อินเดียในไสยเวทจีน (จบ) : ถอดเสื้อแทงกาย ลุยไฟ ปีนบันไดมีด หรือจะเชื่อมโยงกับอินเดีย?

คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง

คุณไมเคิล ไรท์ หรือครูไมค์ผู้ล่วงลับ เคยเขียนบทความชื่อ “วัฒนธรรมสัมพันธ์ระหว่างอินเดีย-จีน กรณี “วัดแขก” ถึง “ศาลเจ้าแม่ทับทิม” ตีพิมพ์ในนิตยสารศิลปวัฒนธรรม ฉบับเดือนพฤษภาคม 2551 ผมขอยกมาบางส่วนว่า

“ที่ผมสนใจคือพฤติกรรมทางศาสนาของชาวจีน (หรือชาวไทยเชื้อสายจีน) ที่แหวกแนวพฤติกรรมจีนโดยทั่วไป เช่น เทศกาลกินเจที่เกาะภูเก็ต (และที่อื่นๆ) ที่มีการทรมานตน แทงแก้ม ลุยเพลิง พฤติกรรมแบบนี้อังกฤษเรียกว่า Ecstatic Behaviour ซึ่งผมยังหาคำไทยที่เหมาะสมไม่พบ (ขอเรียกว่า ‘โลดโผน’ หรือ ‘นอกแนว’ ไว้ก่อน)

ประเด็นของผมคือ ว่าโดยทั่วไปชาวจีนมีพฤติกรรมแบบ Ordered Behaviour ที่ ‘สำรวม’ หรือ ‘อยู่ในกรอบ’ เช่น มีการโค้งคำนับ ไม่มีการ ‘ลืมตัว’ (Ecstasy) ในทางตรงกันข้าม Ecstatic Behaviour เป็นเรื่องธรรมดาทั่วไปในศาสนาฮินดูระดับชาวบ้านอินเดียใต้ หลักฐานเห็นได้ง่ายในงานเทศกาล Thai Pusam (บูชาเจ้ามุรุกันหรือพระขันธกุมาร) ในประเทศมลายู

ทั้งนี้ ชวนให้สงสัยว่า เทศกาลกินเจที่เกาะภูเก็ตเป็นวัฒนธรรมจีนดั้งเดิมแท้? หรือได้รับอิทธิพลจากฮินดูสายทมิฬ?”

 

มีข้อความเล็กๆ จากคัมภีร์หลุนอวี่หรือคัมภีร์ที่บันทึกคำสอนขงจื่อ ในเล่มที่สิบ บทที่หก ข้อที่หกว่า “ผ้าคลุมที่ใช้ห่มนอนต้องยาวกว่ากายหนึ่งเท่าครึ่ง” หมายถึง ตัวอาจารย์ขงจื่อเอง เมื่อจะนอนต้องมีผ้าคลุมยาวมากกว่าหนึ่งเท่าครึ่งตัว ผมตีความว่า เพื่อไม่ให้ร่างกายยามหลับแล้วดิ้นหลุดออกมาจากผ้าคลุมได้ เนื่องจากผ้ามีความยาวมาก

กล่าวคือ ระดับท่านอาจารย์ขงจื่อควบคุมความเรียบร้อยของร่างกายแม้แต่แวลานอนหลับ ว่างั้น

อันที่จริงในเล่มที่สิบ เนื้อหาส่วนใหญ่พูดถึงจรรยามารยาทของขงจื่อในชีวิตประจำวัน โดยเฉพาะเรื่องการแต่งกายมีรายละเอียดมาก แต่งอะไรอย่างไรในโอกาสไหน ซึ่งทั้งหมดเป็นเรื่องสะท้อนถึงความสำคัญของการรักษาขนบจารีตแม้แต่เรื่องปลีกย่อย

ด้วยอิทธิพลอันยาวนานของขงจื่อ ชาวจีนจึงไม่มีวัฒนธรรมเปลือยกายหรือถอดเสื้อเปลือยอกแม้แต่ในหมู่ผู้ชายในที่สาธารณะ

มิต้องกล่าวถึงสตรี ถึงกับซ่อนกันไว้ในห้องชั้นในให้ลับตาคนเลยทีเดียว เพราะการแต่งกายเป็นเครื่องสะท้อนถึงการได้รับการศึกษาที่ดี เว้นแต่ในหมู่คนบ้านนอกคอกนาหรือชาวป่าห่างไกล

ส่วนพฤติกรรมที่แสดงออกในที่สาธารณะก็ต้องยิ่งสำรวม จะกระโดดโลดเต้นหรือทำร้ายร่างกายตนเองด้วยอาวุธต่างๆ ก็ดูมิใช่เรื่องเหมาะสมหรือปกติ

 

ทว่าอินเดียดูเหมือนจะตรงกันข้าม การถอดเสื้อผ้าบางชิ้นหรือเปลือยกายบางส่วนนั้น เป็นการแสดงจรรยาและความเคารพทีเดียว

บางเทวสถานและหลายพิธีกรรมกำหนดให้ผู้ชายถอดเสื้อเพื่อเข้าร่วม และตั้งแต่โบราณมา การลดผ้าคลุมไหล่ให้เฉลียงบ่าก็เป็นการแสดงความเคารพ ดังที่เราเห็นในหมู่พระภิกษุ

นอกจากนี้ ประเพณีพิธีกรรมต่างๆ โดยเฉพาะของชาวบ้านอินเดียนั้น มักจะก่อให้เกิดอาการปีติหรือหลงลืมตน (Ecstasy) จึงแสดงกิริยาอาการต่างๆ ที่ต่างไปจากปกติ เช่น กระโดดโลดเต้น ร้องไห้ ตะโกน หรือจนถึงกระทั่งใช้อาวุธฟาดฟันตนเองหรือเดินลุยกองไฟก็ได้

พิธีการลุยไฟ แม้ว่ามีอยู่ในหลายที่ทั่วโลกเพราะเป็นพิธีดึกดำบรรพ์แบบหนึ่ง ไม่ว่าจะมีความหมายเพื่อการ “เปลี่ยนผ่าน” เช่นจากเด็กไปสู่วัยหนุ่ม (เพราะเป็นการแสดงความกล้าหาญ) หรือเป็นพิธีในเชิงชำระปัดเป่าเพราะเชื่อว่าไฟมีอำนาจในการชำระล้างก็ตาม แต่อินเดียมีพิธีการลุยไฟมานานที่สุดเท่าที่มีหลักฐานปรากฏและยังคงปฏิบัติกันโดยแพร่หลายจนถึงทุกวันนี้

อินเดียใต้เป็นต้นกำเนิดของพิธีลุยไฟ (อย่าสับสนกับการโดดลงกองไฟตายตามสามีที่เรียกว่าพิธีสตีนะครับ) ในรัฐทมิฬนาฑูเรียกพิธีนี้ว่า ฏิมิฏิ (Thimithi – ผมไม่ทราบภาษาทมิฬ จึงสันนิษฐานเอาจากตัวอังกฤษ) จะจัดขึ้นก่อนเทศกาลทีปาวลี เขาจะก่อกองไฟขึ้นมาบนลานหน้าเทวสถานของเจ้าแม่มาริอัมมา (องค์เดียวกับเจ้าแม่วัดแขกสีลม) ในหมู่บ้าน เพื่อบูชาพระแม่เทราปที (ภรรยาของพวกเจ้าปาณฑุในมหาภารตะ) ซึ่งเชื่อว่าเป็นอีกภาคหนึ่งของพระมารีอัมมา หรือมักบูชาในเทวสถานเดียวกัน

กองไฟนั้นยาวตั้งแต่สามถึงห้าเมตร พอไฟเริ่มมอดลงเป็นถ่านแดงๆ หัวหน้าพิธีหรือพราหมณ์จะประพรมน้ำขมิ้นด้วยช่อใบนีมหรือสะเดาแขกเพื่อดับพิษไฟ จากนั้นไม่ว่าคนทรงหรือผู้ศรัทธาที่ได้เตรียมตัวมาแล้ว คือต้องถือศีลกินเจ (ชาวบ้านที่ไม่ใช่พราหมณ์ส่วนหนึ่งกินเนื้อสัตว์) ตามเวลาที่กำหนด ก็จะเดินลุยไฟกองนั้นด้วยเท้าเปล่า เพื่อแสดงให้เห็นความศรัทธาต่อเจ้าแม่และเป็นการชำระมลทินโทษให้หมดไป

เชื่อกันว่า หากใครที่รักษาพรตมาดีไม่มีบกพร่องก็จะไม่เกิดอันตรายใดๆ จากการลุยไฟ บางครั้งจึงเรียกว่า พิธี ปูกุลิถาล (Pookulithal) หรือ “เดินบนเตียงดอกไม้” เพราะไฟทำอะไรไม่ได้

 

นอกจากการลุยไฟถวายพระแม่เทราปทีแล้ว เทพเจ้าท้องถิ่นของทมิฬอีกองค์ก็มีพิธีลุยไฟเช่นกัน คือพระขันทกุมารหรือพระสกันทะ

โดยปกติ ผู้ศรัทธาในพระขันทกุมารจะแบก “กาวาที” (Kavadi) หรือคานหามซึ่งมีน้ำหนักมากและเป็นเครื่องทัณฑทรมานถวายแด่พระองค์ แต่ในบางโอกาสจะแบกกาวาทีลุยข้ามกองไฟที่ลุกโชติช่วง เรียกว่าพิธีอัคนิกาวาที เป็นการฉลองศรัทธาอย่างพิเศษ

เทียบกับจีน พระขันทกุมารคือ “พระบู๊” ทรงเป็นเทวเสนาบดี เป็นกุมารเทพแห่งการรบ ชาวบ้านจึงเห็นว่าการบูชาพระองค์ควรกระทำแบบบู๊ๆ ดังเช่นที่เล่าไปแล้ว

ส่วนการแทงปาก แทงลิ้น แทงแก้มด้วยเหล็กแหลม การนำมะนาวแขวนกับตะขอเหล็กแล้วเจาะแขวนห้อยกับร่างกาย การใช้มีดดาบฟันเฉือนร่างกายในขบวนแห่ หรือแม้แต่การ “ปีนบันไดมีด” เป็นเรื่อง “ปกติ” ในพิธีกรรมของชาวบ้านอินเดียใต้ ซึ่งปฏิบัติกันไม่ว่าจะเป็นผู้ศรัทธาหรือคนทรง

การปฏิบัติสิ่งเหล่านี้เป็นการพลีบูชาต่อเทพที่ตนเคารพ อีกทางหนึ่งคือแสดงให้เห็นว่า เทพเจ้าที่ตนศรัทธานั้นมีอำนาจปกปักรักษาจากภยันตรายต่างๆ ได้ และตนเองก็บริสุทธิ์หรือศักดิ์สิทธิ์มากพอที่จะไม่เกิดอันตรายด้วยเช่นกัน

 

นอกเหนือจากเทพสององค์ที่ผมเล่าไปแล้ว พิธีกรรมลุยไฟและการทรมานกายต่างๆ ยังมีในอีกหลายโอกาส โดยเฉพาะพิธีทรงเจ้าเข้าผีพื้นเมืองหรือลงทรงเทวดา (เตยัม – Theyyam) ซึ่งเป็นพิธีกึ่งการแสดง คนทรงก็จะกระโดดทุ่มตัวลงในกองไฟแล้วถูกผู้ช่วยดึงออกมาครั้งแล้วครั้งเล่า

ทุกที่ที่คนอินเดียใต้เดินทางไปก็จะนำเอาพิธีกรรมเหล่านี้ไปด้วย ปัจจุบันเราจึงเห็นพิธีลุยไฟและพิธีเหล่านี้ทั้งในสิงคโปร์ มาเลเซีย แอฟริกาใต้ ฟิจิ ไทย (ผมเคยเห็นชุมชนอินเดียใต้เชื้อสายพม่าในระนอง จัดปีนบันไดมีดมาแล้ว)

จึงไม่แปลกเลยหากชาวทมิฬผู้เดินทางค้าขายกับชาวจีนที่ฮกเกี้ยนมาแต่โบราณจะนำเอาพิธีกรรมเหล่านี้ไปเผยแผ่ จนผสมผสานกลายเป็นส่วนหนึ่งในวัฒนธรรมไสยเวทจีนตอนใต้

ทั้งนี้ ผมมิได้ตัดความเป็นไปได้ว่า คนจีนเองก็อาจมีพิธีกรรมลักษณะแบบเดียวกันนี้อยู่บ้าง แต่คงเป็นเพียงส่วนน้อยและมิได้แพร่หลาย เพราะรากฐานความคิดทางวัฒนธรรมจีนเอง ทางหนึ่งผมจึงยังสันนิษฐานว่า อิทธิพลของอินเดียใต้ได้ส่งผลต่อ “ไสยเวท” จีนดังกล่าว

 

อยากเรียนท่านผู้อ่านว่า ไสยเวทจีนที่ผมกล่าวมาหลายตอนแล้วนั้น จำกัดอยู่ที่สายลื่อซาน-ซำต๋านเท่านั้น เหตุเพราะสายนี้แพร่หลายในบ้านเรามากผ่านคนฮกเกี้ยน รวมถึงเกี่ยวพันกับผมอยู่ด้วย แต่ขอให้ท่านผู้อ่านได้ทราบว่า เมืองจีนกว้างใหญ่ไพศาลนัก มีไสยเวทวิทยาอีกหลายแบบหลายสำนักที่ต่างออกไป

อีกอย่าง เราอย่าให้ความ “ชาตินิยม” ไม่ว่าจีนหรืออินเดีย ทำให้เราละเลยความสัมพันธ์ของสองอารยธรรมนี้ โดยเชื่อเพียงว่า ทั้งสองอารยธรรมต่างไม่เกี่ยวข้องกันซึ่งขัดกับหลักฐานที่มี เพราะอารยธรรมใหญ่ๆ ทั้งหมดในโลกล้วนศึกษา-ส่งผ่าน-แลกเปลี่ยนเรียนรู้กันและกันทั้งสิ้น อย่าเห็นเป็นการเสียเกียรติ หากแต่เป็นความเปิดกว้างอันทรงเกียรติของภูมิปัญญา

ขอย้ำว่า สิ่งที่ผมนำมาเสนอนี้จึงเป็นสิ่งเล็กน้อยเท่านั้น อีกอย่าง ผมบอกเสมอว่าผมมิใช่ผู้รู้ ก็ได้เพียงจำสิ่งที่ครูบาอาจารย์สอน มาบอกต่อเท่าที่จะกระทำได้ โดยหวังใจว่าจะเป็นการสนองคุณของครู และได้ค้นคว้าเพิ่มเติมจากอีกส่วนที่พอจะรู้บ้างมาเสนอเป็นคุรุบูชาและเป็นกำนัลแด่ท่านผู้อ่าน

ดังนั้น ย่อมมีข้อบกพร่องผิดพลาดอยู่หลายประการเป็นแน่ ขอท่านผู้อ่านโปรดเมตตาชี้แนะ

และหากยังไม่เบื่อเรื่องเหล่านี้กันเสียก่อน หากมีอะไรใหม่ๆ ที่ได้เรียนรู้มาและน่าสนใจ

จะขอนำเสนออีก •

 

ผี พราหมณ์ พุทธ | คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง