HERE ‘ปริภูมิ/กาลเวลา’

นพมาส แววหงส์

Here ซึ่งเป็นฝีมือการกำกับฯ ของโรเบิร์ต เซเมคิส (Forrest Gump) สร้างมาจากนิยายภาพเมื่อ ค.ศ.2014 ของริชาร์ด แม็กไกวร์

ในฐานะนักเขียนการ์ตูน แม็กไกวร์ตั้งโจทย์ให้ตัวเองแก้ปัญหา ด้วยการกำหนดตำแหน่งแห่งที่ที่มองจากมุมมองแคบๆ ตำแหน่งเดียวบนโลก โดยไม่ขยับเขยื้อนเคลื่อนไหวไปที่อื่นเลย

ปัจจัยของความเปลี่ยนแปลง ณ จุดในปริภูมินี้คือ กาลเวลา

“กาลเวลา” นับเป็นปริศนาที่วิทยาศาสตร์ปัจจุบันยังหาคำตอบอย่างแจ่มแจ้งไม่ได้ว่ามีอยู่จริงหรือไม่มีอยู่จริง และอัจฉริยะอย่างไอน์สไตน์ก็เสนอทฤษฎีซึ่งพยายามอธิบายเรื่องสัมพัทธภาพของ ปริภูมิและเวลา

ซึ่งอาจเป็นมิติแห่งจักรวาลที่คนธรรมดาทั่วไปคิดตามอย่างไรก็คิดไม่ตก จนปวดเศียรเวียนเกล้าไปเปล่าๆ ปลี้ๆ ความคิดนั้นแผ่ขยายไปถึงขนาดที่ว่าจักรวาลนั้นไม่ใช่ “เอกภพ” แต่เป็น “พหุภพ” ซึ่งอาจซ้อนทับกันอยู่ ไม่ใช่ “ยูนิเวิร์ส” แต่เป็น “มัลติเวิร์ส”

พาให้นักเขียนสร้างจินตนาการบรรเจิดไปล่วงหน้าวิทยาการถึงขั้นที่ว่าวันหนึ่งเราจะหาทางหรือยานพาหนะเดินทางข้ามมิติไปมาได้เหมือนนักท่องเที่ยวข้ามกาลเวลาข้ามมิติ

โจทย์สำหรับนิยายภาพซึ่งกลายมาเป็นภาพยนตร์ Here นี้คือ กำหนดให้ปริภูมิคงที่ แต่กาลเวลาผันแปร

โจทย์ที่ตั้งก็อาจฟังดูคุ้นๆ เหมือนในงานเขียนสร้างสรรค์ คือ what if? จะเกิดอะไรขึ้นถ้า…เรามองจากสถานที่จุดเดียวผ่านกาลเวลาหลายยุคหลายสมัย เราจะเล่าเรื่องของตัวละครอย่างไร

จริงๆ ก็นับเป็นความพยายามที่แปลกใหม่และท้าทายอย่างมากในการนำเสนอเรื่องราว ไม่ว่าจะบนแผ่นกระดาษหรือบนจอภาพยนตร์

องค์ประกอบของฉากยังสามารถแปรเปลี่ยนไปได้เรื่อยๆ ตามยุคสมัย แต่จะเชื่อมเรื่องราวต่างยุคต่างกาลเวลาเข้าด้วยกันอย่างไร

ช่วงแรกของหนังก็จะยังคงชวนฉงนและทำให้คนดูสับสนอยู่บ้างเป็นธรรมดา เพราะหนังไม่ได้เดินเรื่องตามลำดับเวลาก่อนหลัง

ย้อนกลับไปในยุคดึกดำบรรพ์ ณ เวลาที่ไดโนเสาร์ยังเดินเพ่นพ่านส่งเสียงคำรามอยู่บนโลก จนถึงยุคน้ำแข็ง และผ่านไปสู่ยุคที่น้ำแข็งละลายไปหมด พื้นดินกลายสู่ความอุดมสมบูรณ์เขียวชอุ่มด้วยผืนป่า

ต่อมาก็มีคู่หนุ่มสาวชนเผ่าพื้นเมืองมาเกี้ยวพาราสีกัน ครองคู่อยู่ด้วยกันจนให้กำเนิดลูก ก่อนที่ผู้หญิงจะเป็นฝ่ายตายจากไปก่อน และมีพิธีฝังร่างลงในพื้นปฐพี

กาลเวลาผันผ่านไปจนถึงสมัยเมื่ออเมริกาเพิ่งจะเป็นประเทศใหม่ๆ ที่แห่งนี้เป็นสมบัติของลูกชายของเบนจามิน แฟรงกลิน หนึ่งในผู้วางรากฐานของประเทศ มีการสร้างคฤหาสน์ที่จะกลายเป็นภูมิทัศน์นอกหน้าต่างของบ้านที่จะเป็นจุดเกิดเหตุการณ์ในชีวิตของผู้คนที่เข้ามาเป็นเจ้าของต่อมาอีกหลายครอบครัวและหลายรุ่นอายุ

เมื่อสงครามโลกครั้งที่สองสิ้นสุดลง บ้านตกมาเป็นกรรมสิทธิ์ของครอบครัวยัง อัล (พอล เบตตานี ที่แต่งหน้าจนจำแทบไม่ได้) กับ โรส (เคลลี ไรลีย์) มีลูกหลายคน หนึ่งในนั้นคือ ริชาร์ด (ทอม แฮงส์ ซึ่งใช้คอมพิวเตอร์ช่วยลดทอนอายุจนกลับไปอยู่ในวัยรุ่น) ริชาร์ดพามาร์กาเร็ต (โรบิน ไรต์ ซึ่งลดทอนอายุไปเป็นเด็กสาวอีกเหมือนกัน) มาแนะนำให้พ่อแม่รู้จัก

แต่ยังไม่ทันเรียนจบ และไปเรียนต่อตามความฝันที่ตั้งไว้ในชีวิต มาร์กาเร็ตก็ตั้งท้องและต้องแต่งงานกับริชาร์ดซึ่งยังเรียนอยู่ จึงต้องอาศัยอยู่ในบ้านอันแออัดของพ่อแม่ไปก่อน

ริชาร์ดก็ต้องทิ้งพรสวรรค์ในการเขียนรูป เพื่อไปทำงานที่ได้รับเงินเดือนมาเลี้ยงครอบครัว

จนเมื่อลูกสาวโตขึ้นและจากอกพ่อแม่ไป และบ้านตกมาอยู่ในครอบครองของริชาร์ดในที่สุด แต่มาร์กาเร็ตก็ไม่เคยคิดว่าที่นี่เป็นบ้านที่เธออยากอยู่ และขอแยกทางจากสามีเพื่อไปใช้ชีวิตอย่างที่ตัวเองฝันใฝ่

หนังยังเล่าเรื่องราวของตัวละครอีกหลายคนที่เข้ามาเกี่ยวพันกับสถานที่แห่งนี้ สะท้อนให้เห็นกาลเวลาและยุคสมัยที่แปรเปลี่ยนไป รวมทั้งชีวิตที่มีขึ้นมีลงของตัวละคร

หนังตีตรายี่ห้อของโรเบิร์ต เซเมคิส โดยเฉพาะผลงานเรื่อง Forrest Gump ที่ยังคงตราตรึงในใจคนดู โดยใช้พระเอกนางเอกคู่เดิม คือทอม แฮงส์ และโรบิน ไรต์ ซึ่งมีชีวิตขึ้นๆ ลงๆ ลุ่มๆ ดอนๆ ผ่านกาลเวลาในประวัติศาสตร์ และตัวละครอีกหลายรุ่นอายุ

ด้วยความจำกัดของการใช้กล้องตั้งอยู่ในจุดเดียวเป็นเฟรมภาพแคบๆ เซเมคิสจึงต้องพยายามหาวิธีเลี่ยงความซ้ำซากน่าเบื่อด้วยใช้เทคนิคนำเสนอภาพ โดยการแบ่งจอเป็นส่วนๆ บางครั้งก็แบ่งเป็นเหมือนจิ๊กซอว์เสนอภาพกาลเวลาที่แตกต่างกัน หรือใช้เฟรมที่แยกออกไปเป็นการเชื่อมต่อของกาลเวลา

เพียงในตอนจบ เมื่อเรื่องทั้งหลายทั้งปวงขมวดจบแล้วเท่านั้น กล้องจึงได้เคลื่อนและหมุนไปแพนดูโดยรอบด้วยมุมมองที่ขยายออกให้เห็นบ้านทั้งหลัง

ทำให้นึกไปถึงตอนจบของ Forrest Gump ที่กล้องจับตามขนนกที่ลอยล่องไปในอากาศ…นี่คือแบรนด์เซเมคิสอีกอย่างละ

คำพูดที่เราได้ยินบ่อยๆ จากปากของริชาร์ด คือ “เวลามันบินไปได้จริงๆ เลยเนอะ” ซึ่งกลายมาเป็นประโยคโปรยในโปสเตอร์

“เวลา” นำมาซึ่งความเปลี่ยนแปลงแบบถอนรากถอนโคน แบบวิวัฒนาการ แบบวัฏฏะ

เมื่อมีการเกิด ก็มีการตาย มีการล้มหายตายจากไปจากโลก

บางสิ่งก็จางคลายและเลือนหายไป

บางสิ่งก็ถูกหลงลืมไม่มีใครใส่ใจ

บางสิ่งถูกผืนปฐพีฝังกลบไป

บางสิ่งยังโผล่กลับมาในฐานะโบราณวัตถุ เช่น การขุดเจอสร้อยคอของคนพื้นเมืองที่ถูกฝังร่างไว้เมื่อหลายร้อยปีก่อนหน้า

บางสิ่งก็ยังหลบเร้นอยู่ในความทรงจำที่ขาดหายไปพร้อมวัยที่ร่วงโรย

บางสิ่งก็เป็นความฝันใฝ่ที่ไม่เคยกลายเป็นจริง

บางสิ่งเป็นความกลัวที่จะใช้ชีวิตให้เต็มที่

บางสิ่งก็ประสบความสำเร็จเหนือคาด จนกลายเป็นมรดกที่ยืนยงสำหรับอนุชนรุ่นหลัง

ทั้งหลายทั้งปวงนั้นคือสิ่งที่เราเรียกว่า “การมีชีวิตอยู่บนโลก”

ผู้เขียนไปอ่านเจอและสะดุดใจเข้ากับถ้อยคำที่ริชาร์ด แม็กไกวร์ พูดถึงแรงบันดาลใจในการเขียนนิยายภาพเรื่องนี้ว่า

“ถ้าเราพิจารณาเรื่องนี้ให้ดี เราจะเห็น ‘ปัจจุบัน’ ปรากฏชัด

เราแทบไม่เคยใช้ชีวิตอยู่ ‘ในปัจจุบันขณะ’

เรามักใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการคิดถึงอดีต หรือวิตกกังวลถึงอนาคต

(ทั้งๆ ที่) ‘ปัจจุบัน’ เป็นสิ่งเดียวที่ปรากฏมีอยู่จริง”

นักปฏิบัติธรรมทำสมาธิภาวนาทั้งหลายต้องเคยได้ยินคำสอนจากครูบาอาจารย์ด้วยถ้อยคำเดียวกันนี้ไม่มีผิดเพี้ยนเลย

สิ่งง่ายๆ ซึ่งดูเหมือนธรรมดาสามัญที่สุดในชีวิต อาจเป็นธรรมที่ลึกซึ้งที่สุดก็ได้ •

HERE

กำกับการแสดง

Robert Zemeckis

นำแสดง

Tom Hanks

Robin Wright

Paul Bettany

Kelly Reiley

David Flynn

ภาพยนตร์ | นพมาส แววหงส์