ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 13 - 19 ธันวาคม 2567 |
---|---|
ผู้เขียน | ดร.จักรกฤษณ์ สิริริน |
เผยแพร่ |
ศาสตราจารย์ ดร. Judith Buttriss นักโภชนาการสาธารณสุข จาก Academy of Nutrition Science หรือ “สถาบันวิทยาศาสตร์โภชนาการแห่งสหราชอาณาจักร” ได้ตีพิมพ์เผยแพร่บทความวิชาการในวารสารโภชนาการ Nutrition Bulletin
“ขณะนี้ ภาวะวิตามินดีต่ำ เป็นเรื่องที่พบได้ทั่วไปในหมู่ประชากรชาวเอเชีย ที่อาศัยอยู่ในสหราชอาณาจักร”
“แต่ที่น่ากังวลมากกว่านั้นก็คือ โรคกระดูกอ่อนในเด็ก หรือ Rickets ได้หวนกลับมาอีกครั้ง” ศาสตราจารย์ ดร. Judith Buttriss กล่าว และว่า
“ในช่วงทศวรรษ 1960-1970 ผู้ป่วย Rickets ในสหราชอาณาจักรมีน้อยมาก และลดลงเรื่อยๆ ในทศวรรษต่อมา”
“โดยในทศวรรษ 1990 มีผู้ป่วย Rickets เพียง 0.3 คนต่อประชากร 100,000 คน ทว่า ในช่วงทศวรรษ 2000 อัตราผู้ป่วยกลับเริ่มเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว” ศาสตราจารย์ ดร. Judith Buttriss กล่าว และว่า
“ปัจจุบัน อัตราผู้ป่วย Rickets สูงที่สุดในรอบ 5 ทศวรรษ”
Rickets หรือโรคกระดูกอ่อนในเด็ก เป็นผลมาจากการขาดแคลเซียม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง วิตามินดี
ในยุคที่ยังไม่มีการค้นพบ “องค์ความรู้เกี่ยวกับวิตามิน” หลายครอบครัวสังเกตเห็นว่า เด็กๆ ที่ได้รับ “น้ำมันตับปลา” มักจะไม่เป็นโรคกระดูกอ่อน โดยโรคนี้อาจทำให้เกิดอาการชัก และหัวใจวายได้อีกด้วย
ห้วงเวลาดังกล่าว ได้รับการขนานนามว่า “ยุค Dickens” ซึ่งหมายถึง ช่วงเวลาที่ Charles Dickens นักเขียนชื่อดังชาวอังกฤษผู้อยู่ในยุควิกตอเรียระหว่างปี ค.ศ.1837-ปี ค.ศ.1901 ยังมีชีวิตอยู่
โดยเด็กๆ ต้องรอต่อมาอีกเกือบ 20 ปี คือในปี ค.ศ.1919 ที่ได้มีการค้นพบว่า การขาดแคลเซียม และวิตามินดี เป็นสาเหตุของโรคกระดูกอ่อน
และฮีโร่ที่มาช่วยกอบกู้สถานการณ์โลกก็คือ “น้ำมันตับปลา”
การค้นพบพลังอันน่าทึ่งของ “น้ำมันตับปลา” ไม่ต่างจากยารักษาโรคหลายชนิดในยุคโบราณ เช่น ฝิ่น น้ำมันละหุ่ง น้ำเชื่อมมะเดื่อ หรือน้ำมันกำมะถัน
ดังนั้น ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 รัฐบาลสหราชอาณาจักร จึงมีดำริแจก “น้ำมันตับปลา” ให้เด็กที่อายุต่ำกว่า 5 ปีฟรี
กระบวนการผลิต “น้ำมันตับปลา” คือการนำ “ตับปลา Cod” มาผ่านความร้อน แล้วเก็บน้ำมันที่ไหลออกมา น้ำมันนี้อุดมไปด้วยวิตามินดี และวิตามินเอ
ในยุคนั้น แม้โลกจะยังไม่รู้จักวิตามิน แต่วิตามินดี ใน “น้ำมันตับปลา” ช่วยดูดซึมแคลเซียมจากลำไส้เข้าสู่กระแสเลือด ทำให้เด็กๆ ที่ได้รับ “น้ำมันตับปลา” ไม่เป็นโรคกระดูกอ่อนอีกต่อไป
แต่สิ่งที่เด็กๆ ต้องแลกมาก็คือ ความพะอืดพะอม บีบจมูกจากกลิ่นคาว และต้องกลั้นใจกลืน “น้ำมันตับปลา” วันละ 1 ช้อนโต๊ะ
เพราะสำหรับเด็กในยุคนั้น คำว่า “น้ำมันตับปลา” คือภาพช้อนที่ตักของเหลวขุ่นๆ ที่สุดจะเหม็น และรสชาติเหมือนขี้โคลน
จะเห็นได้ว่า แม้ “น้ำมันตับปลา” จะอุดมไปด้วยประโยชน์ แต่กับเรื่องรสชาติแล้วเหมือนอยู่คนละโลก
เพราะ “น้ำมันตับปลา” ก็เหมือนกับน้ำมันทั่วๆ ไป ที่เมื่อสัมผัสกับออกซิเจนแล้ว ตัวน้ำมันเองจะเหม็นหืน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “น้ำมันตับปลา” มีรสคาวอย่างรุนแรง
แต่สำหรับประชาชนชาวอังกฤษ หรือสหราชอาณาจักรแล้ว การบริโภค “น้ำมันตับปลา” เป็นการรับวิตามินดี ที่ดีกว่าการออกไปอาบแดด เพื่อให้เอนไซม์ใต้ผิวหนังผลิตวิตามินดี
เพราะเป็นที่ทราบกันดีว่า ตลอดประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา ประเทศอังกฤษ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กรุงลอนดอน ปีๆ หนึ่งแทบจะไม่มีแดดให้อาบเลย
ความข้อนี้ยังคงเป็นจริงในปัจจุบัน และอาจแย่ลงเรื่อยๆ ด้วยซ้ำ จากข้อมูลของสำนักงานอุตุนิยมวิทยาแห่งสหราชอาณาจักร ที่คาดการณ์ว่า ภายในปี ค.ศ.2070 ฤดูหนาวจะมีปริมาณฝนเพิ่มขึ้น 30% เมื่อเทียบกับยุคทศวรรษ 1990
แปลไทยเป็นไทยก็คือ เป็นเรื่องยากที่คนอังกฤษ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กๆ จะได้รับวิตามินดีจากแสงแดด ดังนั้น “น้ำมันตับปลา” จึงเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด
จากเหตุผลดังกล่าว หลายประเทศจึงเริ่มนำวิตามินดีเข้าไปเสริมในอาหาร เช่น ในทศวรรษ 1940 สหราชอาณาจักรเริ่มเสริมวิตามินดีในเนยเทียม โดยกำหนดเป็นข้อบังคับสำหรับผู้ผลิตขนมปัง
ต่อมาผู้ผลิตนม และอาหารเช้าแนวซีเรียล ก็เข้าร่วมเสริมวิตามินดีในผลิตภัณฑ์ของตนด้วยเช่นกัน
ข้ามไปที่สหรัฐอเมริกา ก็มีการเติมวิตามินดีเข้าไปในนม จากข้อบังคับของรัฐบาลกลางในทศวรรษ 1950 ตามด้วยการเสริมวิตามินดีในซีเรียล ขนมปัง และแป้งทำขนม
แม้กระทั่งยุคศตวรรษที่ 21 ในทุกวันนี้ ก็ยังมีรัฐบาลอีกหลายประเทศ ที่ดำเนินนโยบายเพิ่มระดับวิตามินดีในอาหาร เช่น รัฐบาลฟินแลนด์ ได้ริเริ่มโครงการเติมวิตามินดีในอาหารเมื่อต้นทศวรรษ 2000
อย่างไรก็ดี ความพยายามเติมวิตามินดีในอาหารของรัฐบาลสหราชอาณาจักร กลับเผชิญหน้ากับปัญหาในช่วงแรกๆ เมื่อพบผู้ป่วยโรคภาวะแคลเซียมในเลือดสูง
ภาวะแคลเซียมในเลือดสูง หรือ Hypercalcaemia เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดนิ่วในไต และปัญหาสุขภาพอื่นๆ ตามมา
ทำให้ผู้เชี่ยวชาญสงสัยว่า เด็กอาจได้รับวิตามินดีจากการรณรงค์เกินขนาดหรือไม่ ส่งผลให้การเสริมวิตามินดีในอาหารยุติลงในทศวรรษ 1960 ยกเว้นเนยเทียม และนมผงสำหรับทารก
ทำให้ความนิยมใน “น้ำมันตับปลา” เพิ่มมากขึ้นจนเป็นกระแสสูงไปทั่วโลก
สําหรับเด็กไทยในยุคหลังจากนั้น หลายท่านอาจจำได้ว่า มีกระแสส่งเสริมการบริโภค “น้ำมันตับปลา” กับเขาด้วย
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในช่วงทศวรรษ 2010 ที่ “น้ำมันตับปลา” กลับมาเป็นที่นิยมอีกครั้ง เนื่องจากสหราชอาณาจักรยุติการเสริมวิตามินดีในเนยเทียม เนื่องจากปัญหาไขมันทรานส์
อย่างไรก็ตาม เมื่อวิทยาศาสตร์การแพทย์มีความก้าวหน้า การตรวจระดับวิตามินดีในเลือดมีความแม่นยำมากขึ้น ความจริงที่น่าตกใจก็ปรากฏขึ้น
สภาพกรุงลอนดอนระหว่างเดือนมกราคมถึงมีนาคม ซึ่งเป็นฤดูที่มีแสงแดดน้อยที่สุด เด็กๆ ในสหราชอาณาจักรกว่า 40% และผู้ใหญ่เกือบ 30% มีภาวะขาดวิตามินดี โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้ที่มีผิวคล้ำจะมีความเสี่ยงมากเป็นพิเศษ
ร้อนถึงคณะกรรมการที่ปรึกษาทางโภชนาการของสหราชอาณาจักร ที่ต้องออกโรงชี้แจงว่า กรณีภาวะแคลเซียมในเลือดสูง ที่ทำให้การเสริมวิตามินดีถูกยกเลิกในอดีตนั้น มีสาเหตุมาจากโรคทางพันธุกรรมที่รบกวนการดูดซึมวิตามิน
พูดอีกแบบก็คือ ปัญหาภาวะแคลเซียมในเลือดสูง อาจไม่ใช่เพราะการบริโภควิตามินดีมากเกินไป
ดังที่กล่าวไปในตอนต้น นับตั้งแต่ทศวรรษ 2000 เป็นต้นมา อัตราผู้ป่วย Rickets หรือโรคกระดูกอ่อนในเด็ก ที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว
โดยในปัจจุบัน พบว่า อัตราผู้ป่วย Rickets สูงที่สุดในรอบ 5 ทศวรรษ
ก็อาจทำให้นโยบาย “น้ำมันตับปลาหนึ่งช้อน” ที่รณรงค์ให้โรงเรียนอนุบาลทั่วประเทศ หันกลับมาแจก “น้ำมันตับปลา” อีกครั้ง
ทว่า ในครั้งนี้ ซึ่งโลกได้ก้าวสู่ยุคศตวรรษที่ 21 เด็กยุคใหม่ ไม่จำเป็นต้องแลกการรับวิตามินดีจาก “น้ำมันตับปลา” กับความพะอืดพะอม บีบจมูกจากกลิ่นคาว และต้องกลั้นใจกลืน “น้ำมันตับปลา” วันละ 1 ช้อนโต๊ะ
เพราะในปัจจุบัน มี “น้ำมันตับปลาแบบเม็ด” ให้เลือกรับประทาน ล้างภาพช้อนตักของเหลวขุ่นๆ สุดจะเหม็น และรสชาติเหมือนขี้โคลนออกไปจากประวัติศาสตร์
เพราะแม้ “น้ำมันตับปลา” จะอุดมไปด้วยประโยชน์ แต่กับเรื่องรสชาติของ “น้ำมันตับปลาชนิดน้ำดั้งเดิม” แล้วเหมือนอยู่คนละโลกเมื่อแลกกับสุขภาพที่ดี
ไม่แน่ว่า ในอนาคตอันใกล้ เราอาจเห็นแคมเปญรณรงค์ให้เด็กๆ บริโภค “น้ำมันตับปลาแบบเม็ด” ก็เป็นได้
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022