ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 13 - 19 ธันวาคม 2567 |
---|---|
คอลัมน์ | ขอแสดงความนับถือ |
เผยแพร่ |
ขอแสดงความนับถือ
รับรู้และเป็นที่ยอมรับกันทั่วโลก
ว่า เกาหลีใต้ ประสบความสำเร็จอย่างสูงยิ่ง
กับนโยบายส่งเสริม-สนับสนุนวัฒนธรรมของตนเอง
ทั้งในด้านภาพยนตร์ ดนตรี และวรรณกรรม
จนเกิดการสร้างสรรค์วัฒนธรรม “เกาหลี”
ดนตรี K-POP เปล่งประกายไปทั่วโลก
นอกจากจะนำชื่อเสียงมาสู่ประเทศแล้ว
ยังทำให้เกิด “สินค้า” วัฒนธรรมที่ถูกขนานนามว่าเป็น “อำนาจอ่อน” หรือ “ซอฟต์เพาเวอร์”
สร้างมูลค่าเศรษฐกิจมหาศาลให้กับเกาหลีใต้
รัฐบาลทั่วโลก รวมถึงรัฐบาลไทย ตื่นตัวและอยากเอาอย่างเกาหลีใต้
โดยทุ่มเททรัพย์สร้าง “ซอฟต์เพาเวอร์” กันยกใหญ่
นอกจาก “ซอฟต์เพาเวอร์” ที่เกาหลีใต้จุดความสนใจของทั่วโลกแล้ว
ตอนนี้ “ฮาร์ตเพาเวอร์” ของเกาหลีใต้ ก็กำลังกลายเป็นสิ่งที่ทั่วโลกสนใจ
และกำลังจุดประกายและแรงบันดาลใจให้กับฝ่ายที่กำลังแสวงหาประชาธิปไตยอย่างสูง
สูง หลังจาก นายยุน ซอกยอล ประธานาธิบดีเกาหลีใต้ ประกาศบังคับใช้กฎอัยการศึกเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 1979 หรือกว่า 40 ปีมาแล้วเมื่อกลางดึกวันที่ 3 ธันวาคมที่ผ่านมา
โดยอ้างว่าเพื่อปกป้องเกาหลีใต้จากภัยคุกคามจากเกาหลีเหนือ
และกล่าวหาพรรคฝ่ายค้านเป็นกองกำลังต่อต้านชาติซึ่งฝักใฝ่เกาหลีเหนือ
ที่มีเจตนาโค่นล้มระบอบการปกครองของประเทศ
แต่จริงๆ กฎอัยการศึกดังกล่าว นายยุนใช้เพื่อปกป้องเสถียรภาพทางการเมืองของตนเองมากกว่า
จึงทำให้เกิดกระแสต่อต้านอย่างรุนแรงจากประชาชน และสภาเกาหลีใต้
ส.ส.ทั้งฝ่ายค้านและรัฐบาล ผนึกกำลังโหวตญัตติล้มกฎอัยการศึกอย่างเป็นเอกฉันท์
จนมีการยกเลิกกฎอัยการศึกหลังถูกประกาศใช้เพียง 3-4 ชั่วโมง
ถือเป็นชัยชนะของการปกป้องประชาธิปไตย
และนายยุน ซอกยอล ประธานาธิบดีเกาหลีใต้ กำลังเผชิญแรงกดดันที่จะถูกถอดถอน หรือกดดันให้ลาออก
“ฮาร์ตเพาเวอร์” เพื่อปกป้องประชาธิปไตยของ ส.ส.และประชาชนเกาหลีใต้นี้
ได้รับการยกย่อง และถูกคาดหมายว่าจะเป็น “ต้นแบบ” อีกต้นแบบหนึ่งให้กับประเทศที่กำลังล้มลุกคลุกคลานกับการเป็นประชาธิปไตย
แน่นอน รวมถึงไทยด้วย
ซึ่งกำลังมีการพูดกันว่า เราจะออกแบบอย่างไร เพื่อป้องกันการรัฐประหารไม่ให้เกิดขึ้น
หรือเกิดขึ้นแล้ว จะไม่เป็นที่ยอมรับ
และมีกลไกลที่จะล้มล้างปฏิบัติการอันไม่เป็นประชาธิปไตยนั้นอย่างไร
แน่นอน ไม่ง่าย
และคงต้องผ่านการแลกเปลี่ยน ผลักดัน ต่อสู้กันอีกยาวนาน
ตัวอย่างสดๆ ร้อนๆ
เมื่อวันที่ 6 ธันวาคมที่ผ่านมา
สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรได้เปิดรับฟังความเห็นร่าง พ.ร.บ.จัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม (ฉบับที่…) พ.ศ….
ที่นายประยุทธ์ ศิริพาณิชย์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย และคณะ เป็นผู้เสนอ
โดยเปิดรับฟังความเห็นตั้งแต่วันที่ 2 ธันวาคม ถึงวันที่ 1 มกราคม 2568
ปรากฏว่า เสียงเห็นด้วยน้อยกว่าไม่เห็นด้วย
ชี้ว่าการผลักดันกฎหมายนี้จะประสบความสำเร็จได้ไม่ง่าย
ยิ่งไปกระทบกับ “กองทัพ” ซึ่งมีบทบาทในการรัฐประหารของไทยมาโดยตลอด เช่น
ห้ามมิให้ใช้กำลังทหารหรือข้าราชการทหารเพื่อกระทำการดังต่อไปนี้
1) เพื่อยึดหรือควบคุมอำนาจการบริหารราชการแผ่นดินจากรัฐบาล หรือเพื่อก่อการกบฏ
2) เพื่อขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่ราชการของส่วนราชการต่างๆ
3) เพื่อธุรกิจหรือกิจการอันเป็นประโยชน์ส่วนตัวของผู้บังคับบัญชา
4) เพื่อกระทำการอันมิชอบด้วยกฎหมายประการอื่น
ข้าราชการทหารผู้ใดได้รับคำสั่งให้กระทำการตามวรรรคหนึ่ง ย่อมมีสิทธิ์ที่จะไม่ปฏิบัติตามคำสั่งนั้นได้
โดยมิให้ถือว่าเป็นการกระทำผิดวินัยทหารหรือกฎหมายอาญาทหาร
ถือว่าแหลมคม
จึงไม่แปลกที่มีการ “ต้าน” สูง
จนนายประยุทธ์ต้อง “ถอย” ขอนำเอากฎหมายมาทบทวนใหม่
การออกกฎหมายเพื่อแขวนกระพรวนแมวสีเขียว ไม่ให้ทำรัฐประหาร จึงมีเส้นทางอีกยาวไกล
ไกลแม้ว่าจะมีแรงหนุนในเชิงสากล อย่างที่สะท้อนผ่านการ์ตูนของ “อรุณ วัชระสวัสดิ์”
ที่กล่าวถึง K-COUP-ซอฟต์พาวเวอร์ ใหม่ ของเกาหลีใต้ ได้อย่าง “คมกริบ”
อนึ่ง “อรุณ วัชระสวัสดิ์” ผู้นำเสนอการ์ตูนชิ้นนี้
คือ ผู้ที่ได้รับการประกาศให้รับ “รางวัลมติชนเกียรติยศ”
ทำไมถึงได้รับ รับเมื่อใด
โปรดพลิกอ่านเพื่อร่วมแสดงความยินดีที่หน้า 24-25 •
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022