ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 6 - 12 ธันวาคม 2567 |
---|---|
คอลัมน์ | สิ่งแวดล้อม |
ผู้เขียน | ทวีศักดิ์ บุตรตัน |
เผยแพร่ |
พายุไต้ฝุ่นถล่มฟิลิปปินส์ในห้วง 1 เดือนมีมากถึง 6 ลูก เป็นปรากฏการณ์ทางภูมิอากาศที่น่าจับตาเป็นอย่างยิ่ง แม้ว่าพายุโซนร้อนจะพัดผ่านฟิลิปปินส์เฉลี่ยปีละ 20 ลูก แต่ในห้วงเพียง 1 เดือนกลับมีพายุถล่มมากขนาดนี้จึงไม่ควรมองผ่านไปเฉยๆ
ในทางตรงกันข้ามน่าจะช่วยกันตั้งคำถามว่า ถ้าเกิดพายุมาถี่และรุนแรง เราจะหาวิธีรับมืออย่างไรเพื่อลดระดับความรุนแรง
เมื่อปลายเดือนตุลาคม พายุไต้ฝุ่น “จ่ามี” เป็นลูกที่ 1 ถล่มฟิลิปปินส์ ตามด้วยไต้ฝุ่น “กองเร็ย” ถล่มทั้งฟิลิปปินส์และไต้หวันอย่างรุนแรง โดยเฉพาะไต้หวันนั้น “กองเร็ย” พุ่งใส่เต็มๆ เป็นครั้งแรกในรอบ 30 ปี ลูกที่ 3 ไต้ฝุ่น “หยินซิ่ง” มีความเร็วลมสูงสุด 175 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
“โทราจิ” เป็นพายุลูกที่ 4 พัดใส่ฟิลิปปินส์ ก่อนพายุนี้พัดเข้ามา ทางการฟิลิปปินส์สั่งอพยพประชาชนตามหมู่บ้านต่างๆ 2,500 แห่งให้อพยพออกจากจุดเสี่ยงภัย โรงเรียน ท่าเรือและที่ทำการรัฐบาลปิดชั่วคราว
ไต้ฝุ่น “อูซางิ” พุ่งตรงเข้าหาฟิลิปปินส์เป็นลูกที่ 5 คราวนี้รัฐบาลตากาล็อกสั่งอพยพผู้คนราว 3 หมื่นคนที่อยู่ทางตอนเหนือของประเทศซึ่งเป็นเส้นทางพายุพัดผ่าน
ส่วนไต้ฝุ่น “หม่านยี่” ถล่มฟิลิปปินส์เป็นลูกที่ 6 ก่อนพายุลูกนี้มุ่งหน้าเข้าฝั่งได้พลังจากอุณหภูมิผิวน้ำทะเลที่เพิ่มสูงแปลงเป็นซูเปอร์ไต้ฝุ่นและปั่นกระแสลมมีความเร็วสูงสุดถึง 260 กิโลเมตรภายในช่วงเวลาเพียง 1 ชั่วโมงเท่านั้น ทางการฟิลิปปินส์ออกคำเตือนและอพยพชาวบ้านราวครึ่งล้านคนออกจากจุดเสี่ยง
พลังลมอันแรงจัดเขย่าคลื่นในทะเลให้ม้วนตัวสูงถึง 14 เมตร เคลื่อนซัดใส่ชายฝั่งเมืองคาตันดูอาเนส บนเกาะลูซอน เป็นแหล่งท่องเที่ยวชื่อดังทางตอนเหนือของฟิลิปปินส์
สํานักงานอุตุนิยมวิทยาแห่งญี่ปุ่น เฝ้าจับตากับปรากฏการณ์ไต้ฝุ่น ยอมรับว่าการเกิดพายุปลายเดือนตุลาคม-พฤศจิกายน รวม 6 ลูกในช่วงไม่ถึง 1 เดือนถือเป็นครั้งแรก นับตั้งแต่มีการจดบันทึกสถิติเมื่อปี 2494 มีบ้านเรือนทรัพย์สินเสียหายยับเยิน และมีผู้เสียชีวิตไม่น้อยกว่า 160 คน
สภาพภูมิอากาศแปรปรวนจากพายุไต้ฝุ่นในช่วงที่ผ่านมานั้นได้ส่งผลกระทบกับบ้านเราไม่น้อยทีเดียว
ดูจากอิทธิพลซูเปอร์ไต้ฝุ่น “ยางิ” ถล่มฟิลิปปินส์ เวียดนาม ลาวและพม่าเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมาสร้างความเสียหายอย่างหนักหน่วง
พายุยางิอ่อนกำลังลงก่อนเข้าถึงไทย แต่เกิดฝนตกหนักหลายวันติดกัน
จนทำให้น้ำท่วมโคลนถล่ม ไหลทะลักใส่จังหวัดเชียงรายสร้างความเสียหายอย่างมาก
คราวนี้หันไปดูอีกมุมหนึ่งของโลก บริเวณเกาะอังกฤษ เผชิญกับพายุเบิร์ตที่พัดถล่มใส่เมื่อปลายเดือนพฤศจิกายนทำให้ฝนตกหนัก น้ำเปื้อนโคลนไหลทะลักท่วมบ้านเรือนสร้างความเสียหายมากและเป็นเหตุการณ์เกิดซ้ำซากจนทำให้ชาวบ้านอดรนทนไม่ไหวออกมาวิจารณ์การทำงานของหน่วยงานรัฐไร้ประสิทธิภาพ ระบบเตือนภัยล้มเหลว
ปรากฏการณ์ “พายุ” เกิดขึ้นคนละมุมโลกแต่ผลลัพธ์สุดท้ายคือหายนะ
เป็นหายนะที่มาจากน้ำมือมนุษย์ซึ่งปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศโลกอย่างเข้มข้นจนสภาพภูมิอากาศโลกแปรปรวนเป็นภาวะโลกเดือด
อุณหภูมิผิวโลกเพิ่มขึ้นร้อนขึ้นอุณหภูมิผิวโลกเพิ่มแค่ 1 องศาเซลเซียส จะทำให้น้ำทะเลร้อนขึ้น ชั้นบรรยากาศโลกมีปริมาณน้ำเพิ่มขึ้นอย่างน้อยๆ 7 เปอร์เซ็นต์ น้ำฝนมีปริมาณมากขึ้น เคลื่อนตัวช้าลงทำให้ฝนตกหนักในพื้นที่พัดผ่านเป็นเวลานานกว่าเก่า พายุมีพลังแรงขึ้น เกิดถี่บ่อยกว่าเก่า และเมื่ออากาศร้อนจัดจะเกิดคลื่นความร้อนแผ่กว้าง
นับจากนี้ไปปรากฏการณ์ “โลกเดือด” จะเป็นเรื่องไม่แปลกพิสดาร แต่เป็นเรื่อง “ปกติ” ธรรมดา
หันไปดูอีกเรื่องที่เกิดจากฝีมือมนุษย์นำไปสู่หายนะทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ นั่นคือขยะพลาสติก
พลาสติกมาจากการสังเคราะห์ทางเคมีที่นักวิทยาศาสตร์อเมริกันชื่อ “จอห์น เวสลีย์ ไฮแอท” คิดค้นเมื่อ 156 ปีที่แล้ว เวลานั้นชาวนิวยอร์กนิยมเล่นเกมบิลเลียดซึ่งเอางาช้างมาทำเป็นลูกบิลเลียด บริษัทแห่งหนึ่งเกิดความคิดอยากเปลี่ยนวัตถุดิบเพราะไม่ต้องการเห็นคนไปฆ่าช้างเอางามาทำลูกบิลเลียด
จึงออกประกาศให้รางวัล 1 หมื่นดอลลาร์กับใครก็ได้ที่ประดิษฐ์วัตถุดิบที่มีความแข็งแกร่งเหมือนๆ งาช้าง
“ไฮแอท” ทดลองเอาไยฝ้ายมาทำปฏิกิริยากับการบูรกลายเป็นวัสดุที่เรียกว่า “เซลลูลอยด์” เอามาแทนลูกบิลเลียดทำจากงาช้าง
อีก 38 ปีต่อมา “ลีโอ บีคแลนด์” คิดค้นและพัฒนาเซลลูลอยด์จนกลายเป็นพลาสติกสังเคราะห์ที่เรียกว่า “เบคเคไลต์” (Bakelite) มีความยืดหยุ่นแข็งแรงทนทานนำมาใช้ประโยชน์แทนไม้ เหล็ก หิน กระดูก
ทั้ง “ไฮแอท” และ “บีคแลนด์” ร่วมกันตั้งบริษัทวิจัยค้นคว้าสร้างพลาสติกใหม่ๆ โพลิเมอร์ใหม่ๆ
ระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 เกิดสิ่งประดิษฐ์ใหม่ๆ ที่ทำจากพลาสติก อย่างเช่น เชือกไนล่อน ร่มชูชีพ เสื้อเกราะ หมวกทหาร
สหรัฐผลิตพลาสติกเพิ่มขึ้น 300 เปอร์เซ็นต์และนำไปสู่ยุคพลาสติกที่รุ่งเรือง สินค้าแทบทุกชนิดในรถยนต์ อุปกรณ์ไฟฟ้า เครื่องใช้ในชีวิตประจำวันต่างมีพลาสติกเป็นส่วนประกอบทั้งสิ้น เพราะราคาถูกและใช้ประโยชน์ในหลากหลายรูปแบบ
แต่พลาสติกคือขยะที่ย่อยสลายได้ยาก เป็นตัวการสำคัญทำลายสิ่งแวดล้อม
ขยะพลาสติกลอยลงสู่ทะเลและมีผู้สังเกตเห็นเป็นครั้งแรกเมื่อ 60 กว่าปีที่แล้ว เวลานั้นมีนักสิ่งแวดล้อมออกมาเตือนว่าให้ระวังอันตรายจากพลาสติก แต่ไม่มีใครสนใจเพราะเห็นว่าพลาสติกเป็นเหมือนสิ่งมหัศจรรย์มีประโยชน์มาก
ในยุคต่อๆ มาพลาสติกมีความสำคัญมากขึ้นในแทบทุกอุตสาหกรรม ใช้เป็นวัตถุหลักผลิตคอมพิวเตอร์ โทรศัพท์มือถือ เครื่องมือทางการแพทย์ เครื่องไฟฟ้า อุปกรณ์ก่อสร้าง เครื่องครัว เครื่องนอน ฯลฯ
ประโยชน์อันอเนกอนันต์ของพลาสติกทำให้ผู้คนทั่วโลกนิยมชมชอบ นิยมใช้ แต่เมื่อเสื่อมสภาพกลายเป็นขยะพลาสติก นั่นหมายถึงการเปลี่ยนสภาพเป็นภัยพิบัติของมนุษยชาติที่ยากต่อการกำจัด เว้นแต่โลกนี้จะหยุดผลิตพลาสติกเท่านั้น
เมื่อราวๆ 6 ปีที่แล้ว นักวิจัยชาวญี่ปุ่นจากสำนักงานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อการศึกษาโลกและมหาสมุทร บันทึกภาพถุงพลาสติกใบหนึ่งจมอยู่ในมหาสมุทรความลึกกว่า 10,898 เมตร
ในปีต่อมา ผู้อำนวยการอุทยานแห่งชาติอาร์กติกของรัสเซีย พบหมีขั้วโลกเหนือกินเศษพลาสติกและถ่ายเป็นมูลออกมา
การพบขยะพลาสติกทั้งใต้ท้องมหาสมุทรและขั้วโลกเหนือ แสดงว่า ไม่มีที่ใดๆ ในโลกใบนี้ปลอดจากขยะพลาสติกอีกต่อไปแล้ว
มิหนำซ้ำยังพบอีกว่าไมโครพลาสติกเข้าไปอยู่ในสิ่งแวดล้อมปนเปื้อนในเนื้อสัตว์ ในเส้นเลือด ในทารกเด็กแรกเกิด
แม่น้ำลำคลองเกือบทั้งโลกมีเศษขยะพลาสติกปนเปื้อน สื่อในอินโดนีเซียเปิดโปงให้เห็นภาพแม่น้ำลำคลองหลายสายอัดแน่นไปด้วยขวดน้ำ ถุงพลาสติก ถังพลาสติกจนต้องส่งหน่วยทหารเข้าไปจัดการกวาดขยะเหล่านี้ขึ้นมา แต่เป็นทางแก้ปัญหาระยะสั้นเท่านั้น
เช่นเดียวกับแม่น้ำลำคลองในบ้านเราที่มีเศษขยะพลาสติกลอยเกลื่อน เมื่อไม่กี่วันก่อนใช้บริการเรือโดยสารในคลองแสนแสบ ระหว่างทางนั่งดูขยะพลาสติกลอยโชว์ ยิ่งผ่านคลองเชื่อมต่อกับคลองแสนแสบที่มีชุมชนตั้งอยู่ เห็นขยะพลาสติกลอยฟ่องเต็มคลอง
พูดถึงการเดินทางโดยระบบรถ เรือและรางในพื้นที่ กทม. ถ้าให้ประเมินในเวลานี้ยังถือว่าไม่มีประสิทธิภาพซะเท่าไหร่
เมื่อเช้าวันจันทร์ 25 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ไม่ทราบว่าเกิดอะไรขึ้นกับการจราจรใน กทม. รถติดหนักติดหนึบ ผมมีนัดเข้าไปประชุมในใจกลางเมือง ออกจากหมู่บ้านก็เจอติดแหง็ก ดูแผนที่มีเรือไฟฟ้าคลองแสนแสบของ กทม. ตัดสินใจลงจากรถไปขึ้นเรือที่ท่าหมู่บ้านร่มไทร
เรือไฟฟ้าใช้เวลาวิ่งค่อนข้างนานพอสมควรเพราะทำความเร็วไม่ได้ แต่ก็สะดวกและอากาศสะอาดกว่าในรถยนต์ เมื่อมาถึงท่าเรือวัดศรีบุญเรือง เห็นเรือโดยสารของครอบครัวขนส่งเทียบท่าอยู่ ก็นึกในใจว่าจะได้ต่อเรือไปถึงจุดหมายตามที่นัดไว้
ระหว่างเรือไฟฟ้ากำลังจะเข้าเทียบท่า ปรากฏว่าเรือโดยสารออกจากท่าทันที เมื่อถามคนขับเรือไฟฟ้าทำไมไม่รอให้ผู้โดยสารในเรือไฟฟ้าลำนี้ร่วมเดินทางไปด้วย ได้คำตอบว่า เรือลำนั้นได้เวลาออกแล้ว
กว่าจะได้ขึ้นเรือโดยสารลำใหม่ใช้เวลาเกือบ 15 นาที นึกใจว่ามีระบบขนส่งเชื่อมต่อไว้ทำเผือกอะไร?
ฝากผู้ว่าฯ คุณชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ไปคุยกับทางอธิบดีกรมเจ้าท่า แก้ปัญหานี้ด้วยก็จะดี
กลับมาว่ากันด้วยเรื่องขยะพลาสติก เมื่อผู้คนเริ่มเห็นอันตรายจึงมีการคิดค้นพลาสติกย่อยสลายได้ง่ายทำจากวัสดุธรรมชาติ เช่น ไม้ไผ่ มันสำปะหลัง แต่ต้นทุนการผลิตแพงกว่าพลาสติกสังเคราะห์ทางเคมี
หลายๆ ประเทศรณรงค์เลิกใช้พลาสติกที่ย่อยสลายได้ยาก ให้หันมาใช้วัสดุธรรมชาติ เช่น ใช้ตะเกียบ ช้อนส้อมไม้แทนตะเกียบ ช้อนส้อมพลาสติก ใช้ถุงผ้าแทนถุงพลาสติก
ทุกปี ทั่วโลกจะผลิตพลาสติกราว 460 ล้านตัน พลาสติกบางชนิดกว่าจะย่อยสลายได้ต้องใช้เวลาไม่น้อยกว่า 1,000 ปี
ในไทย ช่วง 20 ปีที่ผ่านมามีการใช้พลาสติกและโฟมกันอย่างมโหฬาร เฉพาะพลาสติกถุงหิ้วปีละ 45,000 ล้านใบ เฉลี่ยถือถุงพลาสติกคนละ 8 ใบต่อวัน โฟมใส่อาหารกว่า 7,000 ล้านใบต่อปี แก้วพลาสติกใช้ครั้งเดียวอีกเกือบ 10,000 ล้านใบ
เวลานี้คนส่วนใหญ่เริ่มจะมีจิตสำนึกสาธารณะมากขึ้นเมื่อใช้วัสดุพลาสติกเหล่านั้นเสร็จแล้วแยกใส่ในถังแยกขยะประเภทรีไซเคิล แต่มีคนจำนวนไม่น้อยที่ทิ้งขยะพลาสติกเรี่ยราดและมักง่ายจนสร้างปัญหาทางสิ่งแวดล้อมทั้งบนบกและในทะเล
โครงการสิ่งแวดล้อมแห่งประชาชาติ (ยูเนป) รายงานว่า ประเทศไทยติดอันดับผลิตขยะพลาสติกที่ 12 ของโลก และทิ้งลงทะเลมากที่สุดอันดับ 10 ของโลก
ความรุนแรงของปัญหาขยะพลาสติกไม่ใช่เฉพาะไทยเท่านั้น แต่เป็นปัญหาของโลกไปแล้ว ล่าสุดสหประชาชาติชักชวนผู้นำทั่วโลก 177 ประเทศหารือเพื่อลงนามในสนธิสัญญาว่าด้วยการสิ้นสุดของขยะพลาสติก ที่เมืองปูซาน ประเทศเกาหลีใต้
ผลการประชุมน่าเป็นไปในทางบวก เชื่อว่าทุกประเทศร่วมกันเห็นชอบในสนธิสัญญาขจัดมลพิษขยะพลาสติก
แต่มีคำถามตามมาอีกว่า เมื่อไหร่ชาวโลกพร้อมใจลดเลิกใช้พลาสติก? •
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022