ข้อสังเกตเรื่องคนว่างงาน

กฤตภาศ ศักดิษฐานนท์www.facebook.com/bintokrit

ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมามีข่าวใหญ่ที่ได้รับการพูดถึงอย่างกว้างขวางเรื่องภาวะการว่างงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เกิดกับบัณฑิตจบใหม่จากรั้วมหาวิทยาลัย

ข่าวเรื่องนี้เป็นที่สนใจในสื่อมวลชนเกือบทุกสำนัก ยกตัวอย่างเช่น ข่าว “คนไทยว่างงานกว่า 4.14 แสนคน ส่วนใหญ่จบระดับอุดมศึกษา ชี้ 65% บอกหางานไม่ได้” มติชน เผยแพร่เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2567

โดยข่าวดังกล่าวนำข้อมูลทางสถิติมาจากสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ดังที่ระบุไว้ในเนื้อข่าวว่า

“นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ แถลงรายงานภาวะสังคมไทยไตรมาส 3 ปี 2567 ว่า การจ้างงานค่อนข้างทรงตัว โดยมีผู้มีงานทำจำนวน 40 ล้านคน ลดลงจากไตรมาส 3 ปี 2566 เล็กน้อยที่ 0.1%”

ซึ่งบ่งบอกถึงจำนวนผู้มีงานทำว่ามีปริมาณต่ำลงกว่าปีที่ผ่านมา ทว่า ไม่ได้ลดลงมากนัก ความแตกต่างนี้มีน้อยจนสัมผัสรับรู้ไม่ได้ชัดเจนในชีวิตประจำวัน

แสดงให้เห็นว่าคนที่มีงานทำอยู่แล้วส่วนใหญ่ก็ยังคงมีงานทำอยู่ ตัวเลขล่าสุดจึงใกล้เคียงกับสถิติเดิม

อย่างไรก็ตาม ข้อมูลที่น่าสนใจคือ จำนวนผู้ว่างงานนั้นมีปริมาณสูงขึ้นกว่าในช่วงที่ผ่านมา โดยกล่าวว่า “สำหรับอัตราการว่างงานอยู่ที่ 1.02% เพิ่มขึ้นจาก 0.99% ในไตรมาสก่อนหน้า โดยมีผู้ว่างงานเฉลี่ยจำนวน 4.14 แสนคน ต่ำกว่าผู้ว่างงานจำนวน 4.29 แสนคน ในไตรมาสก่อนหน้า แต่สูงกว่าผู้ว่างงานจำนวน 4.01 แสนคน ในไตรมาสเดียวกันของปีก่อนหน้า”

จะเห็นได้ว่าอัตราการว่างงานในปีนี้กำลังอยู่ในช่วงขาขึ้น และมีจำนวนคนว่างงานเพิ่มขึ้นถึง 13,000 คนในเวลาห่างกันเพียงแค่ 3 เดือน

หากช่วงเวลาที่ห่างกันเพียง 3 เดือนดังกล่าวเป็นรอยต่อของปีการศึกษาซึ่งมีบัณฑิตจบใหม่เป็นจำนวนมาก ตัวเลขนี้ก็คงเป็นเรื่องปกติ

แต่ตามข้อมูลในรายงานนั้นออกมาในไตรมาสที่ 4 หรือช่วงปลายปีปฏิทิน ซึ่งไม่ใช่จังหวะเวลาที่ผู้เรียนในระดับปริญญาตรีส่วนใหญ่จบการศึกษา

ดังนั้น ตัวเลขที่พุ่งสูงขึ้นนี้จึงไม่น่าเกี่ยวข้องกับบัณฑิตจบใหม่ และไม่ใช่ช่วงเวลาที่คนหนุ่มสาวเพิ่งจบการศึกษาจากรั้วมหาวิทยาลัย และกำลังเริ่มต้นชีวิตการหางานทำ

 

สถิติที่แสดงออกมายิ่งดูแปลกและน่าขบคิดเข้าไปใหญ่เพราะตามข้อมูลที่ปรากฏในรายงานข่าวกล่าวว่า “เมื่อจำแนกผู้ว่างงานตามระดับการศึกษา ส่วนใหญ่ยังอยู่ในระดับผู้ที่มีการศึกษาสูงสุดในระดับอุดมศึกษา มัธยมปลาย และมัธยมต้น ตามลำดับ” ซึ่งจะเห็นได้ว่ากลุ่มคนที่ว่างงานกลับเป็นคนที่มีวุฒิการศึกษาระดับปริญญาตรี สูงกว่าผู้ที่จบการศึกษาระดับมัธยมปลายและมัธยมต้นด้วยซ้ำ

ทำให้เห็นว่านี่ไม่ใช่ตัวเลขของการว่างงานแต่เพียงอย่างเดียว ทว่า ยังสะท้อนให้เห็นถึงอัตราการว่างงานแบบกลับตาลปัตรผกผันตามระดับการศึกษาด้วย

คือแทนที่ยิ่งมีวุฒิการศึกษาสูงจะยิ่งมีงานทำ กลับกลายเป็นว่ายิ่งเรียนสูงจะยิ่งไม่มีงาน

ที่ร้ายไปกว่านั้นก็คือ เนื้อข่าวระบุว่า “นอกจากนี้ ผู้ว่างงานระยะยาวตั้งแต่ 1 ปีขึ้นไป มีจำนวนเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้าถึง 16.2% หรือมีจำนวน 8.1 หมื่นคน โดย 65% ระบุสาเหตุว่าหางานไม่ได้ ขณะที่ 71.3% ไม่เคยทำงานมาก่อน ซึ่งในจำนวนนี้เกือบ 3 ใน 4 อยู่ในช่วงอายุ 20-29 ปี”

ข้อมูลนี้ชี้ชัดว่าจำนวนผู้ว่างงานดังกล่าวเป็นภาวะของการตกงานสะสม คือผู้ที่ว่างงานอยู่แต่เดิมก็ยังคงว่างงานต่อไป ในขณะที่คนใหม่ๆ ที่เข้ามาสู่ตลาดก็ไม่สามารถหางานทำได้ ตัวเลขจึงทบเพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ อย่างน่ากลัว

เพราะมีจำนวนมากกว่าปีก่อนถึง 16.2% หรือภายในปีเดียวมีคนว่างงานมากขึ้นเกือบ 1 ใน 4 ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงมากและจำเป็นต้องมีคำอธิบาย

รายละเอียดที่รายงานนำเสนอนั้นบ่งชี้ว่าคนว่างงานส่วนใหญ่หางานมานานแล้วแต่หาไม่ได้

น่าเสียดายที่ข้อมูลดังกล่าวไม่ได้ขยายความว่ามีที่มาที่ไปอย่างไร เช่น ไม่มีผู้จ้างรับเข้าทำงาน หรือว่าเพราะเลือกงานมากเกินไปกันแน่ บางคนอาจไม่มีใครยอมรับเข้าทำงานเลย แต่บางคนอาจได้รับการตอบรับเข้าทำงานบ้างแต่เงื่อนไขการทำงานต่ำกว่าที่คาดหวังก็เป็นได้

ข้อมูลในเชิงลึกนี้อาจมีอยู่ในรายงานของสภาพัฒน์ แต่สำนักข่าวไม่มีพื้นที่มากพอจะนำเสนอ จึงไม่ได้นำบอกเล่าก็เป็นได้

 

แม้ยังไม่ทราบรายละเอียดในเชิงลึกของการสำรวจก็ตาม เป็นที่ชัดเจนว่าคนว่างงานส่วนใหญ่นั้นคือ (1) คนหนุ่มสาววัยทำงาน (2) มีการศึกษาสูง และ (3) ยังไม่เคยมีประสบการณ์การทำงานมาก่อน

ซึ่งสามารถสะท้อนให้เห็นถึงวิกฤตในหลายมิติ ไม่ว่าจะเป็นด้านการศึกษา ด้านภาวะทางเศรษฐกิจ ไปจนถึงความเปลี่ยนแปลงทางสังคมในยุคดิจิทัลที่เทคโนโลยีมีอิทธิพลในการเปลี่ยนแปลงทิศทางการทำงานและหารายได้ ไปจนถึงทักษะที่จำเป็นและความต้องการของตลาด

ซึ่งบทความนี้ยังไม่มีพื้นที่เพียงพอที่จะวิเคราะห์และเจาะลึกลงไปในแต่ละประเด็น จึงทำการตั้งเป็นข้อสังเกตเอาไว้ก่อน แล้วค่อยหยิบมาศึกษา และอภิปรายแยกเป็นรายประเด็นต่อไปในโอกาสหน้า

สำหรับอาชีพที่มีความผันผวนในเชิงลบ และผมพอจะบอกเล่าได้ในฐานะของ “คนใน” ที่ทำงานอยู่ในแวดวงดังกล่าวก็คือวงการบันเทิงกับวงวิชาการ เนื่องจากผ่านประสบการณ์ทำงานในสายบันเทิงด้วยการเป็นนักแสดงมา 20 ปี หลังจากนั้นจึงหันมาเป็นอาจารย์ประจำวิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในหลักสูตรปรัชญา การเมือง และเศรษฐศาสตร์ (PPE) ที่ศูนย์ลำปาง ตั้งแต่เมื่อปีที่ผ่านมา

ซึ่งแม้จะเพิ่งเริ่มเข้ามาสอนให้กับต้นสังกัดปัจจุบันไม่นาน ทว่า ผ่านการเป็นอาจารย์พิเศษในสถาบันอุดมศึกษาอื่นๆ มาตั้งแต่ปี 2558 ทั้งในมหาวิทยาลัยราชภัฏนครสวรรค์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี และสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ จึงทำให้มีประสบการณ์ในฐานะอาจารย์และนักวิชาการมาแล้ว 9 ปี

เพราะฉะนั้น ในส่วนที่ผมพอจะสะท้อนภาพความเปลี่ยนแปลงนี้ได้ ก็อยากบอกเล่าและเปิดพื้นที่สนทนาว่าเกิดอะไรขึ้นในวงการที่ทำอยู่ตลอด 10-20 ปีที่ผ่านมาบ้าง เหตุใดจึงมีสภาพผันผวนรวนเรเช่นในปัจจุบันนี้ เป็นเพราะหลักสูตรการศึกษาไม่ตอบโจทย์ของตลาดงานจริงๆ อย่างที่คนชอบกล่าวอ้างกัน

หรือว่าเป็นเพราะความเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีและนวัตกรรมในโลกยุคดิจิทัลกันแน่

หรือเพราะโลกทัศน์ ค่านิยม และพฤติกรรมที่ผันแปรไปในวิถีชีวิตคนรุ่นใหม่ซึ่งทำให้พวกเขาเกิดความแปลกแยกจากคนรุ่นเก่าก่อน หรือว่าอันที่จริงภาวะการว่างงานนี้เป็นตัวเลขลวงตา ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว คนหนุ่มสาวเหล่านี้ไม่มีงานทำ แต่กลับมีรายได้หล่อเลี้ยงชีวิตอย่างไม่ขัดสนกันแน่

โอกาสหน้าจะมาเล่าให้ฟัง