน จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยและมีการดำเนินการให้ถูกต้อง

และ 6. ให้จัดเวทีสาธารณะแก่ประชาชนเรื่องเอ็มโอยู 2544 และเจซี 2544 โดยให้ความรู้ความเข้าใจที่เป็นกลาง เพื่อให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมในการตัดสินใจในเรื่องสำคัญของประเทศ

ทั้งนี้ ขอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาและแจ้งผลการพิจารณากลับภายใน 15 วัน นับตั้งแต่วันที่ ครม.ได้พิจารณา

 

“ผมอายุมากแล้ว นี่คือประวัติศาสตร์ซ้ำรอย ทำอะไรงวดนี้ ต้องทำด้วยความระวัง สู้ครั้งนี้ ถ้าจะสู้ในที่สุดแล้ว ต้องชนะลูกเดียว พวกแกนนำเก่าๆ พากันพูดว่าไม่มีมวลชนแล้ว วันนี้ผมไม่ได้ปลุกระดมพ่อแม่พี่น้อง แต่ว่ามากันด้วยใจ ถ้าถึงเวลาที่จะต้องลงถนนก็จะมามากกว่านี้เป็นพันเท่าหมื่นเท่า”

“บางคนพูดถึงเรื่องเก่าว่าผมเป็นสารตั้งต้นความวุ่นวาย ประเทศไม่เดินหน้าต่อไปเพราะการประท้วงของผม ผมก็จะถามกลับไปว่าที่ประท้วงในปี 2548 ผมประท้วงใคร ประท้วงเรื่องอะไร”

“พ่อแม่พี่น้องใจเย็นๆ ไม่ต้องรีบร้อน เราจะทำเป็นขั้นเป็นตอนไป ทำจนกระทั่งสุดขั้นตอน สุดซอยแล้วยังไม่รู้เรื่อง ก็จะทะลุซอยไปเลย ผมและพวกผมในประเทศไทย ทำผิดตรงไหนที่เรารักชาติ ทำผิดตรงไหนที่เราไม่ยอมส่งต่อดินแดนที่เป็นของเรา สิทธิอาณาเขตที่เป็นของเราให้กับกัมพูชา”

“เพียงเพราะผู้นำกัมพูชา และนายกฯ ทับซ้อนบางคนมีข้อตกลงกันว่าจะแบ่งผลประโยชน์กัน 50:50 เราผิดตรงไหน” อดีตแกนนำม็อบ พธม. วัย 77 ปีกล่าว

 

ซึ่งแน่นอนว่าข้อเรียกร้องของนายสนธิในครั้งนี้ ตามมาด้วยเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากฝ่ายที่สนับสนุนพรรคเพื่อไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะขณะนี้รัฐบาลกำลังผลักดันนโยบายสำคัญ เพื่อช่วยเหลือพี่น้องคนไทยให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น และเพิ่งจะแถลงผลงาน 90 วัน “2568 โอกาสไทย ทำได้จริง” ไปสดๆ ร้อนๆ อีกด้วย

ดังนั้น ผู้คนอีกจำนวนหนึ่งจึงไม่อยากเห็นภาพความวุ่นวาย และไม่ต้องการให้บ้านเมืองเสียหายยับเยินเหมือนเช่นในอดีตที่ผ่านมา จากเหตุการณ์ปลุกม็อบลงถนนขับไล่รัฐบาล โดยมีวาระซ่อนเร้นแอบแฝง หวังให้ทหารเข้ามาทำรัฐประหารอีกครั้ง ซ้ำรอยประวัติศาสตร์บาดแผลในปี 2549 และ 2557

สอดคล้องกับมุมมองของนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯ และ รมว.กลาโหม ที่ออกมาเตือนนายสนธิว่าการนำมวลชนลงถนนจะยิ่งทำให้ประเทศชาติเสียหาย กระทบไปถึงภาคเศรษฐกิจที่กำลังฟื้นตัว และความเชื่อมั่นจากต่างประเทศ

แต่ถึงกระนั้นนายกฯ อิ๊งค์ ยินดีรับฟังความคิดเห็นที่แตกต่าง เพราะบางคนเห็นมุมที่ต่างกัน เปรียบเสมือนปี๊บหนึ่งใบเห็นได้หลายด้าน ซึ่งแต่ละด้านก็แตกต่างกัน จึงมองได้หลายมุม และการที่เห็นเพียงด้านเดียวของปี๊บ จึงไม่ใช่การเห็นปี๊บทั้งใบ

“ผมไม่หมิ่นประมาทการจัดม็อบ ผมถือเป็นสิทธิของประชาชนภายใต้กฎหมายรัฐธรรมนูญ ขออย่างเดียวคือทำให้มันเหมาะสมแล้วกัน ตั้งแต่เข้ามาก็เจอม็อบตลอด นายกฯ ทำงานยังไม่ครบ 100 วันเลย ก็มากันเยอะแล้ว ท่านอาจจะอึดอัดอะไรอยู่ ก็เสนอมา ก็จะรับฟัง ขออย่างเดียวพูดให้ตรงกับข้อเท็จจริง” นายภูมิธรรมระบุ

เช่นเดียวกับ นายนพดล ปัทมะ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย และอดีต รมว.ต่างประเทศ ที่ออกมายืนยันว่าไม่มีรัฐบาลไหนไร้จิตสำนึกทำประเทศชาติเสียดินแดน และย้ำว่าอย่าใช้ความเท็จมาปลุกปั่น หวั่นซ้ำรอยปราสาทเขาพระวิหาร

 

ขณะที่ รศ.ดร.พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ หรือนิด้า ให้สัมภาษณ์ในรายการ The Politics ข่าวบ้าน การเมือง

โดย รศ.ดร.พิชาย เชื่อว่าการที่นายสนธิชูประเด็นเรื่องเอ็มโอยู 2544 เพียงอย่างเดียว อาจจะเป็นข้อจำกัดในการปลุกระดมมวลชนออกมาขับไล่รัฐบาลแพทองธาร

“การแสดงออกของคุณสนธิสร้างความกังวลใจให้กับรัฐบาลไม่น้อยเลยทีเดียว คุณสนธิมุ่งเป้าไปที่การยกเลิกเอ็มโอยู 2544 ถ้ารัฐบาลดำเนินการยกเลิกตามข้อเรียกร้อง มันก็จะไม่มีประเด็นอะไรที่จะมาเป็นเชื้อชนวนในการลงถนนอีกต่อไป”

“แต่ถ้ารัฐบาลเดินหน้าตั้งคณะกรรมการร่วมเพื่อไปเจรจากับกัมพูชา และยังคงใช้เอ็มโอยู 2544 ก็จะเป็นประเด็นที่ทำให้คนลงถนนออกมาคัดค้านรัฐบาลได้ เรื่องนี้เป็นประเด็นสำคัญ เพราะเกี่ยวกับความรักชาติ ดังนั้น ก็อาจจะมีคนจำนวนหนึ่งที่พร้อมให้การสนับสนุนคุณสนธิ”

“เนื่องจากมันมีประเด็นหลักเพียงประเด็นเดียว เพราะฉะนั้น การสนับสนุนหรืออะไรต่างๆ มันก็จะมีขอบเขตจำกัดอยู่ระดับหนึ่ง มันอาจจะมีความแตกต่างจากในอดีตมากพอสมควร เช่น ตอนที่เดินขบวนขับไล่คุณทักษิณ ก็จะนำด้วยประเด็นการทุจริตเป็นหลัก”

“แต่ถ้าเริ่มจากประเด็นเอ็มโอยู 2544 เพียงประเด็นเดียว โดยที่ไม่มีประเด็นอื่นเลย มันก็อาจจะมีขอบเขตจำกัดแค่นี้ การขยายแนวร่วมก็จะยาก”

 

นอกจากนี้ รศ.ดร.พิชาย ประเมินสถานการณ์ม็อบสนธิในอนาคตข้างหน้าด้วยว่า อาจจะมีคนเข้าร่วมชุมนุมบนถนนน้อยกว่าเมื่อปี 2548-2549 เพราะยุคนั้นจุดชนวนด้วยเรื่องการทุจริตในประเด็นขายหุ้นไทยคมให้เทมาเส็ก ซึ่งสร้างความไม่พอใจให้คนจำนวนมากที่รู้สึกอึดอัดคับข้องใจกับทักษิณ จึงทำให้ฝ่ายแรงงาน กลุ่มเอ็นจีโอ ประชาชน และนักวิชาการต่างๆ ให้การสนับสนุนเข้าร่วมชุมนุม

สมัยนั้น ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกฯ แต่สถานการณ์ปัจจุบันมันแตกต่างออกไป และมีความซับซ้อนเพิ่มขึ้นมาอีกระดับหนึ่ง เพราะตอนนี้ทักษิณอยู่เบื้องหลัง แต่แพทองธาร ชินวัตร ออกหน้า ซึ่งนอกจากเรื่องเอ็มโอยู 2544 ที่มีความชัดเจนมากๆ แล้ว แต่เรื่องอื่นยังไม่ค่อยชัดเจนเท่าไหร่

ทั้งนี้ ต้องจับตามองว่าอดีตนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จะเดินทางกลับประเทศไทยภายใต้เงื่อนไขอะไร ซึ่งประเด็นนี้ก็น่ากังวลสำหรับรัฐบาล เพราะการกลับมาของทักษิณได้สร้างความคับข้องใจให้กับคนจำนวนหนึ่งมากพอสมควรอยู่แล้ว

ที่สำคัญ ถ้ายิ่งลักษณ์กลับมาแบบเดียวกับพี่ชาย ก็อาจจะเป็นการซ้ำเติมความรู้สึกของผู้คนขึ้นมาอีกครั้ง และความเข้มข้นของความไม่พอใจก็อาจจะมีมากขึ้นก็ได้ สำหรับคนที่ไม่เห็นด้วยกับรัฐบาลพรรคเพื่อไทยและทักษิณ

“ผมคิดว่าประชาชนได้รับบทเรียนจากการชุมนุมมากพอสมควร แม้คนจำนวนมากไม่ชอบคุณทักษิณก็จริง ไม่ชอบคุณแพทองธารก็จริง”

“แต่ก็ไม่อยากให้สถานการณ์มันเลยเถิดไป จนถึงขั้นไปเข้าเท้าบรรดาพวกนักรัฐประหารที่คอยจ้องอยู่ ต้องระมัดระวังในส่วนนั้นมากพอสมควร” รศ.ดร.พิชายกล่าวทิ้งท้าย