ประวัติศาสตร์ศิลปะไทยสำนักศิลปากร ยุคต้นสงครามเย็น (8)

ชาตรี ประกิตนนทการ

พื้นที่ระหว่างบรรทัด | ชาตรี ประกิตนนทการ

 

ประวัติศาสตร์ศิลปะไทยสำนักศิลปากร

ยุคต้นสงครามเย็น (8)

 

ประเด็นสุดท้ายที่อยากนำเสนอคือ อะไรคือจุดเน้นหลักของงานเขียนประวัติศาสตร์ศิลปะสำนักศิลปากร ภายใต้บรรยากาศโลกยุคต้นสงครามเย็น ที่ชาติไทยได้กลายมาเป็นเพียงชาติเล็กๆ ที่ต้องนำตัวเองเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของพันธมิตรโลกเสรีและต้องทำสงครามต่อต้านคอมมิวนิสต์

งานศึกษาของนักวิชาการหลายท่านต่างชี้ให้เห็นตรงกันว่า ชาตินิยมไทยยุคหลังสงครามโลกไม่ได้ทำไปบนฐานการคิดที่จะนำชาติไปสู่การเป็นมหาอำนาจอีกต่อไป

แต่เป็นการปรับจุดยืนของชาติใหม่โดยเน้นไปที่การรักษา “เอกราช” และ “อิสรภาพ” ของชาติตนท่ามกลางมหาอำนาจต่างๆ แทน

ความเป็นไทยทางวัฒนธรรมจะไม่แสดงภาพพจน์ของความเป็น “สากลนิยม” มากเท่าในช่วงสงครามโลก มีลักษณะที่หวนย้อนกลับไปยกลักษณะแบบแผนจารีตประเพณีในด้านต่างๆ รวมไปถึงวัฒนธรรมแบบท้องถิ่นของชาวบ้านในชนบทที่ไม่เคยได้รับการพูดถึงในฐานะส่วนหนึ่งของความเป็นไทยกระแสหลักมาก่อนในอดีตก็เริ่มถูกนำมาอธิบายในฐานะส่วนหนึ่งของความเป็นไทยและถูกยกเชิดชูใช้เป็นเครื่องมือในการแสดงออกซึ่งตัวตนทางสังคมของตนเองในยุคต้นสงครามเย็น

ในงานศึกษาเรื่อง “หลวงวิจิตรวาทการกับบทละครประวัติศาสตร์” ประอรรัตน์ บูรณมาตร์ สรุปเอาไว้ว่าในครึ่งหลังของทศวรรษ 2490 จอมพล ป.พิบูลสงคราม แม้จะกลับมาใช้เครื่องมือทางศิลปวัฒนธรรมเพื่อปลูกฝังความรักชาติอีกครั้งเพราะเชื่อว่าเป็น “…ลัทธิอันเดียวในโลกที่น่าจะเป็นป้อมปราการป้องกันความระบาดของคอมมิวนิสต์…” โดยมีการรื้อฟื้นสภาวัฒนธรรมแห่งชาติโดยตั้งเป็นกระทรวงวัฒนธรรมและขยายงานออกไปยังส่วนภูมิภาค

และแม้จะมีคำสั่งให้หลวงวิจิตรวาทการ รื้อฟื้นละครศิลปากรขึ้นมาอีกครั้งในนามของละครชุดที่เรียกว่า “อานุภาพ” ต่างๆ หลายเรื่อง เช่น อานุภาพพ่อขุนรามคำแหง พ.ศ.2497, อานุภาพแห่งความเสียสละ พ.ศ.2498, อานุภาพแห่งความรัก พ.ศ.2499 และ อานุภาพแห่งศีลสัตย์ พ.ศ.2500

แต่การกลับมาของละครปลุกใจทั้งหลายกลับมิได้ใช้แนวคิดมหาอาณาจักรไทยอีกต่อไป แต่เปลี่ยนไปเน้นการต่อต้านลัทธิคอมมิวนิสต์ผ่านเรื่องเล่าว่าด้วยการให้คนไทยจะต้องพยายามรักษา “เอกราช” ของชาติเอาไว้ให้ได้

ตัวอย่างการนำเสนอภาพคู่ตรงข้ามระหว่างโลกเสรี (ที่มาพร้อมกับประเพณีไทยแบบดั้งเดิม) กับโลกคอมมิวนิสต์ที่ทุกคนต้องตกเป็นทาส ในโปสเตอร์ยุคสงครามเย็น

การหันมาเน้นประเด็นนี้เป็นเสมือนทางออกของรัฐไทยที่จำเป็นต้องยอมรับว่าตนเองเป็นชาติเล็ก เป็นทางออกในการสร้างความรู้สึกชาตินิยมได้โดยไม่ต้องสร้างมหาอาณาจักรไทย

ความรู้สึกนี้สัมพันธ์กับสภาวะหลังสงครามโลกที่นำมาซึ่งเศรษฐกิจตกต่ำอย่างมากภายในประเทศ ความไร้ระเบียบและความไม่ศักดิ์สิทธิ์ของกฎหมาย โจรผู้ร้ายชุกชุมและขยายตัวทั้งในเมืองและชนบทยุคหลังสงคราม ผนวกเข้ากับภาพลักษณ์ที่ตกต่ำลงของ จอมพล ป.พิบูลสงคราม จากการนำประเทศเข้าสู่สงครามโลกด้วยการเป็นพันธมิตรกับญี่ปุ่นจนทำให้ประเทศไทยเกือบตกเป็นประเทศแพ้สงคราม

แม้หลังสงครามกลุ่มคณะราษฎรสายของปรีดี พนมยงค์ จะสามารถขึ้นมามีบทบาทนำทางการเมืองได้แทนด้วยสถานะของการเป็นหนึ่งในผู้นำ “เสรีไทย”

แต่เมื่อเกิดเหตุการณ์สวรรคตของ รัชกาลที่ 8 ในปี พ.ศ.2489 ปรีดี พนมยงค์ ก็ถูกกล่าวหาว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์นั้นและต้องจบบทบาททางการเมืองของตนเองลงอย่างรวดเร็ว

และตามมาด้วย “การรัฐประหาร 2490” ซึ่งถือเป็นการปิดฉากบทบาท “คณะราษฎร” ในสังคมการเมืองไทย

บริบทการเมืองภายในเหล่านี้ได้นำมาซึ่งคำถามต่อนโยบายทั้งหลายของกลุ่มคณะราษฎร, การปฏิวัติ 2475 และแน่นอนรวมไปถึงอุดมการณ์ชาตินิยมแบบที่เน้นแนวคิดมหาอาณาจักรไทย

ขณะเดียวกันการหันมาเน้นประเด็น “เอกราช” และ “อิสรภาพ” ของชาติแทนในยุคหลังสงครามโลกยังสัมพันธ์สอดคล้องกับการนำมาใช้เป็นเครื่องมือปลูกฝังความคิดทางการเมืองให้แก่คนในชาติเพื่อใช้ต่อต้านการคุกคามจากคอมมิวนิสต์

และแสดงตัวเป็นส่วนหนึ่งของพันธมิตร “โลกเสรี” (ซึ่งเป็นบทบาทอย่างใหม่ของประเทศไทยยุคหลังสงคราม) ไปพร้อมกัน

ละครอานุภาพพ่อขุนรามคำแหง พ.ศ.2497
ที่มา : เพจศิลปวัฒนธรรม

“โลกเสรี” เป็นคำที่ถูกนำเสนอในฐานะอุดมการณ์ทางการเมืองครั้งแรกในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 มีความหมายสื่อถึงประเทศฝ่ายสัมพันธมิตรที่อยู่ตรงข้ามกับฝ่ายอักษะ คำดังกล่าวยังถูกใช้โดยสื่อนัยยะของคำว่า “เสรี” (free) ที่หมายถึงการเป็นอิสระไม่ตกเป็นทาส

ความหมายนี้ถูกสื่อสารเป็นครั้งแรกๆ ในภาพยนตร์เรื่อง Prelude to War ภาพยนตร์ 1 ใน 7 เรื่องของภาพยนตร์ชุด Why We Fight ซึ่งเป็นภาพยนตร์โฆษณาชวนเชื่อในการทำสงครามของสหรัฐในสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยในเรื่องมีการนำเสนอภาพของ “โลกเสรี” ในลักษณะดาวเคราะห์สีขาวตรงข้ามกับดาวเคราะห์สีดำที่ถูกเรียกว่า “โลกของทาส” (slave world)

ภาพยนตร์พยายามสื่อโลกเสรีให้เป็นลักษณะซีกโลกตะวันตกที่นำโดยสหรัฐและประเทศในยุโรปตะวันตก ส่วนโลกแห่งทาสถูกนำเสนอให้มีลักษณะของซีกโลกตะวันออกที่ถูกครอบครองโดยนาซีเยอรมันและจักรวรรดิญี่ปุ่น (ภาพยนตร์เรื่องนี้กำกับการแสดงโดย Frank Capra ออกฉายครั้งแรกเมื่อ 27 พฤษภาคม พ.ศ.2485)

พอหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ศัพท์คำว่า “โลกเสรี” ก็ถูกปรับนิยามใหม่และสวมเข้ามาในบริบทยุคต้นสงครามเย็น โดยหมายถึงกลุ่มประเทศที่ต่อต้านลัทธิคอมมิวนิสต์ที่มีสหรัฐเป็นแกนนำ ส่วนคำว่า “โลกของทาส” ก็ถูกสวมทับลงบนประเทศคอมมิวนิสต์ที่มีโซเวียตและจีนเป็นแกนนำแทน

คำว่า “โลกเสรี” ยังมีอีกนิยามหนึ่งที่สื่อถึงการเป็นประเทศที่ยึดถืออุดมการณ์เสรีประชาธิปไตยและเศรษฐกิจแบบทุนนิยมที่ผูกโยงเข้ากับนัยยะของการมีเสรีภาพในทุกๆ ด้านไม่ว่าจะเป็นเสรีภาพในการพูด การแสดงออก เสรีภาพในการดำรงชีวิต และนับถือศาสนา ฯลฯ

ซึ่งก็เช่นเดียวกันคือเป็นภาพที่ถูกสร้างขึ้นในลักษณะคู่ตรงข้ามกับระบอบคอมมิวนิสต์ที่ไม่มีเสรีภาพในการพูด การแสดงออก และไม่มีศาสนา เป็นภาพของสังคมที่ไม่ต่างจากโลกของทาส

โปสเตอร์อวสานอินทรีแดง หนึ่งในภาพยนตร์ต่อต้านคอมมิวนิสต์ในยุคสงครามเย็น
ที่มา : เพจ Thai Movie Posters

ความหมายของโลกที่แบ่งออกเป็นคู่ตรงข้าม “เสรี-ทาส” เป็นสิ่งที่ถูกสร้างให้เกิดขึ้นผ่านสื่อทางวัฒนธรรมในทุกด้าน ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และประเทศไทยก็หนีไม่พ้นอิทธิพลของความพยายามปลูกฝังความคิดดังกล่าวเช่นเดียวกัน

จอมพล ป.พิบูลสงคราม ได้ก่อตั้งกระทรวงวัฒนธรรมขึ้นในปี พ.ศ.2495 ซึ่งบทบาทหลักอย่างหนึ่งของหน่วยงานนี้คือส่งเจ้าหน้าที่ไปตามโรงเรียนต่างๆ จัดรายการวิทยุ แจกเอกสาร และออกหน่วยเฉพาะกิจเดินทางไปยังที่ต่างๆ เพื่อทำการปลูกฝังความเป็นไทยในด้านต่างๆ และนำเสนอภาพด้านลบของลัทธิคอมมิวนิสต์

โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้วัฒนธรรมบันเทิงของชาวบ้านเป็นสื่อกลาง เช่น ลิเกที่มีเนื้อหาต่อต้านคอมมิวนิสต์ และการสร้างภาพยนตร์ เช่น “ทางอเวจี” โดย เผ่า ศรียานนท์ ในปี พ.ศ.2499

ในยุคจอมพลสฤษดิ์ และจอมพลถนอม ในเวลาต่อมาก็มีการสร้างอีกหลายเรื่อง เช่น อวสานอินทรีแดง ฉายปี พ.ศ.2506, อินทรีทอง ฉายปี พ.ศ.2513, และ หนักแผ่นดิน ฉายปี พ.ศ.2520 เป็นต้น เนื้อหาภาพยนตร์ล้วนแฝงไปด้วย “สาร” ที่ชี้ให้เห็นความเลวร้ายกดขี่ในโลกคอมมิวนิสต์และคนไทยทุกคนควรต้องต่อสู้ในทุกด้านเพื่อให้ไทยเรามีเอกราชและอิสรภาพจากคอมมิวนิสต์

(ดูเพิ่มในบทความ The Man with the Golden Gauntlets : Mit Chaibuncha’s Insi thong and the Hybridization of Red and Yellow Perils in Thai Cold War Action Cinema โดย Rachel V. Harrison)

แบบร่างเจดีย์ยุทธหัตถี รูปทรงดอกบัวตูม ตามแนวคิดรัชกาลที่ 6 ที่ไม่ได้สร้าง

หากมองย้อนกลับมาที่งานเขียนประวัติศาสตร์สำนักศิลปากรยุคนี้ในฐานะเครื่องมือต่อสู้ภัยคอมมิวนิสต์ เราก็จะเห็นทิศทางงานเขียนที่สอดรับไปด้วยกันกับงานด้านศิลปะวัฒนธรรมแขนงอื่นๆ ในช่วงนั้น

ในยุคนั้น เราจะเริ่มพบการสร้างคำอธิบายโบราณวัตถุสถานในอดีตว่าถูกสร้างขึ้นเพื่อเป็นสัญลักษณ์ของ “เอกราช” และ “อิสรภาพ” ของชาติไทย ซึ่งเป็นความหมายใหม่ที่มิได้ถูกเน้นย้ำมาก่อนในงานเขียนยุคก่อนหน้านี้

ตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดก็คืองานเขียนเกี่ยวกับ “เจดีย์ทรงดอกบัวตูม” ในยุคสงครามเย็น

เป็นที่ทราบดีในวงวิชาการทางประวัติศาสตร์ศิลปะมานานแล้วนะครับว่า ความสนใจเกี่ยวกับรูปแบบเจดีย์ทรงนี้ไม่มีปรากฏมาก่อนเลยจวบจนกระทั่งราวทศวรรษที่ 2460 โดยรัชกาลที่ 6 ที่ทรงพยายามจะนำเจดีย์ทรงนี้มาเป็นต้นแบบสถาปัตยกรรมหลายแห่งซึ่งเป็นหมุดหมายสำคัญของการให้ความหมายแก่เจดีย์รูปทรงนี้ในฐานะสัญลักษณ์ของชาติ แต่กระนั้นก็ดูไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร เพราะไม่มีอาคารถาวรแห่งใดเลยที่ถูกสร้างขึ้นในรูปทรงนี้

หรือแม้แต่ยุคที่เน้นอุดมการณ์ชาตินิยมเป็นอย่างมากในสมัย จอมพล ป.พิบูลสงคราม ที่สุโขทัยได้กลายมาเป็นยุคทองและอุดมคติของความเป็นไทยโดยสมบูรณ์แล้ว แต่ก็ยังไม่ปรากฏความสนใจในเจดีย์รูปแบบนี้มากเท่าที่ควร โดยในหนังสือ “วัฒนธรรมสุโขทัย” ของหลวงวิจิตรวาทการ พ.ศ.2484 จะยกตัวอย่าง ถนนพระร่วง, พระปางลีลา, จารึกหลักที่ 1 และสังคโลก เป็นหลักมากกว่า

แต่ความเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจนจะเกิดขึ้นเมื่อเข้าสู่ยุคต้นสงครามเย็น