ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 13 - 19 ธันวาคม 2567 |
---|---|
คอลัมน์ | อะไร(แม่ง)ก็เป็นศิลปะ |
ผู้เขียน | ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์ |
เผยแพร่ |
พิม สุทธิคำ ศิลปินผู้สร้างสนทนา
ระหว่างช่างปั้นหม้อจากสองกาลเวลา
ในเทศกาลศิลปะ บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2024
ในตอนนี้เราขอนำเสนอเรื่องราวของศิลปินอีกคนที่ร่วมแสดงงานในเทศกาลศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2024 ศิลปินผู้นี้มีชื่อว่า พิม สุทธิคำ ศิลปินเซรามิกร่วมสมัยผู้มีชื่อเสียงโดดเด่นในวงการเซรามิกสากล ด้วยความสนใจความเป็นแก่นแท้ของ “ดิน” ซึ่งเป็นวัตถุดิบหลักในการสร้างงาน
พิมมักท้าทายตนเองในการก้าวข้ามข้อจำกัดทางเทคนิคและวัสดุ สู่วิธีคิดและรูปแบบของงานเซรามิกร่วมสมัย
พิมยึดถือว่าวัสดุและทักษะการจัดการกับวัสดุเป็นเรื่องสำคัญ เพราะเธอเชื่อว่า กระบวนการสร้างงานด้วยมือคืออำนาจของปัจเจกบุคคล ปฏิสัมพันธ์ระหว่างช่างปั้นกับดิน และคุณสมบัติตามธรรมชาติของดิน เป็นเรื่องที่ไม่อาจแยกขาดออกจากแนวความคิดทางศิลปะ
เธอยังสนใจรูปทรงของวัตถุในระบบอุตสาหกรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อวัตถุเหล่านั้นตกอยู่ในสภาวะผุกร่อน หรือถูกกลืนกลายไปในธรรมชาติ เพราะนั่นแสดงให้เห็นถึงการยื้อยุดระหว่างความพยายามของมนุษย์ในการสร้าง ควบคุม หรือกำหนดสิ่งต่างๆ โดยต่อสู้กับการกลืนกินอย่างไร้ความปราณีของกาลเวลา
เธอมักพิจารณาความสัมพันธ์ระหว่างตนเองและสิ่งภายนอกผ่านกระบวนการทำงานกับดิน และใช้ดินในการอธิบายปรากฏการณ์ที่เธอต้องการทำความเข้าใจ ผลงานของเธอมีตั้งแต่ภาชนะถ้วยชาม ไปจนถึงศิลปวัตถุ อย่าง ประติมากรรม ศิลปะจัดวาง ศิลปะเฉพาะพื้นที่ และโครงการศิลปะที่สร้างปฏิสัมพันธ์กับผู้ชม
ในเทศกาลศิลปะ บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ ครั้งนี้ พิมนำเสนอผลงาน A Conversation with a Potter ที่ได้แรงบันดาลใจจากการที่เธอเติบโตและอยู่อาศัยในพื้นที่ใจกลางเมืองหลวง ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงของเมืองใหญ่
พิมตั้งข้อสังเกตต่อการก่อสร้างโครงการขนาดใหญ่ ที่ขุดเจาะผืนดินลึกลงไปจากพื้นถนน จนพบดินเหนียวในชั้นดินลึก ซึ่งมีลักษณะไม่ต่างกับดินเหนียวที่มนุษย์ยุคก่อนประวัติศาสตร์นำมาใช้ทำภาชนะดินเผา ดินเหนียวแบบเดียวกันนี้นี่เอง ที่ก่อตัวขึ้นจากการทับถมของซากพืชซากสัตว์ผ่านกาลเวลามานับล้านปี กลายสภาพเป็นชั้นดิน ก่อนที่เมืองในยุคสมัยใหม่จะถูกสร้างขึ้น ดินเหล่านี้เชื่อมต่อเป็นผืนเดียวกัน จากแผ่นเปลือกโลกเดียวกันกับแหล่งวัฒนธรรมโบราณ ทางภาคตะวันตกของประเทศไทย
พิมนำดินเหนียวที่อยู่ลึกลงไปใต้ชั้นดินใต้โครงการก่อสร้างในพื้นที่ประวัติศาสตร์ของกรุงเทพฯ และโครงการรถไฟฟ้าใต้ดินในจุดต่างๆ ของกรุงเทพฯ มาใช้เป็นวัตถุดิบในการสร้างภาชนะเซรามิกขึ้นด้วยมือและปลายนิ้วของเธอ
เหล่าบรรดาภาชนะที่มีรูปร่างหน้าตาคล้ายภาชนะดินเผาในยุคก่อนประวัติศาสตร์ และภาชนะที่มีรูปทรงที่สะท้อนวิถีชีวิตในยุคปัจจุบันเหล่านี้ เป็นเสมือนสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนบทสนทนาระหว่างช่างปั้นหม้อจากสองกาลเวลา ที่เชื่อมโยงความทรงจำของผืนดิน ด้วยดินจากแผ่นเปลือกโลกเดียวกัน ผ่านกาลเวลาและสถานที่ที่แตกต่างกัน
“งานชุดนี้เราทำเป็นภาชนะเซรามิก โดยใช้ดินที่เสาะหาจากสถานที่ต่างๆ ในกรุงเทพฯ ด้วยความที่เราทำงานกับวัตถุดิบที่หาได้จากผืนแผ่นดินโดยตรง แต่ในปัจจุบันเรามองไม่เห็นดินเหล่านี้แล้ว เพราะมันกลายเป็นพื้นที่เมืองไปหมด แต่เรามีความปรารถนาบางอย่างที่จะเชื่อมโยงกับดินเหล่านี้ให้ได้ เราก็เลยไปหาในสถานที่ที่มีการขุดเจาะพื้นดิน เช่น โครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าใต้ดิน และสถานที่ก่อสร้างต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในพื้นที่ตั้งของพื้นที่แสดงงานนี้อย่าง โครงการ วัน แบงค็อก (One Bangkok) เราก็มาเก็บดินในตอนที่กำลังมีการก่อสร้างอยู่ นำมาสร้างเป็นชิ้นงาน เพื่อพยายามทำความเข้าใจว่าคนเราทำสิ่งของต่างๆ ขึ้นมาทำไม ทำไมเขาต้องตั้งใจทำสิ่งเหล่านี้ขนาดนั้น เพื่อให้มันอยู่ได้ยืนยาวกว่าตัวเอง”
ผลงานศิลปะในรูปของภาชนะเซรามิกที่พิมสร้างขึ้นมา นอกจากจะมีหน้าตาคล้ายกับ หม้อสามขา ภาชนะโบราณที่ถูกค้นพบจากแหล่งโบราณสถานแล้ว ภาชนะเหล่านี้ยังถูกจัดวางล้อกับลักษณะของหลุมศพโบราณที่ถูกค้นพบตามแหล่งอารยธรรมก่อนประวัติศาสตร์อีกด้วย
“ภาชนะเซรามิกชุดนี้เราทำขึ้นโดยได้แรงบันดาลใจมาจากหม้อสามขา ภาชนะรูปแบบเฉพาะที่ถูกค้นพบในแหล่งวัฒนธรรมบ้านเก่า ในจังหวัดกาญจนบุรี และแหล่งโบราณคดีหนองราชวัตร ในจังหวัดสุพรรณบุรี ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีความต่อเนื่องเชื่อมโยงกัน
เราอยากเปรียบเทียบว่าแหล่งวัฒนธรรมไหนที่สามารถเชื่อมโยงกับผืนแผ่นดิน แล้วพวกเขาทำได้อย่างไร ลักษณะของงานของพวกเขานั้นน่าสนใจ พอเราได้ไปเห็นแล้ว เราก็รู้สึกว่า งานฝีมือ (Craftsmanship) นั้นสำคัญต่อมนุษยชาติมากๆ เพราะมันแสดงให้เห็นถึงความปรารถนาของมนุษย์ที่จะทำอะไรบางอย่างไปจนตาย เราก็เลยอยากทำขึ้นมาบ้าง”
“เราอยากตอกย้ำว่าการสร้างสิ่งต่างๆ ด้วยมือนั้นมีความสำคัญอย่างไร เราจึงวางวัตถุดิบที่เป็นดินเปรียบเทียบกับภาชนะที่ถูกปั้นขึ้นมาให้ดู ว่าจากก้อนดินก้อนหนึ่ง พอถูกมือปั้นขึ้นมาแล้วจะมีมิติรูปทรงได้อย่างไร ก้อนดินและภาชนะนี้มีน้ำหนักเท่าๆ กัน เพียงแค่ผ่านกระบวนการจำนวน 6,451 ครั้ง ที่ทำให้ก้อนดินกลายเป็นภาชนะ หลักฐานก็คือรอยนิ้วมือที่หลงเหลืออยู่บนภาชนะชิ้นนี้ เราต้องการสื่อถึงสภาพที่แท้จริงของผืนดินตรงนี้ ว่ามีสิ่งนี้อยู่ และเราสามารถสร้างวัตถุบางอย่างให้ถูกค้นพบได้จากการทำงานด้วยมือ”
สิ่งที่น่าสนใจก็คือ แทนที่พิมจะเลือกใช้เทคโนโลยีปัจจุบันในการสร้างงานเซรามิกเพื่อความสะดวกรวดเร็ว เธอกลับย้อนกลับไปใช้วิธีการแบบเดียวกันกับในยุคสมัยที่หม้อสามขาถูกสร้างขึ้น ด้วยการพยายามเลียนแบบกระบวนการทำงานแบบโบราณ อย่างการใช้มือขึ้นรูป ไปจนถึงกระบวนการเผาเตาฟืน ราวกับกำลังจำลองโบราณวัตถุเหล่านั้นให้เกิดขึ้นมาใหม่ในยุคปัจจุบัน
“เหตุผลที่เราทำงานที่สร้างบทสนทนาโต้ตอบกับภาชนะหม้อสามขา เพราะเรารู้สึกว่า ในฐานะที่เราดำรงอยู่ในบทบาทของคนทำงานเครื่องปั้นดินเผาจนถึงปัจจุบันนี้ เรายังปรารถนาสิ่งเดียวกันกับคนในยุคโบราณ คือการสร้างภาชนะ เราจึงใช้วัตถุดิบที่หยิบฉวยมาจากพื้นที่ใกล้ตัวมากๆ และใช้การตกแต่งที่ไร้การตกแต่ง คือใช้เนื้อดินเป็นตัวสร้างรูปทรงและรายละเอียด ไม่มีการวาดลวดลาย หรือการขูดขีดเพื่อสร้างพื้นผิวแต่อย่างใด สีของภาชนะก็คือสีตามธรรมชาติของเนื้อดิน ถึงแม้จะเป็นดินที่มาจากสถานที่ที่แตกต่างกัน และทำในกระบวนการที่ต่างกัน แต่พอทำออกมาก็เป็นสีเดียวกันหมด เราอยากจะแสดงความเป็นเนื้อแท้ของวัสดุชนิดนี้ออกมาให้มากที่สุด”
นอกจากผลงานภาชนะหม้อสามขาแล้ว งานชุดนี้ยังมีภาชนะเซรามิกอีกชุดที่มีลักษณะคล้ายฟันเฟืองของเครื่องจักรกลในระบบอุตสาหกรรมจัดแสดงอยู่ในอีกห้องแสดงงานด้วย
“ที่งานชุดนี้ดูเหมือนเครื่องจักร เพราะเป็นอิทธิพลของคนในยุคนี้ที่เราเห็นอยู่ทุกวัน อีกอย่าง การทำรูปทรงแบบนี้ในเชิงจิตใต้สำนึกของเรา คือการที่เราอยากเพิ่มพื้นผิวให้มีพื้นที่ประทับรอยนิ้วมือมากยิ่งขึ้นอีก ถ้าดูใกล้ๆ จะเห็นว่าภาชนะแต่ละชิ้นมีรอยนิ้วมือเยอะมาก ทั้งหมดทั้งมวลคือ เราแค่รู้สึกว่าเราต้องการเชื่อมโยงกับผืนแผ่นดินด้วยการกระทำบางอย่าง”
ปรมพร ศิริกุลชยานนท์ ภัณฑารักษ์ของเทศกาลศิลปะ บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ ผู้ดูแลผลงานชุดนี้ กล่าวเสริมท้ายว่า
“การที่รูปทรงของงานชุดนี้มีความเป็นอุตสาหกรรมมากๆ นั้นแสดงให้เห็นถึงบทสนทนาหลายอย่าง ทั้งวัตถุดิบอย่างดิน ที่ได้มาจากเขตกรุงเทพฯ ชั้นใน ที่มีความเป็นเมืองสูง มีอภิมหาโครงการยักษ์ หรือแม้แต่การขนส่งมวลชนขนาดใหญ่ อย่างรถไฟฟ้าใต้ดิน ซึ่งเป็นภาพแทนของความเป็นปัจจุบันที่มุ่งไปสู่ความเป็นอุตสาหกรรมอันแข็งกร้าว กับภาชนะดินเผา ซึ่งเป็นงานผีมือที่มีความละเอียดอ่อน แตกง่าย ไปจนถึงการเป็นช่างปั้นหม้อในศตวรรษที่ 21 กับช่างปั้นหม้อในยุคก่อนประวัติศาสตร์ เพราะฉะนั้น งานชุดนี้จึงมีบทสนทนาที่ทับซ้อนกันหลายชั้นมาก”
ผลงาน A Conversation with a Potter โดย พิม สุทธิคำ จัดแสดงในเทศกาลศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2024 ตั้งแต่วันที่ 24 ตุลาคม 2567-5 กุมภาพันธ์ 2568 ณ พื้นที่แสดงงาน วัน แบงค็อก (One Bangkok) อาคาร The Storeys ชั้น 2 เปิดทำการ วันอังคาร-อาทิตย์ เวลา 12:00-20:00 น. ปิดทำการวันจันทร์ (เข้าชมฟรี) ตรวจสอบรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://www.bkkartbiennale.com/
ขอบคุณภาพจากศิลปิน BAB 2024 ภาพถ่ายโดย Arina Matvee •
อะไร(แม่ง)ก็เป็นศิลปะ | ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022