ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 6 - 12 ธันวาคม 2567 |
---|---|
คอลัมน์ | ภาพยนตร์ |
ผู้เขียน | นพมาส แววหงส์ |
เผยแพร่ |
แทบจะพูดได้เต็มปากว่าหนังเรื่องนี้เป็นผลิตผลในครัวเรือนของตระกูลวอชิงตัน
ไม่ใช่วอชิงตันแบบในจอร์จ วอชิงตัน ประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกานะคะ แต่เป็นเดนเซล วอชิงตัน นักแสดงชื่อดังในโลกมายา
ที่เอ่ยถึงเรื่องนี้ก็ไม่ได้ตั้งใจจะทำตัว “woke” ตามสมัยนิยมเลยนะคะ แต่สถิติที่เคยรู้และน่าสนใจคือ “วอชิงตัน” เป็นนามสกุลที่ “ดำที่สุด” (90% ของคนในสกุลนี้เป็นคนผิวดำ) ในอเมริกา
ใน The Piano Lesson นี้ เดนเซลนั่งเก้าอี้ผู้อำนวยการสร้าง และมอบหมายให้มัลคอล์ม ลูกชายคนโต เป็นผู้กำกับฯ โดยมีจอห์น เดวิด ลูกชายอีกคน รับบทนำที่มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนพล็อตให้เดินไปข้างหน้า
แถมลูกสาว โอลิเวีย กับภรรยา พอเล็ตตา ยังมีบทเล็กๆ อยู่ในรายชื่อนักแสดงด้วย
The Piano Lesson มาจากบทละครของออกัสต์ วิลสัน ที่เขียนเมื่อ ค.ศ.1987 นับเป็นเรื่องที่สี่ในชุดที่เรียกว่า The Pittsburgh Cycle (ซึ่งมี Fences และ Ma Rainey’s Black Bottom รวมอยู่ด้วย)
ออกัสต์ วิลสัน ได้รับรางวัลพูลิตเซอร์สาขาละครจากบทละครเรื่องนี้
และ The Piano Lesson เคยมีการสร้างเป็นหนังทีวีในชื่อเดียวกันมาแล้วเมื่อ ค.ศ.1995 โดยมีอัลฟรี วูดดาร์ด รับบทนำ
เนื่องจาก “เพดิกรี” อันเป็นชื่อเสียงกิตติศัพท์พะยี่ห้อ/แบรนด์เนมให้แก่ The Piano Lesson หนังก็เลยอยู่ในความสนใจของแฟนหนังและผู้คนในวงการพอดู ถึงขั้นเข้าข่ายมีโอกาสได้เข้าชิงออสการ์เลยทีเดียว
ความรู้สึกในความเป็นละครเวทียังคงอยู่เกือบจะครบถ้วน โดยเฉพาะในการเดินเรื่องในสถานที่และเวลาอันจำกัด
แม้ว่าผู้กำกับฯ จะขยายวงของเวลาและสถานที่ออกให้คลุมไปกว้างไกลกว่าความจำกัดของละครเวที
ฉากแรกที่เราเห็นความเป็นมาของ “เปียโน” ในชื่อเรื่อง คือวันที่ระลึกในการประกาศเอกราชของสหรัฐอเมริกา หรือที่รู้จักกันในชื่อ Independence Day หรือเรียกกันทั่วไปว่า Fourth of July
ในวันฉลองเอกราชของ ค.ศ.1911 ท่ามกลางแสงสว่างไสวงดงามของพลุที่พุ่งขึ้นไปแตกกระจายในท้องฟ้า ชายผิวดำกลุ่มหนึ่งลักลอบขนเปียโนหลังหนึ่งออกจากบ้านไร่ในมิสซิสซิปปีไป
กาลเวลาล่วงผ่านไปกว่าสองทศวรรษ จนถึง ค.ศ.1936 ท่ามกลางความลำบากยากจนของผู้คนในยุคแห่งภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ในอเมริกา สองสหายชาวไร่จากมิสซิสซิปปี คือบอยวิลลี่ (จอห์น เดวิด วอชิงตัน) และไลแมน (เรย์ ฟิชเชอร์) ขับรถกระบะบรรทุกผลิตผลในไร่คือแตงโมเต็มคันรถขึ้นเหนือมาขายในเมืองพิตส์เบิร์ก
โดยมาขอพำนักที่บ้านของลุงโดคเคอร์ ชาร์ลส์ (แซมวล แอล. แจ็กสัน) ตั้งแต่เช้ามืดก่อนไก่โห่ และต้องปลุกพี่สาว เบอร์นีซ (ดาเนียลลา เดกไวเลอร์) ให้ตื่นก่อนเวลาปกติ
เช่นเดียวกับเรื่องราวในละครเวที แอ๊กชั่นหลักในเรื่องเกิดขึ้นในห้องนั่งเล่นของครอบครัวชาร์ลส์ ซึ่งมีเปียโนทำด้วยไม้แกะสลักงดงามตั้งเด่นเป็นสง่า
บอย วิลลี่ เป็นชาวไร่ที่ทำงานในที่ดินของตระกูลซัตเทอร์
บรรพบุรุษต้นตระกูลซัตเทอร์เคยเป็นนายทาส ซึ่งบรรพบุรุษของบอย วิลลี่เคยเป็นทาสมาก่อน
และซัตเทอร์ เจ้าของคนปัจจุบันเพิ่งเสียชีวิตลงจากการพลัดตกลงไปในบ่อลึก ไร่ของตระกูลจึงประกาศขายทอดตลาด และบอย วิลลี่ หวังจะหาเงินมาซื้อที่ดินไว้เพื่อทำไร่ของตัวเอง
บอย วิลลี่ หวังจะได้เงินจากการขายแตงโมและส่วนแบ่งจากการขายเปียโนที่เขามีส่วนเป็นเจ้าของอยู่ด้วยนี้เพื่ออนาคตอันปราศจากแอกของการกดขี่ต่อไป
ทว่า ความหวังของบอย วิลลี่ ถูกขัดขวางด้วยการที่เบอร์นีซยืนกรานไม่ยอมให้มรดกตกทอดชิ้นเดียวของตระกูลตกไปอยู่ในมือของคนอื่น
แอ๊กชั่นหลักของเรื่องราวอยู่ที่ความขัดแย้งของตัวละครในการขายเปียโนมรดกชิ้นนี้
โดคเคอร์ปฏิเสธสิทธิในเปียโน โดยไม่ขอมีส่วนเกี่ยวข้องกับการขายหรือไม่ขาย หรือเข้าข้างหลานคนใดคนหนึ่ง และดูเหมือนจะเข้าใจความต้องการที่แตกต่างกันของหลานทั้งสองคน
คนหนึ่งยังติดอยู่ในอดีตอันปวดร้าว
อีกคนมองไปสู่อนาคตอันวาดหวัง
ประเด็นของการถกเถียงถึงขั้นแตกหักของสองพี่น้องก็คือเบอร์นีซไม่ยอมเล่นเปียโนหลังนี้อีกเลย ทั้งๆ ที่แม่ของเธอเคยขอให้อย่าเลิกเล่น และไม่ยอมเล่าถึงความเป็นมาในอดีตอันขมขื่นให้ลูกสาวคนเดียวฟัง
แนวคิดอันเป็น “แกนหลัก” ในเรื่อง คือมรดกของอดีตน่าจะก่อประโยชน์แก่ลูกหลานในปัจจุบัน ไม่ว่าในทางใดทางหนึ่ง
เบอร์นีซปฏิเสธไม่ยอมให้วิญญาณบรรพบุรุษกลับมาหลอกหลอนในชีวิตปัจจุบัน
ส่วนบอย วิลลี่ก็ต้องการสร้างอนาคตด้วยการลบล้างอดีตให้หมดสิ้นไป
โดคเคอร์ยืนอยู่ตรงกลางระหว่างความขัดแย้งทั้งสองด้าน เข้าใจความต้องการทั้งสองด้าน และไม่สนับสนุนหรือขัดแย้งฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง
โดยไม่มีปี่มีขลุ่ย เรื่องของเรื่องแปรไปสู่การให้น้ำหนักแก่เรื่องราวเหนือธรรมชาติ หรือเรื่องของจิตวิญญาณโดยไม่ได้คาดคิดมาก่อน…จนคนดูอย่างผู้เขียนทำใจตามแทบไม่ทันในช่วงไคลแมกซ์ที่เร้าระทึกใจ
จริงอยู่หรอกที่ว่ามีการปูพื้นในเรื่องจิตวิญญาณมาแล้วบ้างตั้งแต่ช่วงต้นๆ แต่ก็ดูเหมือนจะตีความไปได้ว่าเป็นเรื่องความตาฝาด ปรุงแต่งและมองเห็นไปตามจินตนาการของตัวเอง
แต่เมื่อเรื่องเปลี่ยนโทนหักมุมไปสู่แนวหนังสยองขวัญ (Horror) โดยไม่ได้ทิ้งนัยของการตีความไว้เป็นปริศนา ความรู้สึกตอนจบจึงออกจะแปลกแปร่งแบบตั้งตัวไม่ทัน
จริงๆ แล้ว เรื่องราวที่เล่าออกมานั้นมีเนื้อหากระตุ้นความคิดให้คิดต่อได้ดีมากเลยนะคะ
ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการที่เราปล่อยให้อดีตกลับมาหลอกหลอนเราจนเดินหน้าต่อไปไม่ได้
หรือการทิ้งอดีตโดยลบออกให้หมดสิ้นและเริ่มต้นใหม่อย่างขาวสะอาดเหมือนไม่เคยมีความเกี่ยวพันกับสิ่งใดมาก่อน
หรือความขมขื่นและความรู้สึกผิดที่กัดกินใจอยู่จนไม่กล้าก้าวเดินต่อไป
หรือการใช้อดีตเป็นมรดกเพื่อความเติบโตต่อไปในเบื้องหน้า
หรือการมองหาคุณค่าของตัวเองโดยลบล้างอดีตออกไป
เช่นเดียวกับศิลปะที่ลุ่มลึกกินใจทั้งหลาย สัญลักษณ์มีพลังอย่างยิ่งในการสื่อความหมาย
และสัญนิยมหรือการใช้สัญลักษณ์ก็เป็นจุดแข็งของ The Piano Lesson ซึ่งความหมายที่ถูกต้องของชื่อเรื่องคือ
“บทเรียนสอนใจจากเรื่องราวของเปียโนที่เป็นมรดกตกทอด”
ไม่ใช่ “การเรียนเปียโน” ตามความเข้าใจในตอนแรก •
THE PIANO LESSON
กำกับการแสดง
Malcolm Washington
นำแสดง
Samuel L. Jackson
John David Washington
Daniella Deadwyler
Ray Fisher
Corey Howkins
ภาพยนตร์ | นพมาส แววหงส์
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022