ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 13 - 19 ธันวาคม 2567 |
---|---|
คอลัมน์ | ตุลวิภาคพจนกิจ |
ผู้เขียน | ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ |
เผยแพร่ |
ตุลวิภาคพจนกิจ | ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ
จิตร ภูมิศักดิ์
เป็น dogmatic Marxist จริงหรือ?(4)
เมื่อจิตรก็รัก ‘ชาติไทย’ เหมือนกัน
การเสนอว่าสังคมแบบมีทาสในรัฐไทย “มิได้เป็นระบบสังคมทาสโดยเนื้อหาทางการผลิต หากเป็นสังคมที่มีลักษณะบางอย่างของระบบเจ้าทาสเข้ามาครอบงำจากภายนอก” เป็นความหาญกล้าทางทฤษฎีลัทธิมาร์กซ์ของจิตร ที่แหวกคอกของการท่องตำราวิวัฒนาการของสังคมชนชั้นในบันได 5 ขั้น
การนำเสนอแนวการวิเคราะห์ที่ไม่ตายตัวตามสูตร หากเชื่อว่าสภาพทางภววิสัยในชุมชนกสิกรรมไทยระยะเปลี่ยนผ่านมีการทับซ้อนระหว่างวิถีการผลิตสองอย่าง ซึ่งได้รับการยอมรับมากขึ้นในระยะหลัง ต้องนับว่าเป็นความก้าวหน้าอย่างยิ่งของจิตร
ผมคิดว่าข้อสรุปนี้เขาค้นพบระหว่างการศึกษาค้นคว้าในอิทธิพลทางความคิดการเมืองที่ชนชั้นปกครองไทยรับมาจากเขมรสมัยพระนคร
หากว่าจุดอ่อนของการวิเคราะห์ของจิตรใน โฉมหน้าศักดินาไทยในปัจจุบัน คือความคิดลัทธิมาร์กซ์ที่ยังติดลักษณะกลไกอยู่
ผมพบว่างานสำคัญชิ้นล่าสุดในช่วงปี 2505 คือ ความเป็นมาของคำสยาม ไทย ลาวฯ และ “ข้อคิดใหม่ในประวัติศาสตร์ไทยลุ่มน้ำเจ้าพระยา” (จิตร ภูมิศักดิ์ 2547)
เขาได้สลัดวิธีวิทยาแบบกลไกและหยุดนิ่งออกไป ข้อมูลและการวิพากษ์และวิเคราะห์ที่เขานำเสนอในงานระยะสุดท้ายนี้ แทนที่จะหยุดนิ่งและเกาะติดลักษณะทั่วไปของลัทธิมาร์กซ์โดยเฉพาะปัจจัยทางเศรษฐกิจ
คราวนี้เขาหันมาให้น้ำหนักและความเคลื่อนไหวอย่างมีพลวัตของความคิดและจิตสำนึกทางสังคมของผู้คนผ่านการปฏิบัติอย่างยาวนาน จนเกิดเป็นภาษาประจำรัฐและถิ่น เป็นวรรณคดี คำสอนทางศาสนา
ที่สำคัญยิ่งซึ่งจิตรก็มองเห็นอย่างชัดเจนคือสำนึกในทางกฎหมาย มีการประกาศกฎหมายออกมาไม่น้อย เกี่ยวพันทั้งเรื่องการผลิตและการปกครองในรัฐที่ก่อรูปขึ้นมาอันแตกต่างไปจากระบบชุมชนบุพกาล
จิตรแสดงให้เห็นว่าดูจากภาษาที่ใช้อันเป็นภาษาเก่าดั้งเดิมของคนชนชาติไทยในบริเวณนั้นแสดงว่าในดินแดนโบราณนั้นก็ได้พัฒนาความคิดทางกฎหมายมาแล้วระดับหนึ่ง
“พัฒนาการของความสำนึกทางกฎหมายของไทยในรัฐโยนก หรือไตโยน กับของไทยทางลุ่มน้ำเจ้าพระยาคือไทยทางใต้นี้ ต่างได้พัฒนาไปโดยมีลักษณะเฉพาะถิ่น และโดยมีวัฒนธรรมของชนชาติพื้นเมืองเป็นพื้นฐานต่างกัน การพัฒนาความสำนึกทางกฎหมาย ซึ่งคือสิ่งสะท้อนเบื้องบนของสภาพชีวิตและการสัมพันธ์ระหว่างชีวิตในสังคมนั้น เป็นวิถีดำเนินที่ต้องการระยะเวลาที่แน่นอนระยะหนึ่ง โดยประชาชนเป็นผู้ค่อยๆ สร้างสรรค์มันขึ้นเป็นจารีตประเพณีร่วมกัน แล้วต่อจากนั้นกษัตริย์หรือรัฐจึงเข้าแทรกแซงและกำหนด…วิถีดำเนินนี้ได้เกิดขึ้น ณ ที่ใดเล่า คำตอบที่ข้าพเจ้ารักที่สุดก็คือ เกิดขึ้นในรัฐที่ชนชาติไทยเป็นชนชั้นปกครอง ซึ่งมีอยู่ก่อนหน้ากรุงศรีอยุธยานั้นแหละ!”
(จิตร ภูมิศักดิ์, 2524, หน้า 293 นี่อาจเป็นหลักฐานเดียวที่บ่งบอกตรงๆ ว่าจิตรนั้นมีจิตใจรักชาติไทยอยู่ด้วย! การเน้นเป็นของผู้เขียนบทความ)
สังเกตให้ดี จิตรระบุว่าสำนึกทางกฎหมายในรัฐไทยต่างๆ นี้
“มีลักษณะเฉพาะถิ่น และมีวัฒนธรรมของชนชาติพื้นเมืองเป็นพื้นฐานต่างกัน” เขาไม่ดึงการวิเคราะห์ลักษณะทางสังคมให้ดำเนินไปแบบทั่วไปอย่างที่ได้ทำมาใน โฉมหน้าศักดินาไทยในปัจจุบัน อีกต่อไป พบว่ามีร่องรอยตกค้างของสังคมไทยที่ลงมาฟักตัวอยู่ ณ บริเวณนี้นานก่อนหน้านั้น ที่แสดงว่า
“กฎหมายสมัยอยุธยาของพระเจ้ารามาธิบดีนั้น ได้สืบต่อมาจากกฎหมายของสังคมไทยบริเวณลุ่มน้ำเจ้าพระยาที่มีอยู่นานแล้วก่อนการตั้งศรีอยุธยาเป็นศูนย์กลางบริหารเมื่อ พ.ศ.1893 ถ้าไม่เชื่อว่ามีสำนึกกฎหมายดังกล่าวในรัฐไทยก่อนอยุธยาแล้ว ‘ความสำนึกทางกฎหมายของอยุธยาจะมาจากไหนเล่า เป็นสิ่งที่เทวดาเนรมิตขึ้นอย่างอิสระไม่เกี่ยวข้องสัมพันธ์กับสัจจธรรมทางประวัติศาสตร์เลยแม้แต่น้อยเท่านั้นหรือ!'”
น่าสนใจว่า แนวการวิเคราะห์ของจิตรในเรื่องสำนึกกฎหมายก่อนอยุธยานี้ และการวิเคราะห์วิวัฒนาการของสังคมไทยโบราณมาอย่างมีความต่อเนื่องยาวนาน เป็นงานที่ทำในปี 2505 ช่วงเวลาเดียวกับ ความเป็นมาของคำสยามฯ ซึ่งผมให้ข้อสังเกตก่อนหน้านี้แล้วว่าเป็นผลงานที่ก้าวข้ามลักษณะกลไกของทฤษฎีวัตถุนิยมทางประวัติศาสตร์และทฤษฎีวิวัฒนาการสังคมแบบเส้นตรง
งานระยะสุดท้ายของชีวิต เขาให้ความสนใจไปที่มิติและปริมณฑลทางความคิดที่เรียกว่าโครงสร้างส่วนบนอันได้แก่เรื่องทางอุดมการณ์ ปรัชญา ศาสนา ภาษา วรรณคดีและกฎหมาย อันเป็นวิชาที่จิตรมีความถนัดและสะสมความรู้ความชำนาญมานานแล้ว
ในที่นี้เขาเรียกสำนึกทางกฎหมายว่า “เป็นสิ่งสะท้อนเบื้องบนของความสัมพันธ์ทางสังคมของอาณาจักรศรีอยุธยา” (จิตร ภูมิศักดิ์, 2547)
นอกจากนี้ จิตรยังเปิดประเด็นให้เห็นถึงการใช้ประโยชน์จากตัวบทกฎหมายสมัยอยุธยา
เช่น เขาแก้ความเข้าใจผิดของ ร.แลงกาต์ที่อธิบายว่ากฎหมายอยุธยานั้นก้าวพ้นแบบโบราณมาแล้ว ดูได้จากการที่ไม่มีร่องรอยของสำนึกแบบดึกดำบรรพ์ประเภทว่า “หนามยอกเอาหนามบ่ง” คือการตัดสินโดยให้ลงโทษแบบตอบแทนให้สาสม (Lex talionis)
โดยกฎหมายอยุธยามีแต่การ “กำราบปราบปรามมิให้ราษฎรใช้กำลังทำการแก้แค้นตอบแทนซึ่งกันและกัน”
และยังมีบทบัญญัติเพิ่มเติมสำหรับลงโทษผู้ที่ชอบแก้แค้นตอบแทน ไม่รู้จักหลาบจำ เพิ่มโทษให้หนักยิ่งขึ้นทุกวัน
จิตรไม่เชื่อ ร.แลงกาต์อย่างง่ายๆ หากไปค้นกฎหมายเก่าจนพบว่า ไม่จริง ในกฎหมายลักษณะเบ็ดเสร็จ (ซึ่งก็คือเบ็ดเตล็ด) พ.ศ.1886 ก่อนการสถาปนากรุงศรีอยุธยา 7 ปี ได้มีบทห้ามการแก้แค้นตอบแทนโดยพลการ
แต่กฎหมายยังกล่าวต่อไปว่า ถ้าเจ้าของตีสัตว์นั้นถึงพิการ ก็จะต้องใช้สัตว์แก่เจ้าของสัตว์ และให้เจ้าของสัตว์ใช้ข้าวที่สัตว์กิน ผู้ตีสัตว์พิการเมื่อนำสัตว์มาใช้ให้แล้ว ก็ให้เอาสัตว์พิการนั้นไป แต่ถ้าเจ้าของข้าวตีสัตว์ถึงตาย ให้ผู้ตีใช้สัตว์แต่ฝ่ายเดียว ฝ่ายเจ้าของสัตว์ไม่ต้องใช้ข้าวที่สัตว์ของตนกินเสียหาย ฯลฯ
จิตรยังค้นพบต่อไปอีกว่า ใน “มังรายราชศาสตร์” หรือกฎหมายพระเจ้าเมงราย ก่อนหน้ากฎหมายลักษณะเบ็ดเสร็จขึ้นไปอีก 30 ปี กล่าวว่า “โบราณเมืองว่า ท่านด่าต้องด่าตอบ ท่านตีต้องตีตอบ ท่านดีต่อมือ หื้อดีต่อมือ ท่านเอาฆ้อนหื้อเอาค้อน ท่านถือดาบหื้อถือดาบตอบ บุคคลใดทำตามดังนี้ เรียกว่าบ่ล่วงอาชญาเมืองแหล่…”
ประเด็นที่จิตรใช้วิจารณ์ ร.แลงกาต์นั้น แสดงให้เห็นหลุมพรางของการใช้คติทั่วไปเข้าจับและวินิจฉัยเรื่องนั้นๆ ในประวัติศาสตร์เฉพาะที่ต่างออกไปจากประวัติศาสตร์ทั่วไปเช่นในยุโรป
คราวนี้จิตรไม่ยึดทฤษฎีทั่วไปแล้ว หากแต่ยึดลักษณะเฉพาะและความเป็นมาของพื้นถิ่นเป็นสำคัญ อันเป็นวิธีวิทยาที่รอบด้านกว่าใน โฉมหน้าศักดินาไทยในปัจจุบัน
เพื่อขยายความคิดดังกล่าวนี้ของเขาให้กระจ่างขึ้น จิตรยังได้อธิบายถึงลักษณะและพัฒนาการของกฎหมายอยุธยาที่พระเจ้ารามาธิบดีได้ทรงตราขึ้นประมาณ 20 กว่าฉบับ มีทั้งที่ว่าด้วยการกู้ยืม ทาส พยาน ลักพา โจร ผัวเมีย ที่ดิน ฯลฯ
กฎหมายเหล่านี้มีภาษาเฉพาะของมันที่เรียกว่าภาษากฎหมายใช้อย่างเพียงพอ แม้ว่าจะเป็นคำที่ยืมมาจากภาษาเขมรหรือจากกฎหมายเขมรโบราณเสียมากก็ตาม การมีอยู่ของกฎหมายเหล่านี้แสดงว่า “ความสำนึกทางด้านกฎหมายของคนไทยลุ่มน้ำเจ้าพระยาต้องมีปูพื้นฐานมาก่อนหน้านี้เป็นระยะเวลานาน เพราะกฎหมายอยุธยาที่ออกมานั้นมีลักษณะที่เรียกว่าพัฒนาเป็นระเบียบชั้นสูงระดับหนึ่งแล้ว” มีการอ้างถึง “พระธรรมศาสตร์” ของมอญโบราณ ซึ่งจิตรวิเคราะห์ว่าการอ้างถึงเช่นนั้นมิได้หมายความว่ากฎหมายไทยจะตรงกับกฎหมายมอญทั้งดุ้น หากเป็นการอ้างที่ต้องการความศักดิ์สิทธิ์เสียมากกว่า
ดังเห็นได้จากหลายตัวบทเช่นกฎหมายที่ดินมีลักษณะตรงข้ามกับคัมภีร์พระธรรมศาสตร์ของมอญและฮินดูโดยสิ้นเชิง ในขณะที่หลายบทของกฎหมายไทยก็ไปตรงกับของเขมรโบราณ แต่ก็มีบางบทที่ตรงข้ามกับเขมรโบราณด้วยเช่นกัน แสดงว่า
“ชุมชนไทยได้หล่อหลอมและพัฒนาประเพณีและความสำนึกทางกฎหมายของตนขึ้นเองเป็นหลักสำคัญ พระคัมภีร์ธรรมสัตถัมหรือธรรมศาสตร์นั้น เป็นเพียงรูปแบบภายนอกที่บรรจุเนื้อหาของสังคมไทย ณ ถิ่นลุ่มน้ำเจ้าพระยานี้เท่านั้น การหล่อหลอมและพัฒนาดังกล่าวนี้ เป็นวิถีดำเนินที่ต้องใช้ระยะเวลา มิใช่เรื่องที่เทวดาเอากลองวิเศษมาตีปุ๊งๆ เนรมิตขึ้นเหมือนนิทานเรื่องท้าวแสนปมสร้างเมืองเทพนคร!” (การเน้นเป็นของผู้เขียนบทความ)
จิตรตีความการประกาศใช้กฎหมายทำเนียบศักดินาของพระบรมไตรโลกนาถว่า “เป็นการปรับปรุงอำนาจการถือศักดิ์ในที่นา นั่นคือเป็นการแบ่งสรรผลประโยชน์ในหมู่ชนชั้นศักดินาหรือข้าราชการครั้งใหม่” มีการตั้งตำแหน่งปกครองมากมาย เช่น พระ หลวง ลูกขุน ขุนหลวง ขุน หมื่น พัน ทนาย หัวพัน หัวปาก ภูดาษ พะทำมรง จ่า เสมียร นักการ เป็นต้น
จากชื่อตำแหน่งเหล่านี้ แสดงว่าระบบการปกครองมีความซับซ้อนและขยายอำนาจรัฐเหนือชีวิตและการผลิตของไพร่ทาสอย่างเป็นระบบขึ้น
ในภาพรวมปริมณฑลที่แสดงถึงการยกระดับอำนาจรัฐอย่างมีความหมายอันยาวไกลได้แก่สถาบันกษัตริย์ซึ่งถูกยกให้มีฐานะพิเศษเหนือสถาบันอื่นๆ ในชุมชนการเมืองนี้อย่างพิสดาร ดังเห็นได้จากภาษาและเนื้อหาที่ใช้ในการเรียก “เอกภาพสูงสุด” นี้ในราชาศัพท์ที่รัฐไทยก่อนหน้านี้ยังไม่เคยใช้
ที่สำคัญข้อความประกาศผ่านกฎหมายเหล่านี้แสดงถึงอำนาจที่เป็นความชอบธรรมของกษัตริย์ในการจัดการแบ่งผลผลิตจากการผลิตของราษฎรให้ตกเป็นของ “เอกภาพสูงสุด” ผ่านระบบส่วยสาอากรจังกอบและภาษีต่างๆ และการเรียกใช้แรงงานของราษฎรในระบบไพร่ทาส โดยที่รูปแบบทรัพย์สินเป็นของเอกภาพสูงสุดโดยให้ราษฎรใช้สิทธิครอบครองในการผลิตและทำประโยชน์ได้ ในระยะยาวจะเห็นแต่พัฒนาการของฝ่ายรัฐและชนชั้นปกครองทั้งทางความคิด ศาสนาและประเพณีที่รองรับความชอบธรรมของรัฐกษัตริย์
แต่ไม่ค่อยเห็นพัฒนาการและความเติบใหญ่ของฝ่ายราษฎรและเอกชน ซึ่งมีแนวโน้มจะถูกจำกัดและควบคุมไม่ให้เกิดเป็นอำนาจในการต่อรองและกระทั่งต่อต้านได้ อันแสดงออกในพัฒนาการที่จำกัดและไม่เปลี่ยนแปลงมากนักในวิธีการผลิตและพลังการผลิตของชุมชน
เกิดเป็นจารีตและการปฏิบัติของฝ่ายราษฎร์ที่มีแนวโน้มไปทางอนุรักษนิยมและเชื่อฟังมากกว่าก้าวหน้าและวิพากษ์ในแทบทุกปริมณฑลของสังคม
บรรณานุกรม
จิตร ภูมิศักดิ์ 2547. โองการแช่งน้ำและข้อคิดใหม่ในประวัติศาสตร์ไทยลุ่มน้ำเจ้าพระยา กรุงเทพฯ ฟ้าเดียวกัน.
ร.แลงกาต์ 2526. ประวัติศาสตร์กฎหมายไทย กรุงเทพฯ มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์.
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022