ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 13 - 19 ธันวาคม 2567 |
---|---|
คอลัมน์ | ผี-พราหมณ์-พุทธ |
ผู้เขียน | คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง |
เผยแพร่ |
ผมได้ยินมาว่า ในธรรมเนียมพุทธศาสนาฝ่ายทิเบตนั้น เมื่อพระภิกษุหรือคุรุอาจารย์จะขึ้นสู่ธรรมาสน์เพื่อแสดงธรรม ก็จะก้มกราบเบญจางคประดิษฐ์เบื้องหน้าธรรมาสน์นั้นสามหน ท่านว่า นอกจากเป็นการแสดงความเคารพต่อพระรัตนตรัยแล้ว ยังเป็นการแสดงความเคารพเป็นพิเศษต่อ “ธรรม” ที่จะแสดง และเป็นการให้ผู้แสดงธรรมได้พิจารณาว่า ไม่ควรมีความอหังการในตนเอง เหตุว่าพระธรรมนั้นต่างหากคือสิ่งที่ช่วยคนทั้งหลายให้ได้บรรลุมรรคผล มิใช่ตัวของผู้แสดง
ทัศนคติเช่นนี้น่าสนใจครับ เพราะมุ่งให้ความสำคัญกับ “ธรรม” มากกว่า “ตัวบุคคล” อันน่าจะตรงกับคำสอนในพุทธศาสนา
การเทศน์หรือการแสดงธรรมของบ้านเรานั้นมีความเป็นพิธีกรรมเสียมากกว่าการแสดงธรรมในความหมายของมันไปมาก เช่น ในงานศพมักมีการเทศน์โดยถือว่า เมื่อมีการฟังธรรมแล้วก็จะมีอานิสงส์พิเศษแก่ผู้ตายมากกว่าปกติ หรือก็เป็นโอกาสได้ยกยอปอปั้นคนตาย
ทั้งนี้ การเทศน์ในโอกาสพิเศษต่างๆ ของเรานับแต่โบราณมา ส่วนมากมีธรรมเนียมให้พระท่าน “อ่าน” จากสมุดใบลานที่ถืออยู่ จนทุกวันนี้ก็ยังมีพิมพ์ขายสำหรับใช้เทศน์ตามวาระให้ได้ใช้โดยสะดวก
คนที่จะฟังเทศน์แบบนี้คือคนที่ชอบสำนวนสวยๆ โบราณๆ ดังอาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ เคยเล่าไว้ว่า ท่านชอบไปฟังเทศน์วัดพระแก้วก็ด้วยมีโอกาสจะได้ฟังสำนวนเก่าๆ แต่นอกนั้นแล้ว คนอื่นๆ ก็ไม่ได้ฟังกันเสียเท่าไหร่
ครั้นจะโทษคนฟังว่าไม่ใส่ใจฟังธรรมก็ได้ไม่เต็มปาก เพราะเนื้อหาในบทเทศน์เหล่านั้นก็ไม่ได้ชวนฟังเช่นกัน ซึ่งโดยมากก็เป็นเรื่องบาปบุญ เรื่องอานิสงส์อะไรแบบนั้น
ส่วนการเทศน์แบบไม่อ่านคัมภีร์ก็มักตีฝีปากเล่นสำนวนจนน่าเบื่อหน่าย
นอกจากจะเป็นพิธีกรรมแล้ว การเทศน์ยังเป็นพิธีกรรมกึ่งการแสดงเสียด้วย เช่น เทศน์แหล่ เทศน์ประชันกันสองธรรมาสน์ เทศน์มหาชาติ ฯลฯ โดยมีเนื้อหาจากชาดกหรือนิทานพื้นบ้าน ซึ่งก็คือธรรมเนียมการ “เล่าเรื่องศักดิ์สิทธิ์” ซึ่งมีในทุกวัฒนธรรมนั่นเอง
ผมชอบแบบหลังนี่แหละครับ ก็มันออกจะสนุกเสียปานนั้น แล้วชาวบ้านก็ชอบเสียด้วย ถึงคนจะติติงเรื่องความเหมาะสมของเนื้อหาและการแสดงออกก็ตาม
อย่าลืมนะครับว่าเป้าหมายหลักของการเทศน์แบบนี้มิใช่พยายามจะยัดเยียดเอาธรรมะสูงๆ แบบศีลธรรมจัดหรือโลกุตระที่ชนชั้นกลางชอบไปใส่หัวชาวบ้าน
แต่ทำให้ชาวบ้านเข้าถึงธรรมหรือความศรัทธาผ่านมิติของเรื่องเล่าและมิติทางอารมณ์ความรู้สึกมากกว่า
ส่วนการเทศน์ที่เน้นเนื้อความเป็นหลักนั้น ผมเข้าใจว่าคงมีแทรกๆ อยู่ในการเทศน์เชิงพิธีกรรมมาบ้างอยู่แล้ว แต่ที่เป็นจริงเป็นจังขึ้นมาคงเริ่มมีขึ้นในสมัยรัชกาลที่สี่ เหตุว่าพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ ขณะทรงผนวชอยู่น่าจะทรงได้รับอิทธิพลการเทศน์สดๆ แบบตะวันตกจากบาทหลวง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในพิธีมิสซาของชาวคริสต์อยู่แล้ว ดังพระองค์ท่านก็ได้ฝึกฝนศิษย์ให้เทศน์โดยมิต้องใช้คัมภีร์มาอ่าน
ต่อมาพระที่มีชื่อเสียงเรื่องเทศน์แบบ “ปาฐกถา” นั้นคือท่านปัญญานันทภิกขุ ท่านเป็นพระภิกษุรูปแรกที่ “ยืน” เทศน์บนโพเดียมจนเป็นที่ฮือฮาไปทั่ว ส่วนท่านพุทธทาสภิกขุก็อาจกล่าวได้ว่าเป็นพระภิกษุที่เน้นเอาคำสอนระดับโลกุตระมาเทศน์ มากกว่าเรื่องบุญ-บาป นรก-สวรรค์ หรือปรัมปราคติต่างๆ แบบโบราณ
จากนั้นมา การเทศน์ในบ้านเราก็ปนๆ กันไปทั้งการเทศน์ในเชิงพิธีกรรมซึ่งยังคงอยู่ไม่ได้หายไปไหน และการแสดงธรรมสดๆ ที่เน้นให้คำสอน รวมถึงการถามตอบธรรมของเราก็มีมากขึ้นเรื่อยๆ ตามการเติบโตของชนชั้นกลาง
แต่ทั้งนี้ บทบาทของการเทศน์โดยเฉพาะในเชิงพิธีกรรม ดูจะจำกัดอยู่ในกลุ่มนักบวชหรือภิกษุสามเณรเสียมากว่า แม้ว่าจะมีคนธรรมดา “บรรยายธรรม” อยู่บ้างเป็นระยะ เช่น อาจารย์เสถียร โพธินันทะ, คุณแม่สิริ กรินชัย, อุบาสิการัญจวน ฯลฯ แต่ท่านเหล่านั้นก็ไม่ได้สร้างความแตกตื่นแก่เหล่าพระภิกษุสามเณรสักเท่าใด
ที่ผมคุยเรื่องเทศน์มายืดยาว เพื่อจะโยงมาถึงปรากฏการณ์อันหนึ่งในสังคมตอนนี้ คือ กรณี “คนตื่นธรรม” หรืออาจารย์เบียร์ ผู้ทำให้ “ติ๊กต็อก” กลายเป็นพื้นที่ใหม่ของการสนทนาธรรม และสร้างความตื่นเต้น-แตกตื่นให้กับผู้คน โดยเฉพาะพระภิกษุ ผู้ซึ่งเคยมีบทบาทหลักในการเทศน์มาโดยตลอด
ด้วยลีลาไม่ไว้หน้าใคร รวมถึงการใช้คำบ้านๆ การด่าและการตอบคำถามทุกอย่างที่คนถาม ไปออกแทบทุกรายการ และเนื้อหาแบบฟันธงที่ตัดสิ่งรุงรังทิ้งไปหมด ทำให้มีคนสนใจจำนวนมาก
แม้ว่าผมจะไม่ได้เห็นด้วยกับสิ่งที่อาจารย์เบียร์เสนออยู่หลายประการ รวมถึงท่าทีบางอย่าง แต่การที่อาจารย์เบียร์โด่งดังขึ้นมานั้น ได้ทำให้เกิดสิ่งที่น่าสนใจสำหรับผม คืออาการร้อนรนของพระภิกษุหลายรูปที่ออกมาตอบโต้ คัดง้าง ไปจนถึงดิสเครดิตเสียด้วยซ้ำ
พระภิกษุที่โต้แย้งด้วยดีก็มีบ้าง แต่น้อยกว่าพระหัวร้อนมากนัก บางรูปไปไล่เลียงเรื่องภาษาบาลี-พระไตรปิฎกซึ่งอาจารย์เบียร์ไม่เคยเรียนเปรียญธรรม ก็ถูกหาว่าไม่มีความรู้แท้จริงในทางพุทธศาสนา ไม่ควรมาสั่งสอนคนอื่นเพราะจะกลายเป็นการบ่อนทำลายพุทธศาสนา
ว่ากันถึงขนาดนั้น
เรื่องภาษาบาลีและพระไตรปิฎกกับเกณฑ์ชี้วัดความถูกผิดในทางศาสนา ผมจะขอยกไว้ก่อน แต่ผมอยากจะเข้าใจว่า เหตุใด พระหลายต่อหลายรูปจึงหัวร้อนนัก ทั้งที่การมีฆราวาสมาแสดงธรรมแทนพระ มิใช่สิ่งที่เกิดขึ้นครั้งแรก
ผมคิดว่า ง่ายที่สุดคืออาจารย์เบียร์มา “เทศน์” แทนพระในภาวะที่พระภิกษุโดยรวมเองกำลังเสื่อมความนิยม อีกทั้งลีลาและการใช้พื้นที่ออนไลน์ทำให้เกิดผู้ติดตามจำนวนมากอย่างรวดเร็ว เร็วเสียจนอาจทำให้เกิดความประหวั่นพรั่นพรึงว่าฆราวาสซึ่งไม่ได้มีสายสัมพันธ์กับคณะสงฆ์หรือระบบการศึกษาสงฆ์ (คือเป็นคนนอกอย่างเต็มที่) จะเข้ามาแย่งชิงพื้นที่ที่เหลืออยู่ของพระที่ไม่ใช่เกจิอาจารย์ และเป็นพื้นที่ที่เคยสงวนไว้สำหรับตนเอง หรือแสดงให้เห็นสถานภาพที่สูงกว่าของตนเอง
กรณีอื่นๆ อย่างอาจารย์เสถียร โพธินันทะ นั้น ท่านเป็นผู้ส่งเสริมด้านการศึกษาของคณะสงฆ์เลยทีเดียว ถึงท่านจะเทศนามามากต่อมากและมีลีลาวาทศิลป์ไม่เบา แต่ก็คงไม่ได้ทำให้พระรู้สึกหวาดหวั่นมากนักเพราะใกล้ชิดกัน ในขณะที่ฆราวาสท่านอื่นต่างค่อยๆ ทำงานของตนเองไปในวงจำกัด ไม่ได้ทำให้เกิดความฮือฮาจนเป็นกระแส และส่วนมากก็น่าจะเป็นพันธมิตรที่ดีกับคณะสงฆ์หรืออย่างน้อยมีสายสัมพันธ์กับพระที่สำคัญบางรูป ผิดกับอาจารย์เบียร์ที่มาเดี่ยวๆ
การเทศนา รวมทั้งการมีความรู้ทางภาษาบาลีและพระไตรปิฎกซึ่งชาวบ้านเข้าถึงได้ยากกว่า ในทางหนึ่งก็เป็นอำนาจอย่างหนึ่งของพระ (รวมทั้งเรื่องพิธีกรรมด้วย) จึงไม่แปลกที่หากพื้นที่เหล่านี้จะค่อยๆ ถูกแบ่งไปสู่ฆราวาส แล้วทำให้พระออกอาการแตกตื่นหรือหัวร้อน
กรณีคนตื่นธรรมหรืออาจารย์เบียร์จึงช่วยสะท้อนคำถามที่ว่า ตกลงแล้วบทบาทของพระในสังคมสมัยใหม่ของไทยคืออะไร เป็นบทบาทที่คนรุ่นใหม่เห็นว่าเป็นประโยชน์และสำคัญหรือไม่ หากฆราวาสสามารถทำบทบาทนั้นแทนได้ซึ่งอาจดีกว่า พระควรจะทำอย่างไร ผมเดาว่าคำถามห้วนๆ แบบนี้ก็น่าจะมีคนหัวร้อนอีก แต่ผมไม่ได้เป็นคนแรกที่ถาม ยังมีคนอีกจำนวนมากที่กำลังถามและจะถาม
อีกทั้งผมก็ถามด้วยความห่วงใยและควรเห็นเป็นปรโตโฆษะ-เสียงของกัลยาณมิตรจากภายนอก
กรณีนี้สะท้อนคำถามที่สำคัญอีก คือในเมื่อเป็นแบบนี้ พระหรือคณะสงฆ์ควรจะปรับตัวอย่างไร ผมไม่คิดว่าการเทศน์ให้ตลกและมีสีสันมากขึ้นจะเป็นคำตอบ เพราะพระคงตลกได้ไม่เท่าตลกอาชีพและไม่ควรเท่าด้วย ส่วนจะเอาเฉพาะคำสอนสไตล์ไลฟ์โค้ชมาสอนคน ไลฟ์โค้ชในบ้านในเมืองนี้ก็มีมากแล้ว และไม่ควรลดทอนคำสอนในพุทธศาสนาเป็นเพียงอะไรแค่นั้น
ผมคิดว่า อย่างแรกสุดเลย พระควรมีทัศนคติเสียใหม่ ไม่มองว่าฆราวาสเป็นคู่แข่ง เป็นศัตรู ควรเห็นเป็นเพื่อนร่วมงานทางธรรมที่ “เท่าเทียม” กัน พระพุทธองค์ไม่ได้ฝากศาสนาไว้กับพระ แต่ฝากไว้กับพุทธบริษัทสี่
แม้พระจะถือสิกขาบทมากกว่าและในทางวัฒนธรรมก็ถูกทำให้มีสถานภาพสูงกว่า แต่ในความเป็นมนุษย์และศักยภาพที่จะตื่นรู้หรือบรรลุธรรมหรือให้คำสอนที่ดี พระกับฆราวาสเท่าเทียมกันทุกประการ
ขอให้ดูกรณีนางขุชชุตตรา พระพุทธะท่านถึงกับยกให้เป็นเอตทัคคะด้านการแสดงธรรมในฝ่ายอุบาสิกา
ประการที่สอง สิ่งหนึ่งที่พระไทยทำมาตลอดคือจะแสดงธรรมหรือตอบข้อสงสัยทางธรรมของผู้คนเฉพาะบางเรื่อง และเลือกที่จะเงียบในอีกหลายเรื่องที่ตนเห็นว่าไม่สำคัญ ไม่เข้าใจหรือไม่อยากพูด เช่น กรณีเพศหลากหลาย สิ่งแวดล้อม การเมืองสังคมที่เชื่อมโยงกับคำสอน ในขณะที่ฆราวาสพยายามตอบทุกเรื่องที่ผู้คนสงสัยเกี่ยวกับคำสอน แม้ว่าจะมีความผิดพลาดคลาดเคลื่อนไปบ้างก็ตาม
พระจะมีบทบาทต่อสังคมนี้ได้ต้องเลิกเงียบครับ ต้องทำความเข้าใจความเปลี่ยนแปลงของโลก และแสดงความเห็นต่อสาธารณะตามสมควร
รวมทั้งควรฟังสิ่งที่ผู้คนท้วงติงด้วย •
ผี พราหมณ์ พุทธ | คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022