คิดใหม่-ทำใหม่

หนุ่มเมืองจันท์facebook.com/boycitychanFC

ช่วงนี้คุณแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรีจะได้รับเสียงวิพากษ์วิจารณ์ค่อนข้างหนัก

ส่วนหนึ่ง เป็นเพราะการกำหนด “ตำแหน่งสินค้า” ของตัวเองผิดพลาด

ส่วนหนึ่ง เพราะประสบการณ์ยังน้อย ทำให้คำสัมภาษณ์หลายเรื่องมี “จุดอ่อน” ที่นำไปสู่การตีความในทางลบได้

และส่วนหนึ่ง คนวิจารณ์เองก็มีอคติ

บางเรื่องเป็นเรื่องเล็กน้อยมากก็กลายเป็นเรื่องใหญ่ในสายตาคนที่ไม่ชอบ “นายกฯ อุ๊งอิ๊ง”

ดูแล้วหมั่นไส้ไปทุกเรื่อง

แต่เรื่องแบบนี้เป็นเรื่องปกติทางการเมือง

เป็น “รายจ่าย” ที่ต้องจ่าย สำหรับคนการเมือง

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็เคยโดนมาแล้ว

คนไม่ชอบทำอะไรก็ไม่ใช่…

คุณแพทองธารนั้นมี “จุดอ่อน” และ “จุดแข็ง” ในเรื่องเดียวกัน

คือ มีคุณพ่อชื่อ “ทักษิณ ชินวัตร”

ความเป็นลูกทำให้ถูกนำไปเปรียบเทียบกับพ่อในเรื่องฝีมือความสามารถ

และโดนนินทาได้ว่าได้เป็นนายกฯ เพราะเป็นลูกของ “ทักษิณ”

เรื่องนี้ก็เป็น “รายจ่าย” ที่ต้องจ่ายเช่นกัน

ในขณะที่เรื่องเดียวกันก็เป็น “จุดแข็ง”

ลองคิดเล่นๆ ว่าในเรื่องเดียวกัน ถ้าคุณเศรษฐา ทวีสิน อดีตนายกรัฐมนตรีเป็นคนพูดกับรัฐมนตรีในพรรค หรือรัฐมนตรีต่างพรรค

ทุกคนก็จะรับฟังแต่ยังไม่ทำตาม

เพราะไม่แน่ใจว่าคุณทักษิณคิดแบบนี้หรือเปล่า

อย่าลืมว่ารัฐมนตรีแต่ละคนนั้นคุ้นเคยและสนิทสนมกับ “ทักษิณ” มากกว่าคุณเศรษฐา

แต่ถ้าเรื่องนี้ “อุ๊งอิ๊ง” เป็นคนพูด

ผมเชื่อว่ารัฐมนตรีแต่ละคนจะให้น้ำหนักกับคำสั่งสูงกว่าคุณเศรษฐา

เพราะ “อุ๊งอิ๊ง” คือ คุณทักษิณที่ไว้ผมยาว

ต่อให้เรื่องนั้น “ทักษิณ” ยังไม่รู้เรื่อง

แต่เขาคงไม่ขัดลูกอย่างแน่นอน

เมื่อ “จุดแข็ง” และ “จุดอ่อน” คือสิ่งเดียวกัน ไม่แปลกที่ “อุ๊งอิ๊ง” จะกลายเป็นหมู่บ้านกระสุนตกมากกว่า “เศรษฐา”

เพราะคนที่ไม่ชอบ “ทักษิณ” อาจจะเฉยๆ กับ “เศรษฐา”

แต่พอเป็น “อุ๊งอิ๊ง” เขายกระดับทันที

เกลียดพ่อแค่ไหน ก็เกลียดลูกเท่านั้น

ตั้งแต่ยังไม่ได้เป็นนายกฯ เลย

 

แต่เรื่องการขึ้นเวทีของนิตยสาร “ฟอร์บส์” ผมถือว่าทีมงานหรือตัวคุณแพทองธารพลาดมาก

คนทุกคนไม่ได้เก่งทุกเรื่อง

เราต้องรู้ว่า “จุดแข็ง” หรือ “จุดอ่อน” เราอยู่ที่ไหน

“อาจารย์โกร่ง” ดร.วีรพงษ์ รามางกูร อดีตที่ปรึกษา “ป๋าเปรม” เคยให้สัมภาษณ์ว่า พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ไม่รู้เรื่องเศรษฐกิจเลย

ท่านจะฟังที่ปรึกษา ฟังรัฐมนตรี แล้วตัดสินใจ

แต่จะไม่เคยให้สัมภาษณ์เรื่องเศรษฐกิจเลย

จะพูดแค่หลักๆ แล้วโยนให้ “อาจารย์โกร่ง” อธิบายต่อ

เขาจะไม่เล่นในสนามที่ตัวเองไม่เชี่ยวชาญ

พล.อ.ประยุทธ์อาจมีหลุดๆ ไปบ้างเพราะชอบพูด แต่ก็ไม่ค่อยให้สัมภาษณ์เรื่องเศรษฐกิจยาวๆ

ภาษาอังกฤษของ “ลุงตู่” ไม่ดี

วันไหนที่เขาพยายามพูดภาษาอังกฤษกับนักข่าวหรือนักท่องเที่ยวต่างชาติซึ่งเป็นสนามที่ พล.อ.ประยุทธ์ไม่เชี่ยวชาญ

นักข่าวจะชอบ

เพราะมีข่าวให้เล่น มีคลิปที่เชื่อได้ว่ายอดวิวจะสูงมาก

ถ้าเป็นภาษาการตลาด เรื่องการวาง “ตำแหน่งสินค้า” เป็นเรื่องที่สำคัญ

ต้องรู้ว่าเรามี “จุดแข็ง-จุดอ่อน” ตรงไหน

เลือกสนามให้เหมาะสม

อย่าไปลงเล่นในสนามที่เราไม่เชี่ยวชาญ อย่างเช่นเวทีของ “ฟอร์บส์”

ก้าวแรกๆ ในตำแหน่งนะครับ

เพราะจะเป็นก้าวที่คนจำ

การขึ้นพูดเรื่องเศรษฐกิจบนเวที “ฟอร์บส์” ต้องให้มีประสบการณ์ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีมากกว่านี้

ปีหน้าอาจจะได้ แต่ปีนี้ไม่น่าจะใช่

ผมไม่รู้ว่าใครเป็นคนเสนอให้ไป หรือตัดสินใจเอง

ต้องบอกเลยว่าเรื่องนี้พลาด

และถ้าคนใกล้ชิดคนไหนบอกว่าท่านเก่ง ท่านพูดดี

ขอให้จำเขาไว้ให้แม่น

ต่อไปเขาเสนออะไรมา

อย่าเชื่อเด็ดขาด

 

ถามว่า “จุดแข็ง” ของคุณแพทองธารคืออะไร

ผมว่า “อุ๊งอิ๊ง” มีความได้เปรียบเรื่องหนึ่ง คือ “ความคาดหวัง” ไม่สูง

เรื่องนี้เป็นเรื่องดีนะครับ

เพราะมีที่ว่างที่จะพัฒนาขึ้นได้อีกเยอะ

ไม่เหมือนกับตอนคุณเศรษฐาขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรี

“ความคาดหวัง” สูงมาก

เพราะเป็นซีอีโอที่ประสบความสำเร็จในภาคธุรกิจ

แต่พอเจอระบบราชการ และสถานะที่เหมือนจะมี “อำนาจ” แต่” อำนาจ” ไม่เต็ม

งานที่ออกมาจึงต่ำกว่า “ความคาดหวัง”

แต่คุณแพทองธาร ด้วยอายุและประสบการณ์บริหาร คนจะคาดหวังไม่สูง

มีโอกาสทำแต้มทางการเมือง

แต่ความเป็นคนที่อายุน้อย อ่อนน้อมกับผู้ใหญ่ แต่บารมีคุณพ่อเยอะ ทำให้สามารถทำงานด้านการประสานงานได้ดี

เรื่องนี้เหมือนเป็นเรื่องเล็ก แต่ในเชิงการบริหารเป็นเรื่องใหญ่

คุณบุญคลี ปลั่งศิริ เคยบอกว่าหน้าที่ของ “ซีอีโอ” คือ ทำงานที่คนอื่นไม่ทำหรือทำไม่ได้

งานเฉพาะด้าน ลูกน้องทำได้

แต่งานประสานงานระหว่างฝ่าย ลูกน้องทำได้ไม่ดี เพราะต้องทำงานข้ามสาย

งานแบบนี้ “ซีอีโอ” ทำได้และต้องทำ

การบริหารธุรกิจ เรื่องแบบนี้ทำเงียบๆ ได้

แต่ในทางการเมือง ถ้าคิดว่าเรื่องนี้เป็น “จุดแข็ง”

ต้องทำให้คนเห็นและรู้สึกว่าเราทำงานประสานงานอยู่

จะทำเงียบๆ ไม่ได้

หรืออีกเรื่องหนึ่ง คือ ต้องโชว์ความเป็น “คนรุ่นใหม่”

ในหนังสือ “เล่าเรื่องผู้นำ” ของ “วิษณุ เครืองาม” เขาเล่าเรื่องคุณทักษิณ และคุณอานันท์ ปันยารชุน ตอนเป็นนายกรัฐมนตรีได้น่าสนใจมาก

2 คนนี้นำวิธีของการบริหารธุรกิจมาใช้ในการบริหารหลายเรื่องมาก

ลดขั้นตอนที่เยิ่นเย้อออก เพื่อให้บรรลุเป้าหมายได้อย่างรวดเร็ว

ผมว่าเรื่องนี้น่าสนใจมาก

นึกเล่นๆ ว่าถ้าตัดขั้นตอนความเยิ่นเย้อของกระบวนการต้อนรับแบบมหาดไทยลง

ลดจำนวนคนที่ติดตาม

เลิกภาพการแถลงข่าวที่มีรัฐมนตรียืนอยู่ข้างหลังเป็นวอลล์เปเปอร์จำนวนมาก ฯลฯ

อะไรที่คนอื่นทำ เราจะไม่ทำ

ทำให้เห็นความเรียบง่ายแบบคนรุ่นใหม่ที่แตกต่างจากเดิมชัดๆ

แค่นี้คนก็จะเริ่ม “เอ๊ะ” แล้ว

 

อีกเรื่องหนึ่งคือ การโชว์พลังของ “คนหนุ่มสาว”

ผมเห็นรัฐมนตรีคนรุ่นใหม่มาใส่ชุดไทยเดินเรียบร้อยเนิบนาบตามนายกฯ แล้วรู้สึกว่าเขาได้สูญเสียพลังคนหนุ่มสาวไปแล้ว

น่าจะใช้ความได้เปรียบของ “วัย” ให้เป็นประโยชน์

นึกถึงพรรคประชาชนที่เต็มไปด้วยคนหนุ่มสาว

ในสนามเลือกตั้งเขาสู้เรื่องบารมี หรือเรื่องเงินกับพรรคใหญ่ไม่ได้

แต่ที่เขาเหนือกว่าคือ “อายุ”

เขาใช้ “จุดแข็ง” เรื่องนี้สู้กับพรรคอื่น

ลุยหาเสียงแบบไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย

ตอนที่พ้นจากช่วงเลือกตั้ง วิธีการของพรรคประชาชนใช้ก็คือ ทุกจุดที่มีปัญหา เขาจะไปถึงที่ก่อนใคร

ใช้ “ความเร็ว” และ “แรง” ที่เหนือกว่าเข้าสู้

ไม่มี “อำนาจรัฐ” ช่วยเหลือ แต่ไปให้ชาวบ้านเห็นหน้าก่อน

คุณแพทองธาร ก็เป็นคนหนุ่มสาวรุ่นราวคราวเดียวกัน

เมื่อประสบการณ์สู้ “ผู้ใหญ่” ที่เป็นรัฐมนตรีไม่ได้

ก็ต้องสู้ด้วยพลังของวัยที่เหนือกว่า

คิดเล่นๆ ว่า ถ้าที่ไหนมีปัญหา นายกฯ ไปถึงที่เลย

มีเครื่องบินส่วนตัว ต้องใช้ให้เป็นประโยชน์

จากเชียงใหม่ ไปหาดใหญ่แป๊บเดียว

ต่อให้ยังแก้ปัญหาไม่ได้

แต่อย่างน้อยก็ได้ใจ

อย่าลืมว่าเรตติ้งของ “อุ๊งอิ๊ง” สูงสุด คือตอนไปเยี่ยมเด็กๆ ที่บาดเจ็บจากกรณีรถบัสนักเรียน

เธอไปถึงโรงพยาบาลอย่างรวดเร็ว

ด้วยความรู้สึกของคนเป็นแม่

แม้จะช่วยให้ชีวิตของเด็กๆ กลับคืนไม่ได้

แต่การไปเยี่ยมและยืนอยู่ข้างๆ ให้คนที่สูญเสียรู้สึกว่ามีคนให้กำลังใจอยู่

แค่นั้นก็ทำให้คนรู้สึกได้ว่าเราใส่ใจเรื่องนี้จริงๆ

“การเมือง” เป็นเรื่อง “ความรู้สึก” ครับ •