ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 6 - 12 ธันวาคม 2567 |
---|---|
ผู้เขียน | ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ |
เผยแพร่ |
เกาหลีใต้เป็นประเทศประชาธิปไตยที่ผมเชื่อเหมือนคนทั้งโลกว่าจะไม่มีวันกลับไปสู่ระบอบเผด็จการ
เหตุผลง่ายๆ คือประวัติศาสตร์ประชาธิปไตยในเกาหลีใต้เต็มไปด้วยการต่อสู้บนท้องถนนของประชาชน, ประชาชนชนะ และเกาหลีใต้ให้ความสำคัญกับการทำให้ประชาธิปไตยเป็นสถาบันในชีวิตจริงของประชาชน
ด้วยเหตุดังนี้ เมื่อประธานาธิบดีเกาหลีใต้ออกกฎอัยการศึกในวันที่ 3 ธันวาคม โดยส่งทหารเข้ามายึดเมืองหลวง ส่วนประชาชนก็ลงถนนปกป้องให้ ส.ส.ประชุมกลางดึกเพื่อเลิกกฎอัยการศึก ผมก็คิดเหมือนคนทั้งโลกที่คิดว่าประชาธิปไตยเกาหลีใต้อวสาน ทหารปราบประชาชนแน่ และเกาหลีใต้จะถอยหลังครั้งใหญ่จริงๆ
ไม่ว่าจะมองจากมุมไหนในโลก เกาหลีใต้ที่มีประชาธิปไตยมากว่า 40 ปี เผชิญการ “รัฐประหารเงียบ” หรือ “รัฐประหารตัวเอง” โดยประธานาธิบดีฝ่ายขวาอย่างเหลือเชื่อ แต่ที่เหลือเชื่อกว่าคือพรรคฝ่ายค้านและประชาชนที่ทำให้การรัฐประหารด้วยกฎอัยการศึกปิดฉากลงในพริบตา
แน่นอนว่าคืนนั้นประชาชนก็ประจันหน้ากับทหารที่สภา แต่ทหารไม่ยิงประชาชน ส่วน ส.ส.ก็พาเหรดฝ่าทหารเข้าประชุมจนสภามีมติ 190:0 ล้มกฎอัยการศึกสำเร็จ ทหารถอยทัพกลับกรมกอง ขณะที่ประชาชนเริ่มยกระดับเป็นการต่อต้านประธานาธิบดี
แต่คำถามคือเรื่องทั้งหมดนี้เกิดได้อย่างไร
ถึงผมจะเด็กเกินกว่าจะเข้าใจเรื่องการลุกฮือกวางจูในปี 1980 ตอนเกิดเหตุการณ์จริงๆ แต่ผมจำได้ว่าภาพเกาหลีใต้ในข่าวต่างประเทศยุคนั้นมีแต่เรื่องการเดินขบวน, การประท้วง, การปะทะ, การปราบปราม และการเกิดประชาธิปไตยหลังจากประชาชนสู้กับเผด็จการทหารเป็นเวลานาน
แม้กว่าสี่สิบปีของประชาธิปไตยในเกาหลีใต้จะไม่ประสบผลสำเร็จในการกำจัดคอร์รัปชั่นและอิทธิพล “เจ้าสัว” ต่อการเมืองอย่างกลุ่มแชโบล
แต่เกาหลีใต้ก็ทำได้ยอดเยี่ยมในการกำจัดบทบาทของทหารจนไม่น่าเชื่อว่าครึ่งศตวรรษที่แล้วประเทศนี้แทบไม่มีวี่แววออกจากเผด็จการ
นักรัฐศาสตร์บางคนเรียกประชาธิปไตยเกาหลีใต้หลังการลุกฮือกวางจูในช่วง ค.ศ.1987-2001 ว่า เป็น “Democratic Paternalism” หรือ “ประชาธิปไตยแบบเครือข่ายอุปถัมภ์” ที่พูดง่ายๆ คือระบบซึ่งต่อต้านทหารโดยผู้นำการเมืองตั้งตัวเป็นชนชั้นนำที่ปกครองประเทศด้วยวิธีซึ่งไม่ช่วยให้ประชาธิปไตยเติบโต
ถ้าเทียบเคียงกับการเมืองไทยในปัจจุบันเพื่อให้เห็นภาพแบบเร็วๆ เกาหลีใต้ช่วงนี้มีการเลือกตั้งและมี “นักการเมือง” แต่นักการเมืองเกือบทั้งหมดตั้งตัวเองเป็น “ชนชั้นนำใหม่” แทนที่ทหารโดยไม่สนใจการ “ปฏิรูปโครงสร้าง” คล้ายกับสิ่งที่เกิดขึ้นในไทยหลังเลือกตั้งปี 2566 เป็นต้นมา
นักรัฐศาสตร์ถือว่าเกาหลีใต้หลังปี 2002 เข้าสู่ประชาธิปไตยเฟสใหม่ซึ่งอาจเรียกง่ายๆ ว่าประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วมซึ่งทุกกลุ่มเห็นตรงกันเรื่องวาระประเทศจนพูดคล้ายกันเรื่อง “ปฏิรูปโครงสร้าง”, เกิดการเมืองมวลชน, ต่อต้านคอร์รัปชั่น และต่อต้านอำนาจพิเศษเหนือสถาบันต่างๆ ในสังคม
ในบริบทแบบนี้ นักวิชาการบางคนตั้งข้อสังเกตว่าเกาหลีใต้วันนี้ก้าวสู่จุดที่ทุกกลุ่มการเมืองเห็นพ้องกันเรื่อง “บรรทัดฐาน” บางอย่าง นักการเมืองทั้งฝ่ายซ้ายและฝ่ายขวาจึงคิดตรงกันมากขึ้นเรื่องท่าทีต่อเกาหลีเหนือ, บทบาทการทูตที่เกาหลีใต้ควรเป็นอิสระยิ่งขึ้น หรือแม้แต่การยอมรับความสำคัญของการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยอย่างการลุกฮือกวางจู
สรุปแบบง่ายๆ ประชาธิปไตยเกาหลีใต้วันนี้มาถึงจุดที่ทุกฝ่ายมีฉันทานุมัติว่าประเทศควรไปทางไหนกว่าในอดีต ขั้วการเมืองหรือพรรคการเมืองที่ต่างกันไม่ทำให้แต่ละฝ่ายต้องคัดค้านอีกฝ่ายไปหมด เพราะทุกฝ่ายเห็นคล้ายกันเรื่องการทำให้สังคมเกาหลีใต้ก้าวหน้าสู่ประชาธิปไตย
การเมืองเกาหลีใต้เป็นการเมืองแบบแบ่งขั้วแน่ๆ แต่ทุกขั้วมีหลักการบางอย่างร่วมกันคือไม่ทำให้ประชาธิปไตยถอยหลังกว่าเดิม ตรงข้ามกับไทยที่การแบ่งขั้วนำไปสู่การด่าฝ่ายตรงข้ามส่งเดช บิดเบือนโกหก ใช้สื่อรัฐปั้นน้ำเป็นตัว รวมทั้งทำให้ประชาธิปไตยถอยหลังลงคลอง
เพื่อนชาวเกาหลีใต้สมัยเรียนเคยเล่าให้ผมฟังว่าเกาหลีใต้คือประเทศที่ Citizen Activism หรือ “การต่อสู้ภาคประชาชน” แข็งแกร่งตลอดมา
ด้วยเหตุดังนี้ ผู้นำเกาหลีใต้คนไหนสุดโต่งจนทำลายประชาธิปไตยจึงมีโอกาสถูกประชาชนทุกฝ่ายและพรรคทุกขั้วรวมตัวต่อต้านทันที
ประธานาธิบดีเกาหลีใต้คนปัจจุบันเป็นฝ่ายขวาที่ชนะเลือกตั้งครั้งล่าสุดโดยมีประชาชนเลือกแค่ 48.56% ส่วนคู่แข่งมีประชาชนเลือก 47.86%
นั่นหมายความว่าประธานาธิบดีฝ่ายขวาชนะคู่แข่งแค่ 0.7% เท่ากับว่าทั้งสองฝั่งไม่มีใครอ้างได้ว่าเป็นตัวแทนคนเกาหลีใต้อย่างเด็ดขาดได้
หรือพูดอีกนัยหนึ่งประธานาธิบดีไม่สามารถทำอะไรที่ “สุดซอย” ได้เลย
ยิ่งผลเลือกตั้ง ส.ส.ออกมาในเดือนเมษายน จำนวน ส.ส.ฝ่ายเสรีประชาธิปไตยที่ทุกพรรคได้ ส.ส.รวมกัน 189 จากทั้งหมด 300
ขณะที่พรรคอนุรักษนิยมของประธานาธิบดีและพวกได้ ส.ส.เพียง 109 ยิ่งทำให้ประธานาธิบดียากที่จะอ้างว่าตัวเองคือตัวแทนของคนเกาหลีใต้ได้ต่อไปอีก เพราะฝ่ายตรงข้ามชนะแทบจะแลนด์สไลด์ทั้งสภา
เงื่อนไขเดียวที่ผู้นำประเทศในเงื่อนไขนี้จะทำอะไรที่ “สุดซอย” ประเภทขวาสุดขีด, เผด็จการสุดโต่ง หรือประกาศกฎอัยการศึกได้ คือการลุแก่อำนาจถึงขีดสุดจนควบคุมสติสัมปชัญญะไม่ได้อีกต่อไป
ยํ้าอีกครั้งว่าเกาหลีใต้ตอนนี้เป็นประเทศที่การ “แบ่งขั้ว” รุนแรงถึงขีดสุดแบบไม่มีใครชนะใครเด็ดขาดในแง่ตำแหน่งประธานาธิบดี
แต่การเมืองแบ่งขั้วแบบนี้กลับส่งผลให้ไม่มีทางที่ใครจะเป็นรัฐบาลที่ใช้อำนาจแบบแบ่งขั้วจนเกิดการเผชิญหน้ากับอีกฝ่ายได้เลย
น่าสังเกตว่าคนเกาหลีใต้ไปใช้สิทธิเลือกตั้งประธานาธิบดีสูงถึง 77% ซึ่งสะท้อนว่าประชาชนทุกกลุ่มเชื่อว่าการเลือกตั้งคือทางออกเดียวของประเทศ ต่อให้แต่ละกลุ่มจะเห็นว่าโอกาสที่ฝ่ายตัวเองจะชนะฝ่ายตรงข้ามมีนิดเดียว
ขณะที่ฝ่ายแพ้เลือกตั้งในประเทศไทยวนเวียนกับการล้มเลือกตั้ง, รัฐประหารหรือไม่ก็จับมืออำนาจเก่าเพื่อให้ได้ตั้งรัฐบาล
แน่นอนว่าสถาบันการเมืองในเกาหลีใต้ยังห่างไกลจากคำว่าสมบูรณ์ แต่ทิศทางใหญ่ที่ประเทศไม่เคยเปลี่ยนคือการเปลี่ยนผ่านจากระบอบเผด็จการเป็นรัฐบาลประชาธิปไตย เช่นเดียวกับความเข้มข้นของการตรวจสอบผู้นำประเทศแม้พ้นจากตำแหน่งไปแล้ว รวมทั้งการดีเบตสาธารณะเรื่องต่างๆ และความแน่วแน่ในการปฏิรูปสถาบัน
เมื่อเทียบกับไทยที่ฝ่ายแพ้เลือกตั้งหมกมุ่นกับการเป็นรัฐบาลจนยอมทำให้ประชาธิปไตยถอยหลังลงคลอง เกาหลีใต้คือประเทศที่การแบ่งขั้วรุนแรงในกรอบประชาธิปไตยจนทุกพรรคไม่มีทางทำอะไรวิปริตแบบดีลลับกับอำนาจเก่า, ยุให้ทหารยึดอำนาจ, ล้มเลือกตั้ง หรือแม้แต่จัดม็อบต้านรัฐบาลเพื่อล้มกระดาน
ทันทีที่รัฐประหารเงียบด้วยกฎอัยการศึกถูกยกเลิกจากการลงมติของสภาผู้แทน การเมืองเกาหลีใต้ก็เข้าสู่เฟสใหม่ของการเอาผิดผู้ก่อการรัฐประหารด้วยการ “ดื้อแพ่ง” ซึ่งเจ้าหน้าที่ระดับสูงของประธานาธิบดีแห่กันลาออก เช่นเดียวกันการลงถนนของประชาชน รวมทั้งการผลักดันลงมติถอดถอนประธานาธิบดีโดยสภาผู้แทนราษฎร
ล่าสุด คนของประธานาธิบดีที่ลาออกแล้ว ประกอบด้วย รัฐมนตรีกลาโหม, หัวหน้าคณะที่ปรึกษา, ที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งชาติ, ประธานที่ปรึกษาด้านนโยบาย รวมทั้งเจ้าหน้าที่ระดับสูงคนอื่นๆ อีกเกือบสิบคน
ด้วยรัฐธรรมนูญเกาหลีใต้ที่การถอดถอนประธานาธิบดีทำได้โดย ส.ส. 2 ใน 3 ของสภาผู้แทนราษฎรส่งชื่อไปยังศาลรัฐธรรมนูญ การลงมติเพื่อลงโทษประธานาธิบดีผู้ก่อรัฐประหารเงียบต้องการ ส.ส.เพียง 200 จาก 300 ซึ่งไม่ใช่เรื่องยากเมื่อคำนึงว่าฝ่ายค้านมี ส.ส.รวมกันอยู่แล้ว 189 รายจนเป็นไปได้ที่ประธานาธิบดีจะชิงลาออกเพื่อหนีความน่าอับอาย
เกาหลีใต้จะเดินหน้าสู่ความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ที่เป็นประชาธิปไตยขึ้นแน่ๆ และพลังฝ่ายอนุรักษนิยมมีโอกาสจะถดถอยเพื่อชดเชยกับการทำให้ประเทศถอยหลังไปเกือบสี่สิบปี
เกาหลีใต้เผชิญรัฐประหารเงียบและการต่อต้านรัฐประหารซึ่งเป็นตัวอย่างของการปฏิเสธอำนาจในเวลาที่ผู้มีอำนาจควบคุมกฎหมายและกองทัพได้อย่างสมบูรณ์
ปฏิบัติการต่อต้านกฎอัยการศึกในเกาหลีใต้บอกเราว่าอำนาจทำงานได้เมื่อประชาชนยอมรับอำนาจ
แต่ถ้าประชาชนไม่ยอมรับอำนาจ อำนาจก็อาจถูกกร่อนเซาะได้ตลอดเวลา
จะเตะถ่วงแค่ไหนประชาธิปไตยก็ต้องเดินหน้าเหมือนเข็มนาฬิกาที่หมุนกลับกี่ครั้งก็จะกลับมาเดินหน้าทุกที
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022