จับตาซีเกมส์ 2568 ของไทย ‘แพทองธาร-สรวงศ์’ นำลุย พลิกโฉมมาตรฐานแข่งขัน

ประเทศไทยเริ่มเดินหน้าวางแผนการเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬาซีเกมส์ ครั้งที่ 33 และกีฬาอาเซียนพาราเกมส์ ครั้งที่ 13 อย่างเป็นทางการไปแล้ว

ภายใต้รัฐบาลพรรคเพื่อไทย ต้องชื่นชมว่า ให้ความสำคัญกับงานใหญ่ในปี 2568 ของวงการกีฬาเมืองไทย ซีเกมส์ ครั้งที่ 33 กำหนดแข่งขันกันระหว่างวันที่ 9-20 ธันวาคม 2568 ที่กรุงเทพมหานคร จ.ชลบุรี และ จ.สงขลา

ส่วนกีฬาอาเซียนพาราเกมส์ ครั้งที่ 13 กำหนดระหว่างวันที่ 20-26 มกราคม 2569 ที่ จ.นครราชสีมา

นี่เป็นการเป็นเจ้าภาพกีฬาซีเกมส์ หนที่ 7 ของประเทศไทย นับตั้งแต่กีฬาแหลมทองเริ่มแข่งขันครั้งแรกเมื่อปี ค.ศ.1959 และถูกคาดหมายเรื่องมาตรฐานการเป็นเจ้าภาพไว้ค่อนข้างสูง ซึ่งในระยะหลังประเทศอย่างสิงคโปร์ และมาเลเซีย สร้างมาตรฐานการเป็นเจ้าภาพซีเกมส์ไว้เทียบเท่ามหกรรมกีฬาระดับทวีปอย่างเอเชี่ยนเกมส์ไปแล้ว

ดังนั้น ไทยในฐานะพี่ใหญ่ด้านกีฬาในภูมิภาคอาเซียนก็ต้องพิสูจน์ศักดิ์ศรี พิสูจน์ความสามารถทุกองคาพยพ คนกีฬาเมืองไทยที่ต้องร่วมแรงร่วมใจกันเตรียมงานเป็นเจ้าภาพของประเทศไทยให้ออกมาสมบูรณ์แบบอย่างที่สุด

 

น่าชื่นชมรัฐบาลไทยที่นำโดยหัวเรือใหญ่อย่าง น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ที่โดยตำแหน่งต้องนั่งประธานคณะกรรมการอำนวยการจัดการแข่งขัน เรียกประชุมคณะกรรมการอำนวยการครั้งแรกไปแล้ว พร้อมกับอนุมัติงบประมาณที่จะใช้รองรับการเป็นเจ้าภาพทั้งซีเกมส์ ครั้งที่ 33 และอาเซียนพาราเกมส์ ครั้งที่ 13 รวมกันอยู่ที่ 2,055,000,000 บาท

ที่น่าชื่นชมอีกคนที่กระตือรือร้นและมีไอเดียที่ดีในการเริ่มทำงานอย่างเป็นรูปธรรมคือ สรวงศ์ เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ในฐานะประธานคณะกรรมการจัดการแข่งขัน ที่ลงมือทำงานทันทีที่มารับตำแหน่ง

น.ส.แพทองธาร ประกาศกลางที่ประชุมคณะกรรมการอำนวยการว่า การเป็นเจ้าภาพกีฬาซีเกมส์ ครั้งที่ 33 และกีฬาอาเซียนพาราเกมส์ ครั้งที่ 13 ถือเป็นความภาคภูมิใจของคนไทยทั้งประเทศ ซึ่งทั้ง 2 รายการมีความสำคัญอย่างยิ่ง การเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬาไม่ใช่เป็นงานของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา แต่เกี่ยวข้องกับหลายกระทรวง เกี่ยวข้องกับทุกภาคส่วน

ไม่ว่าจะเป็นด้านสุขภาพ ของกระทรวงสาธารณสุข รวมถึงด้านการท่องเที่ยว ล้วนแล้วแต่ส่งผลต่อการเสริมสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับประเทศไทย

สิ่งสำคัญการกีฬาเป็นการสร้างมิตรภาพและสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างประเทศ ถือเป็นซอฟต์เพาเวอร์อีกอย่างของประเทศไทย

ในส่วนของรัฐบาลพร้อมสนับสนุนการจัดการแข่งขันในทุกมิติอย่างเต็มที่ให้สำเร็จตามเป้าหมาย สร้างความประทับใจกับนักกีฬา และผู้เข้าร่วมการแข่งขัน ซึ่งจะสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจในทุกมิติให้กับประเทศได้ด้วย

โครงสร้างคณะกรรมการแข่งขันกีฬาซีเกมส์ครั้งที่ 33 พ.ศ.2568 และกีฬาอาเซียนพาราเกมส์ ครั้งที่ 13 พ.ศ.2568 ที่ตั้งขึ้น

1. คณะกรรมการสำนักงานเลขานุการและประสานงานระหว่างประเทศ แต่งตั้งผู้ว่าการการกีฬาแห่งประเทศไทย เป็นประธาน

2. คณะกรรมการบริหารการจัดการแข่งขัน แต่งตั้งรองผู้ว่าการการกีฬาแห่งประเทศไทย ฝ่ายบริหาร เป็นประธาน

3. คณะกรรมการฝ่ายสนับสนุนและบริการ แต่งตั้งที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เป็นประธาน

และ 4. คณะกรรมการฝ่ายเทคนิค แต่งตั้งรองผู้ว่าการการกีฬาแห่งประเทศไทย ฝ่ายกีฬาเป็นเลิศและวิทยาศาสตร์การกีฬา เป็นประธาน

 

มาถึงตรงนี้ดูเหมือนว่า บ้านอัมพวัน อีกหนึ่งเสาหลักของวงการกีฬาเมืองไทยดูจะยังไม่มีบทบาทมากนัก

สมัยก่อนบ้านอัมพวันโดยเลขาธิการคณะกรรมการโอลิมปิคฯ จะรับผิดชอบ “สำนักเลขาธิการ” ในคณะกรรมการจัดการแข่งขัน

และภายใต้สำนักเลขาธิการจะมีคณะกรรมการฝ่าย และคณะกรรมการสาขา ที่ขับเคลื่อนงาน

แต่เนื่องด้วยเดือนมีนาคม 2568 จะเกิดการเปลี่ยนแปลงในบ้านอัมพวันจากการประชุมใหญ่

และกว่าจะได้ตัวประธานคนใหม่ กว่าจะได้เลขาธิการคนใหม่ คงกินเวลาไปพอสมควร

ตรงจุดนี้เป็นเรื่องที่ต้องระวังในการเตรียมงานการเป็นเจ้าภาพของประเทศไทย

ซีเกมส์ ครั้งที่ 33 จัดขึ้นภายใต้คำขวัญ “Ever Forward” (ก้าวไปข้างหน้าไม่หยุดยั้ง) จะมีการจัดแข่งขันทั้งสิ้น 50 ชนิดกีฬา รวม 569 รายการแข่งขัน และกีฬาสาธิต 3 ชนิด ส่วนกีฬาอาเซียนพาราเกมส์ ครั้งที่ 13 ภายใต้คำขวัญ “Create Pride Together” (สร้างความภูมิใจไปด้วยกัน) จะมีการแข่งขันทั้งหมด 20 ชนิดกีฬา

มาดูกันที่ชนิดกีฬาที่ประเทศไทยจะจัดแข่งขัน ซีเกมส์ ครั้งที่ 33 โดยกลุ่มกีฬาหลัก คือ กรีฑา และว่ายน้ำ (ว่ายน้ำ, กระโดดน้ำ, โปโลน้ำ, ระบำใต้น้ำ, ว่ายน้ำมาราธอน)

กลุ่ม 2 โอลิมปิก-เอเชี่ยนเกมส์ สปอร์ต ประกอบด้วย กีฬาจากโอลิมปิก ยิงธนู, แบดมินตัน, บาสเกตบอล (5 x 5, 3 x 3), เรือพาย, เรือแคนู, จักรยาน, ฟันดาบ, ฟุตบอล (ชาย, หญิง), กอล์ฟ, ยิมนาสติก, แฮนด์บอล, ฮอกกี้, ฮอกกี้น้ำแข็ง, ยูโด, ยิงปืน, เทเบิลเทนนิส, เทควันโด, เทนนิส, ไตรกีฬา, วอลเลย์บอล, มวยปล้ำ, สเก๊ตน้ำแข็ง, ปัญจกีฬาสมัยใหม่, เบสบอล (ชาย) – ซอฟท์บอล (หญิง), มวยสากลสมัครเล่น, ขี่ม้า-ขี่ม้าโปโล, รักบี้ 7 คน, เรือใบ

ส่วนชนิดกีฬาจากเอเชี่ยนเกมส์ (รวมถึงกีฬาในเอเชี่ยน อินดอร์เกมส์-เอเชี่ยน มาร์เชียล อาร์ตเกมส์) ฟุตซอล, มวย (มวยไทย), ปันจักสีลัต, เปตอง, เซปักตะกร้อ, บิลเลียดและสนุ้กเกอร์, อีสปอร์ต

กลุ่มที่ 3 (บรรจุได้สูงสุด 4 กีฬา-ไม่เกิน 8 เหรียญทอง) ได้แก่ ฟลอร์บอล, คิกบ๊อกซิ่ง, เทคบอล, เน็ตบอล ขณะที่กีฬาที่จัดแสดงในการแข่งขันจะมีชักเย่อ และจานร่อน

 

“บิ๊กบอย” สรวงศ์ เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา นำประเทศไทยจัดงาน Kick Off กีฬาซีเกมส์ ครั้งที่ 33 และกีฬาอาเซียนพาราเกมส์ ครั้งที่ 13 ไปเมื่อเร็วๆ นี้

พร้อมกับประกาศการเป็นเจ้าภาพครั้งนี้ถือเป็นนโยบายของรัฐบาล และกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ที่จะมุ่งเน้นความยั่งยืน ภายใต้แนวคิด “Green SEA Games” และ “Sustainable Paralympics” ซึ่งเป็นแนวคิดรักษาสิ่งแวดล้อมในฐานะการเป็นเจ้าภาพครั้งนี้ นำไปสู่การส่งเสริมการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า ทั้งในด้านการใช้พลังงานสะอาด การลดขยะพลาสติก และการสร้างความตระหนักรู้ในเรื่องสิ่งแวดล้อมแก่ผู้เข้าร่วมทุกภาคส่วน

นำไปสู่การส่งเสริมและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในเมือง รวมถึงสนามกีฬา ระบบการขนส่ง และสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ซึ่งสามารถใช้ประโยชน์ได้ในระยะยาว และช่วยเสริมสร้างเมืองที่ยั่งยืน ทั้งยังเป็นโอกาสสำคัญที่จะได้แสดงศักยภาพของประเทศในด้านกีฬา การท่องเที่ยว และความพร้อมในระดับนานาชาติ ควบคู่กับการสร้างแรงบันดาลใจและส่งเสริมสุขภาพผ่านการเล่นกีฬาในทุกระดับของสังคม

นี่เป็นการออกสตาร์ตที่ดีของประเทศไทยในการเตรียมตัวเป็นเจ้าภาพล่วงหน้า 1 ปี หลังจากนี้คนทำงานจะได้รู้ว่า “ใคร” จะรับผิดชอบงานส่วนไหนอย่างไร หากเดินไปตามแผนงาน ติดตามงานอย่างใกล้ชิด

ไม่น่ายากเกินฝีมือคนไทยที่จะจารึกว่าเป็นซีเกมส์ที่ดีที่สุดอีกครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์… •

 

เขย่าสนาม | เงาปีศาจ