ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 13 - 19 ธันวาคม 2567 |
---|---|
คอลัมน์ | วิรัตน์ แสงทองคำ |
ผู้เขียน | วิรัตน์ แสงทองคำ |
เผยแพร่ |
โฉมใหม่ในช่วงเวลาท้าทาย-ห้างเซ็นทรัลชิดลม ต้นแบบ “ห้างสรรพสินค้า” ทรงอิทธิพลในธุรกิจค้าปลีกไทย
หลังจากใช้เวลารีโนเวตนานพอสมควร ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัล สาขาชิดลม ได้เวลาเปิดโฉมใหม่อย่างเต็มรูปแบบ ท่ามกลางช่วงเวลากรุงเทพฯ ให้การต้อนรับแหล่งจับจ่ายใช้สอยอันตื่นตาหลากหลายอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน
“2517 เปิดให้บริการห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัล สาขาชิดลม ซึ่งปัจจุบันได้กลายเป็นห้างสรรพสินค้าสาขาแฟลกชิปสโตร์ ที่เป็นเอกลักษณ์ของบริษัท” ไทม์ไลน์สะท้อนความสำคัญ บันทึกไว้อย่างเป็นทางการ (http://www.centralretail.com/)
เรื่องราวครึ่งศตวรรษ ห้างเซ็นทรัลชิดลม มีความสำคัญกับ กลุ่มเซ็นทรัล เครือข่ายค้าปลีกไลฟ์สไตล์ที่ใหญ่ที่สุดของไทย ทั้งให้ภาพใหญ่พัฒนาการค้าปลีกไทย
และสะท้อนความเป็นไปของกรุงเทพฯ
หนึ่ง-เป็นห้างสรรพสินค้าที่ใหญ่ที่สุดในเวลานั้น มีพื้นที่ขายและบริการมากกว่าห้างเซ็นทรัลสีลม ถึง 3 เท่า โดยให้ความสำคัญพื้นที่จอดรถมากเป็นพิเศษ เกือบๆ เท่าพื้นที่ขาย เพื่อตอบสนองพฤติกรรมผู้บริโภคกลุ่มสำคัญ
สอง-ว่าด้วยทำเล ห้างเซ็นทรัลชิดลม ได้ศึกษาบทเรียนเซ็นทรัลสีลมอย่างจริงจัง ขณะที่ “สีลม” ต้องรอเวลาระยะหนึ่งให้ฐานผู้บริโภคขยายตัว แต่ที่ “ชิดลม” เป็นทำเลที่มีความพร้อม มีฐานผู้บริโภคให้การต้อนรับห้างสรรพสินค้าที่ทันสมัยในทันที
เป็นไปอย่างสัมพันธ์กับการพัฒนาย่านธุรกิจใหม่ของกรุงเทพฯ ในช่วงทศวรรษก่อนหน้านั้น เริ่มจากการเกิดขึ้นของ โรงแรมเอราวัณ บริเวณสี่แยกราชประสงค์ราวปี 2500 เชื่อมเข้าสู่ย่านถนนพระราม 1-ด้วยการเปิดตัว โรงแรมสยามคอนติเนนตัล (เชนโรงแรมระดับโลก – InterContinental Hotel) ในเครือข่ายสายการบิน Pan Am แห่งสหรัฐ (ปี 2505)
การพัฒนาย่านดังกล่าว มีความเชื่อมโยงกับอาณาบริเวณที่พักอาศัยของชุมชนผู้มีฐานะในย่านสุขุมวิท
ย่านที่พักอาศัยสุขุมวิท เติบโตขึ้นในช่วงปลายสงครามโลกครั้งที่สอง เมื่อกองทัพญี่ปุ่นเข้ายึดกรุงเทพฯ ชุมชนที่พักอาศัยของผู้มีฐานะเดิมอยู่ที่อาณาบริเวณสีลม ได้รับผลกระทบ ขบวนการย้ายถิ่นมาอยู่ที่ย่านใหม่-สุขุมวิท จึงเกิดขึ้นและขยายตัวขึ้นเป็นลำดับ
ย่านเดียวกัน ฝั่งตรงข้ามกับโรงแรมสยามคอนติเนนตัล มี สยามสแควร์ ศูนย์การค้าแนวราบ เปิดโล่งขนาดใหญ่ใจกลางเมืองแห่งแรก เริ่มต้นในปี 2505 ส่วนใหญ่ ผู้ประกอบการค้าเสื้อผ้าท้องถิ่นรายย่อย ย้ายมาจากย่านธุรกิจอื่น เช่น วังบูรพา สุรวงศ์ สีลม แม้อ้างว่า เป็นศูนย์การค้า (Shopping center) แห่งแรกของไทย แต่ไม่ได้ก้าวไปไกลกว่าตลาดแบบดั้งเดิมมากนัก
ในช่วงเวลาก่อนหน้าไม่นาน ห้างเซ็นทรัลชิดลมจะเปิดตัวขึ้น มีศูนย์การค้าเกิดขึ้นอย่างจริงจัง สยามเซ็นเตอร์ (ปี 2516) ตั้งอยู่ฝั่งตรงข้ามสยามสแควร์ และเชื่อมต่อกับโรงแรมสยามคอนติเนนตัล ถือกันว่าเป็นศูนย์การค้าแห่งแรกของไทย เป็นอาคารขนาดใหญ่ สูง 4 ชั้น ออกแบบโดย Robert G Boughey สถาปนิกชาวอเมริกันผู้มีชื่อเสียงในเมืองไทย อย่างไรก็ตาม สยามเซ็นเตอร์ ประกอบด้วยผู้ค้ารายย่อยๆ ที่พยายามสร้างแบรนด์ท้องถิ่น ซึ่งส่วนใหญ่มาจากสยามสแควร์ เป็นพัฒนาการที่น่าสนใจในช่วงต้นๆ ของย่านค้าปลีกใจกลางกรุงเทพฯ
ขณะที่ห้างเซ็นทรัลชิดลม มีสินค้าจำนวนมากจากต่างประเทศ โดยเฉพาะแบรนด์ระดับโลก เป็นไปตามรสนิยมคนกรุงเทพฯ เป็นกระแสที่สูงขึ้นๆ ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลชิดลม ที่หรูหรา ทันสมัย จึงสร้างแรงดึงดูด โดยเฉพาะกลุ่มผู้บริโภคระดับบน ได้มากกว่าศูนย์การค้าในย่านใกล้เคียง
การพัฒนาก้าวล้ำนำสมัยของห้างเซ็นทรัลชิดลม มาจากประสบการณ์ธุรกิจตระกูลจิราธิวัฒน์
– จากประสบการณ์ธุรกิจนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ จากหนังสือและนิตยสาร ถึงสินค้าคอนซูเมอร์ จากร้านค้าเล็กๆ จนเป็นห้างเซ็นทรัลเทรดดิ้ง (ปี 2500) กลายเป็นฐานและแขนขาสำคัญในการจัดหาสินค้าต่างประเทศเพื่อป้อนห้างสรรพสินค้าของตนเอง
– ห้างเซ็นทรัลชิดลม เกิดขึ้นช่วงเวลาแห่งความยุ่งยากทางการเมือง โดยเฉพาะขบวนการต่อต้านสินค้าต่างประเทศ จึงเป็นแรงบีบคั้นสำคัญให้กลุ่มเซ็นทรัลต้องก้าวสู่อุตสาหกรรม โดยเฉพาะเริ่มต้นลงทุนผลิตสินค้าภายในประเทศ โดยเฉพาะเสื้อผ้า ซึ่งเป็นสินค้าหลักของห้างสรรพสินค้า
ในอีก 2 ทศวรรษต่อมา ได้พัฒนาเป็นกลุ่มธุรกิจสำคัญหนึ่งของกลุ่มเซ็นทรัล “กลุ่มเซ็นทรัล มาร์เก็ตติ้ง (ซีเอ็มจี) ก่อตั้งขึ้นในปี 2539 เป็นกลุ่มบริษัทผู้ดำเนินธุรกิจด้านการผลิต ค้าปลีก ค้าส่ง เป็นผู้นำเข้าและตัวแทนจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภคภายใต้ลิขสิทธิ์และเครื่องหมายการค้าของผลิตภัณฑ์ที่ได้รับความเชื่อถือจากผู้บริโภคทั่วโลก ด้วยความเชี่ยวชาญทางการตลาดและประสบการณ์ที่สั่งสมมายาวนาน” (http://www.cmg.co.th/)
ห้างเซ็นทรัลชิดลม เป็นบทเรียนที่ตกผลึกของธุรกิจครอบครัวตระกูลจิราธิวัฒน์ ผู้นำธุรกิจค้าปลีก ได้ก้าวเข้าสู่รุ่นที่สอง รุ่นที่มีบทบาทในการพัฒนาธุรกิจค้าปลีกไทยให้เติบโตอย่างต่อเนื่องตลอดครึ่งศตวรรษ
อีกด้านหนึ่ง เซ็นทรัลชิดลม เป็นตำนานความสำเร็จโมเดล “ห้างสรรพสินค้า” ในการตอบสนองวิถีชีวิตสมัยใหม่ในสังคมกรุงเทพฯ ซึ่งมีแรงกระตุ้นอย่างต่อเนื่องจากยุคสงครามเวียดนาม แม้ว่าอยู่ท่ามกลางสถานการณ์ความยุ่งยากทางการเมืองครั้งใหญ่ครั้งหนึ่งก็ตาม จากนั้นในเวลาต่อมา ธุรกิจ “ห้างสรรพสินค้า” (Department store) กลายเป็นกระแสหลักอันเชี่ยวกราก ธุรกิจค้าปลีกไทย สังคมกรุงเทพฯ ได้ต้อนรับห้างสรรพสินค้าใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นอย่างเป็นขบวน
เพียงผ่านไปราว 2 ทศวรรษ ย่านใกล้เคียงกันนั้น พัฒนาไปอย่างน่าทึ่ง มีศูนย์การค้าขนาดใหญ่ ห้างสรรพสินค้าอยู่ในนั้น อีกหลายต่อหลายแห่ง รวมทั้งการก่อเกิดเป็นศูนย์กลางใหม่ของกรุงเทพฯ ปรากฏการณ์ซึ่งสัมพันธ์กับระบบขนส่งมวลชนครั้งแรกของกรุงเทพฯ-รถไฟฟ้าบีทีเอส (2542) โดยมีสถานีหนึ่ง ถือเป็นจุดศูนย์กลางอยู่ที่ศูนย์การค้าสยามโดยเฉพาะ เมื่อมี “สยามพารากอน” (ปี 2548) ผนึกผสานกับสยามเซ็นเตอร์ และสยามดิสคัฟเวอรี่ (2540) ขณะที่ฝั่งตรงข้ามและใกล้เคียง-สยามสแควร์ และ เอ็มบีเค เซ็นเตอร์ ที่มีมาก่อนหน้า
ในช่วงเวลานั้น กลุ่มเซ็นทรัลเองมีแผนพัฒนาเชื่อมโยง เป็นเครือข่ายจากเซ็นทรัลชิดลม สู่โมเดลศูนย์การค้า ด้วยการพลิกโฉม เซ็นทรัลเวิลด์ (2550) และเปิดตัว เซ็นทรัลแอมบาสซี่ (2557)
ภาพเชื่อมโยง เซ็นทรัลชิดลม ในฐานะ “ห้างสรรพสินค้า” ที่ว่าด้วย “แฟลกชิปสโตร์ ที่เป็นเอกลักษณ์” ของกลุ่มเซ็นทรัล ยังไปต่อ ไปไกลทีเดียว เมื่อมีกลุ่มธุรกิจใหม่- “ห้างสรรพสินค้าลักชูรี่ในยุโรป” ขึ้นแถวแรกในการนำเสนอข้อมูลว่าด้วย “ภาพรวมธุรกิจ” (https://www.centralgroup.com/th)
เป็นไปตามไทม์ไลน์ กลุ่มเซ็นทรัลรุกตลาดยุโรปครั้งแรกในปี 2554 ด้วยการเข้าซื้อกิจการ Rinascente ห้างสรรพสินค้าแห่งอิตาลี มีสาขา 9 แห่ง จากนั้นในปี 2556 ขยับขยายเข้าสู่สแกนดิเนเวีย ด้วยการซื้อกิจการ Illum ห้างสรรพสินค้าเก่าแก่ที่สุดในประเทศเดนมาร์ก มีเพียงสาขาเดียว ตั้งอยู่ใจกลางเมืองหลวง Copenhagen ตามมาอีกในปี 2558 ด้วยการเข้าซื้อกิจการห้างสรรพสินค้า KaDeWe, Oberpollinger และ Alsterhaus ในเยอรมนี แถมท้ายในภาคยุโรปด้วยเข้าซื้อห้าง Globus ในสวิตเซอร์แลนด์ จำนวนทั้งหมด 8 แห่ง (2563)
ที่ฮือฮาเป็นพิเศษ คือเข้าซื้อกิจการ Selfridges (2565) ห้างเก่าแก่แห่งสหราชอาณาจักร กับเครือข่ายอีกบางแห่ง
เชื่อว่า เซ็นทรัลชิดลม โฉมหน้าใหม่เพิ่งเปิดขึ้น ย่อมจะมี “บางสิ่งบางอย่าง” เชื่อมโยงกับ “ห้างสรรพสินค้าลักชูรี่ในยุโรป” บ้าง ไม่มากก็น้อย •
วิรัตน์ แสงทองคำ | www.viratts.com
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022