ขวัญ มิ่ง หิง แนน และแถน คืออะไร? (จบ)

ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ

นอกเหนือจาก “แถน” “ขวัญ” และ “มิ่ง” แล้ว ยังมีหน่วยทางนามธรรมที่สำคัญใน “ระบบความเชื่อเรื่องขวัญ” อย่างน้อยอีก 2 อย่าง ซึ่งก็คือ “หิง” กับ “แนน”

ผู้เชี่ยวชาญด้านวัฒนธรรม ความเชื่อลาวและอีสาน คนดีคนเดิม อย่าง อ.ยุทธพงศ์ มาตย์วิเศษ ได้กล่าวถึง “หิง” โดยเรียกตามสำเนียงถิ่นอีสานว่า “คีง” เอาไว้ในบทความเรื่องเดิมคือ “งันขอน เรียกผีขวัญ งันเฮือนดี ส่งผีขวัญ” ตีพิมพ์ในวารสารศิลปวัฒนธรรม ปีที่ 45 ฉบับที่ 5 ประจำเดือน มีนาคม 2567 เอาไว้อย่างน่าสนใจ โดยได้อ้างคำจำกัดความของคำศัพท์ภาษาถิ่นอีสานดังกล่าวจาก สารานุกรมภาษา ของ ปรีชา พิณทอง ที่ระบุว่า

“คีง เป็นคำนาม หมายถึง ร่างกาย, ตัว, ตน ร่างกายทั้งหมดเรียก คีง เลาคีง ก็ว่า”

อ.ยุทธพงศ์ ยังอธิบายต่อไปอีกด้วยว่า

“คำว่า ‘คีง’ ในภาษาอีสาน ออกเสียงเป็น ‘คิง’ ในภาษาล้านนา”

ดังนั้น จึงไม่แปลกอะไรที่คำว่า “คิง” ที่มาออกเสียงว่า “คีง” ในสำเนียงอีสาน และออกเสียงว่า “หิง” ตามสำเนียงไทดำนี้ จะมีรูปศัพท์ปรากฏอยู่ในใบลานเก่าของล้านนาด้วย โดย อ.ยุทธพงศ์ได้อ้างความหมายของศัพท์คำนี้จากพจนานุกรมศัพท์ล้านนาเฉพาะคำที่ปรากฏในใบลาน ที่ได้ให้คำจำกัดความคำดังกล่าวเอาไว้ว่า

“คิง เป็นคำนาม หมายถึง ตัว (ตัวตน)”

พูดง่ายๆ ว่า หากจะว่ากันตามคำจำกัดความในพจนานุกรมฉบับต่างๆ แล้ว “คีง” “คิง” หรือ “หิง” นั้นก็ควรที่จะหมายถึง “ตัวตน” นั่นแหละครับ

 

ที่สำคัญก็คือ คำว่า “ตัวตน” ในที่นี้คงจะมีความหมายคาบเกี่ยวถึง “ร่างกาย” อย่างใกล้ชิด ตามอย่างที่สารานุกรมภาษา ของ ปรีชา พิณทอง จำกัดความไว้อย่างเห็นได้ชัด ดังมีหลักฐานอยู่ใน คำสู่ขวัญหลวง ที่ อ.ยุทธพงศ์ได้ยกมาอ้างไว้ในบทความชิ้นเดิม ที่มีข้อความบางตอนระบุว่า

“แม่นว่าขวัญเขิน ค้างไพรขวางขามลาด ก็ดีถ้อน เชิญไต่เต้าขวัญเข้าครอบคีง”

กล่าวโดยสรุป คำสู่ขวัญ นั้นก็คือ บททำขวัญ ที่หมอขวัญจะใช้บอกกล่าวในพิธีเชิญขวัญ (ซึ่งในหลายครั้งจะเรียกว่า พิธีทำขวัญ หรือพิธีรับขวัญ) เพื่อเชิญขวัญที่หนีหายไปกลับเข้ามาอยู่กับตัว หรือบางครั้งก็เป็นพิธีเพื่อส่งเสริมพลังใจ กับพลังชีวิตให้แก่ผู้เข้าร่วมในพิธี

เฉพาะ “คำสู่ขวัญหลวง” (ซึ่งหลายครั้งฝ่ายลาวจะเรียกว่า “สู่ขวัญใหญ่”) ที่ อ.ยุทธพงศ์ยกมาข้างต้นนั้น หมายถึง พิธีสู่ขวัญผู้เฒ่า ผู้แก่ ที่ถูกนับถือเป็น พ่อใหญ่ แม่ใหญ่ ที่เจ็บป่วยเรื้อรังมาเป็นเวลาเนิ่นนาน โดยถือเป็นพิธีสู่ขวัญหรือทำขวัญครั้งใหญ่ ที่มีการทำพิธีติดต่อกัน 3 วัน และมีเครื่องบูชามากกว่าการสู่ขวัญธรรมดาอย่างอื่น

ดังนั้น บทสู่ขวัญจึงเป็นคำบอกกล่าวเพื่อเรียกเอา “ขวัญ” ที่หลุดลอยออกไปเข้ามาอยู่กับเนื้อกับตัว ข้อความที่ว่า “เชิญไต่เต้าขวัญเข้าครอบคีง” ในคำสู่ขวัญหลวงข้างต้นนี้ คำว่า “คีง” จึงหมายถึง “ตัวตน” อย่างชัดเจน

อย่างไรก็ตาม “คีง” หรือ “ตัวตน” ในคำสู่ขวัญหลวง ที่ อ.ยุทธพงศ์ยกตัวอย่างมานั้น ยังไม่ได้มีความหมายว่าคือ “ร่างกาย” อย่างชัดเจน เพราะ “คีง” ที่หมอขวัญเชิญให้ “ขวัญ” มา “เข้าครอบ” ข้างต้นนั้น อาจเป็น ตัวตนในเชิงนามธรรมก็เป็นไปได้เช่นกัน

ตัวอย่างที่ชัดเจนกว่ามีอยู่ใน คำสูดขวันหลวง ซึ่งก็คือ บทสู่ขวัญหลวงของลาว ที่ปราชญ์ชาวลาวผู้ล่วงลับอย่าง มหาสิลา วีระวงศ์ ได้รวบรวมไว้ ดังความที่ว่า

“สีสี สิดทิพะพอน บอวอนวิเสด วันนี้เป็นวันดี ขวันเจ้าหนีให้เข้ามาสู่ มายู่เนื้ออุ่นคิงควน” (อักขรวิธีตามต้นฉบับ ปริวรรตโดย อ.สายหยุด บัวทุม แห่งคณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร)

“เนื้ออุ่นคิงควน” ในคำสูดขวันหลวงข้างต้น ย่อมแสดงให้เห็นว่า “คิง” หรือ “คีง” นั้น มี”เนื้ออุ่น” ให้ “ขวัน” (คือ ขวัญ) เข้า “มายู่” (คือ มาอยู่) อย่างชัดเจน

จากหลักฐานต่างๆ ข้างต้น จึงพอที่จะสรุปได้ว่า “คีง” “คิง” หรือ “หิง” นั้นหมายถึง “ตัวตน” ในแง่ที่เป็นกายภาพ คือหมายถึง “ร่างกาย” นั่นเอง

 

ส่วน “แนน” นั้น อ.ยุทธพงศ์ให้คำจำกัดความไว้ในบทความชิ้นเดิมเอาไว้ว่า

“แนน โดยทั่วไปหมายถึง บุพเพสันนิวาส หรือสิ่งที่พาให้ได้เป็นผัวเมียกัน แต่ในระบบความเชื่อเรื่องขวัญ คำว่า แนน น่าจะกร่อนเสียงมาจากคำว่า สะแนน

สารานุกรมภาษา ของ ปรีชา พิณทอง…อธิบายว่า

‘สะแนน เป็นคำนาม หมายถึงเตียง หรือแคร่สำหรับนอนย่างไฟ เรียกสะแนน ผู้หญิงโบราณเมื่อคลอดลูกแล้วจะนอนแคร่นี้ย่างไฟ’

โดยนัยยะนี้ แนน หรือ สะแนน จึงมีลักษณะเป็น ‘ฐาน’ ทำหน้าที่รองรับขวัญในแนวราบ” (จัดย่อหน้าใหม่เพื่อให้อ่านง่ายขึ้นโดยผู้เขียน)

อ.ยุทธพงศ์ได้นำคำอธิบายข้างต้นนี้ไปเทียบเคียงกับคำอธิบายของปราชญ์ชาวไทดำอย่าง เกิ่ม จ่อง (หรือที่นักวิชาการไทยมักเรียกว่า ศาสตราจารย์คำจอง) ที่อธิบายว่า “มิ่ง” กับ “แนน” เปรียบได้กับตัวอักษร “T” กลับหัว เส้นนอน (-) คือแนน ส่วนเส้นตั้ง (I) คือมิ่ง โดยขวัญจะนั่งหรือยืนอยู่บนแนน แล้วพิงหรืออิงอยู่กับมิ่ง

ดังที่มีคำคล้องของภาษาไตว่า “นั่งใส่มิ่ง อิงใส่แนน” นั่นเอง

จะเห็นได้ว่า “แนน” สัมพันธ์อยู่กับ “มิ่ง” เช่นเดียวกับที่ “หิง” (หรือ คีง-คิง) คู่กันอยู่กับขวัญ

และ “แนน” กับ มิ่ง” ก็มีความสำคัญกับการมีชีวิต (ที่สัมพันธ์อยู่กับ “ขวัญ” และ “หิง”) อย่างลึกซึ้ง แถมยังไม่ใช่มีเพียงระดับปัจเจกชนเท่านั้น แต่ยังมีความสำคัญในความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล และชีวิตของสังคมขนาดใหญ่อีกด้วยต่างหาก

ดังนั้น จึงถือกันว่า ทั้ง “บ้าน” และ “เมือง” นั้น ต่างก็มี “มิ่ง” และ “แนน” ด้วยเช่นกัน

 

ตรงนี้แหละครับ ที่ทำให้ทราบได้ว่า แต่ดั้งเดิมนั้น “แนน” ไม่ควรจะหมายถึง เรื่องรักๆ ใคร่ ๆ อย่าง “บุพเพสันนิวาส” เพียงอย่างเดียว (เพราะบ้านเมือง ไม่น่าที่จะมีบุพเพสันนิวาส หรือสิเน่หารักใคร่ระหว่างกันได้)

แต่บุพเพสันนิวาสเป็นร่องรอยที่ยังหลงเหลืออยู่จากพิธีกรรมความเชื่อต่างๆ ที่ต้องใช้ “แนน” เป็นเครื่องชี้วัด เช่น การแฝงแนน หรือชั่งแถนชั่งแนน ซึ่งเป็นพิธีตรวจสอบความเหมาะสมของดวงชะตาระหว่างคู่รักที่จะแต่งงานกัน หรือความเชื่อเรื่อง สายมิ่งสายแนน ที่มีความหมายว่า เป็น คู่สร้างคู่สม เป็นต้น

ดังนั้น ผมจึงคิดว่า คำว่า “วาสนา” ดูเป็นอะไรที่เหมาะสมที่จะใช้จำกัดความคำว่า “แนน” ได้อย่างใกล้เคียงที่สุด

ที่น่าสนใจอีกอย่างก็คือ ทั้งคำว่า “หิง” (ตัวตน-ร่างกาย) และคำว่า “แนน” (วาสนา) นี้ ไม่มีคำเทียบว่าเป็นที่มาจากภาษาจีน (อย่างน้อยก็ยังไม่มี ปราชญ์ หรือนักวิชาการท่านใดได้เคยตั้งข้อสังเกตเอาไว้?) ต่างกันกับคำว่า “แถน” ที่มาจากคำจีนว่า “เทียน” (ฟ้า หรือสวรรค์ ซึ่งกลายรูปมาจาก ผีบรรพชน), “ขวัญ” ที่มาจาก “เฮวิ๋น” (พลังชีวิต) และ “มิ่ง” ที่มาจาก “มิ่ง” (ชะตาชีวิต) เช่นกันในภาษาจีน

ดังนั้น ความเชื่อเรื่อง “หิง” และ “แนน” จึงน่าจะเป็นเรื่องพื้นเมืองอุษาคเนย์ (และอาจจะเจาะจงลงไปได้ด้วยว่า เป็นเรื่องของกลุ่มคนที่พูดภาษาตระกูลไท) ที่เพิ่มเติมเข้าไปจากระบบความเชื่อเรื่องขวัญ ที่มีโครงสร้างหลักมาจากวัฒนธรรมจีนนั่นเอง •

ขวัญ มิ่ง หิง แนน และแถน คืออะไร? (1)