ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 6 - 12 ธันวาคม 2567 |
---|---|
คอลัมน์ | เทศมองไทย |
เผยแพร่ |
เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นชั่วข้ามคืนในเกาหลีใต้ กลายเป็นบทเรียนประชาธิปไตยบทใหญ่ให้นานาประเทศ
โดยเฉพาะอย่างยิ่งบรรดาชาติที่ประชาธิปไตยกะพร่องกะแพร่งทั้งหลายได้เป็นอย่างดีว่า ทำอย่างไรถึงจะสามารถปกป้อง รักษาประชาธิปไตยเอาไว้ได้ แม้ในยามหน้าสิ่วหน้าขวาน เหมือนเมื่อต้องเผชิญกับการประกาศกฎอัยการศึก และมาตรการพิเศษของอำนาจรัฐ ภายใต้ภาวะฉุกเฉิน ก็ตามที
แน่นอนว่า ต้องมีเหตุปัจจัยหลายอย่างมาประกอบกันเข้า จึงทำให้ความพยายามของประธานาธิบดี ยุน ซ็อก ยอล ที่ถูกพรรคการเมืองฝ่ายค้านตีตราในเวลาต่อมาว่าเป็นเสมือนการ “ทำรัฐประหาร” เมื่อคืนวันที่ 3 ธันวาคมที่ผ่านมานั้นล้มเหลวลงอย่างไม่เป็นท่า
ชนิดที่ทำให้หลายคนในหลายประเทศพากันอิจฉาเล็กๆ พากันบ่นว่า นี่ถ้าเป็นที่นี่ก็คง “เรียบร้อยโรงเรียนจีนไปแล้ว” ไปพลาง ขณะช่วยกันถอดบทเรียนจากเกาหลีใต้ไปพลางๆ
ข้อสังเกตที่น่าสนใจประการแรกสุดก็คือ ไม่ว่าจะคาดการณ์ไว้ล่วงหน้าหรือไม่ก็ตาม ผู้ที่บัญญัติกฎหมายว่าด้วยการประกาศกฎอัยการศึกของเกาหลีใต้ ก็ได้กำหนดส่วนที่ป้องกันการนำเอาไปใช้โดยมิชอบเอาไว้ด้วยพร้อมสรรพ
กฎอัยการศึกที่เกาหลีใต้ประกาศโดยประธานาธิบดี แต่บทบัญญัติของกฎหมายก็ระบุไว้ชัดเจนด้วยว่า หาก “เสียงส่วนใหญ่” ของสภาผู้แทนราษฎรไม่เห็นด้วย ก็สามารถลงมติให้การประกาศดังกล่าวเป็น “โมฆะ” ได้
นอกจากนั้น ยังย้ำเอาไว้ชัดเจนว่า อำนาจตามประกาศกฎอัยการศึก ไม่สามารถนำไปใช้ “จับกุม คุมขัง” สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้
เนื้อหาของกฎหมายนี้นี่เอง ที่ทำให้อาคารรัฐสภาของเกาหลีใต้ กลายเป็นจุดศูนย์กลางของเรื่องราวที่เกิดขึ้นในคืนวันที่ 3 ธันวาคม
เพราะในทันทีที่ ส.ส.เกาหลีใต้รู้เรื่องการประกาศกฎอัยการศึก ก็พากันมุ่งหน้าไปยังอาคารรัฐสภา ในขณะที่ประกาศแรกของกองทัพหลังประธานาธิบดีประกาศกฎอัยการศึก ก็คือ ห้ามการดำเนินกิจกรรมของพรรคการเมืองและสมาชิก กับห้ามการชุมนุมประท้วง และให้สื่ออยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐบาล
ในขณะที่ประชาชนเป็นจำนวนมาก เมื่อได้รับฟังประกาศกฎอัยการศึก ก็กรูกันออกมาชุมนุมโดยไม่แยแสสนใจคำสั่งห้าม
จุดที่เป็นที่ชุมนุมหลัก ก็คืออาคารรัฐสภา แม้แต่กองกำลังที่ออกมาเพื่อบังคับใช้ตามประกาศกฎอัยการศึก
ส่วนใหญ่ก็ชุมนุมกันอยู่ที่อาคารรัฐสภาเป็นหลัก ทั้งนี้ทั้งนั้น
เป็นเพราะทุกฝ่ายรู้ดีว่า มีเพียงสภาผู้แทนราษฎรเท่านั้นที่สามารถลงมติยกเลิกประกาศกฎอัยการศึกนี้ได้
ปัจจัยหนึ่งที่ยิ่งคิดยิ่งน่าสนใจก็คือ ทำไมเหตุการณ์เมื่อ 3 ธันวาคม ไม่มีเหตุรุนแรงเกิดขึ้นตามมา ทั้งๆ ที่สถานการณ์แวดล้อมเอื้ออำนวยต่อการเกิดการปะทะกันรุนแรงเหลือหลาย
เมื่อฝ่ายหนึ่งพยายามเข้าไปในอาคารรัฐสภา แต่อีกฝ่ายหนึ่งกลับป้องกันสุดขีดไม่ให้เกิดการล่วงล้ำเข้าไป
แน่นอนว่า มีเหตุการณ์กระทบกระทั่งกันเกิดขึ้น ระหว่างเจ้าหน้าที่ตำรวจและทหาร กับบรรดาคณะทำงานของ ส.ส. รวมทั้งตัว ส.ส.เอง
แต่เหตุปะทะกันอย่างมากที่สุดที่เกิดขึ้นก็คือ การที่คณะทำงานของ ส.ส.ใช้อุปกรณ์ดับเพลิง ฉีดเข้าใส่เจ้าหน้าที่เพื่อไม่ให้จับกุมตัวพวกเขาเท่านั้นเอง ส่วนทหารกับตำรวจก็ไม่ได้ใช้อาวุธที่มีอยู่ในมือแต่อย่างใด
ส่วนการชุมนุมนอกสภาก็เช่นกัน รุนแรงที่สุดก็เป็นเพียงแค่การเกิดการผลักอก กอดรัดฟัดเหวี่ยงกันให้เห็นเท่านั้น
เหล่านี้พอจะเรียกได้ว่า เป็นสำนึกประชาธิปไตย ที่เคารพในความเห็นต่างซึ่งกันและกัน โดยไม่จำเป็นต้องฆ่าฟันกำจัดอีกฝ่ายให้หมดสิ้นแต่อย่างใด
ส.ส.เกาหลีใต้เองก็แสดงออกมาให้เห็นได้ชัดเจนว่า พวกเขายึดเอากฎหมายเป็นหลัก เป็นที่พึ่งลำดับแรกในการดำเนินการใดๆ เพื่อต่อต้านการประกาศกฎอัยการศึกครั้งนี้ ด้วยการพยายามอย่างถึงที่สุด เพื่อเข้าไปประชุมให้ได้ตามที่กฎหมายกำหนดไว้ แม้ว่าจะหมายถึงการใช้รูปแบบแปลกๆ ชนิดที่คาดไม่ถึงก็ตามที
ตามรายงานของบีบีซี ระบุว่า ส.ส.บางคนต้องฝ่าเครื่องกีดขวางเข้าไปด้านในอาคาร บางส่วนถึงกับต้องปีนรั้ว กระโดดกำแพง เข้าไปประชุมสภากันให้ได้ โดยมีกลุ่มผู้ประท้วงเป็นกองหนุน ให้เหยียบไหล่ เหยียบบ่า เพื่อเข้าไปปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมาย ซึ่งในที่สุดก็ประสบผลสำเร็จ
เพราะว่ามี ส.ส.ทั้งที่สังกัดพรรครัฐบาลและพรรคฝ่ายค้านรวมแล้ว 190 คน จากจำนวนทั้งหมด 300 คน ลงมติคว่ำประกาศกฎอัยการศึกได้สำเร็จ
บทเรียนสุดท้ายที่ประธานาธิบดีเกาหลีใต้มอบไว้ให้ด้วยการกระทำครั้งนี้ก็คือ ความเป็นจริงที่ว่า “คนไม่ใช่ควาย”
เรื่องที่ไม่มีหลักฐาน ไม่น่าเชื่อถือ ไม่มีเหตุผล ถึงนำมาอ้างอิงเพื่อประกาศกฎอัยการศึก ก็ไม่มีใครเชื่อ ไม่มีใครยอมรับ
การอ้างว่า พฤติกรรมของฝ่ายค้านที่สกัดกั้นร่างงบประมาณว่าเป็นการสนับสนุนเกาหลีเหนือและเป็นพวกที่เกาหลีเหนือส่งมาคุกคามนั้นถือเป็นการ “ดูถูกประชาชน” เกินไปจริงๆ
ลงเอยก็ด้วยการหมดอนาคตทางการเมืองเช่นนี้แล
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022