ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 6 - 12 ธันวาคม 2567 |
---|---|
คอลัมน์ | ในประเทศ |
เผยแพร่ |
ต้องยอมรับว่ากระบวนการเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญ หนึ่งในนโยบายเรือธงหาเสียงเลือกตั้งของ “พรรคเพื่อไทย” เต็มไปด้วยสารพัดปัญหาและอุปสรรคนานัปการ
จนเริ่มมีการออกมาประเมินกันว่าโอกาสที่รัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะเสร็จทันภายในรัฐบาลชุดนี้ ค่อนข้างริบหรี่เต็มที หลังหมดลุ้นทำประชามติรัฐธรรมนูญครั้งแรกพร้อมกับการเลือกตั้งนายกและสมาชิกองค์การบริหารส่วนจังหวัด หรือ อบจ. ที่จะมีขึ้นในวันเสาร์ที่ 1 กุมภาพันธ์ 2568
เหตุเพราะด่านแรก ซึ่งเปรียบเสมือนกุญแจดอกสำคัญ ที่จะนำไปสู่การเปิดประตูการแก้ไขรัฐธรรมนูญได้นั้น ต้องสะดุด
นั่นคือ ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ (ฉบับที่…) พ.ศ…. เมื่อสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) และสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) มีความเห็นไม่ตรงกัน โดยเฉพาะเรื่องหลักเกณฑ์การออกเสียงประชามติ
โดยทาง ส.ส.เห็นว่าควรใช้เสียงข้างมากของผู้ออกมาใช้สิทธิ ขณะที่ทาง ส.ว.ต้องการให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญใช้หลักเกณฑ์เสียงข้างมากสองชั้นแบบ Double majority
ด้วยเหตุนี้ ทำให้ทั้งสองสภาต้องตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ร่วมเพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.การออกเสียงประชามติ เพื่อหาทางออก
ซึ่งทาง กมธ.ร่วมฯ มีคิวประชุมครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 4 ธันวาคมที่ผ่านมา และ กมธ.ร่วมฯ มีมติเห็นชอบร่างกฎหมายประชามติของวุฒิสภาที่ให้ใช้เสียงข้างมากสองชั้นในการทำประชามติแก้รัฐธรรมนูญ คือ ต้องมีผู้มาใช้สิทธิออกเสียงไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนผู้มีสิทธิออกเสียง และมีคะแนนเสียงเห็นชอบไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของผู้มาใช้สิทธิออกเสียง และส่งให้สภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภา พิจารณาตามขั้นตอนต่อไป
เบื้องต้นคาดว่า ส.ว.จะพิจารณาลงมติในวันที่ 17 ธันวาคม ส่วน ส.ส.จะพิจารณาลงมติในวันที่ 18 ธันวาคม
แน่นอนว่า ส.ว.น่าจะยืนกรานหลักเกณฑ์เสียงข้างมากสองชั้นแบบ Double majority
ส่วนฟากของ ส.ส. โดยเฉพาะพรรคเพื่อไทย (พท.) คงแสดงจุดยืนใช้เสียงข้างมากหนึ่งชั้น
จึงมีแนวโน้มว่าอาจต้องพักร่างกฎหมายดังกล่าวไว้ 180 วัน ตามเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนดไว้
ประเด็นที่น่าสนใจคือ เรื่องนี้เสียงของ ส.ส.แตกออกเป็น 2 ฝั่ง โดยฝั่งหนึ่งเห็นด้วยกับเสียงข้างมากหนึ่งชั้น
แต่อีกฝั่ง คือ พรรคภูมิใจไทย (ภท.) กลับเห็นต่าง แสดงจุดยืนว่าควรจะเป็นการทำประชามติสองชั้น? หรือ Double majority ซึ่งเป็นแนวทางที่ตรงกันกับทาง ส.ว.
ทั้งนี้ เมื่อช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา นพ.เชิดชัย ตันติศิรินทร์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย และอดีตแกนนำคนเสื้อแดง ได้ออกมาแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับความคืบหน้าของพรรคเพื่อไทย ต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ โดยมองว่า ขณะนี้ติดปัญหาเรื่องการแก้ไขพระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติ ที่ ส.ว.และพรรคภูมิใจไทย เห็นไม่ตรงกับพรรคเพื่อไทย เรื่องเกณฑ์การผ่านประชามติเรื่องรัฐธรรมนูญ ทำให้ต้องเสียเวลาพักร่างกฎหมายประชามติไว้ 180 วัน แต่ยังเชื่อว่าจะมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ที่ยกร่างโดยสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ใช้บังคับทันก่อนการเลือกตั้งปี 2570 ไม่ว่าจะต้องทำประชามติ 2 หรือ 3 ครั้ง
“ระหว่างนี้ต้องเจรจากับพรรคร่วมรัฐบาล โดยเฉพาะพรรคภูมิใจไทย ให้เห็นไปในแนวทางเดียวกัน เรื่องนี้มีวิธีแก้อยู่แล้ว ขอให้เชื่อใจพรรคเพื่อไทย จะเจรจาทั้งบ้านเล็ก บ้านใหญ่ ต้องคุยให้จบ ถ้ายังงอแงมากก็อาจยุบสภาสั่งสอน ไปพิสูจน์ตอนเลือกตั้งกันใหม่ แต่ไม่ต้องเป็นห่วงเพราะตอนนั้นตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) มาแล้ว แม้จะยุบสภา ส.ส.ร.ยังทำหน้าที่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ต่อไป ไม่ว่ารัฐบาลจะอยู่หรือไม่ แต่เชื่อว่าคงไม่ไปถึงขั้นนั้น น่าจะพูดคุยกันได้” นพ.เชิดชัยระบุ
การออกมาจุดประเด็นด้วยการงัดไม้เด็ดขู่ “ยุบสภา” หากภูมิใจไทยงอแงเรื่องการแก้รัฐธรรมนูญ ถูกตั้งคำถามขึ้นมาทันทีว่า ประเด็นนี้จะเป็นชนวนเปิดศึกรอบใหม่หรือไม่? และทำให้สถานการณ์พรรคร่วมรัฐบาลของ 2 พรรคการเมือง ระหว่างพรรคเพื่อไทย และพรรคภูมิใจไทย เกิดความบาดหมางได้หรือไม่?
เพราะหากมองย้อนกลับไป สังคมมีการตั้งข้อสังเกตมาตลอดถึงความสัมพันธ์ของ 2 พรรคการเมืองนี้ ว่ามีความขัดแย้งไม่ลงรอยกันมาตลอด
เริ่มตั้งแต่นโยบายกัญชา ซึ่งนโยบายเรือธงของพรรคภูมิใจไทย, ที่ดินเขากระโดง จังหวัดบุรีรัมย์ กระทั่งมาถึงล่าสุด ประเด็นร่าง พ.ร.บ.ประชามติ ซึ่งพรรคภูมิใจไทยแสดงจุดยืนว่าควรจะเป็นการทำประชามติสองชั้น? หรือ Double majority
โดยเรื่องนี้ นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในฐานะแกนนำพรรคเพื่อไทย ออกมาระบุถึงกรณีที่ นพ.เชิดชัย ตันติศิรินทร์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ขู่ว่าพรรคเพื่อไทยอาจจะยุบสภาหากพรรคภูมิใจไทยยังงอแงเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ว่า เรื่องดังกล่าวจะไม่ส่งผลกระทบให้เกิดแรงกระเพื่อมในรัฐบาล ถือเป็นความเห็นของ ส.ส.แต่ละพรรค แต่ละคน ที่เป็นอิสระ การทำงานของรัฐบาลและของแต่ละพรรคก็ไม่มีปัญหาอะไร ไม่กระทบความสัมพันธ์ของพรรคร่วมรัฐบาล เพราะผู้ใหญ่แต่ละคนหนักแน่น
“อำนาจการยุบสภาเป็นของนายกรัฐมนตรี และที่ผ่านมานายกฯ ไม่เคยมีดำริหรือท่าทีที่จะยุบสภา และการทำงานกับพรรคร่วมรัฐบาลก็ยังดีอยู่ ส่วนความเห็นของแต่ละสภาก็เป็นเรื่องที่ต้องว่ากัน” นายภูมิธรรมระบุ
ขณะที่นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ออกมาระบุว่า “คนที่ยุบสภาได้มีคนเดียวคือนายกรัฐมนตรี เราฟังเฉพาะคนที่มีอำนาจพอแล้ว คนที่ไม่มีอำนาจพูดไปก็เหมือนไม่ได้พูด ส่วนเรื่องการแก้รัฐธรรมนูญนั้น ขณะนี้ก็ไม่ได้มีความขัดแย้งอะไร”
อย่างไรก็ตาม หากประเมินสถานการณ์แล้ว ความเป็นไปได้ที่จะยุบสภาในเร็วๆ นี้ คงเป็นศูนย์
แต่ทว่า การออกมาจุดประเด็น “ยุบสภา” เช่นนี้ เป็นการส่งสัญญาณใดหรือไม่ แต่การจะแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อให้ได้ “รัฐธรรมนูญฉบับใหม่” ตามเป้าหมายนั้น โจทย์สำคัญคือร่าง พ.ร.บ.ประชามติ ซึ่งพรรคเพื่อไทยต้องรีบเคลียร์กับพรรคร่วมรัฐบาล
เพื่อเร่งนำกุญแจดอกนี้ไขประตู เดินหน้าไปสู่กระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022