ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 13 - 19 ธันวาคม 2567 |
---|---|
คอลัมน์ | Technical Time-Out |
เผยแพร่ |
แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ตกอยู่ภายใต้การเปลี่ยนแปลงอีกครั้ง หลังจากที่ก่อนหน้านี้มีการเปลี่ยนแปลงผู้บริหารฟุตบอล ต่อด้วยการปรับโครงสร้างต่างๆ และเปลี่ยนกุนซือจาก อีริก เทน ฮาก มาเป็น รูเบน อโมริม
ล่าสุด แดน แอชเวิร์ธ ผู้อำนวยการสโมสรที่เพิ่งเข้ามาทำงานได้ 5 เดือน ได้ตกลงยุติสัญญาและแยกทางกันไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านี้สโมสรปีศาจแดงรอคอยให้แอชเวิร์ธแยกทางกับนิวคาสเซิล ยูไนเต็ด มาเกือบครึ่งปี แต่มาทำงานร่วมกันได้เพียงระยะสั้นมากๆ
เมื่อมีเรื่องแบบนี้เกิดขึ้น ก็ย่อมต้องคิดไปถึงปัญหาภายในของทีมบริหารที่มี เซอร์จิม แรตคลิฟฟ์ หนึ่งในเจ้าของสโมสรคุมงานอยู่ เมื่อผลงานไม่ได้เป็นอย่างที่หวัง ก็ต้องมีคนที่รับผิดชอบ
แมนฯ ยูในยุคอโมริมแพ้ในพรีเมียร์ลีก 2 เกมติดต่อกัน แพ้อาร์เซนอล 0-2 และแพ้ฟอเรสต์ 2-3 ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านั้นก็ไม่ได้มีสัญญาณว่ามีความขุ่นข้องใจกันในทีมบริหารสโมสร
คนใกล้ชิดกับเรื่องนี้บอกเล่าเบื้องลึกเบื้องหลังกับทาง “ดิ แอธเลติก” สื่อความน่าเชื่อถือสูง ว่า แอชเวิร์ธพยายามอย่างมากที่จะพิสูจน์คุณค่าของตัวเองในการมาทำหน้าที่ตรงนี้ ซึ่งในช่วงที่กำลังหาโค้ชคนใหม่มาทำงานแทนเทน ฮาก ในลิสต์ของแอชเวิร์ธ มีชื่อของ เอ็ดดี้ ฮาว ผู้จัดการทีมนิวคาสเซิล, มาร์โก้ ซิลวา เฮดโค้ชของฟูแล่ม, โธมัส แฟรงก์ กุนซือเบรนท์ฟอร์ด รวมทั้ง เกรแฮม พ็อตเตอร์ อดีตผู้จัดการทีมไบรท์ตันและเชลซี ที่ยังว่างงานอยู่
อย่างไรก็ตาม เซอร์จิมต้องการเฮดโค้ชคนใหม่ที่ดีกว่าตัวเลือกเหล่านี้ เพราะต้องมาแบกรับหน้าที่คุมทีมฟุตบอลที่ใหญ่ที่สุดในโลกทีมหนึ่ง
ชื่อที่แอชเวิร์ธลิสต์มายังไม่ใช่คำตอบที่เซอร์จิมต้องการ
อีกเรื่องที่แอชเวิร์ธสอบตกในสายตาของทีมบริหาร คือ การเลือกให้โอกาสเทน ฮาก ทำทีมต่อในช่วงต้นฤดูกาลนี้ ทั้งๆ ที่มีกระแสข่าวออกมาว่าจะมีการปลดเขาออกจากตำแหน่งหลังจบฤดูกาลที่แล้ว แต่สโมสรกลับเลือกให้กุนซือชาวดัตช์อยู่ และใช้ออปชั่นขยายสัญญาออกไปอีก 1 ปี รวมทั้งให้งบประมาณในการเสริมทีมอย่างที่เทน ฮาก ต้องการ
เหมือนกับว่าการจากไปของเทน ฮาก เป็นชนวนเหตุที่ทำให้ต้องมีคนรับผิดชอบผลงานที่ได้ลงมือทำไปก่อนหน้านี้ ไม่ใช่แค่ตัวโค้ชและสตาฟฟ์เท่านั้น ผู้อำนวยการสโมสรก็โดนเพ่งเล็งไปด้วย
คนใกล้ชิดกับสโมสรยังบอกอีกว่า การตั้งอโมริมมาเป็นเฮดโค้ชคนใหม่นั้น แอชเวิร์ธมีส่วนในเรื่องนี้น้อยมาก แต่เป็น โอมาร์ เบร์ราด้า ซีอีโอของสโมสรที่เดินหน้าเป็นหลัก
โดยเบร์ราด้าได้เดินทางไปกรุงลิสบอน ประเทศโปรตุเกสทันที หลังจากประกาศปลดเทน ฮาก เพื่อไปเจรจากับ เฟรเดริโก้ วารานดาส ประธานสโมสรสปอร์ติ้ง ลิสบอน แบบต่อหน้า ในการเอาตัวอโมริมที่คุมสปอร์ติ้ง ลิสบอน ไปทำงานที่แมนเชสเตอร์
แต่ก็มีเหตุผลที่มาหักล้างว่า ตอนนั้นแมนฯ ยูให้ รุด ฟาน นิสเตลรอย มาเป็นผู้จัดการทีมชั่วคราว ดังนั้น จึงให้แอชเวิร์ธอยู่ที่แคร์ริงตัน เพื่อช่วยในด้านต่างๆ ที่กุนซือขัดตาทัพต้องการ และเบร์ราด้าก็รู้จักคนที่สปอร์ติ้งดีกว่าแอชเวิร์ธด้วย จึงต้องแบ่งงานกันทำ
อีกเหตุหนึ่งคือ การที่แรตคลิฟฟ์ต้องการลดจำนวนพนักงานในสโมสรลงนับตั้งแต่ช่วงแรกที่เขามาทำงาน แต่แอชเวิร์ธกลับไม่ต้องการให้พนักงานในส่วนของเขาโดนให้ออก
นี่ก็เป็นสิ่งที่ทำให้แรตคลิฟฟ์ไม่แฮปปี้เช่นกัน ที่สำคัญก่อนหน้านี้แรตคลิฟฟ์เคยชมแอชเวิร์ธผ่านสื่อไว้มากมาย ยกให้เป็นผู้อำนวยการที่ดีที่สุดคนหนึ่งของโลก เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมาเท่านั้น แต่ไม่นานก็แยกย้ายกันไปแล้ว
เหมือนกับว่าเซอร์จิม แรตคลิฟฟ์ ในวัย 73 ปี ที่เป็นแฟนพันธุ์แท้ของแมนฯ ยูมาแต่ไหนแต่ไร ต้องการเร่งให้ทีมกลับมาน่าเกรงขามเหมือนยุคที่เซอร์อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน คุมทีมอยู่ ให้เร็วที่สุด
เมื่อบางอย่างไม่ได้อย่างที่คิด ก็ต้องรีบทำ รีบสะสาง เพื่อจะได้เดินหน้ากันต่อตามแนวทางที่วางไว้ คือ การกลับมาเป็นแชมป์พรีเมียร์ลีก อังกฤษ ให้ได้อีกครั้งในปี 2028
ในภาพรวมของทีมอาจจะไม่ได้รับผลกระทบเยอะนัก เพราะการซ้อมและลงสนาม เป็นหน้าที่ของอโมริมกับทีมสตาฟฟ์ โดยมีเจสัน วิลค็อกซ์ ผู้อำนวยการเทคนิคดูแลในภาพกว้างอีกต่อหนึ่ง
แต่สำหรับสภาพจิตใจของคนทำงานหรือนักเตะหลังจากนี้ ก็คงมีอกสั่นขวัญแขวนกันบ้าง
เพราะถ้าผลงานยังไม่ดีขึ้น ก็อาจจะมีคนตกงานหรือต้องย้ายออกไปอีกพอสมควร ยิ่งใกล้ถึงตลาดนักเตะหน้าหนาวแล้ว
การแยกทางกับแอชเวิร์ธ เหมือนกับว่าแรตคลิฟฟ์กำลังเชือดไก่ให้ลิงดู แต่ออกจะเชือดเร็วและหนักหน่วงเกินไป •
Technical Time-Out | จริงตนาการ