สุวรรณภูมิ-ทวารวดี [6] วรรณกรรมอินเดียถึงสุวรรณภูมิ

วัฒนธรรมอินเดียแผ่ถึงอุษาคเนย์โดยอาศัยไปกับการค้าระยะไกลทางทะเลสมุทร

หลังจากนั้นภาษาและวรรณกรรรมไท-ไตในโซเมียผสมผสานกับวัฒนธรรมอินเดียผ่านภาษาและวรรณกรรมอุษาคเนย์แพร่หลายในกลุ่มชนชั้นนำที่มีไม่มากนัก ทั้งนี้เพื่อผดุงอำนาจพวกตนเหนือคนกลุ่มอื่น

ประชาชนทั่วไปเขียนไม่ได้ อ่านไม่ออก จึงเข้าไม่ถึงภาษาและวรรณกรรมเหล่านั้นของชนชั้นนำ

สำเนียงพูดของภาษาไท-ไต (ต้นตอภาษาไทยต่อไปข้างหน้า) ถ้าจะมีสมัยนั้นน่าจะเป็น “สำเนียงเหน่อ” แบบสำเนียงพูดกลุ่มคนลุ่มน้ำโขง

ภาษาและวรรณกรรมไทยเป็นส่วนหนึ่งของภาษาและวรรณกรรมอุษาคเนย์ ทั้งนี้ เป็นไปตามหลักฐานว่าไทยเป็นส่วนหนึ่งของอุษาคเนย์อย่างแยกมิได้ ทั้งในแง่ดินแดนและผู้คนตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์หลายพันปีมาแล้วสืบเนื่องจนปัจจุบัน

ต่อมาภาษาและวรรณกรรมอุษาคเนย์เข้าสู่ความก้าวหน้าและทันสมัย ด้วยการผสมผสานวัฒนธรรมอินเดียซึ่งแผ่เข้าไปทางทะเลสมุทรโดยอาศัยไปกับการค้าระยะไกล หลังจากนั้นภาษาและวรรณกรรมอุษาคเนย์ที่รับวัฒนธรรมอินเดียเข้าไปผสมผสานแข็งแรงแล้วก็ส่งแบบแผนสำคัญให้ไทย คือ ภาษาและวรรณกรรมทางศาสนาพราหมณ์-ฮินดูและศาสนาพุทธ

แต่ที่สำคัญมากคือแบบแผนตัวอักษร ได้แก่ อักษรเขมรและอักษรมอญ (เป็นต้นแบบอักษรไทยสร้างสรรค์ภาษาและวรรณกรรมไทยต่อไปข้างหน้า)

วัฒนธรรมอินเดียในที่นี้มี 2 ความหมาย ได้แก่

1. หมายถึงวัฒนธรรมอินเดียใต้ซึ่งเป็นดินแดนรัฐทมิฬ เป็นต้นแบบการสร้างปราสาทหิน, ตัวอักษรปัลลวะ, มหากาพย์มหาภารตะและรามายณะ (รามเกียรติ์), คำว่าโขน เป็นต้น

[คำว่า ทมิฬ ในภาษาทมิฬ แปลว่า คน แต่ในภาษาไทยแปลว่า ดุร้าย, โหดร้าย เพราะรับความหมายจากลังกาซึ่งมีอคติต่อทมิฬเนื่องจากมีความขัดแย้งกัน]

2. หมายถึงวัฒนธรรมดั้งเดิม (ซึ่งคัมภีร์เก่าเรียกชมพูทวีป) ที่ผสมกลมกลืนเป็นเนื้อเดียวกับวัฒนธรรมเปอร์เซีย (อิหร่าน) และวัฒนธรรมกรีก เป็นต้น ที่อาจเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “วัฒนธรรมอินโด-เปอร์เซีย-กรีก”

จารึกคำสันสกฤตว่า “ปุษยคิริ” บนก้อนศิลา (อ้างอิงพุทธสถานยุคพระเจ้าอโศกบนเขาในอินเดีย) พบบนเขาด้านตะวันตกเมืองอู่ทอง อ.อู่ทอง จ.สุพรรณบุรี [ภาพจากหนังสือสุวัณณภูมิ ของ ธนิต อยู่โพธิ์ อดีตอธิบดีกรมศิลปากร จัดพิมพ์เป็นพุทธบูชา โดยกรมศิลปากร พ.ศ.2510]

วรรณกรรมของชนชั้นนำ ไม่คนทั่วไป

ภาษาและวรรณกรรมอินเดียเนื่องในศาสนาพราหมณ์-ฮินดูและศาสนาพุทธเป็นที่รับรู้ในกลุ่มชนชั้นนำเท่านั้น ส่วนประชาชนคนสามัญเขียนไม่ได้ อ่านไม่ออก เข้าไม่ถึงอักษร, ภาษา และวรรณกรรมเหล่านั้นจากอินเดีย ไม่ว่านิทาน, ชาดก, คัมภีร์ไตรภูมิ, รามายณะ, มหาภารตะ หรืออื่นๆ คนพื้นเมืองจะรู้บ้างสมัยหลังๆ ก็โดยผ่านการบอกเล่าจากนักบวชและผู้รู้อื่นๆ

วัฒนธรรมอินเดียและวรรณกรรมทางศาสนาจากอินเดีย เมื่อถึงอุษาคเนย์ได้ถ่ายทอดสู่คนชั้นนำพื้นเมืองตามประเพณีดั้งเดิมโดยผ่านล่าม

คนชั้นนำ หมายถึง หัวหน้าเผ่าพันธุ์ (chiefdom) และเครือญาติ ซึ่งมีทั้งหญิงและชายที่เป็นผู้ชำนาญความรู้ต่างๆ รวมทั้งเป็นหัวหน้าพิธีกรรม ได้รับยกย่องเป็นหมอ ได้แก่ หมอมด, หมอขวัญ เป็นต้น (ไม่ใช่บุคคลทั่วไป)

ถ่ายทอดตามประเพณี หมายถึง ถ่ายทอดแบบดั้งเดิมด้วยวิธีท่องจำปากเปล่าหรือปากต่อปากและตัวต่อตัว มีตัวอย่างสืบเนื่องถึงปัจจุบัน ได้แก่ เรียนบาลีแบบท่องจำ, ท่องปาฏิโมกข์, ท่องคาถาสวดมนต์, เรียนดนตรีไทยไม่มีโน้ต ต้องท่องจำทำนองด้วยการ “ต่อเพลง” กับครูทีละท่อนทีละตอนนานหลายวันกว่าจะจบเพลง เป็นต้น

ล่าม หมายถึง ผู้รู้หลายภาษาทั้งภาษาพื้นเมืองอุษาคเนย์และภาษาอินเดีย ทำหน้าที่ถ่ายทอดหรือแปลคำพูดจากภาษาหนึ่งสู่ภาษาหนึ่ง ซึ่งน่าเชื่อว่าล่ามเป็นชาวมลายู เพราะชำนาญการค้าทางไกลผ่านทะเลสมุทรมาเก่าแก่ก่อนหน้านั้นหลายร้อยหลายพันปี จึงคุ้นเคยภาษาแลกเปลี่ยนติดต่อสนทนากับชาวอินเดียและนานาชาติ

[เมื่อถึงสมัยอยุธยา ชาวมลายูได้รับยกย่องเป็นขุนนางข้าราชการชั้นสูงตำแหน่ง “จุฬาราชมนตรี” ดูแลการค้าและติดต่อการค้าตะวันตก (อินเดีย, ตะวันออกกลาง, ยุโรป)]

ข้อความศักดิ์สิทธิ์ขนาดสั้นๆ จะถูกเขียนด้วยตัวอักษรบนวัตถุคงทน เช่น อิฐเผา, แท่งหิน ฯลฯ แล้วติดตั้งอย่างถาวรกับศาสนสถาน เสมือนบอกกล่าวป่าวร้องให้เป็นที่รับรู้แก่ปวงผีและเทวดาอารักษ์ซึ่งสิงสู่อยู่บริเวณนั้น หรือพื้นที่ของอำนาจรัฐนั้น ซึ่งไม่เกี่ยวกับประชาชน

แต่ข้อความศักดิ์สิทธิ์ดังกล่าว ปัจจุบันนักวิชาการทางโบราณคดีและการอ่านอักษรโบราณพากันเรียกว่า “จารึก” แล้วมีคำอธิบายว่าเป็น “ประกาศ” ให้คนทั่วไปสมัยนั้นได้อ่านเพื่อรับรู้ข่าวสารทั่วกัน ทั้งๆ ในสภาพความจริงประชาชนคนทั่วไปสมัยนั้นเขียนไม่ได้ อ่านไม่ออก นอกจากนั้น ยังไม่มีโอกาสเข้าถึง “จารึก” ซึ่งอยู่กับศาสนสถานศักดิ์สิทธิ์อันเป็นพื้นที่หวงห้ามสำหรับชนชั้นนำเท่านั้น ดังนี้ประชาชนจะอ่านได้ยังไง?

อ่าน, ดู, ฟัง ภาษาและวรรณกรรมทางศาสนาจากอินเดียสมัยเริ่มแรกเข้าถึงอุษาคเนย์ แล้วถูกส่งถึงคนจำนวนหนึ่ง (ไม่ถึงคนทั้งหมดทุกระดับสมัยนั้น) ด้วยวิธีต่างกัน 3 อย่าง ได้แก่ อ่าน, ดู, ฟัง ล้วนเป็นข้อมูลความรู้พื้นฐานเพื่อการสร้างสรรค์ภาษาและวรรณกรรมของอุษาคเนย์ รวมทั้งของไทยต่อไปข้างหน้า

อ่านออกเสียง คนจำนวนหนึ่งมีไม่มากเป็นบุคคลพิเศษ “อ่านออกเสียง” ข้อความทางศาสนาที่จารึกไว้ด้วยอักษรและภาษาศักดิ์สิทธิ์ แล้วจดจำบอกเล่าสู่คนต่อไปในแวดวงไม่กว้างใหญ่นัก

คนจำนวนไม่มากเหล่านั้นมักเป็นนักบวชที่รู้ภาษาและอักษรจากอินเดีย (คนจำนวนมากหรือเกือบหมดล้วนเขียนไม่ได้ อ่านไม่ออก)

ดูด้วยตา คนกลุ่มหนึ่งที่มีโอกาสดูรูปเล่าเรื่องทางศาสนาซึ่งรู้จักสมัยหลังว่านิทานและชาดก แล้วรู้กันต่อมาว่าเรียกรูปปูนปั้น, รูปสลักหิน

รูปเล่าเรื่องไม่พบทั่วไป แต่มีเฉพาะปูชนียสถานสำคัญของ “รัฐ” ซึ่งสามัญชนคนทั่วไปเข้าถึงยากและยากมากหรือไม่มีโอกาสเลย ได้แก่ ปูนปั้นเจดีย์จุลประโทน เมืองนครปฐมโบราณ (อ.เมือง จ.นครปฐม), เสมาหิน เมืองฟ้าแดดสงยาง (อ.กมลาไสย จ.กาฬสินธุ์) เป็นต้น

ฟังด้วยหู คนจำนวนไม่น้อยฟังคำบอกเล่าทางศาสนาด้วยคำคล้องจองแบบชาวบ้านจากนักบวช ซึ่งเรียกสมัยหลังว่าสวดหรือเทศน์ เช่น สวดมหาชาติ ที่ต่อไปข้างหน้าถูกพัฒนาเป็นเทศน์มหาชาติ

ฉันท์, กาพย์ เป็นร้อยกรองศักดิ์สิทธิ์จากอินเดีย เข้าถึงอุษาคเนย์และไทยบริเวณสุวรรณภูมิ (สมัยต่อไปข้างหน้า) พร้อมศาสนาสมัยการค้าโลกเริ่มแรก ราวหลัง พ.ศ.1000 พบในจารึกหลายแห่ง เช่น จารึกบนแผ่นอิฐที่สุพรรณบุรี และแท่งหินเรียกจารึกเนินสระบัว อ.ศรีมโหสถ จ.ปราจีนบุรี (บทสวดมนต์ภาษาบาลีแต่งด้วยฉันท์)

สมัยนั้นร้อยกรองดั้งเดิมของภาษาตระกูลไท-ไต (บริเวณโซเมีย) คือคำคล้องจองที่พัฒนาเป็นกลอน ได้แก่ กลอนร่าย (เซิ้ง, สวด, เทศน์), กลอนลำ (โคลง), กลอนร้อง (กลอนหัวเดียวในเพลงโต้ตอบและกลอนเพลงฯ) จะสืบเนื่องเป็นกลอนสุภาพหรือกลอนแปดแบบสุนทรภู่ทุกวันนี้ •