จากพีระมิดถึงดีเอ็นเอ : ว่าด้วยมาตรฐานกับงานวิศวกรรมสิ่งมีชีวิต (3)

ภาคภูมิ ทรัพย์สุนทร

Biology Beyond Nature | ภาคภูมิ ทรัพย์สุนทร

 

จากพีระมิดถึงดีเอ็นเอ

: ว่าด้วยมาตรฐานกับงานวิศวกรรมสิ่งมีชีวิต (3)

 

“แค่ในสหรัฐประเทศเดียวมูลค่าความเสียหายจากงานวิจัยพื้นฐานที่ทำซ้ำไม่ได้อยู่ที่ $28,000 ล้านต่อปี”

– Freedman และคณะ

 

ปี2011 ทีมวิจัยจาก Bayer บริษัทยักษ์ใหญ่วงการไบโอเทคเขียนบทความเรื่อง “เชื่อหรือไม่ : เราจะพึ่งพาข้อมูลวิจัยตีพิมพ์ว่าด้วยเป้าหมายยาได้แค่ไหน?” ลงในวารสาร Nature

บทความเล่าปัญหาที่บริษัทเจอเมื่อพยายามทำซ้ำและต่อยอดผลการวิจัยที่ได้รับการตีพิมพ์ในวารสารวิชาการ

ปกติแล้วการพัฒนายาและผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์มักจะเริ่มต้นจากงานวิจัยพื้นฐานที่มีจุดประสงค์เพื่อให้เราเข้าใจกลไกการเกิดโรค และค้นพบโมเลกุลเป้าหมายที่เป็นสาเหตุหรืออาจจะช่วยยับยั้งบรรเทาโรค

งานวิจัยพื้นฐานเหล่านี้ห่างไกลจากการประยุกต์ใช้มาก ทำให้บริษัทเอกชนที่ต้องมุ่งเน้นผลกำไรมักจะไม่มาเสียเงินเสียเวลาทำ ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของนักวิจัยสายวิชาการตามมหาวิทยาลัยหรือสถาบันวิจัยที่ได้ทุนสนับสนุนจากรัฐบาลและมูลนิธิการกุศลต่างๆ

กระนั้นงานวิจัยพื้นฐานก็เป็นก้าวแรกที่สำคัญสำหรับการค้นพบใหม่ๆ งานที่ผลออกมาดีจะได้รับการตีพิมพ์ในวารสารวิชาการชั้นนำ

นักวิจัยได้ชื่อเสียงได้โปรไฟล์เอาไว้เลื่อนตำแหน่ง สมัครงาน และดึงดูดทุนวิจัยเข้ามาหล่อเลี้ยงทีมงาน

ส่วนเอกชนก็สามารถจะเอางานเหล่านี้ไปประยุกต์ต่อยอดพัฒนาผลิตภัณฑ์ ทดสอบระดับคลินิก ขยายสเกลการผลิตจนได้ของมาออกตลาดให้คนทั่วไปได้ใช้

งานส่วนประยุกต์ใช้เวลาร่วมสิบปีใช้เงินลงทุนมหาศาลเกินกำลังในวิจัยสายวิชาการไปไกล แต่ถ้าสำเร็จก็ได้ผลตอบแทนเป็นกำไรมหาศาลเช่นกัน

งานวิจัยพื้นฐานจึงเหมือนการกลัดกระดุมเม็ดแรก ถ้าผิดก็มีโอกาสพาเอกชนหลงทิศเสียทั้งเวลาทั้งเงินไปเปล่าๆ

Cr. ณฤภรณ์ โสดา

Bayer เก็บข้อมูลจากหัวหน้าทีมวิจัยในบริษัท 23 คนที่ดูแลโครงการวิจัยรวม 67 โครงการ ส่วนมากเกี่ยวกับด้านมะเร็ง

หัวหน้าทีมวิจัยเหล่านี้รับหน้าที่เลือกเอางานวิจัยพื้นฐานที่มีแววจะต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ได้มาลองทำซ้ำให้แน่ใจก่อนที่บริษัทจะตัดสินใจว่าไปต่อหรือพอแค่นี้

ผลปรากฏว่ามีแค่ 20-25% ของโครงการเท่านั้นที่ทีมวิจัยของบริษัทสามารถทำซ้ำได้และได้ผลออกมาสอดคล้องกับผลเดิม

งานวิจัยพื้นฐานหลายชิ้นที่ถือว่าพลิกวงการได้ตีพิมพ์ในวารสารวิชาการตัวท็อปก็ไม่ได้การันตีว่าจะไม่มีปัญหานี้

งานวิจัยพื้นฐานในวงการชีววิทยามีปัญหาเรื้อรังด้านการทำซ้ำ (reproducibility)
Cr. ณฤภรณ์ โสดา

ปีถัดมาทีมวิจัยจาก Amgen บริษัทไบโอเทคยักษ์ใหญ่อีกเจ้าก็รายงานปัญหาคล้ายๆ กัน ทีมวิจัยของบริษัทพยายามทำซ้ำการทดลองจากงานวิจัยพื้นฐานด้านมะเร็ง 53 ชิ้นที่ตีพิมพ์ในวารสารชั้นนำ

ผลปรากฏว่ามีแค่ราว 11% เท่านั้นที่ Amgen ยืนยันผลเดิมได้

ที่น่าตกใจกว่านั้นคือ งานที่ทำซ้ำไม่ได้หลายชิ้นถูกกล่าวอ้างถึงโดยงานวิจัยอื่นๆ เป็นร้อยครั้งและบางทีถึงขั้นให้กำเนิดสาขาวิชาใหม่ แต่ไม่มีใครลองทำซ้ำงานตั้งต้นและรายงานผลออกมาแบบในบทความนี้ของ Amgen

ปัญหาการทำซ้ำการทดลองไม่ได้ (reproducibility problem) สั่นสะเทือนความน่าเชื่อถือของวงการวิจัยมากโดยเฉพาะกลุ่มงานวิจัยก่อนระดับคลินิกด้านมะเร็ง (preclinical cancer research) จนนำมาสู่การจัดตั้งโครงการชื่อ “Reproducibility Project : Cancer Biology (RPCB)” โดยองค์กรไม่หวังผลกำไรชื่อ Center of Open Science และบริษัท Science Exchange

RPCB เลือก 193 การทดลองจาก 53 งานวิจัยด้านมะเร็งที่ตีพิมพ์ในวารสารชั้นนำอย่าง Nature, Science และ Cell ช่วงปี 2010-2012 มาทำทดสอบซ้ำ

เรื่องน่าตกใจแรกคือ ไม่มีแม้แต่การทดลองเดียวที่ข้อมูลกระบวนการวิจัยตามที่ตีพิมพ์ในวารสารมากเพียงพอให้ทีมงานทำการทดลองตามได้เลยโดยไม่ต้องติดต่อเจ้าของผลงานเพื่อขอรายละเอียดเพิ่ม

และที่ติดต่อไปราวหนึ่งในสามก็ไม่ตอบหรือตอบอยู่สักระยะก็เงียบหายไป

 

นักวิจัยหลายคนบ่นว่าโครงการของ RPCB รบกวนเวลาทำงานของพวกเขามาก ต้องอีเมลโต้ตอบกันไปมาหลายสิบฉบับเป็นเดือนๆ เพื่ออธิบายขั้นตอนการทดลองให้กระจ่าง ต้องใช้งานนักศึกษาหรือผู้ช่วยวิจัยไปขุดข้อมูลเก่าๆ ที่เก็บไว้ บางทีก็ต้องไปหาสารเคมีหรือเซลล์ตัวอย่างที่ซุกไว้ตรงไหนไม่รู้ส่งไปให้ทาง RPBC กว่าจะส่งได้ก็ต้องกรอกเอกสารทำใบขออนุมัติกันวุ่นวาย

ทั้งหมดนี้ทำไปแล้วเงินก็ไม่ได้ จะเอาผลงานไปเคลมรางวัลอะไรก็ไม่ได้อีก

อีกประเด็นที่นักวิจัยเจ้าของผลงานกังวลก็คือ ถ้า RPCB ทำซ้ำผลการทดลองไม่ได้พวกเขาเสียชื่อเสียงในวงการไปด้วย ทั้งๆ ที่อาจจะเป็น RPCB ที่พลาดเอง

หลายเทคนิคในการทดลองต้องใช้ความชำนาญเฉพาะทางมากๆ ที่ทีมวิจัยสั่งสมมานาน คนนอกอย่าง RPCB ทำตามไม่ได้ก็ไม่แปลก

บางคนเปรียบเทียบว่าสูตรอาหารเด็ดต้องคู่กับพ่อครัวมือฉมัง จะเอาสูตรเดียวกันไปให้พ่อครัวหน้าใหม่ทำตามให้เหมือนคงยาก

RPCB ใช้เวลาไปแปดปีงบวิจัยอีกกว่า 1.5 ล้านเหรียญสหรัฐ ปรากฏว่ามีการทดลองแค่ราวหนึ่งในสี่เท่านั้นที่ทำตามได้ และในจำนวนนี้ 85% ได้ผลการทดลองเชิงปริมาณด้อยกว่าที่ตีพิมพ์มาในวารสาร

และเพียง 46% ของผลการทดลองเชิงคุณภาพสามารถทำซ้ำได้

 

งานของ Bayer, Amgen และ RPCB อาจจะไม่ได้ยืนยันว่าผลวิจัยตั้งต้นที่ตีพิมพ์ในวารสารวิชาการนั้น ‘ผิด’ แต่บอกได้แน่ว่ามันทำซ้ำ (replicate) ได้ยากมาก ซึ่งอาจจะเป็นเพราะการทดลองตั้งต้นออกแบบไว้ไม่รัดกุม รายงานกระบวนการไม่ครบ หรืออาจจะมีตัวแปรบางตัวที่สำคัญมากๆ กับผลการทดลองแต่เรามองข้ามไป เช่น ล็อตสารเคมีที่ใช้ แหล่งที่มาของเซลล์ รูปทรงภาชนะ หรือรายละเอียดเทคนิคเล็กๆ น้อยๆ ของผู้ทำวิจัยอย่างความแรงและรอบการเขย่าสารในมือ

ปัญหาเหล่านี้นำเรากลับมาสู่ประเด็นเรื่อง “มาตรฐาน (standard)” มาตรฐานของวัตถุ การวัด และข้อมูล

ถ้าสารเคมี อุปกรณ์ และชีววัตถุที่ใช้มีมาตรฐาน (ไม่ใช่อะไรก็ได้ที่ทีมวิจัยมี) ถ้ากระบวนการวัดการทดลองต่างๆ มีมาตรฐาน (ไม่ใช่เอาตามที่ทีมวิจัยถนัด)

และถ้ารายงานข้อมูลมีมาตรฐานมีเช็กลิสต์ชัดเจนว่าต้องรายงานขั้นต่ำอะไรบ้าง (ไม่ใช่บรรยายไปเรื่อยๆ แล้วตัดสินตามวิจารณญาณของผู้ประเมิน) โอกาสที่งานวิจัยจะถูกทำซ้ำและต่อยอดใช้ประโยชน์ได้โดยนักวิจัยกลุ่มอื่นและภาคเอกชนคงจะสูงขึ้นมาก