ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 13 - 19 ธันวาคม 2567 |
---|---|
คอลัมน์ | โครงการสมุนไพรเพื่อการพึ่งพาตนเอง |
เผยแพร่ |
ต้นขี้เหล็ก ตามลักษณะพืชทั่วๆ ไปจัดเป็นไม้ยืนต้นขนาดกลาง ลำต้นสั้นตรง ทรงพุ่มหนาแน่น กลมและแผ่กระจาย เพราะโตไว แผ่กิ่งก้านสาขาได้รวดเร็วจึงมีผู้นิยมปลูกเป็นไม้ประดับเพื่อให้ร่มเงาตามที่พัก และพบเห็นปลูกตามริมทางถนน
แต่มองในมุมพืชใช้ปรุงอาหาร ขี้เหล็กก็จัดเป็น “ผักยืนต้น” น่าปลูกเก็บกินได้ตลอดปี โดยเฉพาะยอดอ่อนและช่อดอกนับเป็นเมนูอร่อยรสชาติเฉพาะตัวที่ไม่เหมือนใคร
มองมุมสมุนไพรขี้เหล็กเป็นยาดีคู่บ้านและชุมชนไทยมาแต่โบราณจนยุค AI (Artificial Intelligence) วันนี้คนก็ยังกินขี้เหล็กเป็นทั้งอาหารและยา
เมื่อดูจากชื่อวิทยาศาสตร์ ที่นักพฤกษศาสตร์ตั้งไว้ก็บ่งบอกว่าเป็นสมุนไพรของไทยแน่นอน เพราะมีชื่อว่า Senna siamea (Lam.) H.S.Irwin & Barneby คำว่า siamea คือ สยามประเทศ และชื่อเรียกสามัญที่ต่างชาติเรียกก็ยังมีคำว่าสยาม คือ Siamese senna, Siamese cassia, Cassod tree, Thai copperpod ขี้เหล็กจึงเป็นที่คุ้นเคยพบเห็นได้ทั่วประเทศไทย และแน่นอนย่อมมีภูมิปัญญาหยั่งลึกในชุมชนมากมาย
และด้วยเหตุที่ขี้เหล็กออกดอกเก็บกินได้ทั้งปี ในช่วงปลายฝนและช่วงที่ออกพรรษาที่ผ่านมาจนถึงเวลานี้ดอกขี้เหล็กในหลายพื้นที่กำลังออกงามเต็มต้น จึงมีภูมิปัญญาที่สืบต่อมาแต่ดั้งเดิมในวิถีวัฒนธรรมหลายแห่ง โดยเฉพาะที่ชุมชนหนึ่งในจังหวัดนครศรีธรรมราชให้ถือปฏิบัติวันออกพรรษา 1 วัน ให้กินแกงขี้เหล็ก หรือนำขี้เหล็กทั้งห้ามาต้มน้ำดื่ม ถือเป็นยาบำรุงร่างกายหรือยาอายุวัฒนะ ยังช่วยขับสิ่งไม่ดีหรือชาวบ้านเปรียบเปรยว่าถ่ายพิษที่สะสมในร่างกายออกมา ทำทุกปีอย่างน้อยปีละหนสุขภาพดีแท้
คนทั่วไปมองเผินๆ เห็นต้นขี้เหล็กก็เป็นไม้ใหญ่ธรรมดา นึกว่าการที่ชาวบ้านปรุงอาหารหรือยาต้มกินนั้นเป็นแค่ความเชื่อ แต่ถ้าสืบค้นบันทึกในตำราโบราณย่อมแปลกใจว่าทุกส่วนของขี้เหล็กมีสรรพคุณทั้งเปลือก กระพี้ และไส้
กล่าวไว้ดังนี้
ดอก แก้นอนไม่หลับ หืด แก้โลหิต และใช้ภายนอกแก้รังแคบนศีรษะ, ใบ ขับปัสสาวะ แก้นิ่ว แก้มุตกิด ระดูขาวตกหนัก, เปลือก แก้ริดสีดวง, กระพี้ รสขมเฝื่อน แก้กษัย แก้เส้นเอ็นพิการ แก้โลหิตอันกระทำพิษระส่ำระสาย แก้ไข้เพื่อดี แก้ร้อนกระสับกระส่าย, แก่น รสขมแก้กษัย ถ่ายเส้น แก้ไข้ เพื่อกษัย แก้เหน็บชา แก้โลหิตระดู ขับโลหิต แก้ธาตุไฟพิการทำให้ตัวเย็นซีด แก้ลมทำให้เย็นทั่วทั้งกาย ถอนพิษผิดสำแดง ถ่ายพิษทั้งปวง, ไส้ แก้โลหิตอันขึ้นเบื้องบน และแก้โลหิตอันระส่ำระสายในท้อง แก้โลหิตอันกระทำให้ตาแสบร้อน, ราก แก้กษัยกร่อน แก้ไข้ ไข้กลับ ไข้ซ้ำ ไข้ผิดสำแดง แก้ไข้อันกระทำให้หนาว แก้โรคอาการที่แสลงกับธาตุ, ขี้เหล็กทั้งห้า คือทั้งต้น (ราก แก่น ดอก ผลหรือฝัก ใบ) รวมกันถ่ายพิษกษัย ถ่ายพิษไข้ ถ่ายพิษเสมหะ แก้พิษทั้งปวง
ตำราบันทึกไว้และก็มีเรื่องจริงคนใช้กันทั่วไปเป็นความรู้พึ่งพาตนเองในครัวเรือนและในชุมชน เช่นที่กล่าวว่า หลังออกพรรษาจะต้มยาขี้เหล็กทั้งห้า หรือทำแกงขี้เหล็กกินด้วยนั้น เพราะสรรพคุณช่วยถ่ายพิษไข้ พิษกษัย หรือพิษทั้งปวง
คำว่า “กษัย” ศัพท์โบราณ อธิบายให้เข้าใจง่ายๆ หมายถึงอาการปวดหลังปวดเอว ปวดตามเนื้อตัว ระบบในรางการเสื่อมถอยไปตามวัย หรือเพราะหักโหมทำงานหนัก กินพักไม่เป็นเวลา นอนน้อย ดื่มเหล้า สูบบุหรี่ ท้องผูก กินอาหารไม่เหมาะสม เครียด ไม่ออกกำลังกาย ฯลฯ เหล่านี้ทำให้เกิดโรคกษัย ร่างกายเสื่อมทรุดคราวคนชราทั้งๆ ที่อายุยังไม่มาก
สรรพคุณที่กล่าวไว้ข้างต้น ส่วนของกระพี้ แก่น ราก และขี้เหล็กทั้งห้า แก้กษัย แก้เส้น แก้ไข้เพื่อกษัย แก้พิษกษัย จึงเป็นสมุนไพรที่น่าสนใจใช้แก้กษัยตามหลักวิชาภูมิปัญญาท้องถิ่นดั้งเดิม ให้นำขี้เหล็กทั้งห้า อย่างละ 1 กำมือ ปิ้งไฟให้หอม ใช้ตอกหรือเชือกมัดรวมกัน ใส่น้ำท่วมยา ต้มให้เดือดสัก 10 นาที กินครั้งละแก้วเล็กก็พอ กินวันละ 3 ครั้งต่อเนื่อง 3 วัน อาการจะทุเลา ยาขี้เหล็กจะช่วยระบายจึงไม่ควรกินมาก และไม่ควรกินต่อเนื่องนาน
วิธีที่แปลกออกไปจากความรู้ชุมชนคือ เอาแก่นขี้เหล็กที่มีอายุมากหน่อย นำมาต้มเคี่ยวจากเช้าถึงเย็น ให้คอยเติมน้ำอย่าให้ยาแห้ง แล้วจะได้น้ำยาขี้เหล็กข้นๆ (มีตะกอน) ให้นำน้ำยาขี้เหล็กนี้ผสมกับสุรา(เหล้าขาว) อย่างละเท่าๆ กัน แล้วเก็บใส่ขวดโหลไว้ กินครั้งละ 1 ถ้วยชาเล็กๆ กินเช้า-เย็น วันละ 2 ครั้ง แก้โรคกษัย บำรุงโลหิต บำรุงธาตุ เจริญอาหาร
สูตรยาดองเหล้านี้เก็บไว้ได้นาน แต่ไม่แนะนำให้กินทุกวันจะกลายเป็นติดเหล้า อาจจะกินสัปดาห์ละ 1 วัน ไม่มีอาการก็ไม่จำเป็นต้องกิน
ขี้เหล็กยังเหมาะกับสตรีวัยที่ยังมีประจำเดือนแต่รายที่ประจำเดือนมาไม่ปกติ ทำให้เกิดอาการเครียด สิวฝ้ามาเยือนใบหน้าไม่สดใส และพลอยปวดหลัง ปวดเอว ลองปรุงยาแก่นฝางเสน 2 ส่วน แก่นขี้เหล็ก 1 ส่วน ใส่น้ำให้ท่วมยา ต้มเดือด 10 นาที ดื่มครั้งละ 1 แก้ว วันละ 2-3 ครั้ง ก่อนอาหาร ให้กินก่อนที่ประจำเดือนมา
สรรพคุณเด่นที่ไม่กล่าวถึงไม่ได้ บางท่านอาจทราบแล้ว แต่ขอย้ำให้เห็นประโยชน์ที่คนยุคนี้กำลังเผชิญกันมากคือ อาการนอนไม่ค่อยหลับ
ในใบอ่อนของขี้เหล็กมีสาร ชื่อว่าบาราคอล (Baracol) ซึ่งเป็นสารที่มีคุณสมบัติคลายเครียด และช่วยให้นอนหลับดีขึ้น ในรายที่มีอาการไม่รุนแรงให้กินแกงขี้เหล็กจะช่วยได้ดี
เคล็ดลับในการปรุงอาหารต้องนำใบหรือยอดอ่อนหรือดอกขี้เหล็ก มาต้มน้ำทิ้งอย่างน้อย 2 รอบ เพื่อลดความขมก่อนนำมาทำแกงกิน บางสูตรก็กินน้ำต้มขี้เหล็กในรอบที่สามก็ช่วยให้นอนหลับดี บางสูตรนำขี้เหล็กต้มมากินเป็นผักเคียงกับน้ำพริกก็ช่วยให้นอนหลับ
ในอดีตเคยมีการนำใบเพสลาดมาตากแห้งแล้วบดผงใส่แคปซูล ทำเป็นยาสมุนไพรช่วยให้นอนหลับ แต่พบว่าวิธีการนี้กินแล้วมีผลต่อตับจึงต้องยกเลิกไป แต่วิธีตามภูมิปัญญาที่นำใบมาต้มน้ำ 2-3 รอบแล้วปรุงเป็นอาหารกินนั้นช่วยให้นอนหลับ ขับถ่ายดีแล้ว ไม่เป็นอันตรายต่อตับ
วิถีภูมิปัญญาดั้งเดิมแนะนำให้กินแกงขี้เหล็กหรือต้มขี้เหล็กทั้งห้ากินปีละครั้งหลังออกพรรษา สำหรับในวาระส่งท้ายปีเก่ารับปีใหม่ มาสร้างวัฒนธรรมร่วมสมัยให้ขี้เหล็กถ่ายพิษทั้งปวง แก้ปวดเมื่อย บำรุงร่างกายกันนะ •
สมุนไพรเพื่อสุขภาพ | โครงการสมุนไพรเพื่อการพึ่งพาตนเอง
มูลนิธิสุขภาพไทย www.thaihof.org
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022