โอเด้ง (おでん) ไม่กลับมาแล้ว…

ย่างเข้าฤดูหนาวแล้ว เมนูอาหารยอดฮิตของคนญี่ปุ่นคือ โอเด้ง (おでん) อาหารต้มซุปในหม้อร้อน มีเครื่องหลายอย่าง ลูกชิ้นปลาแบบต่างๆ ทั้งลูกกลมและแบบแท่ง ฟองเต้าหู้ หัวไชเท้าต้ม ผักกะหล่ำยัดไส้ ของทอดเสียบไม้ ไข่ต้ม บุกหั่นชิ้น เผือกต้ม เป็นต้น ต้มจนเข้าเนื้อชุ่มฉ่ำในน้ำซุปจากปลาคัตสึโอะแห้ง สาหร่ายคอมบุ และซี่อิ๊วญี่ปุ่น ต้มใส่ในหม้อใหญ่ๆ เวลาขายจะให้ลูกค้าเลือกหยิบตามชอบใจ แล้วตักน้ำซุปราด

โอเด้ง นับเป็นเมนูยอดฮิตประจำฤดูหนาวของร้านสะดวกซื้อหลายแบรนด์ดังในญี่ปุ่น มีคนชอบแวะเวียนไปชิมโอเด้งอย่างเอร็ดอร่อยของร้านสะดวกซื้อแต่ละแบรนด์ เพราะต่างก็มีรสชาติไม่เหมือนกัน โอเด้งร้อนๆ กินสู้อากาศหนาวเย็น มีเมนูให้เลือกหลากหลาย ราคาไม่แพง พออิ่มท้องได้

แต่เมื่อโควิด-19 มาเยือน จำนวนร้านสะดวกซื้อที่ทำโอเด้งขายก็ลดลง และลดลงเรื่อยๆ ติดต่อกันเพราะโควิด-19 มาเยือนนานหลายปี ร้านค้าต้องมีมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อโรคผ่านละอองในอากาศที่อาจปลิวมาตกในหม้อโอเด้ง จึงทำฉากพลาสติกใสกั้นระหว่างหม้อกับลูกค้า หรือปิดฝาหม้อโอเด้ง

ทำให้ “เสน่ห์” ของโอเด้งหายไป เสน่ห์ที่ “กลิ่น” อันหอมหวนยั่วน้ำลายของน้ำซุป เวลาผลักประตูร้านเข้ามา อดไม่ได้ที่จะตรงรี่มาที่หม้อโอเด้ง

 

แม้การแพร่ระบาดของโควิด-19 ผ่านพ้นไปแล้ว แต่ร้านสะดวกซื้อต่างๆ ก็ยังไม่ทำโอเด้งออกจำหน่าย โอเด้งของร้านสะดวกซื้อในญี่ปุ่นพ่ายแพ้ต่อโควิด-19 ล้มหายตายจากไปเสียแล้ว ในโตเกียว แม้ร้านสะดวกซื้อแบรนด์ดังๆ ที่อยู่ใกล้สถานีใหญ่ๆ แหล่งผู้คนพลุกพล่านวันละแสนคน ก็แทบไม่มีโอเด้งร้อนๆ ในหม้อให้เห็นแล้ว

พนักงานในร้านบอกว่า บริษัทแม่อยากให้ทำโอเด้งขาย แต่เจ้าของร้านสาขายอมรับว่าตอนนี้โอเด้งขายยาก ไม่ทำกำไรแล้ว เหลือทิ้งมากกว่าจำนวนที่ขายได้ในแต่ละวันเสียอีก

การทำโอเด้งก็ต้องใช้เวลามาก เตรียมอุปกรณ์และเคี่ยวน้ำซุปนานกว่าจะได้ที่ เตรียมตัดแต่งเครื่องต่างๆ ต้องคอยดูช่วงเวลาเหมาะสมของเครื่องแต่ละชนิดที่ใส่ลงไปต้ม คอยปรับไฟแก่-อ่อน เป็นงานที่ต้องใช้ทั้งเวลาและแรงงานมาก ต้องใช้แรงงานหนุ่มสาวที่สู้งานหนักได้

ธรรมดาโอเด้งจะขายดีในช่วงกลางวันจนถึงมืดค่ำ เวลาที่ขายดีมากคือ 4 โมงเย็นถึง 1 ทุ่ม แต่ถ้าเป็นวันฝนตก ลูกค้ารีบซื้อรีบออกไป หรือไม่แวะร้านเลย ยิ่งเป็นร้านที่อยู่ใกล้ป้ายรถเมล์ที่ต้องต่อรถกลับบ้าน ลูกค้าก็ไม่อยากประคับประคองโอเด้งไม่ให้หก และยังต้องระวัง “กลิ่น” หอม ยั่วน้ำลายรบกวนคนในรถอีก เลยไม่ซื้อดีกว่า

โอเด้งในหม้อก็รอเก้อสิ… ต้องเททิ้งไป ไม่ขายดีกว่า ดังนั้น พื้นที่ข้างๆ แคชเชียร์จึงเป็นที่วางอาหารทอด นึ่งร้อนๆ แทน ซึ่งทำหมุนเวียนออกมาขายได้เร็วและง่ายกว่าโอเด้ง

ร้านลอว์สันเข้าใจพฤติกรรมของลูกค้าที่เปลี่ยนแปลงไปหลังจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ลูกค้าชอบของร้อนๆ ที่ทำเสร็จใหม่ๆ เหมือนออกจากครัวในร้านอาหาร จึงต้องคิดเมนูใหม่มาแทนที่โอเด้ง โดยเฉพาะต้องเอาใจลูกค้าผู้หญิงที่มีมากกว่า 60% ที่เคยซื้อโอเด้ง สลัดผัก เป็นเมนูมื้อเย็นหลังเลิกงาน

ส่วนแฟมิลี่มาร์ทก็ยอมรับว่ามีลูกค้าผู้หญิงมากกว่าลูกค้าผู้ชาย โดยเฉพาะวัย 20 ปีมีมากที่สุด ถัดไปคือ วัย 40 และ 50 ปี นิยมซื้อโอเด้ง 3-4 ชิ้น พร้อมกับไก่ทอดและข้าวปั้น เป็นต้น

ตอนนี้คนที่อยากกินโอเด้ง ต้องไปกินที่ไหน?

 

โอเด้งไปอยู่ในร้านที่ขายโอเด้งโดยเฉพาะแล้ว ตัวอย่างเช่น ร้านโอเด้ง ทาเคชิ (おでんたけし) แถวอิเคบุคุโระ โตเกียว ซึ่งเปิดเมื่อเดือนเมษายน 2019 ปัจจุบันมี 27 สาขา และเพิ่งเปิดสาขาในภูมิภาค คือ เซนได เมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา

มีเมนูเด่น คือโอเด้งที่มีน้ำซุปสองชนิดให้เลือก น้ำซุปจากปลาทะเลโทบิอุโอะ (flying fish) ตากแห้งและน้ำซุปจากไก่ให้เลือก ส่วนเครื่องต่างๆ ไม่ได้มีแต่หัวไชเท้า ไข่ต้ม ลูกชิ้น เต้าหู้ทอด บุกหั่นชิ้น แบบทั่วๆ ไปเท่านั้น แต่มีเครื่องที่เปลี่ยนไปตามฤดูกาลคอยบริการด้วย

อย่างนี้ถูกใจลูกค้าขี้เบื่อเมนูเดิมๆ และยังมีเมนูกับแกล้มด้วย ร้านจึงแน่นตลอด

นอกจากนี้ ยังมีร้านอาหารดังพวกเส้นอุด้ง หันมาเน้นเมนูโอเด้งเพิ่ม เช่น ร้านฮานามารุ อุด้ง (はなまるうどん) ที่มีสาขามากถึง 418 สาขา และร้าน สึเคซัน อุด้ง (資さんうどん) จังหวัดฟุคุโอกะและแถบคิวชูทางตอนใต้ขยายไปถึงแถบคันไซด้วย มี 75 สาขา และมีแผนจะเปิดร้านในโตเกียว

มีเมนูหลักคือ อุด้ง เส้นโซบะ ข้าวหน้าต่างๆ และโอเด้งที่มีน้ำซุปปรุงพิเศษสูตรเฉพาะของร้าน พร้อมด้วยเครื่องโอเด้งอีกมากมายตามฤดูกาล ราคาไม่แพง เริ่มต้นเพียงชิ้นละ 120 เยน (27 บาท)

ลูกค้ามาอุดหนุนไม่ขาดสาย ในฤดูหนาวไม่มีอะไรสุขใจเท่ากินอาหารเส้นร้อนๆ พร้อมกับโอเด้งหลายชนิดในน้ำซุปรสกลมกล่อมอีกแล้ว

ส่วนร้านขายโอเด้งที่เจ้าของร้านทำเองขายเองอยู่ตามชุมชน ไม่มีร้านสาขา ต้องแบกรับภาระต้นทุนราคาอาหารเพิ่มสูงขึ้นตลอด เนื้อปลาทำลูกชิ้น ไข่ไก่ สาหร่าย ปลาแห้ง เต้าหู้ น้ำมันสำหรับทอดอาหาร เป็นต้น ต้นทุนสูงแต่กำไรน้อยลง จะขึ้นราคาก็เกรงใจลูกค้าประจำในละแวกใกล้เคียงที่อุดหนุนกันมายาวนาน สถานการณ์อย่างนี้จะยืนหยัดอยู่ได้อีกนานเท่าใด

ตอนนี้ โอเด้งจึงไปอยู่ในร้านอาหารที่แต่เดิมไม่ได้ทำโอเด้งขาย แต่คว้าโอกาสที่โอเด้งหายไปจากร้านสะดวกซื้อต่างๆ ในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 มาเน้นเมนูโอเด้งซึ่งเป็นอาหารยอดนิยมในช่วงฤดูหนาว คิดค้นสูตรปรุงน้ำซุปให้มีรสชาติเป็นเอกลักษณ์และถูกใจลูกค้า

โอเด้งที่ร้านสะดวกซื้อไม่กลับมาแล้ว…