จดหมาย

จดหมาย | ประจำวันที่ 13-19 ธันวาคม 2567 

 

• ของขวัญ (1)

อุทกภัยไม่เว้นภาค

ชีวิตลำบากตรากตรำทั่ว

วิตกกังวลแลหวาดกลัว

มืดมน หมองมัว อนธการ

ทุกข์แห่งใดห่วงใยแห่งนั้น

ร่วมด้วยช่วยกันสู้ฟันฝ่า

ใต้ฟ้าเดียวกัน…ใต้ดวงชะตา

ส่งใจเมตตา ขจัดปัดเป่า

จากเหนือจรดใต้ – หลายภาคส่วน

ร่วมขบวนช่วยเหลือเกื้อหนุน

สายธารแห่งใจนพคุณ

อบอุ่นบารมีบำเพ็ญเพียร…

ส่งท้ายปีเก่า – มังกรทอง

เราทั้งผองร่วมกุศลใหญ่

ส่งแรงพลังทุกกาย – ใจ

ให้พี่น้องภาคใต้พ้นภัย

ให้ปวงชนชาวไทยพ้นทุกข์…

สงกรานต์ บ้านป่าอักษร

 

ของขวัญหนึ่งที่เชื่อว่าคนไทย

ตั้งแต่เหนือจรดใต้

ต้องการในปี 2568

และไม่ว่าปีใดๆ ในอนาคต

นั่นคือ การรอดพ้นจากภัยและทุกข์ทั้งปวง

โดยเฉพาะภัยจากธรรมชาติ

ที่นับวันจะรุนแรง และคาดการณ์ลำบาก

ของขวัญนี้ คนไทยจะได้หรือไม่

ไม่มีใครตอบได้

ดังนั้น ที่พอจะ “เตรียม” ได้บ้าง

เตรียมตัว เตรียมพร้อม ที่จะรับภัยพิยัติต่างๆ ที่จะเกิดขึ้น

เพื่อให้เกิดผลกระทบน้อยที่สุด

• ของขวัญ (2)

สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต

สำรวจความคิดเห็นประชาชนทั่วประเทศ เรื่อง “คนไทยกับของขวัญปีใหม่จากรัฐบาล”

กลุ่มตัวอย่าง จำนวน 1,246 คน (สำรวจทางออนไลน์และภาคสนาม) ระหว่างวันที่ 3-6 ธันวาคม 2567

พบว่า กลุ่มตัวอย่างมีแผนเดินทางท่องเที่ยวในช่วงเทศกาลปีใหม่ ร้อยละ 56.02

โดยเป็นแผนเที่ยวในประเทศ ร้อยละ 90.26 ต่างประเทศ ร้อยละ 9.74

จังหวัดที่อยากไปเที่ยวมากที่สุด คือ เชียงใหม่ ร้อยละ 56.83

รองลงมาคือ เชียงราย ร้อยละ 49.05

โดยคาดการณ์ว่าจะใช้จ่ายในช่วงปีใหม่ เฉลี่ยประมาณ 17,317.10 บาท/ต่อคน

จากที่รัฐบาลประกาศจะมอบของขวัญปีใหม่ให้กับประชาชน ของขวัญที่อยากได้มากที่สุด คือ มาตรการแจกเงินกระตุ้นเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวช่วงปีใหม่ ร้อยละ 59.95

รองลงมาคือ ช่วยสนับสนุนค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าพลังงานต่างๆ ร้อยละ 58.03

ทั้งนี้ แนวคิดในการ “มอบของขวัญให้ประชาชนช่วงปีใหม่จากรัฐบาล” มองว่าควรเป็นหน้าที่ที่จะต้องดำเนินงานของรัฐบาลอยู่แล้ว ร้อยละ 60.76

สุดท้ายปัญหาเร่งด่วน ที่ประชาชนอยากให้รัฐบาลแก้ไขก่อนปีใหม่ คือ ปัญหาค่าครองชีพ ร้อยละ 66.48

น.ส.พรพรรณ บัวทอง ประธานสวนดุสิตโพล ระบุว่า จากผลสำรวจชี้ให้เห็นว่าของขวัญปีใหม่ที่ประชาชนคาดหวังจากรัฐบาล คือ มาตรการแจกเงิน สะท้อนภาระค่าครองชีพที่เป็นปัญหาหลักในปัจจุบัน

ความต้องการของประชาชนไม่ได้เป็นเพียง “ความหวัง” แต่เป็น “สัญญาณ” ที่สะท้อนถึงปัญหาโครงสร้างทางเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตในประเทศ

รัฐบาลจึงควรใช้โอกาสช่วงปีใหม่พัฒนานโยบายเศรษฐกิจที่มีผลยั่งยืน

เพื่อไม่ให้ “ของขวัญ” กลายเป็นเรื่องพิเศษแต่กลับสะท้อนปัญหาพื้นฐานในสังคม

ด้าน ผู้ช่วยศาสตราจารย์อัญชลี รัตนะ อาจารย์ประจำหลักสูตรรัฐศาสตร์ โรงเรียนกฎหมายและการเมือง มหาวิทยาลัยสวนดุสิต อธิบายว่า ในภาวะที่เศรษฐกิจกำลังตกต่ำทั่วโลก

ประเทศไทยก็อยู่ในสถานการณ์ไม่ต่างกัน

โดยเฉพาะช่วงครึ่งหลัง ปี 2567 บริษัทเอกชนหลายแห่งพยายามยื้อธุรกิจด้วยการปรับลดขนาดองค์กรและพนักงาน

บางรายไปต่อไม่ไหวถึงขั้นปิดตัวลง ผลกระทบขยายวงกว้าง รวมถึงครอบครัวของพนักงาน

ส่งผลให้บรรยากาศการจับจ่ายใช้สอยช่วงปลายปีของประชาชน ไม่คึกคักอย่างที่คาดการณ์ไว้

สอดคล้องกับผลสำรวจเรื่องแผนเดินทางท่องเที่ยวในช่วงปีใหม่ของประชาชน ที่พบเพียงร้อยละ 56.02

โดยอันดับ 1 สิ่งที่ประชาชนต้องการ คือมาตรการแจกเงินกระตุ้นเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวช่วงปีใหม่

อันดับ 2 ปัญหายาเสพติด 57.51%

อันดับ 3 ปัญหาน้ำท่วม/ภัยแล้ง 56.46%

นอกจากนี้ คือการช่วยเหลือค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าพลังงานต่างๆ ซึ่งเป็นสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน ทั้งนี้เป็นเพราะต้นทุนค่าครองชีพสูง แต่เสถียรภาพและความมั่นคงทางรายได้ต่ำ

ทั้งนี้ มองว่าของขวัญปีใหม่จากรัฐบาลควรเป็นหน้าที่ที่จะต้องดำเนินงานของรัฐบาล

ในแง่ที่จะทำให้ประชาชน “มีกิน มีใช้ มีเกียรติ มีศักดิ์ศรี”

สวนดุสิตโพล

 

ผลการสำรวจ “ของขวัญ” ที่ประชาชนต้องการ

ไม่เหนือความคาดหมาย

นั่นคือ วนเวียนอยู่ในประเด็นที่เราคุ้นชิน

ไม่ว่าปัญหาเศรษฐกิจ ยาเสพติด และภัยจากธรรมชาติ

ซึ่งก็ยังไม่รู้ว่า “ของขวัญ” เหล่านี้

จะแปรเปลี่ยนไปสู่ความจริงได้เพียงใด และเมื่อใด

แต่กระนั้น อย่าสิ้นหวัง หรือเลิกฝัน

เพราะด้านหนึ่ง การที่ “ของขวัญ” ยังมาไม่ถึงสักที

ทำให้เราในฐานะประชาชนตาดำๆ

ต้องกัดฟันสู้กันต่อไป

สู้ แม้ไม่รู้ว่าผลตอบแทนที่ดีจะตอบแทนกลับมาเมื่อใด

แต่ยังดีกว่างอมืองอเท้า

สู้กันต่อไป คนไทยทั้งหลาย!! •