ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 13 - 19 ธันวาคม 2567 |
---|---|
คอลัมน์ | โลกทรรศน์ |
ผู้เขียน | อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์ |
เผยแพร่ |
มีผู้ใหญ่บางคนบอกแก่เราว่า “…ไม่ต้องห่วงเมื่อโดนัล ทรัมป์ กลับสู่ทำเนียบขาวอีกครั้ง เพราะเรา (ไทย) เป็นที่รักใคร่ของทั้งสหรัฐอเมริกาและจีน…”
สุขกันเถอะเรา
คำพูดหลังนี้ผู้เขียนพูดเองนะครับ
คำถามคือ จริงหรือ?
ระเบียบโลกของทรัมป์
เราควรเริ่มต้นที่ ระเบียบโลกของทรัมป์ อันดูได้จากทั้งคำประกาศของทรัมป์ก่อนเลือกตั้งประธานาธิบดีและหลังได้รับเลือกตั้งแล้ว รวมทั้งนิสัยใจคอของเขา ได้แก่
1 ทรัมป์จะขึ้นภาษีศุลกากรสำหรับสินค้านำเข้าจากจีน 60%
2 สหรัฐอเมริกาจะยกเลิกจีนจากสถานะชาติที่ได้รับความอนุเคราะห์ยิ่ง (Most Favoured Nation-MFN) หมายความว่า แม้สหรัฐอเมริกาและจีนเป็นสมาชิกองค์การการค้าโลก (World Trade Organization) แต่สหรัฐอเมริกาจะไม่ให้สิทธิประโยชน์ต่างๆ กับจีนเหมือนที่ให้สิทธิเหล่านั้นกับประเทศสมาชิกองค์การการค้าโลกอื่นๆ
3 สหรัฐอเมริกาประกาศจะยกเลิกการอนุญาตไม่ให้บริษัทผู้ผลิตยาและเวชภัณฑ์จากจีน สามารถวางจำหน่ายผลิตภัณฑ์ในสหรัฐอเมริกา อันเนื่องมาจากความเชื่อส่วนตัวของทรัมป์ที่ว่า ไวรัสโควิด-19 เกิดขึ้นจากห้องปฏิบัติการของจีน แม้จะไม่มีหลักฐานปรากฏแต่อย่างใด
4 ทรัมป์ยังจะทำสงครามการค้ากับประเทศอื่นๆ ด้วย โดยประกาศขึ้นอัตราภาษีศุลกากรอีก 10-20% สำหรับสินค้าที่นำเข้าจากสหรัฐ ขาดดุลการค้า นี่เป็นมาตรการทางอ้อมของประเทศที่ป้องกันสินค้าจากผู้ประกอบการจีนที่ย้ายฐานการผลิตไปยังแหล่งผลิตในประเทศที่ 31 ทรัมป์ยังให้รัฐบาลใหม่ของเขาประกาศเพิ่มอัตราภาษีศุลกากรขึ้นอีกเรื่อยๆ จนกว่าสหรัฐอเมริกาจะไม่ขาดดุลการค้ากับประเทศเหล่านั้น
เท่านี้ก็เห็นได้ว่า ระเบียบโลกของทรัมป์ มีศูนย์กลางอยู่ที่สหรัฐอเมริกา ที่กำหนดกติกาของตัวเอง ใช้กลไกการค้าระหว่างประเทศเป็นหนึ่งกลไก ขับเคลื่อน ทำสหรัฐอเมริกากลับมายิ่งใหญ่อีกครั้งหนึ่ง ดั่งภาษาอังกฤษที่ดั่งก้องไปทั่วว่า Make America Great Again-MAGA
แล้วไทยจะเหลืออะไร?
เมื่อเราดูข้อมูลเชิงประจักษ์ ไทยอยู่ตรงไหนของระบบการค้าระหว่างประเทศ ดูข้อมูลตามตาราง
จากการศึกษานี้ ทั้ง 3 ประเทศ คือ เวียดนาม ไทยและมาเลเซีย ในปี 2566 พบว่า เวียดนามและมาเลเซีย มีมูลค่าเกินดุลการค้าจากสหรัฐ สูงกว่าการขาดดุลการค้าจากจีน 35,009 ล้านดอลลาร์ และ 1,344 ล้านดอลลาร์ ตามลำดับ
ขณะที่ไทยขาดดุลการค้าจากจีนมากกว่าเกินดุลจากสหรัฐ 9,313 ล้านดอลลาร์
แสดงให้เห็นว่าทั้งเวียดนามและมาเลเซียมีแนวโน้มที่จะได้ประโยชน์จากสถานการณ์การเบี่ยงเบนทางการค้าระหว่างสหรัฐและจีน มากกว่าไทย
กล่าวโดยสรุปพบว่า การเบี่ยงเบนทางการค้าระหว่างจีนและสหรัฐ สามารถสร้างประโยชน์ให้กับประเทศในกลุ่ม ASEAN โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีที่สหรัฐลดการนำเข้าจากจีน โดยเฉพาะกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์
โดยสินค้าที่ไทยได้รับผลประโยชน์มากขึ้น (สัดส่วนการนำเข้าของสหรัฐจากไทยเพิ่มขึ้น) เช่น เซมิคอนดักเตอร์และส่วนประกอบ แผงวงจรรวม และเครื่องปรับอากาศ เป็นต้น
อย่างไรก็ดี พบว่ามีบางสินค้าที่อาเซียน และไทยได้รับผลประโยชน์ แต่ อาเซียน ได้รับประโยชน์มากกว่าไทย (การเพิ่มขึ้นของสัดส่วนการนำเข้าของสหรัฐจาก อาเซียน มากกว่าการเพิ่มขึ้นของสัดส่วนการนำเข้าจากไทย)
เช่น โทรศัพท์และชิ้นส่วน เครื่องประมวลผลข้อมูลอัตโนมัติ และหม้อแปลงไฟฟ้า เป็นต้น และบางสินค้าที่อาเซียน ได้รับผลประโยชน์มากขึ้น
ขณะที่ไทยได้รับผลประโยชน์ลดลง (สัดส่วนการนำเข้าของสหรัฐจาก อาเซียน เพิ่มขึ้น ขณะที่สัดส่วนการนำเข้าจากไทยลดลง) เช่น ยางนอกชนิดอัดลม เป็นต้น
นอกจากนี้ แม้ว่าไทยจะเกินดุลจากสหรัฐเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่ไทยก็ยังคงเป็นประเทศที่มีการขาดดุลการค้าจากจีนมากกว่า โดยส่วนหนึ่งมาจากสินค้าที่ไทยเกินดุลจากจีนยังคงเป็นสินค้าเกษตรที่มูลค่าเพิ่มไม่มาก ขณะที่ชนิดสินค้าที่ไทยขาดดุลจากจีนจะเป็นสินค้าอุตสาหกรรมที่มีความซับซ้อนและมูลค่าเพิ่มสูง
ดังนั้น เพื่อให้ไทยสามารถได้รับประโยชน์จากสถานการณ์การเบี่ยงเบนทางการค้าระหว่างจีนและสหรัฐมากขึ้น การเสริมสร้างขีดความสามารถของภาคเกษตรและอุตสาหกรรมของไทยจากภาครัฐ ทั้งเรื่องของเทคโนโลยี องค์ความรู้ และแรงจูงใจภาคเอกชน จะทำให้ไทยสามารถพัฒนาและส่งออกสินค้าภาคเกษตรและอุตสาหกรรมที่อาศัยเทคโนโลยีนวัตกรรมที่ซับซ้อนและสร้างมูลค่าเพิ่มได้สูงขึ้นซึ่งจะเป็นส่วนหนึ่งที่จะทำให้ไทยสามารถเข้าร่วมห่วงโซ่มูลค่าในตลาดโลกได้มากขึ้นในระยะถัดไป2
ที่สำคัญ ไทยไม่ได้เป็นที่รักของทั้งสหรัฐอเมริกาและจีน แต่ไทยอยู่ภายใต้ระบบทุนนิยมโลกที่ไทยอยู่ภายใต้ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจและการเมืองของทั้งสหรัฐอเมริกาและจีน
แถมการกลับมาของทรัมป์ 2.0 ยิ่งทำให้ไทยเจ็บหนักกว่าประเทศใดในอาเซียน
หากเราดูข้อมูลและบทวิเคราะห์ซึ่งมาจากสำนักงานสภาพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติเมื่อพฤษภาคม 25673 นี่เอง
น่าเสียดาย นายกรัฐมนตรี แพทองธาร ชินวัตร เคยได้รับรายงานนี้หรือเปล่า ท่านจึงปล่อยไก่ตัวใหญ่ว่า เมื่อทรัมป์มาการส่งออกไทยจะดีขึ้น
ทรัมป์ 2.0 ไทยแย่แล้ว
จากข้อมูลข้างต้นพอสรุปได้ว่า
1 สินค้าไทยที่จะไปขายในสหรัฐ นอกจากเจอภาษีศุลกากร 10-20% ทำให้ไทยขาดความสามารถในการแข่งขัน ที่มากไปกว่านั้นคือ สินค้าไทยยังต้องไปแข่งขันกับสินค้าราคาถูก คุณภาพดีจากจีน ที่ตั้งใจลดราคาเพื่อขายในสหรัฐ ตามที่ผู้นำจีนและสหรัฐอาจเจรจากัน
2 สินค้าไทยจะขายได้ในตลาดจีนน้อยลง เนื่องจากจีนจะนำเข้าสินค้าจำนวนมากจากสหรัฐ เพื่อให้สหรัฐลดการขาดดุลกับจีน
หมายความว่า ไทยจะสูญเสียทั้งตลาดสหรัฐและตลาดจีนซึ่งเป็นคู่ค้าสำคัญที่สุดอันดับแรกของไทย รองจากอาเซียน
3 เงินลงทุนจีนและประเทศอื่นๆ ที่เคยมาลงทุนในไทยก็จะหายไปอยู่ดี โดยเฉพาะเงินลงทุนจีนที่จะหายไปลงทุนมากขึ้นในสหรัฐ
4 เมื่อจีนกับสหรัฐค้าขายระหว่างกันโดยตรงมากขึ้น หมายความว่า สินค้าอื่นจะสูญเสียความสามารถในการแข่งขันในตลาดทั้งสหรัฐและจีน ดังนั้น สินค้าจากประเทศอื่นๆ ที่เหลือท่วมอยู่ในตลาดโลกจะเข้ามาแข่งขันกับสินค้าไทยในตลาดของไทยมากขึ้น4
BRIC ทางเลือกยุทธศาสตร์ของไทยหรือเปล่า ?
เช้ามืดวันที่ 1 ธันวาคมนับเป็นวันมืดมิดของโลกและไทยอีกคำรบหนึ่ง ทรัมป์ประกาศนโยบายของเขาผ่าน x ใจความสำคัญคือ
ความคิดของประเทศ BRICS กำลังพยายามหนีออกจากเงินดอลลาร์สหรัฐ ในขณะที่เรา (สหรัฐ-ขยายความโดยผู้เขียน) ยืนและเฝ้าดูการยกเลิก เราเรียกร้องการยึดมั่นจากประเทศเหล่านี้ว่า พวกเขาจะไม่ทั้งสร้างเงินสกุลใหม่และไม่กลับไปสู่เงินสกุลอื่นแทนที่เงินสกุลดอลลาร์สหรัฐ หรือพวกเขาจะเผชิญกับอัตราภาษีศุลกากร 100% และคาดการณ์ถึงการกล่าวคำอำลาการแล่นเรือในเศรษฐกิจสหรัฐอันน่าประหลาดใจ พวกเขาสามารถหาตัวดูดเศรษฐกิจอื่นได้หรือ ไม่มีทางสำหรับประเทศ BRICS จะหาสกุลเงินแทนเงินดอลลาร์ในตลาดการค้าระหว่างประเทศ และไม่มีประเทศอื่นใดพยายามจะโบกมือลาคนอเมริกัน
ปัดโถ่ (นี่ผู้เขียนพูดแทน) ข้อความใน x กลายเป็นประกาศิตต่อโลกและไทยไปแล้ว ด้วยภาษาที่กวนๆ แต่ตรงไปตรงมาตามสไตล์ของผู้มากบารมีชื่อทรัมป์ ใครละจะทำให้ไทยกลับมายิ่งใหญ่อีกครั้ง ดั่งที่ทรัมป์ประกาศและทำจริงไปแล้ว นี่เป็นเพียงจุดเริ่มต้นเท่านั้น
ขอให้โชคดีทุกท่านครับ โปรดดูแลตัวเองด้วยนะครับ
1 ปิติ ศรีแสงนาม “Trump 2.0 ไม่ว่าฉากทัศน์ไหน ไทยก็เหนื่อย” 101, 26 พฤศจิกายน 2024
2 “เตรียมรับสงครามการค้าสหรัฐ-จีน ไทยกระทบหนักสุดในอาเซียน” Policy Watch ไทยพีบีเอส 24 พฤษภาคม 2567
3 “ภาวะเศรษฐกิจไทย ไตรมาสแรกปี 2567 และแนวโน้มปี 2567” แถลงข่าว 20 พฤษภาคม 2567 สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
4 ปิติ ศรีแสงนาม อ้างแล้ว
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022